xs
xsm
sm
md
lg

กรมการปกครอง ผลักดัน “คณะกรรมการหมู่บ้าน” มุ่งทำให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” เนื่องในวันคณะกรรมการหมู่บ้าน ประจำปี 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการปกครอง โดย อธิบดี “ธนาคม” ผลักดันคณะกรรมการหมู่บ้านให้เป็น "รากฐานของแผ่นดิน" มีความสำคัญต่อกระบวนการบริหารพัฒนาประเทศ คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นบุคคลในระดับพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนโดยทำหน้าที่ในการนำนโยบายของภาครัฐไปปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชน 75,086 หมู่บ้าน ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น

นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า “คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2486 ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ต่อมาเพื่อให้การบริหารจัดการในหมู่บ้านสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสังคม จึงได้ปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้มีโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากทุกกลุ่ม/องค์กรในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม และกำหนดให้มีหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับกิจการอันเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือที่นายอำเภอมอบหมาย หรือที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ นอกจากนั้น ยังเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและบริหารจัดกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรทุกภาคส่วน”

โดยการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) แบ่งออกเป็นอย่างน้อย 6 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วย
1. คณะทำงานด้านอำนวยการ
2. คณะทำงานด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
3. คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน
4. คณะทำงานด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
5. คณะทำงานด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
6. คณะทำงานด้านอื่น ๆ (ตามความเหมาะสมของพื้นที่)

สังเกตได้ว่าการแบ่งหน้าที่ของ กม. ออกเป็นคณะทำงานด้านต่าง ๆ นั้น ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน รวมถึงหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องปฏิบัติเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน

กรมการปกครอง ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบได้บูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กม. ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนเรื่อยมา เพื่อให้ กม. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเปรียบเป็น “คณะรัฐมนตรี” ของหมู่บ้าน

หากหมู่บ้านใดมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่เข้มแข็ง ก็จะทำให้หมู่บ้านนั้นมีความโดดเด่นและพัฒนาตามไปด้วย จึงมีคำนิยามว่าคณะกรรมการหมู่บ้าน คือ “รากฐานของแผ่นดิน” การจะสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านนั้น กม. จะต้องช่วยเหลือกัน และทำหน้าที่วางแผนหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่แผนระดับต่าง ๆ เช่น แผนตำบล แผนท้องถิ่น แผนอำเภอ แผนจังหวัด โดยแนวทางในการดำเนินการของคณะกรรมการหมู่บ้านต้องทราบว่าหมู่บ้านตนเองเป็นอย่างไรและต้องการอะไร เพื่อเสนอแผนงานในการของบประมาณดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านของตนเองต่อไป ทั้งทางด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสวัสดิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้เกิดความพร้อมและความเข้มแข็งภายในหมู่บ้าน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในแต่ละหมู่บ้าน จะมีทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 2 คน แต่ไม่เกิน 10 คน บางพื้นที่ยังรวมไปถึงการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และสตรี เพื่อจัดตั้งเป็นสภาเยาวชน โดยจะมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและนำไปสู่การพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง

กรมการปกครองจึงมีหน้าที่ในการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน ดังที่ได้มีการดำเนินโครงการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง "แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" ซึ่งจะมีการมอบรางวัลให้แก่หมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับภาค เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่หมู่บ้านในการมุ่งมั่นพัฒนาหมู่บ้านของตนสืบไป

แม้แต่ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว การสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นต้น รวมไปถึงกิจกรรมที่ทางผู้ใหญ่บ้านร้องขอ คือ ในบางครั้งผู้ใหญ่บ้านอาจมีภารกิจอื่นที่จะต้องทำนอกเหนือจากที่กำหนดในระเบียบ กฎหมาย และไม่สามารถจะทำงานนั้น ๆ ได้เพียงลำพัง จึงต้องขอให้ กม. ช่วยเหลือ เช่น การจัดกิจกรรมประเพณีประจำปีของหมู่บ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ยังมีบทบาทที่สำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาของหมู่บ้านให้ประสบความสำเร็จ นำไปสู่การบูรณาการในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับชาติ หน้าที่ในการประนีประนอมข้อพิพาทในหมู่บ้าน ซึ่งตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับความแพ่งหรือความอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านและคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงให้คณะกรรมการหมู่บ้านประนีประนอมข้อพิพาท โดยแสวงหาข้อเท็จจริงจากคู่กรณีหรือพยานบุคคล พยานเอกสาร วัตถุพยาน หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้อง และประนีประนอมข้อพิพาทโดยอาศัยหลักกฎหมาย หรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี และอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการหมู่บ้าน คือ หน้าที่ในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย เช่น การดำเนินการตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ เป็นต้น

ด้านความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการปกครองในปี 2564 กรมการปกครองได้กำหนดให้มี “10 โครงการสำคัญสู่การเป็นกรมการปกครองวิถีใหม่” (10 Flagships to DOPA New Normal 2021) ในการบริหารพัฒนาองค์กรเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “หน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงมหาดไทยและมีเป้าหมายในการพัฒนาหมู่บ้าน โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้านให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภารกิจในระดับพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่ “หมู่บ้านอยู่เย็น” ตามแนวทางแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ผ่านหลักการ “บวร” หรือ “บรม” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของหมู่บ้านโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

อธิบดี “ธนาคม” ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “ผมขอขอบคุณกรรมการหมู่บ้านทุกท่านที่ได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เสียสละ อดทน และทำงานด้วยจิตสาธารณะ เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล กระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และ เนื่องในโอกาส “วันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)” ประจำปี 2564 เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง (ปีที่ 78) ผมขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพนับถือ อีกทั้งเดชะพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้กรรมการหมู่บ้านทุกท่าน พร้อมทั้งครอบครัว ประสบความสุขความเจริญ มีสุขภาพใจ สุขภาพกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน สังคม และประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป”

9 มีนาคม วันคณะกรรมการหมู่บ้าน
"คณะกรรมการหมู่บ้าน รากฐานของแผ่นดิน"

#9มีนาคม #วันคณะกรรมการหมู่บ้าน











กำลังโหลดความคิดเห็น