“ณวัฒน์” เร่งเต็มสูบ นาทีชีวิตผู้ป่วยโควิด เผยตั้งแต่เปิดโครงการเป็นโควิดต้องมีที่รักษา มีติดต่อเข้ามา 1,000 เคส ช่วยเหลือสำเร็จ 25 เคสแล้ว สัญญาผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับการรักษา ก่อนกรีด หากเคส อาม่า เป็นแม่รมต.สาธารณสุข จะยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ หวังว่าจะรักษาทุกเคสเท่าเทียม
เป็นหนึ่งช่องทางของการช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 โดย “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ประธานและผู้ก่อตั้งมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ และ มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมด้วยตัวแทนจากโรงพยาบาลปิยะเวท “นพ.วิชัย ทวีปวรเดช”รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปิยะเวท ได้เปิดตัวโครงการ “เป็นโควิดต้องมีที่รักษา” โครงการเฉพาะกิจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยติดโควิดที่ยังตกค้าง ยังไม่มีเตียงและยังไม่ได้รับการรักษา โดยผู้ป่วยสามารถแอดไลน์มาที่ @MissGrand ซึ่งจะมีทีมงานคอยตอบคำถาม
โดยเจ้าตัวยังเผยอีกว่าเปิดมาเพียงแค่ 4 วัน ก็มีหลาย 100 เคสซึ่งก็ได้นำส่งสถานที่รักษาตามอาการไปแล้วกว่า 25 เคส ทีมงานทำทั้งหมด 10 คน มีนางงามมาช่วย ซึ่งโครงการของตนจะซัปพอร์ตทุกโรงพยาบาล และ hospital ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งใจจะทำจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยตั้งเป้าจะทำให้ได้วันละ 50 เคสต่อวัน เพราะปัจุบันมีเคสติดต่อมาทางตนรวมแล้วกว่า 1,000 เคส
“ผมว่ามันเกิดจากเราเป็นคนๆ หนึ่ง แล้วเราก็มีความรู้สึกว่าการสูญเสียชีวิตจากการที่ไม่ได้การเหลียวแลและการรักษา คุณดูคลิปของคุณยายคนนึงตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่สิ เขาอ้อนวอนขอให้คนเอารถมารับเถอะ จะตายแล้ว กินอะไรก็ไม่ได้
แต่การอ้อนวอนทั้งๆ ที่ออกไปทางโซเชียลยังไม่ประสบความสำเร็จเลย ในที่สุดเขาก็ตายคาบ้าน แล้วเขาเป็นทั้งบ้าน แล้วคนในซอยก็หนี เป็นโควิดใครๆ ก็ไม่อยากเข้าใกล้ เกรงว่ามันจะเกิดเอฟเฟกต์ จะโน่นนี่นั่นไปด้วย ผมเข้าใจ อันนี้ไม่ใช่ความผิด เพราะฉะนั้นการเกิดแบบนี้มันไม่มีใครรับผิดชอบได้ อันนี้ต้องพูดตรงๆ อย่าโกรธกัน มันต้องรัฐบาล ต้องกระทรวงสาธารณสุข
แต่มันเป็นแบบนี้ผมเลยมีความรู้สึกว่าถ้าเป็นพ่อแม่เราล่ะ แล้วพ่อแม่ผมไม่อยู่ผมก็จินตนาการไป ก็คิดว่าทำไมเขาจะต้องมานอนรอความตายอยู่กับบ้าน ถ้าสมมติว่าเป็นคุณแม่รัฐมนตรีสาธารณสุขบ้าง เขาจะยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ไหมผมคิดว่ามันไม่แฟร์ แต่ใครฟังบ้างล่ะ มันก็ยังเกิดศพที่ 2 3 ผมเลยเปลี่ยนความคิดว่าไม่ต้องไปคิดอะไรแล้ว มันชัดเจนอยู่แล้วว่าความไม่เข้าถึงการรักษาที่เสมอภาค
