สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ลงพื้นที่ศึกษา “โครงการใส่ใจเสียงของชุมชนสู่การพัฒนาอย่างยั่นยืน” ณ หมู่บ้านกวางงอยพัฒนาและหมู่บ้านขี้ตุ่นใหม่ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 - 1 สิงหาคม 2563
โครงการนี้เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะทำให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนสิ่งที่คนในชุมชนต้องการอย่างแท้จริง และทำให้เกิดชุมชนต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน การดำเนินการใช้กระบวนการ ร่วมคิด ร่วมทำ" 5 ขั้นตอนหลัก คือ 1) สร้างความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 2) ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำโครงการที่เหมาะสมกับชุมชน 3) สร้างแนวทางการพัฒนาและเสนอทางเลือกในการพัฒนา 4) ลงคะแนน (Voting) เพื่อคัดเลือกโครงการฯ ที่ต้องการพัฒนาในชุมชน 5) สร้างแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ได้แก่ นักเรียน คนในชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ พัฒนาการอำเภอ พัฒนาการตำบล ศูนย์การศึกษานอกระบบ ฯลฯ โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนมีชัยพัฒนา จำนวน 28 คน เป็นสื่อกลางในการเข้าไปสอบถามความคิดเห็นของคน ในชุมชนในประเด็นที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น
จากการลงพื้นที่ หมู่บ้านขี้ตุ่น และหมู่บ้านกวางงอย พบว่า ปัญหาที่ชุมชนต้องการแก้ไข คือ ขยะในชุมชนมีจำนวนมาก ไม่มีการทำลายขยะที่ดี ชุมชนขาดรายได้ และไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร ดังนั้น จากการระดมความคิดเห็นจากคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จึงเกิดข้อเสนอในการพัฒนา 6 โครงการ ได้แก่
1. "ขยะอิ่มท้อง" : นำขยะมาแลกสิ่งของ เช่น ยาสีฟัน สบู่ และของใช้ต่างๆ
2. "หนูสร้างน้ำ" : จัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยเจาะน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้ โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) ในการปั้มน้ำใส่แทงก์น้ำ
3. "ขยะสู่รวย" : เก็บขยะในชุมชน เช่น แก้ว เหล็ก กระดาษ ฯลฯ มาอัดให้แน่น และทำเป็นอิฐบล็อคจากขยะ (eco brick) และขายให้แก่โรงเรียนมีชัยพัฒนา
4. "คัดแยกขยะสร้างเงิน" : สร้างถังขยะเพื่อคัดแยกขยะประเภทต่างๆ และนำมาแปรรูปเพื่อนำไปทำอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้งาน เช่น ซองมาม่าหรือกล่องนมนำมาทำเป็นเสื่อรองนั่ง, ขวดน้ำพลาสติกนำมาตัดเป็นเส้นๆ สานเป็นกระเป๋าหรืออุปกรณ์ใส่ต้นไม้ฯลฯ และขายให้แก่คนที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนมีชัยพัฒนา
5. "เตาเผาขยะไร้ควัน" : สร้างเตาเผาขยะไร้ควัน โดยติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาสอนวิธีการสร้างเตาเผาขยะ
6. "ขยะล่องหน" : นำขยะไปทำลายให้ถูกวิธีและนำขยะมาสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
จากโครงการทั้ง 6 โครงการ ได้มีการลงคะแนน (Voting) ของคนในชุมชน พบว่า โครงการที่ชุมชนต้องการพัฒนาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการ “หนูสร้างน้ำ” และ โครงการ “เตาเผาขยะไร้ควัน” จากการดำเนินการในครั้งนี้ จะนำไปสู่โมเดล “ชุมชนต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” และขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
โครงการลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาครัฐมีข้อมูลในการตัดสินใจดำเนินโครการต่างๆ จากความต้องการของประชาชน อันจะส่งผลทำให้การดำเนินงานต่างๆ ของภาครัฐมาจากความเสียงของคนส่วนใหญ่ในสังคมอย่างแท้จริง
สำนักงาน ก.พ.ร. ส่งเสริมการพัฒนาภาครัฐระบบเปิด (Open Government) โดยการเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ผ่านเว็บไซต์ www.opengovenment.go.th และ เฟซบุ๊ก Opengovthailand เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ และพัฒนาการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง