xs
xsm
sm
md
lg

ส่องรายได้ พระเอกคนไหนค่าตัว 15 ล้านบาทต่อตอน สาเหตุความไมเท่าเทียมในวงการบันเทิงเกาหลี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่ซีรีส์เกาหลี เริ่มเป็นที่สนอกสนใจของผู้ชมชาวต่างชาติตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน จนตอนนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของเกาหลีใต้ จึงส่งผลให้รายได้ของดารา-ศิลปินเพิ่มขึ้นแบบเท่าทวีคูณ จาก 5.5 แสนบาทต่อตอน ทะยานสู่ 14 ล้านบาทต่อตอนไปแล้วก็มี


การเพิ่มขึ้นของค่าตัวนักแสดงจาก 5.5 แสนบาท กระโดดมาเป็น 2.8 ล้านบาท เกิดขึ้นในสมัยที่ “แบยองจุน” เคยตีตลาดจากผลงานเรื่อง The Legend เมื่อปี 2007 ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นผลงานสุดท้ายก่อนที่เขาเองจะลาวงการไป

11 ปีต่อมา อีบยองฮอน ได้เซ็ตสถิติใหม่ เมื่อเขาทำค่าตัวต่อตอนในเรื่อง Mr. Sunshine อยู่ที่ 150 ล้านวอนต่อตอน หรือประมาณ 4.2 ล้านบาท

จนกระทั่งซีรีส์เกาหลีเริ่มได้รับความนิยมไม่ใช่แค่ในเอเชีย แต่ดังไกลไปทั่วโลก สถิติใหม่ก็เกิดขึ้นในอีก 2 ปีต่อมาด้วยค่าตัวของ คิมซูฮยอน กับค่าตัวต่อตอนอยู่ที่ 200 ล้านวอน หรือ 5.5 ล้านบาท จากซีรีส์เรื่อง It’s Okay to Not Be Okay เมื่อปี 2020

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่หยุดแค่นั้น เมื่อมีรายงานในปี 2021 ว่าค่าตัวนักแสดงบางคนไปไกลถึง 300 ล้านวอนต่อตอน หรือประมาณ 8.4 ล้านบาทมาแล้ว


ค่าตัวที่สูงลิ่วเหล่านี้เกิดจากการที่นักแสดงมีมูลค่าในตัวเอง จนสามารถพาตนเองไปสู่ระดับสากล จึงสามารถเรียกเงินเพิ่มได้โดยแลกเปลี่ยนกับผลงานการแสดงที่อาจดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา รวมถึงข้อตกลงในการไทอินสินค้าที่จะสร้างยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์หรือที่เกาหลีเรียกว่า PPL

ปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา วงการบันเทิงก็ต้องช็อคสุดๆ เมื่อได้ข่าวว่า คิมซูฮยอน ขยับค่าตัวไปสูงลิ่วถึง 500 ล้านวอนต่อตอน (14 ล้านบาท) จากผลงานล่าสุด One Ordinary Day ซึ่งตัวเลขนี้ระบุว่ารวมถึงการโชว์ตัวและรายได้จากธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

โดยผลงานดังกล่าวเป็นการสร้างร่วมกันของ Gold Medalist ต้นสังกัด คิมซูฮยอน และ Coupang Play สตรีมมิ่งเกาหลีจากเว็บขายของออนไลน์ Coupang หรือ Amazon ของเกาหลี ที่ยอมจ่ายหนักเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้นักแสดงตัวท็อปมาเปิดตัวครั้งแรกกับโปรเจ็กท์ที่ยิ่งใหญ่ของบริษัท


นอกจาก คิมซูฮยอน แล้ว นักแสดงที่ได้รับค่าตัวสูงมากยังมี ฮยอนบิน ที่ได้มากถึง 150 – 180 ล้านวอน หรือประมาณ 4.2 – 5 ล้านบาทต่อตอน จากซีรีส์เรื่อง Crash Landing on You รวมถึง ซงจุงกิ กับค่าตัว 180 ล้านวอน หรือ 5 ล้านบาทต่อตอน จากซีรีส์เรื่อง Vincenzo

ส่วนนักแสดงอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้ค่าตัวเกิน 100 ล้านวอนหรือ 2.8 ล้านบาทต่อตอน ยังมีทั้ง อีมินโฮ จากเรื่อง The King: Eternal Monarch, อีจองซอก จากเรื่อง While You Were Sleeping, อีซึงกี จากเรื่อง Vagabond , พัคโบกอม จากเรื่อง Encounter, จีชางอุค ที่มีแฟนคลับชาวจีนเป็นจำนวนมากจากผลงานซีรีส์ The K2 แต่เมื่อเนื้อหาของเกาหลีเริ่มมีการแบนอย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้น ค่าตัวของเขาก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน


ฝ่ายหญิงได้น้อยกว่า

ตามปกติแล้วค่าตัวของนักแสดงหญิงมักได้รับน้อยกว่าค่าตัวของนักแสดงชาย ซึ่งแม้แต่ประสบการณ์ในวงการบันเทิง หรือฐานแฟนคลับก็ไม่ช่วยให้ค่าตัวของนักแสดงเพิ่มขึ้นอย่างมากเหมือนทางฝั่งนักแสดงชาย 

ในปี 2020 มีการพูดกันว่านักแสดงชายบางคนที่เพิ่งขึ้นแท่นมาเป็นพระเอกยังได้เงินค่าตัวต่อตอนอยู่ที่ 70 ล้านวอน หรือประมาณเกือบ 2 ล้านบาท ขณะที่นักแสดงหญิงมากความสามารถที่ตีบทแตกกระจุยมานักต่อนักอย่าง คิมฮีแอ จาก The World of the Married ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็ได้ค่าตัวอยู่ที่ 70 ล้านวอนต่อตอนเท่าพระเอกใหม่เช่นกัน


อย่างไรก็ตามแม้ค่าตัวของเหล่าพระเอกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง และได้รับเงินมากกว่าทางฝั่งนางเอก แต่ก็มี 2 นางเอกดังที่ได้รับค่าตัวสูงลิ่วแบบไม่น้อยหน้าฝั่งพระเอกคือ จอนจีฮยอน จาก Legend of the Blue Sea และ อียองเอ Saimdang, Memoir of Colours ที่เชื่อว่าได้รับค่าตัวสูงถึง 100 ล้านวอน หรือ 2.8 ล้านบาทต่อตอน


ค่าตัวสูงลิ่วกับความไม่เท่าเทียม

จากข้อมูลของสหภาพนักแสดงรายการโทรทัศน์แห่งเกาหลี ได้ระบุว่าค่าตัวนักแสดงโดยเฉลี่ยมีจำนวนลดลงประมาณร้อยละ 30 จากปี 2015 – 2019 ความจริงก็คือสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพนักแสดงร้อยละ 79.4 มีรายได้ต่ำกว่า 10 ล้านวอน หรือ 280,000 บาทต่อปี โดยมีเพียง 4.8% เท่านั้นที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านวอน หรือ 2.8 ล้านบาทต่อปี

แม้นักแสดงฝีมือดีจะสามารถดึงดูดผู้ชมได้อย่างมากมายย่อมมีค่าตัวสูงแบบไม่ต้องสงสัย แต่การขึ้นค่าตัวนักแสดงเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ก็สร้างความไม่สมดุลให้กับวงการบันเทิงเช่นกัน 

เพราะในขณะที่นักแสดงและบริษัทต้นสังกัดของพวกเขาสามารถจัดงานแสดงต่างๆ เพื่อทำรายได้เข้าบริษัทได้ ทว่างบประมาณกองถ่ายของผู้ผลิตกลับต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการขึ้นค่าตัวของนักแสดง การเพิ่มค่าตัวของนักแสดงนำย่อมหมายถึงการไปลดทอนค่าใช้จ่ายส่วนอื่นลงจนบางทีนักแสดงรายอื่น หรือทีมงานกองถ่ายต้องโดนลดค่าจ้างหรือลดจำนวนคนลงด้วย

ความไม่เท่าเทียมของระบบยังทำให้นักแสดงได้รับค่าตัวเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงใดๆ ซึ่งแตกต่างจากผู้ผลิต เพราะไม่ว่านักแสดงจะทำผลงานได้รับความนิยมหรือเรตติงตกคนไม่สนใจ แต่นักแสดงตัวท็อปก็จะได้รับเงินค่าตัวเท่าเดิมอยู่ดี

งานนี้ในวงการบันเทิงจึงมีการเรียกร้องให้ทำการ “ค้ำประกัน” ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้นักแสดงได้รับค่าตัวในจำนวนที่น้อยลงแต่มีส่วนร่วมในการทำกำไรในอนาคตซึ่งคล้ายกับข้อตกลง “บวกเพิ่มภายหลัง” หากประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นข้อตกลงแบบที่ฮอลลีวูดทำร่วมกับนักแสดง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อขัดแย้งในเรื่องค่าตัวนักแสดงนำที่สูงลิ่ว แต่คาดว่าเรื่องค่าตัวแพงของนักแสดงจะยังคงมีต่อไปไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ และอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากบรรดายักษ์ใหญ่สตรีมมิ่งทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับวงการบันเทิงเกาหลีมากขึ้น จึงเพิ่มการแข่งขันในตลาดยอมลงทุนเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชมจะได้ขึ้นเป็นรายใหญ่ของวงการสตรีมมิ่งนั่นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น