รายการ "ถามสุดซอย" ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ออกอากาศเวลา 10.00-10.50 น. ทางช่องเนชั่น ช่อง 22 ดำเนินรายการโดย "เอิ๊ก พรหมพร ยูวะเวส" ได้เปิดใจสัมภาษณ์ "ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์" คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กับการปฏิรูปการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ Active Learning
การเรียนแบบเก่า มีผลยังไงทำให้ไม่เข้ากับโลกปัจจุบัน?
"โลกปัจจุบัน ข้อมูลเคลื่อนไหวเร็วมาก การนำข้อมูลมากลั่นกรองเพื่อพิสูจน์นำไปหาความเป็นจริง เด็กต้องมีแบบแผนการคิดที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ วิธีการเหล่านี้่จึงต้องจัดการเรียนรู้ ให้ตกผลึกที่ตัวเด็กให้ได้ ปัญหาในขณะนี้ในการจัดการศึกษา เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการ แต่ในเชิงกายภาพเราเปลี่ยนไปเยอะแล้ว วิธีการเป็นเรื่องสำคัญที่สุดโดยเฉพาะในด้านการศึกษา เราเรียกว่ากระบวนการเรียนรู้ เพราะในขณะนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ และแนวปฏิรูปประเทศ ทุกอย่างถูกกำหนด โฟกัสที่การเรียนรู้ ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำจริง เพราะหลักการสำคัญ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์ คือการเรียนรู้ด้วยการกระทำ ไม่ใช่ด้วยการนั่งฟังหรือท่องจำ"
มันเลยเป็นที่มาของ Active Learning ช่วยอธิบายว่ามันคืออะไร?
"Active Learning คือกระบวนการที่เรานำมาออกแบบ เป็นการท้าทายที่พาเด็กไปสู่การคิดวิเคราะห์ ประเมิน เชื่อมโยงความคิดไปสู่มิติของคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม นำไปสู่แบบแผนการออกแบบการทำงาน เวลาทำงานก็ปฏิบัติได้ตามแผนนั้น มีการตรวจสอบปรับปรุงแก้ปัญหาพัฒนาจนเกิดเป็นผลการเรียนรู้ เป็นผลลัพธ์ออกมา เป็นโครงการ โครงงาน เป็นนวัตกรรมหรือเป็นปัญญาประดิษฐ์ ต้องปฏิบัติด้วยตัวเด็กเอง ให้เด็กคิดเอง"
กระบวนการที่ว่า จะอยู่ในห้องเรียน เป็นลักษณะแบบไหน?
"ครูต้องใช้คำถามเป็นตัวนำ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนรู้อยากหาคำตอบและให้เด็กศึกษาข้อมูล ซึ่งอยู่ในหนังสือแบบเรียน และเด็กนำมาคิดวิเคราะห์เพื่อจำแนก จัดกลุ่ม จัดลำดับความสำคัญ หรือจัดลำดับความเชื่อมโยง อะไรคือปัญหา ผลกระทบ อะไรคือสาเหตุ อะไรคือตัวแปรที่นำมาสู่เหตุ และเราจะมีแนวทางควบคุมตัวแปรอย่างไร"
เคยได้ยินดร.พูดเรื่องข้อมูลกับความรู้แตกต่างกัน ยังไง?
"ความรู้คือสิ่งที่เกิดในตัวเด็ก หลังจากเด็กได้คิดได้ทำเอง เด็กถึงจะเข้าใจ และรู้ซึ้งแตกฉาน เห็นที่มาที่ไปของคำตอบ ตรงนี้จะกลายเป็นความรู้ และเกิดเฉพาะเด็กคนนั้น ว่าใครคิดลึกซึ้งได้แค่ไหน ส่วนข้อมูลอย่างในอินเตอร์เน็ตมีข้อเท็จจริงไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์เป็นความคิดเห็น ถ้าเด็กเอาความคิดเห็นมาใช้อาจไม่เหมาะกับบริบทของเด็ก อาจนำไปสู่ปัญหาอีกมากมาย เพราะไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองที่ถูกต้องและเป็นเหตุเป็นผล"
เราเน้นให้เป็นความรู้กับเด็ก ครูผู้สอนก็ต้องพัฒนาและปรับตัว กระทรวงศึกษาธิการได้อบรมการสอนให้ครูผู้สอนด้วยมั้ย?
"ด้วยครับ ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการเริ่มดำเนินการแล้ว จะไปเริ่มที่ภาคเหนือก่อน พยายามพลิกโฉมประเทศด้วยการเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ก่อน เพราะประเทศที่มีมาตรฐานทางการศึกษาทั่วโลก มันสอนแบบนี้หมด ประเทศไทยก็คิดเรื่องนี้มา 10 กว่าปี แต่ตอนนี้รัฐบาลนี้ก็เริ่มขยับเรื่องนี้"
นักเรียนก็ต้องปรับตัว?
"นักเรียนอาจปรับตัวไม่ยากเท่ากับครู เพราะเด็กอยากคิด อยากทำ อยากแสดงออกอยู่แล้ว ถ้ามีคำถามมาให้คิด ให้ทำ เด็กก็มุ่งมั่นจะทำทันที เด็กจะภาคภูมิใจ ชื่นชมในผลงาน มันจะเกิดแรงจูงใจ ให้เด็กเรียนลงลึกขึ้น ซับซ้อนขึ้น ตามหาความจริงมากขึ้น"
กระบวนการน่าจะสร้างความจดจำ และประสบการณ์ให้ดีกับเด็กมากกว่ารับฟังอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน?
"ถูกต้อง การเรียนด้วยการกระทำเด็กจะเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือมันสัมพันธ์กับสมองด้วย เมื่อเด็กได้เรียนรู้ด้วยการสัมผัส มันจะเก็บในหน่วยความจำระยะยาว มากกว่าการท่องจำเฉยๆ ซึ่งอันนั้นระยะสั้น แล้วมันก็ลืม แต่อันนี้ไม่ต้องท่องจำ"
ผู้ปกครองล่ะ ต้องปรับตัวยังไง?
"ต้องควบคู่กัน เด็กมีความฉลาดไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาโรงเรียนแล้ว ที่ผ่านมาอยากให้เด็กนักเรียนเก่งคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วปัญญามนุษย์ทุกคนมีหมด อยู่ที่ทำยังไง การจัดการเรียนการสอน ทุกครั้งให้เริ่มจากปัญญาที่เขามี ที่เขาเก่ง แล้วไปผ่านกระบวนการต่างๆ ที่เรามาหลอมรวมไว้ ในการสร้างความรู้ให้เป็น ความคิดรวบยอดแต่ละด้าน แต่ละมิติที่เชื่อมโยงกันจะกลายเป็นหลักการสำคัญเหมือนกันหมด ต่อไปนี้เราจะบังคับเด็กไม่ได้ เราต้องดูว่าเด็กเขาสนใจ ถนัดอะไร แต่ถ้าเขาเข้าใจสิ่งที่เขาถนัด พอเขาไปเรียนอีก 7 วิชา เขาเรียนได้สบาย เพราะกระบวนเดียวกัน แค่เปลี่ยนเนื้อหา"
เน้นเด็กคิด สร้างสรรค์ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดกว้างพอสมควร เวลาครูสอนมา เรากลับมาทำที่บ้าน แต่ตอนนี้เด็กจะแตกต่างแล้ว เขาไม่ได้มาพร้อมสูตรสำเร็จตายตัว คุณพ่อคุณแม่ต้องขยายกรอบออกไป?
"ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าการเรียนรู้แนวใหม่ เป้าหมายของเด็ก เป็นกิริยาหมดเลย เด็กต้องแสดงออกทั้งหมด การเรียนรู้จากโรงเรียนถึงบ้านต้องเชื่อมโยงกัน ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้ถูก ไม่เฉลยไม่ทำให้ลูก ให้การคิดการทำทั้งหมดเป็นของตัวลูกเอง"
ครู นักเรียน และครอบครัวต้องไปทิศเดียวกัน?
"ถูกต้อง เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่จะหลงอยู่กับคะแนน และอันดับการเรียนของลูกตัวเอง และสไตล์แบบเดิม แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าลูกตัวเองมีความสามารถ พัฒนามาถึงไหนบ้าง คะแนนในอดีตได้จากการสอบ แต่คะแนนตรงนี้ได้จากการปฏิบัติ มันเหมือนเราให้เกรด เอ บี ซี แต่ในนี้ประเมินการคิดอยู่ส่วนหนึ่ง ประเมินการตัดสินใจ ค่านิยมอีกส่วนหนึ่ง ประเมินการกระทำ ปฏิบัติอีกส่วนหนึ่ง และหลอมรวมมาเป็นระดับคะแนน ในระดับคะแนนหรือเกรด แล้วมาแปลงเป็นคะแนนอีกที แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ผ่านกระบวนการนี้ มันผ่านการลัดขั้นตอน ใครจำเก่งกว่ากันก็ได้คะแนน แต่เขาไม่มีความรู้"
บางครั้งเรียนดีในห้องเรียน แต่พอชีวิตจริงก้าวผ่านอุปสรรคไม่ได้?
"ใช่ อันนี้เยอะมากเลย"
จะแก้ปัญหาได้มั้ย ปัจจุบันมีข่าวเด็กหนีเรียน ไม่สนใจเรียน ทะเลาะเบาะแว้งกัน พอเป็นหลักการนี้จะช่วยลดปัญหาพวกนี้ด้วยมั้ย?
"มากเลย เพราะเด็กอยากแสดงออก ผ่านการคิดการกระทำตัวเอง แต่เขาอยู่ในห้องเรียนหลายชั่วโมง ต้องฟังและจดในสิ่งที่เขาไม่รู้ความหมาย แต่ถ้าเขาได้ปฏิบัติ เขาจะชื่นชมในผลการทำงานของเขาในห้องเรียน และงานนี้ก็เชื่อมโยงไปสู่บ้าน สู่ชุมชน แนวปฏิรูปแนวใหม่เราต้องการให้เด็กบูรณาการ สร้างนวัตกรรมได้เลย เช่นพ่อแม่มีอาชีพอะไร เด็กก็ต้องไปสำรวจ นำเสนอเป็นผลงาน เป็นนวัตกรรมที่จะเสริมให้อาชีพนั้นมีคุณค่า มีผลตอบแทนมากกว่า การทำงานนั้นใช้ทุนน้อยลง แต่ได้ปริมาณมาก และมีคุณภาพที่สูง คำนึงถึงผลกระทบทั้งหมดตามบริบท ความเป็นสากลเขาคิดแบบนี้"
ถ้าพ่อแม่บอกว่าลูกหลุดกรอบไปล่ะ ลูกเป็นตัวของตัวเองมากเกินซะจนเราคุมเขาไม่ได้ หรือไม่เชื่อฟัง จะตอบเรื่องนี้ยังไง?