มันเป็นสิ่งที่บอบช้ำในจิตใจของคนมากๆ ดูคลิปนั้นแล้วรู้สึกน้ำตาคลอ ก็เลยมีความรู้สึกขึ้นมากะทันหันว่า ช่างมันเถอะ พูดไปก็ไม่ได้ผล ทำเลยดีกว่าได้ผลมากน้อยไม่สนใจ ทำก่อน ก็เลยเกิดโครงการ เป็นโควิดต้องได้รับการรักษา ชื่อโครงการก็คิดเดี๋ยวนั้นเลย ทุกอย่างคิดเดี๋ยวนั้น โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อ 4 วันที่แล้วครับ คือผมโกรธที่ว่าทำไมต้องตาย แล้วผมเห็นคนแก่ไม่ได้ มันรู้สึกแย่มากครับ”
บอกมีหลักเกณฑ์หลักๆ ในการเข้าโครงการแค่ 2 ข้อเท่านั้น
“หลักเกณฑ์คนที่จะเข้าร่วมโครงการง่ายๆ เลยครับ อย่างแรกคือต้องเป็นโควิด-19 แล้ว มีผลการตรวจแล้วเรียบร้อยจากโรงพยาบาล อย่างที่สองยังคงรอการรักษาอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ อยู่บ้าน อพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ ได้หมด มีแค่สองหลักเกณฑ์เท่านั้น
แต่สิ่งที่ผมจะสัญญาคือความเร็ว ผมสัญญาว่าความเร็วของผมจะเร็ว ผมคิดว่าผมเร็วระดับนึง ผมไม่กล้าบอกว่าเร็วมากมายขนาดไหน แต่ภายใน 1-2 วันเสร็จ ถ้าคุณเอกสารพร้อมผมทำให้ และอีกสิ่งหนึ่งคือคุณไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเลย เรื่องค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์จนกว่าคุณจะหาย
มาตรการอะไรก็แล้วแต่ผมไม่ได้ไปบลัฟนะ มันก็ดีหมดแหละ ถามว่าคนไทยได้รับรู้สิ่งเหล่านี้ไหมว่าเขาจะทำอะไรนอกจากเบอร์โทรศัพท์ 4 ตัว เขาจะรู้ไหม เขาจะกลัวไหม ถ้าเกิดสมมติว่าเขาไปที่นี่เขาไม่ได้ เตียงเต็ม เขาต้องรอเหรอ เขาไปที่ไหนได้ไหม มันเกิดการสับสนค่อนข้างเยอะ
บางคนไปตรวจที่ต่างจังหวัดมาแล้วก็มานั่งติดรวมกัน 4 คน ทางโรงพยาบาลที่บุรีรัมย์บอกว่ากลับมาที่นี่ไม่ได้ เพราะว่าปิดเมือง ขอเอกสารไปโรงพยาบาลอื่นก็บอกไม่ได้ ตรวจที่ไหนต้องรักษาที่นั่น ผมถามนิดนึงว่าคนไทยกลุ่มนี้เขาจะทำยังไง
แล้วคนไทยขี้กลัว ไม่ต้องกลัวครับ ไม่ต้องกลัวข้าราชการของรัฐ ไม่ต้องกลัวข้าราชการการเมืองจากนี้เป็นต้นไปคุณไม่ต้องกลัว คุณเป็นเจ้าของประเทศ คุณเป็นเจ้าของเงิน ไม่มีคนไทยแล้วประเทศจะอยู่ได้ยังไง เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องเกรงใจ”
อัดรัฐบาลบอกให้พยายามโทร. แต่ติดต่อเข้ารับการช่วยเหลือไม่ได้เลย
“ถามจริงๆ ตาสี ตาสาจะเข้าใจอะไร เขาจะพึ่งตัวเองได้ยังไง ทางนั้นก็ไม่ได้ ทางนี้ก็ไม่ได้ ก็นอนรอไป อย่างที่โฆษกคุณหมออภิสมัย ศรีรังสรรค์ บอกว่าอย่าท้อ ให้โทร.ต่อ คือมันไม่ได้ไงเข้าใจไหม ชีวิตคนเรามันไม่ได้มีเวลาเหลือเฟือเหมือนคนบางคน จะเอ็นจอยอะไรกันมากมาย เขาเป็นนาทีชีวิต
