ภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ” (The Caved Life) เดินทางต่อเนื่องมาจากสารคดีโทรทัศน์ “ถ้ำหลวง” 'สูญ – หา – เจอ – รอด – ฟื้น’ ของไทยพีบีเอส ที่ถอดบทเรียน ‘ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าติดถ้ำหลวง’ แต่สองปีผ่านมา หลายชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ ขุนน้ำนางนอนกำลังจะถูกหลงลืม ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นคงเหมือนติดอยู่ในถ้ำที่คล้ายจะโปร่งแสง แต่กลับหาทางออกมาไม่ได้ โดยกลับไปสถานที่เดิมด้วยคำถามใหม่ ๆ พร้อมกับการคิดใคร่ครวญถึงคำตอบร่วมของสังคมไทย ผ่านสายตา 5 ผู้กำกับหนังชื่อดัง คือ พัฒนะ จิรวงศ์, อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, ญาณิณ พงศ์สุวรรณ, โสภาวรรณ บุญนิมิตร และพีรชัย เกิดสินธุ์
พิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เปิดเผยว่า ไทยพีบีเอสมุ่งหวังให้ภาพยนตร์สารคดี ‘ติดถ้ำ’ เป็นเครื่องมือชวนสนทนาในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิตสารคดีที่มีส่วนร่วมกับชุมชน รวมถึงประเด็นที่ถูกเล่า และไม่ได้ถูกเล่าผ่านหนังสารคดีก็ตาม เช่น เรายังทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่ ให้เป็นวาระของสังคมที่สามารถพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะได้ และเป็นการขยายขอบเขตพื้นที่และการเข้าถึงผู้คนมากกว่าจอโทรทัศน์
“ไทยพีบีเอสมีแนวคิดว่าอยากทำเนื้อหา หรือประเด็นข่าวต่าง ๆ ให้ไปไกลกว่าข่าว มองมุมใหม่ ๆ เช่นผลิตเป็นสารคดี หรือภาพยนตร์สารคดี เพราะข่าวเน้นเหตุการณ์ ความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งบางครั้งไม่เพียงพอ เพราะสังคมมีความซับซ้อน และมีบริบทแวดล้อมมากมาย จึงต้องหาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้เข้าถึงผู้คนในรูปแบบต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ให้คนทุกเสียง ทุกมุม นำมาตีแผ่ให้เห็น ซึ่งการทำภาพยนตร์สารคดีครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนเฉพาะพื้นที่ถ้ำหลวง แต่สะท้อนไปถึงปัญหาที่ถูกละเลยตั้งคำถามเชิงโครงสร้างสังคมทั้งประเทศไทย”
“จากเหตุการณ์ถ้ำหลวงมีการช่วยเหลือหลั่งไหลมาจากทั่วโลก ยังคงหลงเหลือล่องลอยความรู้สึกของคนทั้งโลก และสิ่งนี้ถือเป็นพันธกิจของสื่อสาธารณะที่ต้องบันทึกในฐานะประวัติศาสตร์ชาติ และ
ประวัติศาสตร์ของคนในโลก แต่ไทยพีบีเอสไม่ได้มองแค่ปฏิบัติการกู้ภัย เรามองเห็นสังคมทั้งสังคม ในอนาคต ไทยพีบีเอสมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหา หรือเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้ชมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม”
พิภพ กล่าวอีกว่า โครงการผลิตภาพยนตร์นี้ ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้เพิ่มทักษะของบุคลากรภายในองค์กรร่วมกับทีมผู้กำกับชื่อดัง และถอดบทเรียนเป็นหนังสือ นี่คือกระบวนการสร้างความรู้ใหม่เพื่อยกระดับทั้งคนในองค์กรไทยพีบีเอส แวดวงวิชาการ และวิชาชีพสื่อมวลชน โดยในปี 2564 มีการวางแผนเดินสายฉายหนังทั่วประเทศ รวมทั้งเทศกาลหนัง ทั้งไทยและต่างประเทศด้วย โดยมี Documentary Club ร่วมเป็นผู้จัดจำหน่ายหนัง ซึ่งเป็นความร่วมมือกันครั้งแรก เพื่อพัฒนารูปแบบการตลาดเพื่อสังคมในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ” (The Caved Life) ประกอบด้วย 4 หนังสารคดีสั้นร้อยเรียงเป็นหนังยาว คือ “นักฟุตบอลหมายเลข 0” จากผู้กำกับ พัฒนะ จิรวงศ์ ถ่ายถอดเรื่องราวของ “ตาล” เด็กไร้สัญชาติที่มุ่งมานะฝึกซ้อมฟุตบอลอย่างหนักเพื่อไปให้ถึงฝัน แม้จะได้เป็นแค่ตัวสำรองของทีม เพราะอุปสรรคเพียงความเป็นเด็กไร้สัญชาติ, เรื่อง “น้ำวน” จากผู้กำกับ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ เล่าเรื่องชาวนาที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง ยังมีหลายพื้นที่ใช้สารเคมีในการเกษตร แม้จะพยายามสร้างระบบน้ำวน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนคืนสู่ธรรมชาติ และมนุษย์คือผู้ที่ได้รับผลกระทบ วนเวียนกันไปประหนึ่ง “น้ำวน”
อีกหนึ่งเรื่องราว “ปางหนองหล่ม” จากผู้กำกับ โสภาวรรณ บุญนิมิต และ พีรชัย เกิดสินธุ์ เรื่องเล่าคนเลี้ยงควายอาชีพดั้งเดิมของมนุษยชาติในพื้นที่ใจกลางรอยเลื่อนแผ่นดินไหวแม่จัน - เชียงแสน ในที่สุด กาลเวลาและกระแสโลกาภิวิตน์ก็เข้ามาตั้งคำถามกับวิถีชีวิต ความกระอักกระอ่วนถึงอนาคตของลูกหลานว่าควรสานต่อหรือไปทำอย่างอื่น และแท้จริงแล้ว ปัญหาภัยแผ่นดินไหวคือปัญหาของใคร
ปิดท้ายด้วย “ใกล้แต่ไกล” จากผู้กำกับ ญาณิน พงศ์สุวรรณ เรื่องราวของ “เมย์” หญิงสาวชาวอาข่า ที่กำลังจะเรียนรู้ว่าสิ่งใดคือทางเลือกของอนาคต สิ่งที่ผู้ใหญ่บอกเล่านั้น ไม่ได้ทำให้เธอรู้อะไรมากขึ้น นอกจากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปให้เท่าทันยุคสมัย และเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย ยิ่งทำให้ “เมย์” ต้องไกลห่างจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง โครงการผลิตภาพยนตร์สารคดี ‘ติดถ้ำ’ อยู่ภายใต้ความดูแลของ ‘ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ’ หรือ The Active หน่วยงานตั้งขึ้นใหม่ ในไทยพีบีเอส เมื่อต้นปี 2563 เพื่อทำหน้าที่ออกแบบสื่อและสารในการขับเคลื่อนสังคม โดยขยายขอบเขตพื้นที่และการเข้าถึงผู้คนมากกว่าจอโทรทัศน์ ติดตามผลงานได้ที่ https://theactive.net หรือ FB page: The Active #ติดถ้ำ