"ตรงนี้ไม่ยาก เพราะอยู่ในกรอบการพัฒนาคนผ่านการเรียนรู้แบบ Active Learning หลักการนี้คือความเชื่อมโยงของความคิดรวบยอดของความรู้ 3 ด้าน ด้านหนึ่งคือด้านความคิด สองคือด้านคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยม สามคือด้านทักษะกระบวนการ คิดตัดสินใจและกระทำ ในกระบวนการแบบActive Learning เราจะหลอมสามตัวนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เหมือนถักทอผ้าชิ้นนึง ไม่แยกออกจากกัน เมื่อคิดได้เป็นเหตุเป็นผล ก็จะเชื่อมโยงความดีความงามตรงไหน เด็กก็จะประเมินคุณค่า แต่ถ้าคิดแล้ว เราได้ประโยชน์คนเดียว ทำไงถึงให้ถึงพ่อแม่ ถึงชุมชน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม มันจะมีคำถาม เด็กก็จะถูกหลอมแบบนี้ตลอดเวลา แต่แค่นั้นไม่พอ ต้องเชื่อมเรื่องประโยชน์และโทษ ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ทำยังไง เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ เมื่อถึงจุดนี้ เวลาไปสู่การปฏิบัติมันเขียนจากสมองมาเป็นแผน เด็กก็จะทำตามขั้นตอนที่เขียน เมื่อทำแล้วในแต่ละขั้นตอน เขาก็จะประเมินว่าเหมือนที่เขาคิดมั้ย วิธีการออกแบบหลายๆ วิธีเอามาหลอมรวมดีมั้ย เราจะให้เด็กตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหา การแก้ปัญหาก็คือการพัฒนา ถ้าเรียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เด็กจะมีการสร้างความเรียนรู้ของตัวเอง และจะอยู่ภายใต้กรอบคุณธรรม จริยธรรม มองสังคมในเชิงบวก ไม่มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทาง เตลิดไป เพราะเขาได้แสดงออกเต็มที่ ตามศักยภาพ และเขาได้ภาคภูมิใจ ครูก็ชื่นชม เพื่อนก็ให้เกียรติ พ่อแม่ก็ชื่นชมไปด้วย เป็นสิ่งที่เด็กต้องการจริงๆ"
มันจะช่วยลดปัญหาหลายๆ ด้าน?
"ใช่ครับ เราจะเห็นการเปรียบเทียบทันที ถ้าเราเดินตัวนี้ได้สำเร็จ เด็กประถม มัธยม เขาสร้างนวัตกรรมได้แล้ว เขาสามารถขายความคิดของเขาให้ภาคเอกชนไปแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ได้มั้ย เด็กรุ่นหลังต้องวิจัยได้เลย สร้างอาชีพได้เลย คนจบก่อนยังทำไม่เป็นเลย ทุกคนจะเริ่มทบทวนดูบทบาทตัวเอง ว่าเราล้ำสมัยหรือล้าสมัย ก็ค่อยๆ ปรับตามคนรุ่นใหม่ได้"
กระทรวงศึกษาน่าจะมีการติดตามพฤติกรรมว่าใช้ไปแล้วแต่ละโรงเรียน แต่ละห้องเรียนเป็นไง เราติดตามด้วยวิธีไหน?
"ผลการเรียนรู้เชิงประจักษ์คือผลงานที่ออกมาเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ผลผลิตของนักเรียนก็สามารถรายงานได้ว่าเด็กเข้าถึงนวัตกรรมจริงหรือไม่ ผ่านกระบวนการแบบไหน ทั้งหมดต้องรีพอร์ตมาที่เซ็นเตอร์"
คะแนนมีผลต่อเด็กที่จะเติบโตไป การปรับเปลี่ยนเรื่องระบบคะแนนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย?
"เกณฑ์อาจเปลี่ยนไป เหตุผลเราต้องการวัดความสามารถ วัดผลประเมินผลนักเรียน เสมือนการเรียนรู้ของเด็กปกติ กระบวนการพาไป พอถามแล้วเด็กคิดอย่างไม่มีเหตุมีผล เราอาจมีคำถามใหม่ๆ ขึ้นไปเพื่อนำมาสู่เหตุและผลให้ได้ การวัดประเมินผลเราจะรู้เลยเด็กคนนี้อ่อนอะไร เราก็ไปแก้ที่ขั้นตอน การวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาเด็ก เมื่อเรารู้แล้วอยากยกระดับขนาดไหนก็ใช้คำถามความเข้มข้นสูงขึ้น"
กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังขนาดไหน เมื่อทุกโรงเรียนมีการเปลี่ยนเป็นแบบนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยังไงกับเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต?
