The Walt Disney Company เลือกที่จะไม่ตัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว และใช้การขึ้นอักษรเตือนแทนว่าการ์ตูนบางเรื่องอาจจะมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เหมาะสมทางวัฒนธรรมในยุคปัจจุบัน
Disney+ เปิดให้บริการในสหรัฐอเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศแล้ว ซึ่งบริการสตรีมมิงของบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ก็มีผู้สมัครเข้าไปลองใช้บริการมากมายนับ 10 ล้านคนทันที
แน่นอนว่าจุดขายอย่างหนึ่งของ Disney+ ก็คือผลงานระดับคลาสสิกมากมายของ Walt Disney ที่เป็นการ์ตูนซึ่งสร้างมานานหลายสิบปี หลายเรื่องทรงคุณค่าเป็นผลงานระดับอมตะของวงการบันเทิงสหรัฐฯ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการ์ตูนหลาย ๆ เรื่องที่อาจจะดูธรรมดา ๆ ในยุคที่สร้างขึ้นมา แต่ในตอนนี้เนื้อหาของการ์ตูนกลับไม่เหมาะสมสำหรับยุคปัจจุบันไปแล้ว
ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมทำให้การ์ตูนอย่าง Song of the South ไม่สามารถเผยแพร่ได้อีกแล้ว เพราะในปี 1946 ที่การ์ตูนออกฉาย เรื่องราวการผจญภัยของเด็กชายกับชายชราผิวดำในยุคสงครามกลางเมืองอาจจะดูธรรมดา ๆ แต่ในตอนนี้องค์ประกอบหลาย ๆ อย่างของ Song of the South ต้องเข้าข่ายเหยียดคนผิวดำอย่างช่วยไม่ได้
แต่ก็ยังมีการ์ตูนอีกหลายเรื่องที่อาจจะมี "ปัญหา" เพียงบางจุด หรือบางตัวละครของเรื่องเท่านั้น และ Disney+ จึงเลือกที่จะเผยแพร่การ์ตูนเหล่านั้น โดยไม่มีการตัดเนื้อหาส่วนที่มีปัญหาออกแต่อย่างใด แต่เลือกที่จะขึ้นคำเตือนเอาไว้ว่า "ผลงานเรื่องดังกล่าวถูกนำเสนอในแบบต้นฉบับที่ฉายครั้งแรก จึงอาจมีเนื้อหาบางส่วนที่ล้าสมัยทางวัฒนธรรม"
โดยผลงานที่มีการขึ้นคำเตือน ประกอบไปด้วยการ์ตูนระดับคลาสสิกที่เด็ก ๆ และผู้ปกครองรู้จักกันดีเหล่านี้
Dumbo (1941): การ์ตูนช้างบินดีที่เพิ่งจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฉบับคนแสดง เป็นที่รู้กันดีว่า Dumbo มีส่วนไม่เหมาะสมตรงกลุ่มตัวละครอีกาสูบซิการ์ที่นำเสนอออกมาให้ดูเป็นคนผิวดำ และหัวหน้าของกลุ่มอีกาซึ่งพากย์โดยนักพากย์ผิวขาว ยังถูกตั้งชื่อเอาไว้ว่า "จิม โครว" ซึ่งหมายถึงกฏหมายแบ่งแยกคนขาวคนดำของทางใต้ด้วย
Peter Pan (1953): การ์ตูนแนวแฟนตาซีที่นำเสนอคนอเมริกาพื้นเมืองอย่างไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในช่วงของเพลง “What Made The Red Man Red”
Lady And The Tramp (1955): การ์ตูน "ทรามวัยกับไอ้ตูบ" มีฉากที่มีปัญหาตรงตัวละคร "แมวไทย" ซึ่งมีบทเป็นตัวอิจฉาของเรื่อง และร้องเพลง “The Siamese Cat Song” เข้าข่ายเป็นการล้อเลียนคนเอเซีย
The Jungle Book (1967): นำเสนอตัวละครลิงอูรังอูตังในลักษณะล้อเลียนคนผิวดำ
The Aristocats (1970): ตัวละครแมวไทยในเรื่องถูกนำเสนอในแบบล้อเลียนคนเอเซีย โดยเฉพาะในฉากที่ตัวละครใช้ตะเกียบมาเล่นเปียโน และเครื่องดนตรีอื่น ๆ