xs
xsm
sm
md
lg

จะตีกันมั้ย!? เมื่อชาวอาเซียนแย่งกันเป็น “รายา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฟ้าธานี



Raya and the Last Dragon เป็นอนิเมชั่นเรื่องใหม่จาก Disney ที่คราวนี้เลือกที่จะทำหนังการ์ตูนโดยอิงวัฒนธรรมของ South East Asia ดูบ้าง

ซึ่งเมื่อลองดูกันอย่างละเอียดแล้ว อาเซียน ก็ไม่ได้เป็นตลาดที่เล็กเลย ภูมิภาคแห่งนี้ มีประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอย่าง อินโดนีเซียอยู่ด้วย

รวมแล้วประชากรของอาเซียนมีอยู่ถึง 655 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย

แต่ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมของอาเซียนก็ยังมีอะไรที่น่าสนใจ และสดใหม่ ไม่เคยถูกนำเสนอในหนังฮอลลีวูดแบบเต็ม ๆ มากขนาดนี้

เมื่อ 3 ปีก่อน Disney ได้พัฒนาโปรเจ็คที่ชื่อว่า Dragon Empire ขึ้นมา ฟังผ่าน คนส่วนใหญ่ก็คงคิดว่านี่คงจะเป็นหนังเกี่ยวกับเรื่องราวของวัฒนธรรมจีน ตลาดหนังใหญ่อันดับต้นของโลกเช่นเคย เพราะระยะหลังฮอลลีวูดแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะพุ่งสัพพะกำลังไปที่ตลาดหนังจีนอย่างเต็มตัว

แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะ Dragon Empire เป็นหนังที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศ เอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั่นเอง


Dragon Empire ที่ต่อมาถูกเรียกว่า Raya the Last Dragon จึงเป็นงานที่น่าสนใจที่สุดในรอบหลายปีของ Disney ก็ว่าได้

สิ่งที่น่าจับตาที่สุดอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ก็เห็นจะเป็นนางเอกของเรื่องที่จะได้ชื่อว่าเป็น เจ้าหญิง Disney คนแรก
ที่เป็นชาวเอเซียนตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง Disney ก็ออกแบบตัวละครตัวนี้มาอย่างค่อนข้างพิธีพิถัน เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ตัวละครมีข้อครหาอะไรบางอย่างเหมือน “เจ้าหญิงดิสนียน์” คนก่อน ๆ

"รายา" จะเป็นเจ้าหญิงนักบู๊, ไม่ได้งอมืองอเท้ารอคอยให้พระเอกมาช่วย, เธอจะมีแรงจูงใจเป็นของตัวเอง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่สำคัญ ว่ากันว่า ดิสนีย์จะเขียนตัวละครตัวนี้ออกมาโดยไม่ต้องมีพระเอกอยู่ในเรื่องด้วยเลยด้วยซ้ำไป

สำหรับเรื่องภาพลักษณ์ของตัวละครนั้น ก็ดูมีความเป็นหญิงชาวเอเซียนตะวันออกเฉียงใต้แบบเต็ม ๆ ซึ่ง Disney เองก็พยายามที่จะทำให้วัฒนธรรมของ South East Asia ในหนังเรื่องนี้ให้ออกมาดู "จริง" ที่สุด ไม่ได้ดูเป็นเอเชียปลอม ๆ เหมือนในหนังฝรั่งหลายเรื่อง


Disney เลยพยายามที่จะใช้ทีมงานเบื้องหลังหลาย ๆ คน ให้เป็นชาว South East Asia ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของบทภาพยนตร์ที่เป็นงานการเขียนร่วมกันของ กวีเหวงียน นักเขียนบทละครชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม กับ อเดล ลิม นักเขียนบทชาวมาเลเซียแท้ ๆ แต่ไปทำงานในอเมริกา ที่มีผลงานการเขียนบทซีรีส์ดัง ๆ มาหลายเรื่อง แต่มาแจ้งเกิดจริง ๆ กับการเขียนบทหนัง Crazy Rich Asians นั่นเอง

รวมไปถึงสาวไทย ฝน ประสานสุข วีระสุนทร ที่เคยสร้างชื่อในฐานะนักวาดการ์ตูนจากเรื่อง Frozen เมื่อแปดปีก่อนที่เข้ามาทำในตำแหน่ง Head of Story ด้วย

ก่อนจะเริ่มดำเนินการสร้างอย่างจริงจัง ทีมงานก็ยังเดินทางมาทัวร์ South East Asia เพื่อเก็บรายละเอียดต่าง ๆ เอาไปใส่ในหนัง ให้ออกมาสมจริง และมีความเป็น South East Asia มากที่สุด