"เป็นการพลิกโฉมประเทศ ทำให้ประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ แน่นอนประชาชนรุ่นใหม่ เยาวชนรุ่นใหม่ก็จะมีสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น การทำอาชีพอะไรที่เกี่ยวพันกับครอบครัวนักเรียนจะเริ่มเปลี่ยนโฉม ทำให้ประกอบอาชีพแบบชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มคุณค่าต่างๆ มากมาย ใช้วัตถุดิบให้เป็นประโยชน์อย่างครอบคลุม พัฒนาไปสู่โปรดักซ์ต่างๆ ได้"
พอปรับเป็นจุดนี้ ต้องมีอุปสรรค อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญ ช่วงปรับแบบเก่ามาสู่ Active Learning?
"ผมว่าไม่มีเพราะนโยบายรองนายกฯ ท่านกำหนดกรอบนี้ชัดเจน เหนือกว่ากระเทศต่างๆ ในเอเชียเยอะ ถ้าเราทำสำเร็จประเทศจะเปลี่ยนโฉม อีกอย่างประเทศไทยเราอยู่ในยุค 4.0 เรากำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ตั้ง 13 ด้าน การศึกษาเป็นด้านนึงที่จะทำให้ 12 ด้านขับเคลื่อนไปได้"
ตอนนี้มีกี่โรงเรียน ใช้หลักสูตรนี้?
"เยอะมากครับ"
เรากำลังก้าวสู่การปรับเปลี่ยน 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่?
"ผมดูจากนโยบาย คิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ภายใน 2-3 ปี แต่ถ้าไปได้ทั้งระบบ ต้องภายใน 5 ปี ภายใน 5 ปีถ้าเปลี่ยนไปได้ ประเทศก็จะเปลี่ยนไปเยอะ เปลี่ยนทุกด้าน ทุกมิติ"
โรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนอินเตอร์?
"ในกรอบตัวนี้ เมื่อเป็นการปฏิรูปแล้วก็ไปทั้งระบบ ทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนต้องปรับหมด ไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนจะไม่บริโภค"
ปรับเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย?
"ถ้าการปฏิรูปขั้นพื้นฐานสำเร็จ เด็กมัธยมปลายสามารถทำวิจัยได้ เด็กมัธยมต้น ประถมปลายสร้างนวัตกรรมได้ แล้วมหาวิทยาลัยจะอยู่อย่างไร เขาต้องพัฒนาเยอะเลย อาจเหลือไม่กี่สาขาที่มาต่อยอดงานวิจัยเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ ถ้าแลคเชอร์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะเด็กก้าวไปไกลแล้ว ไม่สอดคล้อง"
เราคาดหวังยังไง กับการปรับเปลี่ยนครั้งนี้?
"ถ้าเราทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ผมคิดว่าเราสามารถพัฒนาประเทศได้ทุกมิติ มันจะเปลี่ยนโฉม สภาพสังคมก็เปลี่ยนจะอยู่กันได้อย่างสันติสุข ความขัดแย้งจะน้อยลง เพราะเด็กจะหันไปสนใจเรื่องการพัฒนาความสามารถตัวเอง เด็กก็จะมีความสุข เมื่อเด็กมีความสุขเขาก็มุ่งมั่นทุ่มเทแต่ตอนนี้เหมือนไม่มีสนามให้เขาทำ"
การปรับเปลี่ยนแบบนี้เดินหน้าเต็มที่ เราจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงไปของประชากรเด็ก ไปสู่คนไทยแบบคุณภาพมากขึ้น?
"ใช่ครับ จะอยู่ดีมีสุขมากขึ้น"