xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญ HR แนะผู้บริหาร/เจ้าของธุรกิจปรับตัวรับมือปัญหาทรัพยากรมนุษย์ยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เตือนผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจต้องรีบปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือให้ทันกับปัญหาต้นทุนมนุษย์ ในยุคที่แพลตฟอร์มทางดิจิทัลเข้าแทรกแซง สิ่งต่างๆ บนโลกกำลังถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีการ จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรมนุษย์ Gen Z กับปัญหาการลาออกจากการทำงาน ที่ในอนาคตมีแนวโน้มจะสูงยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว

ข้อมูลจากเว็บไซต์รับสมัครงานชื่อดัง พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มคนที่มีแผนจะเปลี่ยนงานภายในระยะเวลาอันใกล้มากที่สุดคือ 1-3 เดือน คิดเป็น 31.82% ในขณะที่คนทำงาน Gen X และ Gen Y มีทิศทางเหมือนกันคือมีแผนจะเปลี่ยนงานแต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจน

ดร.ธิติมา ไชยมงคล นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติ และผู้ก่อตั้งบริษัท RESEARCHER THAILAND กล่าวว่า ด้วยลักษณะนิสัยของคน Gen Z เกิดและเติบโตในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู มีนิสัยที่ชอบเก็บเงิน สนใจในการลงทุน ชอบที่จะเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง และคน Gen Z หนึ่งคนจะทำหน้าที่ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งมีความมั่นใจในความคิดตัวเองสูงและกล้าที่จะแสดงออก มีคำถามที่ต้องการการอธิบายถึงเหตุผล และหลักการสอดคล้องกับมุมมองด้านทรัพยากรมนุษย์ในยุค 4.0 ของผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรมนุษย์

“ตอนนี้ปัญหา คือ คนทำงานยุค Gen Z มีการเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันใกล้มาก มีการย้ายงานสูง โดยตามปกติแล้ว อัตราการลาออกขององค์กรและบริษัทต่างๆ ในเมืองไทยจะอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ระยะหลัง ที่ Gen Z ก้าวเข้าสู้วัยทำงานอย่างแท้จริง ทำให้ตัวเลขเหล่านี้กระโดดไปอยู่ที่ 12-15 เปอร์เซ็นต์ เพราะเด็ก Gen Z เขาต่อมาในยุคมิลเลนเนียล อยู่ในยุคของดิจิทัลและไอที เกิดจากปัจจัย อันได้แก่ ความต้องการรายได้ที่สูงขึ้น ไม่พอใจกับสวัสดิการ ต้องการความก้าวหน้าในสายงาน และคาดหวังที่จะได้ทำงานตรงตามทักษะและความสนใจ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นปัญหาในระดับประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจ SME” ดร.ธิติมา กล่าว

ดร.ธิติมา ยังได้เล่าถึงประสบการณ์แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรหรือบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมไขปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ว่า ขอยกตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่มีอัตราการลาออกที่สูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 10-12 เปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ดีๆ ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ก็ขยับขึ้นไปถึง 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทางบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มรู้สึกว่า นี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์เข้ามาดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

สิ่งแรกที่เราทำ คือ เข้าไปพูดคุย พร้อมประชุมกับบุคลากรในองค์กร เพื่อเป็นการวิเคราะห์บริบทของปัญหาเบื้องต้นก่อน จากนั้นก็ไปสัมภาษณ์พนักงานที่ลาออกจากบริษัทไปภายในระยะเวลาไม่เกินสามเดือน รวมถึงสัมภาษณ์พนักงานที่เข้าๆ ออกๆ พอได้รับทราบสาเหตุของการออกแล้ว ก็นำเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบ จากนั้นก็ลงลึกในการสัมภาษณ์หาข้อมูลเลย โดยเราให้แนวทางกับทางบริษัทไปว่า เราต้องการแบ่งพนักงานออกเป็นกลุ่ม ไล่เรียงตามระยะเวลาการทำงานในบริษัท เริ่มตั้งแต่ 1-3 ปี 4-6 ปี 7-10 ปี 10-12 ปี และ 12 ปี ขึ้นไป กลุ่มละสามคน รวมจำนวนทั้งสิ้น 15 คน เพื่อมาพูดคุยกันทีละคน โดยได้คำตอบทั้งหมดภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์เท่านั้น

กระบวนการต่อไปคือ นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาทำรายงานสรุปเพื่อตอบคำถามที่เราตั้งไว้ ทั้งนี้ก็เป็นไปตามกระบวนการทางการวิจัย โดยนำเสนอเป็นลักษณะของอินโฟกราฟิก เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ โดยทางบริษัทแห่งนี้ ก็สามารถนำผลการศึกษาวางแผนในการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งดิฉันก็ทำหน้าที่มอนิเตอร์ในฐานะที่ปรึกษาและเป็นพาร์ทเนอร์ต่อไปด้วย แต่อันที่จริงคำแนะนำง่ายๆ เบื้องต้นสำหรับการแก้ปัญหาทรัพยากรบุคคลในองค์กรคือ ทุกคนต้องยอมรับความเป็นมนุษย์ของกันและกันให้ได้ก่อน เห็นคุณค่ากัน เปิดใจยอมรับฟังและเคารพซึ่งกันและกัน จากนั้นค่อยนำเรื่องเทคโนโลยี และระบบมาเติมเต็มช่องว่างต่างๆ

“สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือองค์กรควรรู้เพื่อเตรียมรับมือกับคน Gen Z นั้นมีหลายปัจจัย ต้องสร้างคุณค่าในการทำงาน อาจเป็นได้ทั้ง การเลื่อนตำแหน่ง หรือการเพิ่มเงินเดือน การให้โบนัสที่เป็นเงินเพื่อช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน ต้องมีการพูดคุย หรือยินดีที่จะรับฟังผลตอบรับจากการทำงานมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ และต้องมีการพูดคุยแบบต่อหน้าหรือการประชุมเป็นทีมมากว่าการพูดคุยผ่านอีเมล์ และนอกจากนี้ผู้ประกอบการหรือองค์กรควรมีการปรับเรื่องของไลฟสไตล์รูปแบบการทำงาน เช่น จากต้องเข้ามาตอกบัตร ก็เปลี่ยนเป็นตอกบัตรออนไลน์ เพราะเขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งในต่างประเทศก็เริ่มทำกันแล้ว และในบางประเทศก็มีวันหยุดกลางสัปดาห์ทุกวันพุธอีกด้วย รวมถึงผู้บริหารหรือหัวหน้างานก็ต้องรับฟังความคิดของพนักงาน หรือให้ในสิ่งที่พนักงานร้องขอเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร. ธิติมา กล่าว

และนี่คือสิ่งที่ทั้งผู้นำองค์กร ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการถูกแทรกแซงโดยเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ เตรียมพร้อมรับมือให้ทันกับปัญหาต้นทุนมนุษย์ ที่เป็นทรัพยากรมีคุณค่า เพราะคนถือเป็นแรงงานหลักที่ช่วยให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนเติบโตก้าวหน้าต่อไปในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น