xs
xsm
sm
md
lg

“กองทุนสื่อฯ” จับมือ “นิด้า” นำเสนองานวิจัย Quality Ratingหวังต่อยอดเป็นเกณฑ์วัด สื่อคุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมนักวิจัยจาก “นิด้า” นำเสนองานวิจัย “Quality Rating” ตั้งเป้ามุ่งสร้างแนวทางการวัดเรตติ้งแบบใหม่เพื่อวัดคุณภาพของรายการทีวี ภายใต้การเก็บข้อมูลทั้งจากผู้ชมและโลกออนไลน์ ด้าน “กองทุนสื่อฯ” หวังนำผลจากงานวิจัยไปต่อยอดสร้างระบบการวัดเรตติ้งแบบใหม่ที่เน้นเรื่องคุณภาพรายการ หลังระบบเรตติ้งปัจจุบันเน้นแต่จำนวนยอดผู้ชม

โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating) โดยการสนับสนุนของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดการเสวนาออนไลน์ “เวทีเสวนาเพื่อการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating)” พร้อมด้วย “พิธีมอบใบรับรองให้แก่รายการที่เข้าร่วมโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม” ขึ้น โดยมีคณะผู้วิจัย ตัวแทนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และตัวแทนจากรายการต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้

การจัดเวทีเสวนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating)” มีขึ้นเพื่อให้ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าว รวมทั้งมีการทำพิธีมอบรางวัลให้กับรายการข่าว และรายการเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว รวม 6 รายการ ที่ตกลงเข้าร่วมรับการประเมินคุณภาพรายการ ในขั้นตอนการทดลองใช้เกณฑ์ประเมินคุณภาพกับรายการจริง จนได้ผลการประเมินคุณภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าว

“ดร.ธนกร ศรีสุขใส”ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงบทบาทการสนับสนุนโครงการวิจัยว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 - 2565) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจะเป็นทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมสื่อที่สำคัญในอนาคต รวมทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การสร้างระบบการวัดเรตติ้งเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้นได้จริง
“แวดวงสื่อสารมวลชนของไทยมีการหารือกันเกี่ยวกับประเด็นการวัดคุณภาพของสื่อหรือ Quality Rating ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีองค์กรกลาง หรือเครื่องมือสำหรับใช้วัดคุณภาพของสื่อในประเทศมาอย่างยาวนาน เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการวัดเรตติ้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ความสำคัญการวัดปริมาณของผู้ชมรายการเพียงอย่างเดียว เพราะตัวเลขดังกล่าวมีผลต่อการทำการตลาดหรือการลงโฆษณา ทำให้สื่อต่างๆ ตั้งเป้าผลิตรายการโดยมุ่งไปที่การได้เรตติ้งและความนิยมจากผู้ชมรายการเป็นหลัก จนละเลยความสำคัญของการผลิตรายการให้มีเนื้อหาที่ดีและมีคุณภาพไป ทางกองทุนฯ หวังว่าการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่สามารถใช้งานได้จริง รวมทั้งนำไปสู่การผลักดันให้ระบบการวัดคุณภาพ ถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในการวัดเรตติ้งของสื่อในประเทศต่อไป”

ทั้งนี้ในการเสวนา ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต โดย ดร.โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร Group Director : Online Business and Ticketing บริษัท TERO Entertainment กล่าวว่า “ปัจจุบันผู้ผลิตสื่อต่างก็มีช่องทางที่จะติดตามดูผลตอบรับจากผู้ชมรายการ แต่ยังขาดคนกลางที่จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมด พร้อมทั้งทำการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เห็นผลในภาพรวมจากหลายแพลตฟอร์ม”ส่วน “นพดล ศรีหะทัย บรรณาธิการบริหาร” รายการข่าวค่ำมิติใหม่ทั่วไทย ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานกลางสำหรับการวัดคุถภาพของรายการ แต่ถ้ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะรับหน้าที่ดังกล่าว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะทุกสื่อต้องการระบบที่เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการประเมินคุณภาพอยู่แล้ว”









กำลังโหลดความคิดเห็น