กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อ “ซูหมาง” อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Harper’s Bazaar จีน ได้กล่าวถึงมาตรฐานอันสูงส่งในการใช้ชีวิตของตนเองผ่านรายการเรียลลิตี้จนกลายเป็นการด้อยค่าคนส่วนใหญ่ในสังคมจีน
ก่อนหน้านี้ ซูหมาง ได้ไปร่วมรายการเรียลลิตีทีวี “50km Taohuawu” ที่มีการนำเซเลบคนดัง 15 ชีวิตมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 21 วันพร้อมกับให้ใช้จ่ายเงินตามงบที่รายการให้ไว้
ทันทีที่ทราบจำนวนเงิน ซูหมาง ได้บ่นอุบขึ้นมาทันทีว่า “เราต้องกินดีกว่านี้ ฉันไม่กินอะไรที่มาตรฐานต่ำนะ” โดยทางรายการได้จัดสรรงบให้เธอ 650 หยวน หรือประมาณ 3,200 บาทเป็นค่าอาหาร
จากความเห็นของ ซูหมาง ผู้มีฉายาว่า Devil Wears Prada เวอร์ชันจีน ทำเอาชาวจีนหลายคนต่างไม่พอใจเพราะเหมือนโดนดูถูกว่าพวกเขามีชีวิตที่มาตรฐานต่ำ เพราะพวกเขาเองใช้จ่ายค่าอาหารอยู่ที่ 30 หยวนหรือประมาณ 150 บาทต่อวันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลังกลายเป็นประเด็นใหญ่เธอก็ออกมาชี้แจงว่า 650 หยวนที่เธอได้รับมาจัดการค่าอาหารจากทางรายการเป็นจำนวนที่ใช้ใน 21 วันไม่ใช่ 650 หยวนต่อวันอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ แต่ดูเหมือนชาวจีนเองก็ไม่ฟังและยังคงไม่พอใจกับคำชี้แจงของเธออยู่ดี
“เธออยากอธิบายอะไรก็อธิบายไป แต่ความจริงก็คือพวกเซเลบเป็นพวกชนชั้นสูง พวกเขาไม่มาเข้าใจอะไรหรอก” หนึ่งในชาวเน็ตทาง Weibo ได้วิจารณ์ไว้
เรื่องราวของ ซูหมาง นับเป็นกรณีคนรวยรายล่าสุดที่เจอกระแสต่อต้านจากสังคม แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอนนาเบล เหยา ลูกสาวคนเล็กของ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง Huawei ก็ทำเอาชาวจีนถึงขั้นมองบนใส่ เมื่อเธอออกมาโอดโอยผ่านโลกออนไลน์ว่า เธอต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
“ฉันไม่เคยทำตัวเหมือนเจ้าหญิง ฉันว่าฉันก็เหมือนคนทั่วไปที่รุ่นราวคราวเดียวกับฉัน ฉันต้องทำงานอย่างหนัก เรียนหนัก เพื่อที่จะได้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ” เธอได้พูดเอาไว้ในคลิปความยาว 17 นาทีที่โพสต์ใน Weibo เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าเธอกำลังก้าวสู่การเป็นการนักร้อง พร้อมกับบอกว่า การได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงคือ “ของขวัญวันเกิดที่ดีที่สุด” ที่เธอมอบให้ตนเอง ซึ่งคลิปดังกล่าว ทำเอาสาวสวยวัย 23 ปี ที่พ่อมีทรัพย์สินกว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดนถล่มยับทีเดียว
ไม่สมควรรวย
กระแสความอวดรวย ของไฮโซจีนมีมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะการอวดรถหรู กระเป๋าแบรนด์เนม ทางโลกออนไลน์ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจเพื่อให้ผู้ที่ติดตามต่างพากันอิจฉาในความเหลือกินเหลือใช้ ซึ่งมันได้กลายมาเป็นความเกลียดชังและการเหยียดหยามพวกคนรวยเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
คนอย่าง ซูหมาง และ แอนนาเบล เหยา กลายเป็นเป้าโจมตี เพราะชาวจีนเชื่อว่า พวกเซเลบเหล่านี้ หรือที่เรียกกันว่า ฟู่เอ้อร์ไต้ ( พวกเด็กรวยรุ่นสอง ) ต่างก็ไม่ได้รวยด้วยตนเอง และไม่สมควรได้รับรายได้มหาศาลจากที่คนรุ่นพ่อสร้างไว้ให้
