รายการโหนกระแสวันที่ 2 ก.ค. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ หมอแล็บแพนด้า นักเทคนิคการแพทย์, ได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ จิตอาสา กรณีผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีเตียง เสียชีวิตที่บ้าน และมองว่าสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข
ในฐานะเป็นนักเทคนิคการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนฝูงหมอเองเป็นยังไงกันบ้าง?
หมอแล็บ : เตียงไม่พอไม่ใช่แค่ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์แทบไม่เห็นเตียงเลย ไม่เคยได้นอนเลย เพราะมันเยอะมหาศาลจริงๆ ผมอยากให้ทุกคนจินตนาการว่าวันสองวันที่ผ่านมา วันละ 5 พัน วันนี้ 6 พัน เป็นหมื่นกว่าแล้ว จะหาเตียงจากไหน ที่บอกว่าเหลือเตียงที่นั่นที่นี่พันกว่า วันนี้เราไม่พูดที่ผ่านมาว่าสะสมอยู่เท่าไหร่ วันนี้เป็นหมื่นเอาเตียงที่ไหนให้เขา คนที่บอกว่าเตียงพอ อยากให้มาดูหน้างาน แล้วจะเห็นว่ามันพอหรือไม่พอ
ในมุมบุคลากรทางการแพทย์ วันนี้เป็นยังไงกันบ้าง?
หมอแล็บ : ใกล้ตายแล้วผมว่า คือทำงานหนักมาก ไม่รวมกับความเสี่ยงที่เขาต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้ออยู่ บางที่ติดเชื้อกัน 30 กว่าคน เขาก็ต้องมาเสี่ยง หลายๆ คนได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วด้วย ก็ยังติดกัน
คุณได๋ ทำไมอยู่ดีๆ มาเป็นจิตอาสา ช่วยบริหารเรื่องเตียง คนโทรหาคุณ?
ได๋ : จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าหนูไม่ได้ตั้งใจจะมาทำแต่มีคนไดเร็กมาที่น้องจ๊ะ นงผณีว่าให้ช่วยหาเตียงหน่อย วันนั้น 24 เม.ย. พอมีคนส่งเคสเข้ามา มันก็มีมาเรื่อยๆเราเลยรู้สึกว่าถ้าจะมีส่งเข้ามาเรื่อยๆ แบบนี้ เราทำเป็นเพจดีกว่าจะได้รวมเคสไว้ในที่เดียว แล้วก็จะได้ช่วยกันประสานได้ อย่างที่รู้ คนที่อยู่ในวงการ สามารถเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนได้ วันนี้ก็เหมือนกันค่ะ จริงๆ ตั้งแต่เม.ย. จนถึงตอนนี้ มีหลายช่องที่เชิญไปออกรายการ แต่เราไม่ไปไหนเลยเพราะรู้สึกว่าอยากทำงานแบบเงียบๆ แต่เมื่อคืนนี้เกือบเที่ยงคืนพี่หนุ่มโทรมา เรารู้สึกว่าถึงเวลาแล้ว ที่เสียงผู้ติดเชื้อที่เบาๆ เงียบๆ อยู่ในเงา หลืบๆ ในบ้านเขา เสียงเขาน่าจะต้องดังพอให้ใครได้ยินว่าเตียงคือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ การที่เขาต้องได้รับการรักษาทันท่วงที เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
วันนี้พอเป็นจิตอาสา โทรศัพท์ที่ได้รับ ในการให้หาเตียงให้ เยอะแค่ไหน?
ได๋ : เบอร์ปกติที่ใช้ตอนนี้ไม่รับแล้วค่ะ วางไว้เฉยๆ อันนี้เป็นเบอร์ส่วนตัวมีเฉพาะญาติคนใกล้ตัวเท่านั้น แต่อินบ็อกซ์ของเพจเราต้องรอดตอนนี้ ทุก 1 นาทีจะมี 4 เคสเข้ามา แล้วทบๆ ไปเรื่อยๆ มันไม่มีทีท่าว่าจะลดลง มันเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 และไม่มีทีท่าจะหยุด มีหยุดแค่ตีสามถึงตีสามสี่สิบ ไม่เกิน ชม. นึง แล้วเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ
ได๋ประสานไปทางมุมไหน?
