xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์จุฬายีนโปร ถอดรหัส DNA ยีนมะเร็ง รักษาแม่นยำ ตรงจุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รณรงค์ให้ความรู้เสริมสร้างความเข้าใจ “โรคมะเร็งปอด” พร้อมแนะนวัตกรรมเทคโนโลยีการตรวจยีนมะเร็งนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งปอดในระยะแพร่กระจาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สืบพงศ์ธนสารวิมล หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า “โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในชนิดของโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตซึ่งเป็นอันดับ 1 ในจำนวนของโรคมะเร็งทั้งหมด โดยแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงถึง 1.8ล้านคน1จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2557ในประเทศไทยโรคมะเร็งปอดพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง โดยในปี 2559 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดปีละกว่า 13,414คน ซึ่งถือได้ว่ามากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยมะเร็งเพศชายรายใหม่จำนวน 9,779 คนหรือคิดเป็น 27.4 คนต่อแสนประชากร และในเพศหญิงจำนวน 5,509 คนหรือคิดเป็น 14.2 คนต่อแสนประชากร2 โดยสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดนั้นปัจจุบันยังไม่มีการพบที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอันดับ 1 มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ รวมถึงการได้รับควันบุหรี่(สูบบุหรี่มือสอง)และมลภาวะทางอากาศ อาทิ ฝุ่นแร่ที่มาจากบริเวณเหมืองแร่ต่างๆ เช่น แร่ใยหิน และแร่ยูเรเนียม หรืออาจเกิดจากพันธุกรรมบางชนิดที่ผิดปกติ โดยมะเร็งปอดส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยวัยสูงอายุซึ่งอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามอายุที่มากขึ้น”

“อาการโดยทั่วไปที่พบในผู้ป่วยมะเร็งปอด ได้แก่ หายใจถี่และหายใจไม่ออก มีเสียงแหบ มีอาการเจ็บหน้าอก ไอมีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง เป็นต้นโดยมะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer) และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (non-small cell lung cancer) ซึ่งในกลุ่มหลังนี้พบได้ในมะเร็งปอดทั้งหมด และในกลุ่มนี้ยังมีแยกย่อยออกเป็นชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น squamous cell carcinoma, adenocarcinoma และอื่นๆ โดยโรคแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งยังไม่กระจาย ระยะที่ 2 มีการกระจายของมะเร็งมายังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงได้แก่ กระดูกซี่โครง กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด และระยะที่ 4 มะเร็งกระจายออกนอกเนื้อปอดหรือลุกลามไปยังอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ ในร่างกาย”

“โดยทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งมักจำกัดอยู่ใน 3 แนวทาง คือ ผ่าตัดในกรณีที่สามารถทำได้ จากนั้นจึงเป็นการรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษาหรือใช้ยาเคมีบำบัด หรืออาจเป็นการรักษาแบบผสมผสานมากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไปเพื่อหยุดการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งทั้งนี้การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดซึ่งเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดนั้นอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากตัวยาไม่เพียงออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังออกฤทธิ์ต่อเซลล์ปกติในส่วนอื่นๆ ของร่างกายผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และมีการติดเชื้อง่าย”

“ปัจจุบันมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ ใช้ได้ผลดีในมะเร็งกลุ่มที่เป็น Adenocarcinoma เพื่อให้สามารถออกฤทธิ์โดยพุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะหรือที่เรียกว่า “การรักษาแบบตรงจุด หรือแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy)” โดยยาจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและให้ส่งผลต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด ผลข้างเคียงจึงรุนแรงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งนอกจากมะเร็งปอดแล้ว Targeted therapy ยังใช้ในการรักษาโรคมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ รวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและเมื่อพูดถึง Targeted therapy สำหรับมะเร็งปอด โดยทั่วไปจะใช้เฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีสาเหตุการเกิดโรคจากปัจจัยทางพันธุกรรมเท่านั้น คือมียีนในร่างกายที่เกิดการกลายพันธุ์ไป โดยยีนหลักๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ยีน Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) ซึ่งเป็นยีนที่พบการกลายพันธุ์มากที่สุดคือ ในคนผิวขาวพบได้ 10-20% แต่ในคนเอเซียพบได้ถึง 50-70% โดยพบมากในคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่มานานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และยีนAnaplastic lymphoma kinase (ALK) พบได้ประมาณ 5-7% และส่วนมากพบในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่เช่นกัน การออกฤทธิ์ของยามุ่งเป้าคือ การเข้าไปจับกับยีนเป้าหมาย ที่เกิดการกลายพันธุ์ เพื่อยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งการมุ่งจับที่ยีนเป้าหมายนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด ผลข้างเคียงจึงรุนแรงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ถึงแม้ว่ายาในกลุ่ม Targeted therapy จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่ก็ยังพบผลข้างเคียงได้ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ เช่น ทำให้เกิดผื่นคล้ายสิว ผิวแห้ง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลีย ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากพบว่ามีอาการต่อเนื่องหรือรุนแรงขึ้น”

