ช็อกแฟนๆ อยู่ไม่น้อย หลังจากเฟซบุ๊ก "อ.หนุ่ม ภูไท" หรือ "เรวัฒน์ สายันเกณะ" ปรมาจารย์แห่งเสียงพิณ แจ้งข่าวร้าย อ.หนุ่ม ภูไท เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเผยว่า "อาจารย์หนุ่ม ภูไท ได้จากไปอย่างสงบที่บ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 23 เมษายน 2564 ช่วงเช้าที่ผ่านมา หากมีกำหนดการใดเพิ่มเติมจะมาแจ้งให้ทราบอีกครั้ง"
ขณะที่นักร้องชื่อดัง "ศิริพร อำไพพงษ์" ซึ่ง อ.หนุ่ม ภูไท เป็นผู้แต่งเพลง โบว์รักสีดำ ให้ ได้ออกมาโพสต์อินสตาแกรมอาลัยอย่างสุดซึ้ง "ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัว อาจารย์หนุ่ม ภูไท ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่พี่นางรักเคารพมากๆ ค่ะ ผลงานของอาจารย์จะอยู่ในความทรงจำของศิริพร และแฟนเพลงตลอดไป"
อย่างไรก็ตาม "ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน"ได้เผยประวัติ “หนุ่มภูไท” ระบุว่าเป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อครั้งเป็นเด็ก มีความหลงใหลในดนตรีพื้นบ้านอีสานทุกประเภทรวมถึงพิณที่เป็นเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวในเวลาต่อมา โดยมีแรงบันดาลใจจากพี่ชายที่เป็นนักดนตรี ทั้งจากการเรียนโดยตรงจากพี่ชายทำให้เกิดความเชี่ยวชาญมาเป็นลำดับ ได้รับเล่นตามงานต่างๆ ทั้งได้เงินและไม่ได้เงิน เพื่อเป็นการหาประสบการณ์
แรกเริ่มได้เข้าเป็นสมาชิกคณะลำวง ชื่อว่า“คณะดอกฟ้าเพชรภูไท” จนสามารถเก็บเงินชื่อกีตาร์เป็นของตนเองด้วยความรักในเสียงดนตรีจึงออกเดินทางแสวงหา โดยในช่วงแรกได้ไปใช่ชีวิตเล่นดนตรีอยู่ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาวเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ในระหว่างที่หาประสบการณ์เล่นดนตรีที่ต่างๆ ก็ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านดนตรีไปด้วย จนได้มีโอกาสทำเพลงร่วมกับ สรเพชร ภิญโญ ในบทเพลง “หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ” ซึ่งในสมัยนั้นได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงอย่างท่วมท้น
หลังจากนั้นได้เข้ามาเป็นผู้ผู้อยู่เบื้องหลังการทำดนตรีในห้องบันทึกเสียง สำหรับศิลปินดังหลายท่านที่ต้องการนำเครื่องดนตรีอีสานมาใช้ประกอบ หลายบทเพลงที่โด่งดังในอดีตก็มาจากฝีมือของหนุ่มภูไทนี้เองจนมีผู้รู้จักชื่อเสียง หนุ่มภูไท ในฐานะผู้ทำดนตรีมือหนึ่งของภาคอีสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากในอดีตด้วยการสอดแทรกเสียงของเครื่องดนตรีอีสานเข้ามาในบทบาทเพลงลูกทุ่ง เช่น แคน พิณ โปงลาง โดยเฉพาะพิณ ที่ท่านถนัด ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากศิลปินอีสานมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น แม้ปัจจุบันก็ยังมีงานไม่ขาดมือ
เกียรติประวัติ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามราชกุมารี ได้รับสร้างสรรค์บทเพลง “ แผ่นดินพ่อ” ถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ในปีพุทธศักราช 2540 และได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำ อีกด้วย
จึงนับว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ แนวทางดนตรีพื้นบ้านอีสานให้ที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนในวงกว้างโดยการประยุกต์กับลีลาของลูกทุ่ง อันเป็นกลิ่นไอของเพลงลูกทุ่งอีสานในระยะต่อมา นับว่าเป็นการนำมรดกของอีสาน ต่อยอดพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน พิณ ) ประจำปีพุทธศักราช 2550 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น