ผมจึงเน้นย้ำว่าโครงการแต่ละโครงการหรือวิธีการมันดีหมดแหละ ของภาครัฐก็ดีทุกอัน แต่ถามว่าคนไทยจะเข้าถึงวิธีไหน มีทางเลือกให้ไหม ไม่ใช่ต้องไปโต๊ะ 1 ก่อนค่อยไปโต๊ะ 2 ถ้าโต๊ะ 1 ยังไม่ผ่านโต๊ะ 2 ก็ไม่ได้ อย่างนี้มันก็หยุดอยู่กับที่ เอาตรงๆ ถามว่าเตียงมีไหหม ผมพูดเลยนะเตียงมีนะครับ ไม่มีผมจะส่งไปได้ยังไง อาจจะมีพอไม่พอผมไม่รู้ แต่ตอนนี้ผมยังไปได้อีกเป็นหลายสิบต่อวัน
ช่องทางเดียวที่จะติดต่อเข้ามา คือ @มิสแกรนด์ เท่านั้น เป็นผู้ป่วยตกค้างที่อยู่ที่พักนะครับ และมีการตรวจโรคเรียบร้อย ผู้ป่วยใหม่อะไรใดๆ ไม่ต้องติดต่อผมนะครับ ไปติดต่อกับทางโรงพยาบาล คนที่มีประกันบริษัทเอกชนทุกบริษัทที่ประกันโควิดอย่าลืมนะครับ คุณติดต่อเขาเลยช่วยได้เยอะ เพราะผมลงไปศึกษาแล้ว ผมรู้เลยใครที่ขายประกันโควิดเขารับผิดชอบคุณหมดเลยนะ
เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องมาติดต่อผม ติดต่อทางภาครัฐก็ได้ ไม่ต้องโทร.เบอร์ 4 ตัวก็ได้ ติดต่อบริษัทประกันนั้นเลย ถ้าเขาบริการคุณช้า คุณโพสต์เลย เพราะเอกชนที่เขาได้รายได้จากคุณ เขาต้องจัดการคุณได้เร็วที่สุด และเขาก็มีการบริการที่ขึ้นอยู่กับเลเวลที่คุณซื้อ บางคนมีเลเวลที่ดีมากคุณก็จะได้อะไรใดๆ ที่รวดเร็วมาก เพราะบริษัทประกันแบบนั้นเขาก็จะมีกำลังในการจ่ายที่มันอาจจะแปลกออกไป”
บอกตอนนี้แบ่งทีมงานและนางงามมาช่วยกันเป็น 10 คน
“คือพอคุณแอดไลน์มา อย่างที่สองเจ้าหน้าที่ของเราประมาณ 10 คน เราจะอยู่ในกรุ๊ปรวมกันทั้งหมด แล้วก็เปิดเคส ใครรับผิดชอบเคสนี้ก็จะมีการทำงานร่วมกัน และมีการโทร.คุย เพื่อตรวจสอบว่ามันจริงจังแค่ไหน และเป็นอยู่ในระดับไหนแล้ว พอเปิดเคสเรียบร้อยก็จะต้องลงบันทึก ซึ่งผมสามารถเข้าไปดูข้อมูลในการบันทึกได้ และทุกคนจะต้องมีการทำงานเหมือนกันทุกประการ ว่าอันนี้เสร็จหรือยัง อันนี้ได้หรือยัง
พอเสร็จก็จะสรุปอยู่ในเอ็กซ์เซลชีสของเราทั้งหมด และเราก็สแกนคนไข้ว่าคนไข้ที่ไม่ถึงซีเรียส เพราะเมื่อวานเราไปอบรมที่โรงพยาบาลแล้วว่าอันไหนที่ไม่ซีเรียส เข้าข่ายไปได้เลย เราก็จะย้ายผู้ป่วยทันทีไปอยู่ที่โซนที่ไม่ซีเรียส ซึ่งเรามีเตียงพอสมควรอยู่ เราควบคุมให้หมด
แม้กระทั่งรถมารับช้าก็ติดต่อเรา แต่งตัวเสร็จแล้วรออยู่หน้าบ้านก็ติดต่อเรา ทุกคนไม่ได้หมายความว่าคุยกับเราครั้งเดียวนะครับ ต้องติดต่อเราและถ่ายรูปให้เราดูด้วยว่าคุณพร้อมจริง และสภาพคุณเป็นอย่างนี้จริง ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวเราถูกหลอก
ตอนนี้ไปนอนอยู่เรียบร้อยแล้ว 25 คอมพลีต และกำลังไปรับอีก ทุกเวลาที่เรากำลังคุยกันอยู่นี่กำลังทำงานกันอยู่ ผมสร้างกรุ๊ปหลายกรุ๊ปมาก แต่อยู่ในโครงสร้างเดียวกันมันจะเร็วมาก ถ้าสปีดได้เร็วกว่านี้วันนึงไม่ต่ำกว่า 50 คน
ถามว่ามั่นใจขนาดไหนว่าจะรองรับได้พอ ผมก็ตอบไม่ได้ แต่ตอบได้ว่าผมทำได้ประมาณนี้ต่อวัน ถามว่ามีทีมงานกี่คนที่ทำตรงนี้ คืองานอื่นเราก็ต้องทำนะครับ เราก็แบ่งมาประมาณ 10 คน และเอานางงามมาทำ