“ปัจจุบันเราสามารถตรวจความผิดปกติของยีนทั้ง 2 ชนิดนี้ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งปอดที่เราทำการผ่าตัดหรือเจาะออกมาตรวจพันธุกรรมผู้ป่วยและหากพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนชนิดใด แพทย์จะเลือกใช้ยาที่ตรงกับชนิดของยีนที่กลายพันธุ์นั้นเพื่อยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่า ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็ได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่าการรักษาแบบครอบคลุมไม่จำเพาะเจาะจง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีนดังกล่าวมีระยะเวลาการรอดชีวิตสูงขึ้นแต่ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย” นายแพทย์สืบพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชนพ ช่วงโชติ ผู้อำนวยการศูนย์จุฬายีนโปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยกล่าวว่า
“มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบการเสียชีวิตมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งนอกจากการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักแล้วยังพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียพบการกลายพันธุ์ในยีน EGFRซึ่งเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (predictive biomarker) สำหรับการพิจารณาการให้ยารักษาได้แบบมุ่งเป้าได้ (targeted therapy) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงมีประโยชน์คือลดผลแทรกซ้อนที่จะเกิดกับเซลล์ปกติ เมื่อเทียบกับการักษาแบบการให้เคมีบำบัด”

“ศูนย์จุฬายีนโปร มีพันธกิจหลัก คือ การให้บริการผู้ป่วยในด้านการตรวจการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของแพทย์เพื่อนำข้อมูลไปใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำโดยศูนย์จุฬายีนโปรจะนำเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วยมาสกัดสารพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ มาตรวจการกลายพันธุ์ และวิเคราะห์ความผิดปกติของยีนด้วยเทคนิคทางอณูพันธุศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการตรวจยีน ยีน EGFRในมะเร็งปอด ยีน RASในมะเร็งลำไส้ ยีน BRCA1/2ในโรคมะเร็งเต้านม และรังไข่และยีน MGMTในโรคเนื้องอกในสมอง เป็นต้น”

“นอกจากการตรวจ DNA ในชิ้นเนื้อมะเร็งแล้ว เรายังสามารถตรวจ DNA ของเซลล์มะเร็งได้จากเลือด (liquid biopsy)
เช่น การตรวจยีน EGFRใน cell free DNA จากเลือดของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ป่วยในกรณีที่ชิ้นมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการตรวจหรือผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอและไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้”

“ศูนย์จุฬายีนโปรมีอัตราค่าบริการตรวจยีนอยู่ระหว่าง 2,000 ถึง 28,000 บาทขึ้นอยู่กับจำนวนตำแหน่งการตรวจ และจำนวนยีนที่ต้องตรวจในมะเร็งแต่ละชนิดซึ่งขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา”

“ตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี ที่ศูนย์จุฬายีนโปรเปิดให้บริการนั้นเรายังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และเป็นสถานที่อบรม และศึกษาดูงานของแพทย์ และนักวิจัยทั้งภายใน และต่างประเทศ รวมถึงร่วมทำงานวิจัยกับทีมแพทย์ และนักวิจัยของ รพ.จุฬาฯ เพื่อยกระดับการให้บริการที่ทันสมัย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เรามุ่งเน้นผู้ป่วยได้รับการบริการที่รวดเร็ว ผลการตรวจที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Quality of life) ระหว่างทางของการรักษา ซึ่งทางศูนย์จุฬายีนโปรมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี ทั้งจากภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน โดยในปีที่ผ่านมา(2561) มีผู้ป่วยเข้ารบรวมกว่า 3,000 ราย”

“มะเร็งเกิดขึ้นได้กับเกือบทุกเซลล์ในร่างกาย การป้องกันการเกิดมะเร็งที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
ซึ่งการป้องกันโรคมะเร็งปอดที่ดีที่สุดยังคงเป็นการไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดแหล่งควันบุหรี่ ออกกำลังกาย และหมั่นตรวจสุขภาพทุกปี หากสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายที่น่าสงสัย เช่น เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาที่มาและดำเนินการรักษาโดยทันที เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและห่างไกลโรค” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชนพกล่าวเสริม

เกี่ยวกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า(ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทสาขาของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทด้านชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งเน้นด้านการคิดค้น พัฒนายาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ดีขึ้น และการสร้างคุณค่าต่อสังคม โดยเน้นหลักในกลุ่มยาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต กลุ่มยาที่มีผลต่อระบบการเผาผลาญในร่างกาย และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ยังมุ่งมั่นค้นคว้าวิจัยพัฒนายาใหม่ๆ ทางด้านโรคภูมิต้านทานตนเอง โรคทางระบบประสาท และโรคติดเชื้อ ด้วยเช่นกัน จวบจนปัจจุบัน แอสตร้าเซนเนก้า ได้มีการดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และยาที่เป็นนวัตกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ ได้ถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก
ในปี 2526 แอสตร้าเซนเนก้า ได้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยปัจจุบัน มีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 195 คน และมีเครือข่ายพันธมิตรหลักด้านสุขภาพทั้งจากองค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาต่างๆ ทั่วประเทศ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.astrazeneca.comและผ่านทาง Twitter ได้ที่ @AstraZeneca
เอกสารอ้างอิง
WHOองค์การอนามัยโลก:https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cancer
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี:
https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/th/news/event/22082016-1833-th
https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/lung






กำลังโหลดความคิดเห็น