สานต่อพระราชปณิธาน “สมเด็จย่า” เปิด “กาดศิลป์” Art and Craft Market ตลาดนัดติดดิน อนุรักษ์งานศิลป์สไตล์ล้านนา-ร่วมสมัย เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกคน” ของสมเด็จย่า เปิด อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ชวนคนรักงานศิลป์เสพกลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนาและศิลปะหลากแขนง จัดงานเปิด “กาดศิลป์” Art and Craft Market ตลาดนัดสินค้าหัตถกรรมและกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะครั้งแรก โดยมีคนในชุมชนสถาบันการศึกษา และชาวดอยตุง มาปล่อยฝีมือโชว์งานศิลปะ งานคราฟต์ทำมือ และอาหารหลากเมนู เพื่อรักษามรดกด้านศิลปวัฒนธรรม และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ โดยจัดขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 7 - วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16.00 – 21.00 น. ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
โดยภายในงาน คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางศิลปินชื่อดังเมืองเชียงราย อาทิ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิคดอยดินแดง รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ อิษฏ์วรพันธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มาร่วมสัมมนาเรื่อง “ข้อคิดเห็นการสร้างสรรค์ให้เมืองเชียงรายเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริง” กระตุ้นคนรุ่นใหม่ใส่ใจ สืบสานศิลปวัฒนธรรมบ้านเกิด พร้อมทั้งให้ข้อคิดถึงคนในท้องถิ่นด้วยว่า “สิ่งที่สมเด็จย่า ทรงทำไว้ให้ลูกหลานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของป่า คน อาชีพ และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ เราต้องช่วยกันสานต่อ ไม่ท้อถอย ถ้าเราช่วยกัน เชียงรายจะเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริงได้แน่นอน”
นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย อาทิ คุณภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ราชการจังหวัดเชียงราย จุฬาสินี โรจนคุณกำจร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา และผู้บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ท่ามกลางการแสดงโชว์ตีกลองปูจา และการแสดงฟ้อนขบวนแห่ขันดอกล้านนา ตลอดจนการแสดงที่สร้างสีสันให้กาดศิลป์ จากศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียง ชาวบ้านชนเผ่าจากหมู่บ้านต่างๆ อาทิ บ้านขาแหย่งพัฒนา บ้านห้วยน้ำขุ่น บ้านจะลอ บ้านป่าซางนาเงิน และศิลปินรุ่นเล็กจากสถาบันการศึกษาในเชียงราย อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียนสถานสงเคราะห์แม่จัน อาทิ การแสดงลัวะเริงไพร การแสดงดนตรีโฟล์คซอง การแสดงหิมวันต์ รัญจวน ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตงานเวิร์คช็อปต่างๆ อาทิ ปั้นและเพ้นต์เซรามิก ถักร้อยกุญแจ จัดสวนถาด การทำกระเป๋าที่จากพลาสติก โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และ การสาธิตการทำเครื่องเงิน งานแกะสลัก ทำเครื่องสักการะล้านนา นิทรรศการภาพเขียนงานวิจิตรศิลป์ โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจากสถานศึกษาในเชียงราย พร้อมด้วยซุ้มอาหารชนเผ่าและอาหารหลากเมนูรสเด็ดลำแต้ๆ อย่าง หมาล่ารสเด็ด หมี่กรอบทรงเครื่อง ใส่ส้มซ่ากินแล้วสดชื่นไม่เหมือนใคร น้ำอะโวคาโด้รสนุ่มละมุนลิ้น เป็นต้น
พร้อมด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งแบบล้านนาและแบบร่วมสมัยให้ชมมากมาย พร้อมนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ “สมเด็จย่า” ผู้ทรงก่อตั้งสำนักงานของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงสร้างอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงขึ้น การจัดแสดงศิลปวัตถุและไม้แกะสลักสไตล์ล้านนาที่มีประวัติยาวนานหาชมได้ยาก
ซึ่ง อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ได้รวบรวมและเก็บรักษาไว้เพื่อสืบทอดและส่งต่อวัฒนธรรมอันล้ำค่า นำมาให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามที่มีเรื่องราวน่าสนใจและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอย่างใกล้ชิด อาทิ กลองปูจา หรือ กลองบูชา เป็นกลองโบราณที่ใช้ตีเพื่อส่งสัญญาณในการโจมตีศัตรูของกองทัพในเวลาสงครามถือเป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ ตลอดจนใช้ตีส่งสัญญาณบอกข่าวแก่ชุมชน และใช้เป็นเครื่องดนตรีมหรสพ
ตุงกระด้าง ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง ธง ในภาษาไทยภาคกลาง ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุต่างๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น ตุงกระด้าง คือ ตุงที่ทำขึ้นจากวัสดุที่ค่อนข้างจะคงทนและสามารถคงรูปอยู่ได้นาน อาทิ ไม้แกะสลัก ปูนปั้นบ้าง หรือโลหะ
สัตภัณฑ์ แท่นเชิงเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัย ในโบสถ์ วิหาร ของดินแดนล้านนา สัตภัณฑ์ มาจากคำว่า สัตบริภัณฑ์ หมายถึงภูเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ มีลักษณะเป็นแผ่นไม้สลักลาย ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือครึ่งวงกลมตั้งอยู่บนตั่ง แผ่นไม้นี้จะมีหลักสำหรับเสียบเทียน โผล่พ้นขอบบน 7 อัน ซึ่งหมายถึงภูเขาทั้ง 7 ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ ถือเป็น ศิลปวัตถุ ที่บ่งบอกประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนศรัทธาความเชื่อของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี