xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนบันทึกก่อเกิดคนคู่ "มานิด - จรัล"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนกลับไปในยุคที่สังคมไทยเราไม่ได้มีสื่อออนไลน์แพร่หลายชนิดที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินกับการที่ใครคนใดคนหนึ่งในฐานะ "ผู้จัดการส่วนตัว" จะผลักดันศิลปินในสังกัดของตนเองให้เป็นที่รู้จักขึ้นมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักร้องท้องถิ่นที่มีแนวเพลงที่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เฉพาะ

แต่สุดท้าย "มานิด อัชวงศ์" ก็พานักร้องคำเมืองอย่าง "จรัล มโนเพ็ชร" ข้ามผ่านกำแพงที่ว่ากลายเป็นศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นศิลปินต้นแบบ ชนิดที่แม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตไปนานแล้วแต่ความเป็นตำนานของเขาก็ยังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่นายจ้างกับลูกจ้างที่เป็น "หุ้นส่วนธุรกิจ" เท่านั้น แต่ต้องเรียกว่าเป็น "หุ้นส่วนชีวิต" เป็นทั้งผู้จัดการส่วนตัว เป็นทั้งพ่อบ้าน ดูแลตั้งแต่การอัดเสียง ประสานงาน โปรโมต เรื่องธุรกิจ ไปจนกระทั่งเรื่องส่วนตัว จึงไม่แปลกใจแต่อย่างไรที่ "น้องไม้ ไตรศุลี" ผู้ซึ่งเป็นลูกชายของ "จรัล มโนเพ็ชร” จะให้ความเคารพนับถือผู้จัดการส่วนตัวของพ่อถึงขนาดที่ยกให้เป็น "เตี่ย"

ทั้งนี้ในหนังสือ "30ปี โฟล์คซองคำเมือง คือรางวัลแด่ความฝัน" จรัล มโนเพ็ชร ได้บันทึกครั้งแรกที่ได้เจอ มานิด อัชวงศ์ ว่า...

“ประมาณเดือนมกราคม 2520 ผมไปงานวันเกิดของเพื่อน มีคนไปงานกันเยอะมาก ทั้งนักดนตรีและไม่ใช่นักดนตรี เล่นเพลงกันคนละเพลง พอมาถึงผมเป็นคนสุดท้าย ไม่มีเพลงอะไรจะเล่นแล้ว เพราะเพื่อนๆ เขาเล่นกันหมด เลยงัดเอาเพลงคำเมือง เพลงน้อยไจยา ขึ้นมาเล่น"

"พอร้อง เจ้าของวันเกิดกับแม่ของเพื่อนลุกขึ้นรำ ทุกคนร้องตามได้เป็นบางช่วงบางวรรค แต่ส่วนใหญ่ฮัมทำนองได้หมด ผมจึงรู้ว่าเพลงพวกนี้มันอยู่ในจิตใจของทุกคน ถึงแม้เขาจะเล่นเพลงสากลกันอยู่ก็ตาม"

"คืนนั้น คุณมานิด อัชวงศ์ ไปในงานเลี้ยงด้วย ก็เลยชวนผมทำเพลงคำเมือง ตอนแรกไม่ได้คิดว่าแกจะพูดจริงก็เฉย ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมงานอะไรเลย จนพบกับแกอีกครั้ง คุณมานิดก็ถาม เมื่อไหร่จะทำเพลงคำเมือง ผมก็เลย เริ่มต้นค้นเพลงเก่า โดยเน้นเอาเพลงพื้นบ้านออกมาทำ"

"โดยเริ่มค้นว่า เนื้อที่ถูกต้องนั้นเป็นยังไง เที่ยวค้นดูตามต้นฉบับ จากกงานสัมมนา งานวิเคราะห์บ้าง งานของนักศึกษาที่วิจัยออกมาบ้าง เริ่มไปหาผู้รู้ คนแก่ๆ เจอปัญหามากมายไปหมด"

"เพราะเนื้อเพลงมันไม่ตรงกันสักแห่ง แต่ทำนองเหมือนกัน ที่นี่ร้องไปอย่าง ก็เอามาดูลักษณะการประพันธ์ของเพลง มันควรจะเป็นคำไหนที่จะสัมผัสกับตัวนี้ บางทีเอาท่อนนี้มาจากท่อนโน้น มาลงตรงนี้ เอาท่อนโน้นจากตรงนั้นมาลงตรงนี้ เอาทำนองเพลงโบราณมาใส่เนื้อใหม่..."

ขณะที่ทางด้านของ มานิด อัชวงศ์ ซึ่งในตอนนั้นเป็นเจ้าของร้านขายเทปคาสเซ็ทชื่อ "ท่าแพบรรณาคาร" บนถนนท่าแพ เชียงใหม่ ก็ได้บันทึกเรื่องนี้ผ่านหนังสือ "จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์คซอง คำเมือง" ว่า...

"วันนั้นเป็นวันเกิดของเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เพื่อนรุ่นน้องได้เชิญผมไปงานเลี้ยงวันเกิดที่บ้านของเขา ระหว่างทางเดินเข้าบ้าน ผมได้ยินเสียงการเล่นดนตรีโฟล์คซอง เสียงกีต้าร์ชัดเจน การพิกกิ้งเด่นชัด เป็นทำนอง เพลงน้อยไจยา

และมีเสียงร้องของนักร้องชายเสียงหนึ่ง กำลังขับร้อง เพลงน้อยไจยา เป็นน้ำเสียงที่สดใส อ่อนนุ่ม แต่ทุ้มหนักแน่น อักขระชัดเจน

ย่อมเป็นปกติสุขของผมที่คิดจะทำธุรกิจ กับนักร้องคนนี้ โดยปกติแล้ว ผมจะต้องออกเดินทางเพื่อไปค้นหา นักร้อง นักดนตรี มาบันทึกเสียงเพื่อขาย นี่ผมเจอแล้ว แต่กับคนนี้ ง่ายกว่า หรือพบโดยไม่ต้องหา

เมื่อผมเดินมาถึงภายในบ้าน ผมได้พบภาพประทับใจภาพหนึ่ง คือเจ้าของงานวันเกิด กำลังฟ้อนรำ น้อยไจยา กับคุณแม่ของเขาเอง ผมสรุปได้ในทันทีว่า นักร้องคนนี้แหละ ที่ผมจะต้องชักชวนให้เขาทำงานกับผม

คนอะไร เล่นกีต้าร์ให้คนฟ้อนรำพื้นเมืองได้

เมื่อเพลงจบลง เจ้าของงานวันเกิดได้เดินมาพบผม แทนที่ผมจะกล่าวคำอวยพรวันเกิด หรือกล่าวคำทักทายผมกลับพูดว่า “ไปตามไอ้นักร้องคนนั้นมาหาหน่อย”

เมื่อได้พบกัน ได้เห็นหน้าโดยชัดเจนว่า เขาเป็นหนุ่มร่างสันทัด ใส่เสื้อแขนยาวลายสก็อต กางเกงทรงเดฟ หน้าตาก็พอใช้ได้ เรียกว่าไม่ขี้เหร่ ผมเริ่มบุกทันที “ไอ้น้อง อยากจะออกเทปสักชุด ไหม ?” เขาตอบผมอย่างสุภาพ “ได้ครับ” ด้วยเสียงและท่าทีที่สุภาพมาก เสียงก็หนักแน่น ดูเป็นสุภาพบุรุษ ทำให้ท่าทีผมเบาบางลง

ผมได้ถามเขาต่อ “คุณชื่อ อะไรครับ”

“จรัล มโนเพ็ชร ครับ” ผมค่อนข้างจะดีใจ ชื่อลักษณะนี้ ง่ายต่อการทำงาน ขั้นต่อไปคือ เรื่องตัวเพลง “แล้วจะใช้เพลงอะไร” คำตอบก็คือ “ผมขอใช้เพลงที่ผมแต่งเอง ครับ”

น่าดีใจมากสำหรับผม จรัล มโนเพ็ชร เป็นนักแต่งเพลงคนที่สองที่ผมรู้จัก น่าตื่นเต้นมาก คนแรก ที่ผมรู้จัก คือ พรพิรุณ ท่านผู้แต่ง เพลงขอให้เหมือนเดิม

“แล้วค่าร้องเพลง ค่าทำงานล่ะ” อีกแล้วครับท่าน ผมได้รับคำตอบของสุภาพบุรุษอีกแล้ว “ผมขอรับ เท่าที่ คุณมานิด จะจ่ายให้ผม”

เป็นครั้งแรกในชีวิตจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้ เคยเจอกับคำร้องขอที่มากเกินความจริง ต้องต่อรอง ต้องชี้แจงกันว่า ค่าของงานคุณ มันเหมาะสมเท่านั้นเท่านี้ หรือ เลิกพูด เลิกทำงานด้วยกันเลย

ผมเปิดฉากใหม่ “แล้วจะรับเป็นเงินก้อนเลย หรือแบ่งตามม้วน ตามที่ขายได้” คำตอบสุดท้าย คือ “ผมขอให้ คุณมานิด เป็น ผู้จัดการส่วนตัวผม ก็แล้วกัน”

ไม่นานหลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานเพลงอัลบั้ม "โฟล์คซอง คำเมือง ชุดอมตะ" ที่มีเพลงอย่าง อุ้ยคำ เพลงน้อยไจยา เพลงพี่สาวครับ เพลงสาวมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ ก่อนที่คนทั้งประเทศจะมีโอกาสได้รู้จักนักร้องคำเมืองที่ชื่อ "จรัล มโนเพ็ชร"

ขณะที่ตัวของ "มานิด อัชวงศ์" เองก็ได้ทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนตัวกระทั่งถึงวันสุดท้ายในชีวิตของนักร้องผู้โด่งดัง โดยเขามักจะแนะนำตัวเองว่า “ผม มานิด อัชวงศ์ ผู้จัดการส่วนตัว ของ จรัล มโนเพ็ช” เสมือนหนึ่งเป็นชื่อเต็ม ชื่อจริงของเขาด้วยความภาคภูมิใจ



กำลังโหลดความคิดเห็น