บังเอิญว่าน้องอินดี้ (อินดี้ จอนห์นสัน รองอันดับ 1 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020) ก็ไปร่วมงานและมีคนสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโควิด ก็เลยให้น้องกักตัวให้ครบ พรุ่งนี้ก็ครบแล้วก็ไม่มีอะไร พัชชา (พัดชา พลอย เรือนดาหลวง รองอันดับ 2 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020) ก็กักตัว ใครสงสัยปุ๊บผมให้กักตัวก่อน ซึ่ง 5 คนนี้ก็จะมาช่วย และทีมงานผมอีก 7-8 คนก็เต็มที่ มีอยู่แค่นี้ ที่เหลือต้องทำงานอื่นครับ”
บอกถ้าอาการไม่หนักก็จะส่งต่อฮอสพิเทล แต่ถ้าหนักได้เข้าโรงพยาบาลแน่นอน
“ในส่วนของโรงพยาบาลถามว่าเราติดต่อยังไง ตอนนี้เรามีเป็นยูนิตเดียวกันหมดแล้ว โดยที่เซ็นเตอร์เราเป็นหลัก โรงพยาบาลเป็นซัปพอร์ตเตอร์ และสถานที่พักถ้าหนักก็คือเข้าโรงพยาบาลเลย แอดมิทในโรงพยาบาลแต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่หนัก ใช้ชีวิตได้ปกติ ก็จะเป็นฮอสพิเทล ก็คือเรากันบริเวณของโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาล
ไม่ได้เป็นควอรันทีนนะครับ เพราะว่าคนที่ติดเชื้อแล้วไม่สามารถจะอยู่ในโซนเหล่านั้นได้ ก็เหมือนยกวอร์ดโรงพยาบาลแยกไป มีหมอ มีพยาบาล มีทุกอย่างครบ เพียงแค่ว่าไม่มีไอซียู ไม่มีเครื่องช่วยหายใจกรณีฉุกเฉิน ถ้าสมมติเกิดรู้สึกไม่ดี เราต้องส่งกลับ ซึ่งถ้าเกิดใครเป็นหนักเราก็จะขอความช่วยเหลือไปอีกโซนนึงแต่ไม่ใช่ไปที่โรงพยาบาลไม่ใช่ปิยะเวท กรณีหนักมากๆ เราก็จะขอโรงพยาบาลกลาง ขอผู้ใหญ่
ต้องพูดตรงๆ ต้องขอบคุณ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ นะครับ ท่านน่ารักมาก ท่ามกลางความวุ่นวายของผู้คนที่ไม่ค่อยใส่ใจ แต่ก็ยังมีคนที่ใส่ใจ เอ่ยชื่อท่านได้ ใครดีผมก็ชมนะ ท่านโทร.มาหาผมแต่เช้า โทร.มาให้กำลังใจ บอกว่าตรงนี้มีนะ ถ้าด่วนให้ลิงก์ถึงผม
คุณคิดดูสิผู้ใหญ่ระดับนั้นให้ผมลิงก์เลย ถ้าเกิดจะตาย หายใจไม่ออก หรือมีอาการหนักสุดๆ แล้ว อย่าเรียกว่าแทรกคิว เขาเรียกว่าไอซียู มันต้องจัดการเดี๋ยวนี้ อันนี้ก็จะรุมกันช่วย ก็คือเป็นกรณีพิเศษไป อย่างเคสที่ทำกับอีจันนั่นก็เป็นเคสพิเศษ ก็คือเข้าโรงพยาบาลกลางทันที”
เผยไม่อยากต้องทำโครงการนี้นาน เพราะหวังจะเห็นรัฐบาลทำงานได้ดีกว่านี้
“ถามว่าโครงการนี้จะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่ ก็ต้องอยู่ที่รัฐบาลจะผ่อนปรนหรือจะทำอะไรให้มีประสิทธิภาพให้มากขึ้น มันไม่ได้ตอบว่าผมอยากอยู่นาน ถ้าการที่ผมอยู่นานแสดงว่าการปฎิบัติหน้าที่ของภาครัฐนั้นยังไม่เข้าถึงทุกหย่อมหญ้าของการรักษาการช่วยเหลือ ผมคาดหวังว่าคงจะอยู่ไม่นานเพราะผมอยากเห็นมาตรฐานในการช่วยเหลือชีวิตของผู้คนที่ติดโควิด-19 ยังไงก็แล้วแต่ผมไม่มีแพลนว่าจะกี่เดือน เบื้องต้นผมดูจากคนที่เป็น ผมตกใจว่าทำไมมันเยอะขนาดนี้ คนเป็นน่ะไม่เป็นไรนะ ก็ไปรักษา แต่คนเป็นแล้วอยู่กับบ้านทำไมมันเยอะขนาดนี้
