xs
xsm
sm
md
lg

เป๊ปซี่โคยึดถือนโยบาย “ผลงานดี สำนึกดี” ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"น้ำ" คือปัจจัยสำคัญทั้งต่อการดำรงชีวิตและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เป๊ปซี่โคจึงได้ส่งเสริมแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติทั้งในกระบวนการผลิตและการเกษตรให้แก่พี่น้องเกษตรกรทุกคน

นายปริญญา กิจจาธนพันธ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม ประจำภูมิภาคเอเชีย และประธานกรรมการบริหารการพาณิชย์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป๊ปซี่โค กล่าวว่า เป๊ปซี่โค ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทฯ ตระหนักดีถึงบทบาทสำคัญในการสร้างระบบห่วงโซ่อาหารอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลขององค์กรที่ว่าผลงานดี สำนึกดี (Winning with Purpose) โดยเป๊ปซี่โคมุ่งเน้นที่จะยกระดับบริษัทฯ ให้ดียิ่งขึ้นโดยการบูรณาการเป้าประสงค์นี้ผสานเข้าไว้กับการประกอบธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของเรา นโยบายความยั่งยืนในด้านการบริหารจัดการน้ำ คือความพยายามที่จะยกระดับมาตรฐานการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป๊ปซี่โคได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในธุรกิจของเราเน้นการใช้มาตรฐานการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและความชำนาญของตนในการวางนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการช่วยรักษาลุ่มน้ำในชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้อย่างปลอดภัย


นายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน กล่าวว่า กว่า 25 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพและพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ ในปัจจุบันโรงงานเลย์ จังหวัดลำพูน และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามพันธกิจของเป๊ปซี่โค ทีจะลดการใช้น้ำของการดำเนินการผลิตให้ได้ 25% ภายในปี 2568 หลังจากที่ได้บรรลุการลดการใช้น้ำ 25% ไปแล้วในปี 2549 รวมถึงมุ่งเน้นด้านการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่พนักงานของเป๊ปซี่โคให้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ในภาคเกษตรกรรม บริษัทฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรไทยทำการเกษตรอย่างยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลตามพันธสัญญาการทำการเกษตรยั่งยืนของเป๊ปซี่โค ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีช่วยในการพัฒนารูปแบบการปลูกด้วยระบบน้ำหยด คือการปลูกที่ให้น้ำและสารอาหารพืชในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้เกษตรกรควบคุมทั้งปริมาณน้ำและสารอาหารที่พืชต้องการได้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตต่อไร่มีปริมาณที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของแปลงปลูกมันฝรั่งทั่วไปเกือบ 2 เท่า และสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 30%


และจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เพื่อการผลิตอย่างรวดเร็วและขาดการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าต้นน้ำ เสื่อมโทรม จากการสนับสนุนของเป๊ปซี่โคผ่านมูลนิธิรักษ์ไทยตั้งแต่ปี 2556 จึงได้ริเริ่มโครงการ CSR ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ที่เราเข้าไปสร้างฝายปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำต่างได้รับการบรรเทาปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และมีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร อุปโภคและบริโภค เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชนให้ดียิ่งขึ้น โดยกิจกรรมมีความหลากหลายและปรับให้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อาทิ การสร้างฝาย การทำแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งและชุมชน 2556 เพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำและคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2556-2558 ได้สร้างฝายชะลอน้ำทั้งแบบฝายแม้ว ฝายกึ่งถาวร จำนวน 500 ฝาย ในบริเวณป่าต้นน้ำแม่ตีบ จังหวัดลำพูน ปี พ.ศ. 2559-2560 ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมสร้างฝายอีกเกือบ 500 ฝาย บริเวณป่าต้นน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และปี พ.ศ. 2561-2562 เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ขยายพื้นที่ไปในอีก 3 ชุมชนในจังหวัดลำพูน เชียงรายและพะเยาเพื่อสร้างฝายมากกว่า 100 ฝาย และซ่อมแซมฝายปู่แซ ที่อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน


และในปี 2563 จากการประมวลผลพบว่าหลังจากที่สร้างฝายเสร็จแล้วกลับเกิดภัยแล้งทำให้ไม่มีน้ำให้เก็บกักไว้ใช้ เราจึงตระหนักได้ถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำที่เปรียบเสมือนฟองน้ำที่กักเก็บความชุ่มชื้น เป๊ปซี่โคจึงได้ริเริ่มกิจกรรม “PepsiCo Grow More สร้างป่า รักษ์น้ำ” เพื่อปลูกป่าต้นน้ำ ซึ่งมีการวางแผนการดำเนินงานไว้ประมาณ 3-5 ปี โดยได้ผนึกกำลังกับทั้งทางภาครัฐฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กลุ่มเกษตรกรชุมชนในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือนักวิชาการจากชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการเติมสปอร์เห็ดเผาะให้กับกล้าไม้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของพืชและจุลินทรีย์ในกลุ่มเห็ดราตามธรรมชาติ เมื่อปลูกป่าไปได้สัก 2-3 ปีเห็ดที่มีราคาแพงก็จะงอกออกมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ต้นไม้โต ไม่ต้องเผาป่าหาเห็ดอีกต่อไป เป็นการปลูกป่าแบบผสมผสาน และด้วยศาสตร์แห่งพระราชาในการบริหารจัดการน้ำที่จะทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารสีเขียว และลดปัญหาเรื่องการเผาป่าที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากทางเป๊ปซี่โค ประเทศไทย และชมรมฯ มีพื้นที่เป้าหมายในบริเวณเดียวกัน ได้แก่ ชุมชนบ้านก้อ อ.ลี้ และชุมชนบ้านไม้สลี อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

และในปีนี้ เป๊ปซี่โค ได้มอบเงินจำนวน 6 ล้านบาทแก่ มูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นายสุดิปโต กล่าวเสริม





กำลังโหลดความคิดเห็น