ได๋ : คนอาจจะมองว่าใช้วิธีไหนเหรอ ทำไมหาเตียงได้ เราก็ใช้วิธีปกติเลยค่ะ เพียงแต่ว่าพอทุกคนรู้ว่าติดเชื้อ อาจเริ่มแพนิค ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงดี แต่จริงๆ มีหลายๆ หมายเลขที่เราต้องทำก่อน เพื่อเอาตัวเองไปเข้าระบบกลาง ตรงนี้หลายคนอาจยังไม่ทราบ 1668 1330 สามารถลงทะเบียนตัวเองได้ที่ @BKKคอนเน็ค ตรงนี้ถ้าทำแล้ว ชื่อเราจะเข้าไปสู่ระบบกลางแน่นอน แต่ถ้าใครอยู่ต่างจังหวัดหรือปริมณฑล ต้องโทรแจ้งสาธารณสุขจังหวัด ตรงนี้เป็นข้อมูลที่หลายคนอาจไม่ทราบและแพนิค เราเปิดเพจและคอยประสานงานให้ทุกคนเข้าสู่ระบบกลางให้เร็วที่สุด แล้วถ้ามีตรงไหนว่างก็ช่วยประสานงานให้เขาได้
เห็นบอกว่ากว่าจะได้นอน ตีห้าถึงหกโมงเช้า เพราะต้องสแตนบายรับผู้ป่วย?
ได๋ : หนูไม่ได้เป็นหมอนะคะ หนูไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย อันนี้เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พอสักตี 1 2 3 ผู้ป่วยเขาจะนอน บางทีท่านอนทำให้เขาหายใจไม่สะดวก พอนอนๆ อยู่เขาเริ่มหายใจไม่ออก เราก็คอยอยู่ตรงนั้นอยู่เป็นเพื่อนเขา บางกรณีพอเขาหายใจไม่ออก ออกซิเจนเขาดร็อป เราก็ต้องคอยประสานงาน อย่างอาสาสมัครที่เรามีที่เพจเพื่อให้ออกซิเจนเขาหน้างาน ประทังชีวิตเขาไป ช่วยเหลือประสานไปยัง 1669 เพราะบางคนก็เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เขาไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยสแตนบายเอาไว้ เผื่อเราต้องช่วยอะไรเขา ตอนนี้ตรงอินบ็อกซ์จะมีคนคอยตอบ ประมาณ 20 คน และนำข้อมูลไปลงเอ็กซ์เซล ส่งคุณไปในไลน์ของเราซึ่งจะมีบุคลากรทางการแพทย์ เป็นพยาบาล อาสาสมัครที่จะมาคอยมอนิเตอร์ คอยเช็กว่าผู้ที่ติดต่อเข้ามาเป็นสีอะไร สีเขียว เหลือง หรือแดง กรณีหายใจไม่ออก อย่างน้อยให้ผู้ติดเชื้อรู้ว่าเราอยู่ตรงนั้นสแตนบายเพื่อรอ ระหว่างนั้นจะมีอีกหนึ่งทีมคอยประสานงาน ตามเรื่องเอกสารต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารเขาถูกต้อง เพราะปัจจุบันนี้มีบางเคสที่ตรวจแล้วไม่ได้ส่งผลมาให้เรา แต่พอเราเห็นปุ๊บผลนั้นมันเข้าระบบไม่ได้ ต้องไปตรวจใหม่ เราก็ประสานงานให้ ถ้าเคสเหลืองส้มแดงเยอะเกินไป เขาไม่สามารถหายใจเองได้ เราก็ให้เขาวัดออกซิเจนให้เราว่าอยู่ที่เท่าไหร่ ถ้าต่ำกว่า 95-96 เราก็ยังโอเค เราจะส่งทีมหน้างานไป ตอนนี้โชคดีมากที่เพจได้รับเครื่องผลิตออกซิเจน เราก็ไปทิ้งไว้ที่บ้านผู้ติดเชื้อเลยค่ะ เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาหายใจไม่ออก ก็ให้เขาใช้เครื่องตรงนี้จะช่วยให้เขาหายใจได้ดียิ่งขึ้น
หนูมองว่าถ้าเราอยู่ในบ้าน แล้วเราเห็นคนตากฝน เราก็ยังต้องยื่นร่มให้เขา เราต้องไปช่วยเขา อันนี้คนหลายร้อยเป็นพัน เขาไม่ต้องการร่ม ไม่ต้องการข้าว เขาต้องการโอกาสมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นถ้าเราช่วยเขาได้ คนที่เขาติดเชื้อหรือเสี่ยงทำมาหากินไม่ได้แล้ว เขาไม่รู้จะจ่ายค่าเช่าบ้านยังไง เขาจะเลี้ยงลูกเขายังไง แล้วเขายังไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอีก รู้สึกว่าเราก็ทำทุกวิถีทางช่วยเขาได้เท่าที่เราจะช่วยค่ะ
หมอแล็บเอง แรกๆ ควักเงินตัวเองเพราะอะไร?
