xs
xsm
sm
md
lg

GPSC เปิดผลงานวิจัยแบตเตอรี่ เดินหน้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ พัฒนานวัตกรรมพลังงาน เส้นทางสู่ผู้นำอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกเส้นทางของการพัฒนาพลังงานทั่วโลก กำลังมุ่งหน้าสู่การใช้ “พลังงานทดแทน” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำไปใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อทดแทนพลังงานที่มาจากฟอสซิล ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ กับการเผชิญสภาวะโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สถาบันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ได้พยายามคิดค้นเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก เพื่อตอบสนองต่อการบริโภค ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และการขนส่ง

แม้ว่ากระแสการใช้พลังงานทดแทนของไทย กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ เห็นได้จากการส่งเสริมของภาครัฐ ในการพัฒนาแหล่งผลิต พลังงานทางเลือกที่สะอาด ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำมาใช้อย่างไม่มีวันหมด (Renewal Energy) ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล ซึ่งพลังงานทดแทนเหล่านี้ ยังเป็นตัวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างที่โลกต้องการ แต่แหล่งผลิตพลังงานเหล่านี้ ไม่สามารถควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยข้อจำกัดการเป็นแหล่งเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ ทำให้มีการเร่งคิดค้นเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงานขึ้นมา ที่เรียกกันว่า ระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้สามารถกักเก็บไว้ เพื่อการใช้งานในเวลาอื่นที่จำเป็นได้

ความก้าวหน้าของการนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทย กำลังเกิดขึ้น และรอผลลัพธ์ที่จะกำลังจะตามมา หลังจากการเดินหน้าของ ปตท. ร่วมกับ GPSC หรือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) แกนนำธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ในการเดินหน้าโครงการ “วิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid)” เป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ บริษัท 24 M Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน การเดินหน้าพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งด้านเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการต่อยอดในการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเชิงพาณิชย์ต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น