ตอนนี้ที่เสร็จแล้ว 80 นี่คือส่งบ้างแล้ว รอส่งครบแล้ว และวันนี้ที่เขาทำกันอีกผมว่าอีกไม่ต่ำกว่า 80 แล้วมารอในมือถือผมอีก 300 กว่า แต่นี่อาจจะซ้ำๆ นะ คือต้องบอกว่าเวลาติดต่อมาแล้วใจเย็นๆ ไม่ใช่หมายความว่าหลายๆ วันนะ หมายถึงไม่เกิน 15-20 นาที บางคนลูกส่งมา เมียส่งมา ส่งกันมาหมดเลยเป็นเคสเดียวกัน มันก็อีรุงตุงนังไปหมด
เอาเป็นว่าถ้าส่งมาผมสัญญาว่าจะไม่ข้ามเลยสักเคสเดียว ผมดูตั้งแต่ข้างล่างถอยขึ้นไปเรื่อยๆ ใครมาเติมก็อยู่ข้างบน ให้โอกาสน้องได้คุย เพราะถ้าไม่คุยเราจะแบ่งคนไข้ไม่ได้ การแบ่งคนไข้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของโครงการนี้ เพราะจะทำให้คุณไปได้เร็ว”
บอกทุกคนต้องกล้าที่จะใช้สิทธิของตัวเองด้วย
“ถามว่าที่เราดูแลมิสแกรนด์ที่ป่วยทำให้เราได้สร้างคอนเนคชั่นไว้ไหม ก็ต้องยอมรับว่าการประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ผ่านมาทำให้ผมได้มีคอนเนคชั่น อย่างแรกคือโรงพยาบาล ก็คือปิยะเวท ยอมอบรมพนักงานผมให้เป็นเหมือนผู้ช่วยพยาบาลได้ในการวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยในเคสกรณีแบบนี้
ข้อที่สองคือผมต้องไปขอทางรัฐบาล เพราะผมต้องทำถูกต้องตามกฎหมาย ผมก็ไปเจอท่านเลขาฯ ศูนย์บริหารโควิด ซึ่งคือบุคคลที่ผมเอ่ยนามไป เอาตรงๆ ก็เป็นอีกหนึ่งคอนเนคชั่นที่ผมได้ไปพูดคุย และผมก็ไม่ทิ้งคอนเนคชั่น ในยามแบบนี้ผมก็บอกว่ายังไงต้องช่วยเรา ยังไงต้องช่วยคนไทยนะ ท่านอย่าทิ้ง ผมจะต้องกวนท่านทุกวัน
แม้กระทั่งผู้ว่าฯ กทม. แม้กระทั่งลูกชายผู้ว่าฯ กทม. แม้กระทั่งเลขา ผู้ว่ากทม. เมื่อวานโดนผมหมดทุกคน คือโทร.จิกกันทั้งวัน เอาจริงๆ ปัญหามันมีอยู่แค่หลักๆ คือคนไทยไม่กล้าที่จะตอบโต้ เพราะฉะนั้นเป็นฝ่ายตั้งรับเฉยๆ มันก็เลยต้องอยู่บ้าน ถ้าตอบโต้เพื่อสิทธิของตัวเอง และยืนยันในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้ได้ ผมว่ามันก็น่าจะทำให้เกิดขึ้นได้ และโดยหลักการแล้วความอืดอาด ยืดยาด มันคืออุปสรรคของคนทำงาน มันไม่ควรจะใช้ความอืดอาดยืดยาดธรรมเนียมของข้าราชการมาทำงานกับกรณีฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นนี่คือสองสิ่ง
ผมอยากให้ทุกคนทั้งคนป่วยและคนทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ผมนะ ไม่ใช่ทีมงานผม ปรับทัศนคติในการทำงาน คนที่ดูแลคนก็ต้องเป็นคนที่ทันสมัย พูดจาเพราะ รับปากแล้วต้องปฎิบัติ ต้องเป็นคนเร็วส่วนคนไข้เองถ้าคุณไม่ได้ คุณก็ต้องใช้ความแหลมคมในการที่จะไปทางอื่น อย่านั่งรอ เพราะถ้านั่งรอก็จะเป็นอย่างที่เห็นครับ”