สวก. จับมือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ร่วมฝ่าวิกฤต Covid-19 เดินหน้า RAINS for Western Food Valley ขับเคลื่อน BCG วาระแห่งชาติ ช่วยพี่น้อง SMEs ภาคตะวันตก หนุนงานวิจัยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร เสริมศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในการสัมมนา (Webinar) และจัดแสดงนิทรรศการ RAINS for Western Food Valley 2563 การพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กในภูมิภาคตะวันตก เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ณ ห้องประชุมปิ่นเกลียว ชั้น 2 อาคารศูนย์ภาษา ศูนย์คอมพิวเตอร์ และหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
โดย ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากการผลิตบัณฑิตแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือการช่วยยกระดับศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆในมิติของการวิจัยและพัฒนา
รศ.ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมและหัวหน้าแผนงานวิจัย RAINS for Western Food Valley 2563 เปิดเผยว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณผู้ที่หยิบยื่นโอกาสนี้ให้ทุนสนับสนุนการทำโครงการวิจัยนี้ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ กระทบเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ที่ประสบปัญหาเรื่องการขายลดลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ขาดการวิจัยและพัฒนา ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สวก. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กาญจนบุรี เพชรบุรี ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ตามนโยบายรัฐบาลโดยนำงานวิจัยเสริมความเข้มแข็งผลิตภัณฑ์อาหารของ SMEs หรือ OTOP ในภาคตะวันตก เพื่อขยายตลาดใน และต่างประเทศ ซึ่งผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น หนึ่งในหกบริษัท SMEs และวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วม คือ บริษัท อาร์แอนด์ดี ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งทีมนักวิจัย Food Valley ภาคตะวันตกได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซุปหน่อไม้อบแห้ง ไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ภายใต้สโลแกน “แซ่บนัว ครบรสอีสาน” และยังมีบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาเพื่อลดต้นทุนการส่งออก ปัจจุบันทางบริษัท อาร์แอนด์ดี ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด ได้รับออเดอร์ให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 และโครงการนี้ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการปีละไม่ต่ำกว่า 36 ล้านบาท
ผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือกร่วมโครงการ นำมาสู่ผลิตภัณฑ์ 6 ผลิตภัณฑ์ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหารสุขภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์เส้นบุกเพื่อสุขภาพ , ผลิตภัณฑ์ซุปหัวปลีเสริมธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 ด้วยวิธีเอนแคปซูเลต , ผลิตภัณฑ์คุกกี้หม้อแกงเสริมใยอาหารจากกากมะพร้าว และ ผลิตภัณฑ์ขนมหม้อแกงเพื่อสุขภาพ
และกลุ่มอาหารวัฒนธรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์ซุปหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูป ,ขนมเค้กหม้อแกงกล้วยหอมอบกรอบ หาซื้อได้ตามหน้าร้าน เฟสบุ๊ค และห้างสรรพสินค้าทั่วไป สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โทร 0886745925 เราคนไทยมาช่วยกันสนับสนุนสินค้าไทย เรียกว่า “ไทยช่วยไทย พัฒนาสินค้าไทย ปลอดภัยต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”