หมอแล็บ : ตอนนั้นมันระบาดระลอกแรก ก็อยากให้ประเทศไทยเรารอดพ้นจากโควิด ก็ไปศึกษาการตรวจจากที่ต่างๆ ว่าแต่ละประเทศเขาทำกันยังไง เขาถึงควบคุมได้ ปรากฏว่าเขาเร่งตรวจเชิงรุกให้มากที่สุด ก็ให้ประชาชนไปตรวจในรพ. ให้ประชาชนขับรถไปตรวจรพ.ที่เราเรียกว่าไดร์ฟทรู เราก็คิดนวัตกรรมใหม่ เราขับรถไปหาเขาเลย ผู้ป่วยจะได้ไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงข้างนอก หรือแออัดกันที่รพ. ผมเลยคิดเป็นรถสว็อปขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ ค่าตรวจอะไรยังไม่รู้ ก็ออกเองไปก่อน เพราะคิดว่าน่าจะเบิกได้ ทำกันไปไม่รู้จะเบิกอะไร เลยเขียนว่าเบิกค่า PPE แล้วกัน อย่างน้อยเอามาซัปพอร์ตค่าน้ำยา ค่าอะไรของเราไป พอไล่ตรวจระลอกแรก กรุงเทพฯ ดีขึ้นเป็นศูนย์ พอจะไปเบิก ไม่ถูกเขียนอะไรรองรับไว้ เขาไม่จ่าย มันก็เลยหายไปเลยหลายล้าน เป็นเงินส่วนตัวของเรา ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท
ตอนนี้มองยังไงเรื่องผู้ป่วยที่ทวีคูณขึ้น 2 เม.ย. คลัสเตอร์ทองหล่อ ทยอยมาเรื่อยๆ จนวันนี้ 6 พัน หมอมองเรื่องนี้ยังไง?
หมอแล็บ : ผมมองว่าเดี๋ยวจะมากกว่านี้อีก เพราะเตียงไม่พอ เขาจะไปอยู่ไหน ก็ต้องอยู่บ้าน สมมติเขาให้เรารอ 2-3 วันผ่านไป ก็เป็นการแพร่กระจายเชื้อให้คนในครอบครัว บ้านแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ บ้านเราอาจแบ่งหลายห้อง ห้องนอนพ่อ ห้องนอนลูก ห้องนอนคนใช้ก็ว่าไปสำหรับบ้านคนรวย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น
ได๋ : บางคนเป็นห้องๆ เดียว 20 คนก็มี การที่เขานอนเรียงกัน ถ้าหนึ่งคนเป็น คนข้างๆ ก็เป็นแน่นอน ถ้าปล่อยให้ผู้ติดเชื้ออยู่ที่บ้าน ก็จะเสี่ยงที่คนทุกคนเป็นหมด ตอนแรกอาจแค่ 1 คน แต่ยิ่งปล่อยไปนาน สมมติอยู่กัน 20 คน แปลว่าเรากำลังปล่อยให้เชื้อแพร่ไปถึง20 เราก็ช่วยได้เท่าที่ช่วย เราเป็นแค่ประชาชน ไม่มีอาวุธอะไรไปสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ตอนนี้พูดตรงๆ ว่าคงได้แต่มองหน้ากันและให้กำลังใจกัน จะเดินไปกอดกันยังไม่ได้เลย ได้แต่รอว่าจะมีปาฏิหาริย์บางอย่างเกิดขึ้นมั้ยเพื่อให้บางอย่างมันดีขึ้น
ได๋ประสานคลัสเตอร์นึง?