เจ้าหญิงรายาเป็นตัวละครดูแตกต่างจากภาพที่เราเห็นกันมาก่อน นอกจากจะดูเด็กว่าในใบปิด รายา ยังแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ แสดงให้เห็นว่าเธอน่าจะเป็นเจ้าหญิงจริง ๆ คือเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้ปกครองดินแดน ไม่ได้เป็นเจ้าหญิงสามัญชนแบบเจ้าหญิงในบางเรื่องของ ดิสนีย์

ในหนัง Disney ยังใส่รายละเอียดความเป็นเอเชียเข้ามามากมาย ฝรั่งดูฉากพวกนี้ก็คงเฉย ๆ แต่ชาวอาเซียนเราคงตื่นเต้นกับทุก ๆ รายละเอียด โดยเฉพาะงานอาร์ตต่าง ๆ ทั้งลวดลายบนผ้าปิดปาก สถาปัตยกรรมแบบอาเซียนที่มีให้เห็นมากมาย ที่แสดงให้เราได้เห็นโลกของ รายา กันพอสมควร ว่าเป็นโลกแฟนตาซีที่ผสมวัฒนธรรม และเทคโนโลยีหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ยุคเข้าด้วยกัน มีทั้งหน้ากากยักษ์ในโขน เหมือนหน้ากากสำหรับแสดงรามเกียรติ์ที่มีในหลาย ๆ ประเทศทั้ง ไทย, พม่า กัมพูชา


ส่วนอาวุธของตัวละครก็มีทั้งกระบองคู่  และดาบ ซึ่งก็น่าจะเป็นอาวุธที่คล้าย ๆ กับดาบของหลาย ๆ ชาติในอาเซียน ฟิลิปปินส์เรียกว่า “คาลิส”, อินโดนีเซียเรียกว่า เคอริส ซึ่งมีความหมายว่า “แทง” ส่วนคนไทยก็เรียกว่า “กริช” ซึ่งแบบที่เห็นเราจะเรียกว่า กริชบาหลี เป็นมีดดาบที่มีความคมสองด้าน และใบมีมีลักษณะเป็นเกรียวคลื่น

นอกจากนั้นสัตว์เลี้ยงของ รายา ก็ยังมีชื่อว่า "ตุ๊กตุ๊ก" ตั้งตามรถโดยสารเครื่องหมายการค้าของไทย (ในสายตาฝรั่ง) ของเมืองไทยอีกต่างหาก

สังเกตว่า Raya and the Last Dragon จะเลือกทั้งวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติ และวัฒนธรรมที่ชาติใน South East Asia มีร่วมกันอย่าง หมวกที่ รายา สวม ก็ใส่กันทั้งในเวียดนามจนเป็นเอกลักษณ์, ส่วนฟิลิปปินส์เห็นหมวกนี้ก็บอกว่าคือหมวก ซาลาก็อต ของไทยเราก็มีงอบ ที่คล้าย ๆ แบบนี้ด้วย


แสดงให้เห็นว่าผู้สร้างหนังอยากจะทำโลกของ Raya and the Last Dragon ให้ออกมาดูกลมกลืน รวบวัฒนธรรมหลากหลายของ South East Asia ให้เห็นหนึ่งเดียวกันในหนังเรื่องนี้

สำหรับดาราที่มาให้เสียงพากย์ได้นักแสดงเชื้อสายเวียดนามอย่าง เคลลี มารี ทราน มารับบทนำเป็น รายา ร่วมด้วยดาวตลก และศิลปินแร็พ “Awkwafina” หรือ “นอร่า ลัม” ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ South East Asia แต่อย่างใด เพราะจริง ๆแล้วเธอเป็นอเมริกัน เชื้อสาย จีนผสมเกาหลีมาให้เสียงเป็นมังกร

ผู้สร้างยังพยายามเลือกดาราเชื้อสายเอเซียมาให้เสียงเป็นหลัก ทั้ง เจมมา เฉิน สาวอังกฤษเชื้อสายจีน, แดเนียล แดคิม ดาราเชื้อสายเกาหลี, ซานดรา โอ นักแสดงมากฝีมือเชื้อสายเกาหลีอีกคน

อย่างไรก็ตามในขณะที่แฟนหนังในบ้านเรารวมถึงเพื่อนบ้านบางส่วนเริ่มเคลมกันว่า "เจ้าหญิงรายา" เป็นคนชนชาติอะไรกันแน่? แต่นับไปนับมามีคนอาเซียนให้เสียงนักแสดงนำอยู่คนเดียวก็เลยเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาเหมือนกันว่าหนังแทบจะไม่ให้โอกาสดาราเชื้อสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แท้ ๆ เลย

กำลังโหลดความคิดเห็น