ดร. เจียนซู แห่งมหาวิทยาลัย Deakin ที่วิจัยวัฒนธรรมสื่อจีนได้ให้ความเห็นว่า “เมื่อเทียบกับพวกดารา และงานที่ดูเหมือนง่ายของพวกเขา คนก็จะบ่นกันว่าพวกเขาทำงานหนักกว่าแทบตายแต่รายได้กลับน้อยนิดเดียว”
ด้าน ดร. ไห่ชิงหยู ศาตราจารย์ด้านสื่อศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย RMIT ในเมลเบิร์น ได้กล่าวเสริมว่า “ความเห็นของ ซูหมาง เรื่องอาหารทำให้ผู้คนโกรธแค้น เพราะไปสะกิดแผลที่รัฐบาลจีนพยายามปกปิดไว้คือ คนรวยก็มีมากจนเหลือกินเหลือใช้ ส่วนคนจนที่ไม่มีก็คือไม่มีจะกินเลย”
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงลิ่ว
ตามรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ได้เปิดเผยว่า รายได้เฉลี่ยของคนในประเทศอยู่ที่ 32,189 หยวน หรือ 2,662 หยวนต่อเดือน ( ประมาณ 13,130 บาท ) ซึ่ง ปักกิ่ง นับเป็นเมืองที่มีจำนวนมหาเศรษฐีมากกว่าเมืองอื่นๆในโลก
ตามรายงานจาก Hurun Report ได้เผยด้วยว่าคนรวยที่ติดอันดับในจีนมีรายได้มากถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 ซึ่งนับเป็นรายได้ครึ่งหนึ่งของ GDP สหราชอาณาจักรเลยทีเดียว
ดังนั้นการที่คนรวยจีนต่างพากันอวดทรัพย์สินลงในโซเชียลมีเดีย จึงถูกมองว่าเป็นพวกหูหนวกตาบอดที่มองไม่เห็นปัญหาความยากจน แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเรื่องรายได้ แต่ว่าจีนถือว่าอยู่ในจุดที่น่าอึดอัดใจมากที่สุด
นานแล้วที่คนจีนเคยอยู่ในกรอบความคิดเดียวกันว่า พวกเขาสามารถบรรลุไปสู่ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อดีตผู้นำสูงสุดอย่าง เติ้งเสี่ยวผิง ได้กล่าวไว้กับประชาชน แม้ว่ามันจะหมายถึงการที่บางคนหรือบางภูมิภาคจะมั่งคั่งก่อนคนอื่นก็ตาม
“แต่หลังจาก 40 กว่าปีที่เริ่มเปิดประเทศ พวกคนรวยก็มีแต่จะรวยขึ้นๆ ทิ้งห่างพวกรายได้น้อย จนทำให้คนเหล่านี้รู้สึกไร้พลังอำนาจและสิ้นหวัง” ดร. ซู กล่าว
ส่วนความโกรธแค้นชิงชังพวกคนรวยนั้น ยังอาจเป็นเพราะว่า คนที่สิ้นหวังเหล่านี้ ต่างคาดหวังว่าคนดังจะมีส่วนร่วมต่อสังคมมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาต่างมีพลังและเป็นที่รู้จัก
แต่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา คนดังก็ทำให้คนรายได้น้อยต่างสิ้นหวังยิ่งขึ้น หลังมีข่าวของนางเอกสาวที่คนจีนชื่นชอบอย่าง เจิ้งส่วง ถูกอดีตคนรักแฉถึงรายได้ว่าเธอสามารถทำเงินได้จากการถ่ายละครต่อวันอยู่ที่ 2 ล้านหยวน ซึ่งนับว่าการถ่ายทำละครจบหนึ่งเรื่องเธอจะได้เงินทั้งหมด 160 ล้านหยวนเลยทีเดียว
“อะไรคือค่าตัว 160 ล้านหวน? ลูกจ้างปกติได้เงินแค่ 6,000 หยวนต่อเดือน อยากได้เงินเท่านั้นต้องทำงานไปถึง 2,222 ปีเลย คือต้องทำงานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินโน่นเลย” ชาวเน็ตรายหนึ่งวิจารณ์ถึงรายได้ของ เจิ้งส่วง ผ่านทาง Weibo
ความไม่พอใจในตัว เจิ้งส่วง จึงเพิ่มขึ้นทวีคูณกว่าเดิม เพราะก่อนหน้าข่าวเรื่องค่าตัวและการหลบเลี่ยงภาษี ก็มีข่าวว่าเธอสั่งทำแท้งคนที่อุ้มบุญลูกของตนเอง เพราะเมื่อต้นปีเธอถูกอดีตคนรักแฉว่าเธอแอบไปจ้างคนอุ้มบุญที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฏหมายในจีน พร้อมกับสั่งทำแท้งแม้อายุครรภ์จะปาไป 7 เดือนแล้วหลังรู้ว่าคนรักนอกใจ เรื่องนี้เองทำคนจีนช็อก ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไม่สามารถทำแท้งได้เธอก็เลือกที่จะทิ้งเด็กทั้ง 2 คนให้อยู่กับอดีตคนรักโดยไม่ยอมเซ็นรับรองบุตร ส่งให้อดีตคนรักและเด็กทั้งสองคนไม่สามารถเดินทางกลับเข้าเมืองจีนได้