ได๋ : ในเพจพอเรารับเรื่องมา เราช่วยได้หนึ่งเคสในชุมชน เขาก็จะส่งมาเรื่อยๆ แต่ละชุมชนก็จะมีอาสาประสานงานอยู่ เราเหมือนมีเพื่อนๆ อยู่ในชุมชนต่างๆ อัปเดตว่าเป็นยังไงบ้าง มีการกระจายของเชื้อมั้ย ชุมชนนี้อยู่แถวๆ มหานาค
ต่อสายหา “เปอเชีย ไชยสุกุมาร” อาสาชุมชนมหานาค ตอนนี้ข้างในชุมชนเป็นยังไงบ้าง?
เปอเชีย : วันนี้ไม่ถึงครึ่งวัน ตัวเลขมา 16 แต่ติดหลักร้อยขึ้นในชุมชนที่มียอดสะสมแล้ว วันนี้ที่น่าหดหู่คือมีเด็กเล็กจำนวนมาก เล็กสุดคือ 3 เดือน 6 – 8 เดือน มี 2-5 ขวบ วันนี้เด็กติดค่อนข้างเยอะ และผลที่ยังไม่ออกอีกจำนวนนึง
ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อแล้ว มีเตียงหรือยังค้างอยู่?
เปอเชีย : ยังติดค้างอยู่จำนวน 10+ ค่ะ ปัจจุบันนี้ที่รอเตียง 7 วันยังไมได้เตียง มีหนึ่งคนที่นานสุดคือ 7 วัน นอกนั้นก็ 3 วัน
เป็นสายพันธุ์?
เปอเชีย : มีน้องผู้ชายคนนึงไปสมัครเรียนที่มัสกัสยะลา น้องกลับมาในชุมชนวันที่ 13 วันที่ 14 มีรถพระราชทานมาตรวจ ผลออก 16 น้องติด ทีนี้เพื่อนน้องที่สนิทกันก็ติด 1 คน เราก็เอะใจเพราะน้องมาจากกลุ่มเสี่ยง เลยถามน้องว่าเพื่อนๆ ที่มัสกัสมีติดมั้ย เขาบอกเพื่อนติดทั้งหมดเลย เราเลยรู้สึกว่าน่าจะติดสายพันธุ์ที่เป็นข่าว เขาต้องปิดชุมชนตรงนั้น หนูก็แจ้งสาธารณสุขชุชุมชนว่าสงสัยว่าเขาน่าจะติดสายพันธุ์นี้และกลัวขยายไปในวงกว้าง แล้วชุมชนก็สวนมาเลยว่าข่าวลือ หนูก็เลยบอกว่าจะข่าวลือได้ไง จะเอาให้ดูว่าน้องมาจากกลุ่มเสี่ยง ต้องการแจ้งสาธารณสุข มาตรวจได้มั้ย เอาเขาไปตรวจละเอียดได้มั้ย
คิดว่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเหรอ?
เปอเชีย : ก็สงสัย เพราะน้องมาจากกลุ่มเสี่ยง ณ วันนั้นน้องไปอยู่โรงแรม ได้รับความช่วยเหลือจากเพจคุณได๋ไปอยู่ฮอสพิเทล เราก็ปรึกษาพี่ๆ อาสา เขาบอกว่าจริงๆ น่าจะคิดไว้ก่อนว่าใช่ อยากให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าใช่มั้ยเพราะมันจะขยายเป็นวงกว้างตามที่เป็นข่าว แค่แป๊บเดียว 30+
ได๋ : หนึ่งคนเป็น 30+ และวันนี้ตัวเลขอาจถึง 50
เปอเชีย : แล้วแพร่ไปในครอบครัว 30 กว่าคน ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
ภาครัฐรับทราบหรือยัง?
เปอเชีย : หนูก็แจ้ง แต่เขาไม่ได้ตอบสนองอะไรมามาก เป็นภาคประชาชนที่ดิ้นกันเอง ถ้าหนูไม่ได้เพจพี่เขา หรือเพจเอกชนทั่วไปที่เขาให้ความช่วยเหลือ เพจเป็นแรงหลักของชุมชนของหนูเลย เพราะเครื่องออกซิเจนก็มาจากเพจพี่เขานี่แหละที่มาทิ้งไว้ให้ในชุมชุนหนู ปัจจุบันนี้ มีคุณลุง 60 กว่า ต้องใช้ออกซิเจนรออยู่ เพราะติดต่อภาครัฐไม่ได้ 69 นี่น่าจะล่มสลายไปในประเทศแล้วเพราะมันติดต่อไม่ได้ ของเรามีเคสวิกฤต คุณตาอายุ 83 เราก็ต้องดันโทรหา 1669 คุณได๋ช่วยประสานน่ารักมาก ตีหนึ่งก็มีอาสามาหาหนู มาดูออกซิเจนให้ ถ้าเราไม่มีภาคเอกชนช่วย หนูว่าเราจะตายเกลื่อนมากกว่านี้มากๆ เรารู้ว่าภาครัฐตอนนี้ล้นจริงๆ แต่น่าจะทำได้ดีกว่านี้
ณ วันนี้ทางแก้ในมุมจิตอาสา อยากทำอะไร?
หมอแล็บ : ตอนนี้ทำแล้ว กำลังร่วมมือกับรพ. ทำรพ.สนามเพิ่ม เพราะผมคิดว่าตรงนี้จะช่วยลดภาระได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเขียว และจะร่วมมือกับคุณได๋ ทำศูนย์พักคอย
ได๋ : คิดว่าจะทำได้มั้ยคะ ณ ตอนนี้สิ่งที่เราต้องรอคือเตียง แต่ถ้าเราสามารถสร้างศูนย์พักคอย ที่เราไปรับผู้ติดเชื้อมาอยู่ตรงนี้ พักและคอยเวลาที่ตัวเองได้เตียง อย่างน้อยจะได้แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน นี่เป็นความฝันนะคะ ไม่รู้ว่าหนูต้องแจ้งไปถึงใคร ขอโอกาสด้วย หนูคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางที่ทำได้ อีกอย่างคือเรื่องโฮมแคร์ เดลิเวอรี การที่เราส่งพวกยาสามัญประจำบ้านไปที่นั่น หรือมีทางไหนมั้ยที่เรารู้ว่าตรงนี้มีผู้ติดเชื้ออยู่ มีบุคลากรเข้าไปดูเพื่อจ่ายยาให้เขาก่อน เพื่อที่ว่าเขียวจะได้ไม่เป็นเหลือง เหลืองจะได้ไม่เป็นแดง เพราะโควิดไม่ใช่โรคธรรมดาถ้าลงปอดเมื่อไหร่แล้วกินปอด ไม่รู้เขาจะอยู่ได้นานแค่ไหน
ดึงตัวคนป่วยมาศูนย์พักคอย เป็นน้องรพ.สนาม อย่างน้อยดึงเขาออกมาจากบ้านเพื่อลดภาระความเสี่ยงคนอยู่ในบ้าน หลังจากนั้นส่งออกไปหารพ.สนาม?
ได๋ : มันจะง่ายต่อการบริหารจัดการด้วยค่ะ ท้ายที่สุดนี้ ขอใช้พื้นที่นี้กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ทำงานหนักมากๆ ไม่ว่าจะหน่วยงานต่างๆ หมอ บุคลากรทางการแพทย์ เพจ อาสาสมัครทุกๆ คน อยากขอความเห็นใจ ทำยังไงก็ได้ ให้เราทุกคนร่วมมือร่วมใจกันและผ่านวิกฤตนี้ไปได้
หมอแล็บ : ผมอยากให้พิจารณาการปิดธุรกิจนิดนึง บางทีเรามองว่าเราปิดเรียบร้อยแล้ว ธุรกิจข้างบนมันเดินไปไม่ได้แล้ว เราก็คิดว่าเอาอยู่ ลดการเคลื่อนย้ายได แต่ธุรกิจสีเทา อย่างเอาคนออกไปข้างนอก ไปเอ็นเตอร์เทน หรือธุรกิจบ่อน มันต้องทำทั้งข้างบนและข้างล่วงควบคู่กันไป ไม่งั้นก็กระจายเชื้อได้อยู่ อยากให้มองทั้งหมด อย่าปิดแค่อาชีพสุจริต