ความไม่พอใจจึงอยู่ตรงที่ คนระดับ เจิ้งส่วง ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลเช่นนี้กลับไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคม แถมยังสร้างปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่รู้จบ จึงทำให้เธอถูกทั้งทางการจีนและสังคมแบนชนิดที่คาดว่าอาจไม่ได้เกิดอีกต่อไป
เช่นเดียวกับ ฟ่านปิงปิง นักแสดงดังระดับฮอลลีวูดที่ชาวจีนชื่นชอบ กับข่าวเลี่ยงภาษีก่อนหน้านี้ ก็ทำให้คนในสังคมเกลียดชังและไร้ความเห็นใจสงสารเธอ แม้ว่าเธอจะจ่ายภาษีคืนจนหมด และเดินหน้ากลับคืนวงการบันเทิงได้อีกครั้งก็ตาม
พยายามถ่อมตัว อวดแบบไม่อวด
การพยายามโอ้อวดถูกนำไปเชื่อมโยงกับความคิดที่ว่า มันเป็นสัญญาณถึงการไร้ซึ่งวัฒนธรรม ดร. จอห์น ออสเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ Anxious Wealth: Money and Morality Among China's New Rich ได้บอกกับทาง BBC ว่า เมื่อชาวเมืองชนชั้นกลางเติบโตขึ้น มีการศึกษามากขึ้น จึงได้พากันมองการอวดรวยเหล่านี้ว่าเป็นการไม่รู้ประสีประสา หรือมีพื้นเพมาจากชนชั้นล่าง
อย่างไรก็ตามแม้การโอ้อวดจะโดนตำหนิ แต่ความกระหายอยากได้ของหรูหราก็คงไม่หมดไปในเร็ววันนี้ เพราะตามรายงานจากบริษัทวิจัยตลาดอย่าง Euromonitor International ได้เผยว่า จีน แซงหน้า ญี่ปุ่น ในฐานะประเทศที่มีตลาดของผู้บริโภคสินค้าหรูหรารายบุคคลมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก พร้อมกับคาดการณ์ว่าจะได้เห็นยอดขายสินค้ากลับไปเท่ากับก่อนเกิดโรคระบาดภายในสิ้นปีนี้อีกด้วย
ดังนั้นเมื่อเศรษฐีจีนอยากจะสร้างความสมดุล ในการบ่งบอกว่าตนเองประสบความสำเร็จ จึงพากันมาในรูปแบบพฤติกรรมที่ดูถ่อมตนอวดรวยแบบเหมือนไม่อวด “คนรวยบางคนตอนนี้จะพยายามอวดแบบไม่โจ่งแจ้ง อวดโดยไม่โชว์รูปวัตถุสิ่งของแบบชัดๆ” ดร. หยู กล่าว
ยกตัวอย่างเช่น MengQiqi77 เธอมักจะอัปเดตไลฟ์สไตล์หรูหราลงโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอโพสต์บ่นใน Weibo เรื่องไม่มีสถานีสำหรับชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพียงพอบริเวณแถวบ้านเธอ “ดังนั้นฉันเลยไม่มีทางเลือก คงต้องย้ายไปอยู่บ้านที่ใหญ่ขึ้น มีโรงรถส่วนตัวสำหรับรถ Tesla ของสามี”
นอกจากนั้น เธอยังเคยแสดงความเห็นต่อสามีของเธอว่า ขี้งกเกินไป กับการเลือกใส่สูทแคชเมียร์ราคาแค่ 30,000 หยวน ( 147,000 บาท )
งานนี้ชาวเน็ตจึงพากันล้อเลียนเธอว่าเหมือนหลุดมาจากการ์ตูนกุหลาบแวร์ไซล์ พร้อมกับบอกผู้คนว่า “เราต้องแกล้งทำเป็นไม่เห็น ทำเป็นไม่รู้เรื่องกับสิ่งที่เธอกำลังอวด”
เรียกได้ว่าเรื่องน่ากลุ้มของคนรวยจีนตอนนี้คือ อวดยังไงให้เหมือนไม่อวด เพราะฉะนั้นใครอยากอวดรถ บ้าน กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า เครื่องประดับ คงต้องหาวิธีอวดแบบเนียนๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะจากชาวเน็ตในโซเชียลมีเดียเสียแล้ว