xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก 29 ปี “สืบ นาคะเสถียร” กับ 10+1 บทเพลงอนุรักษ์ทรงคุณค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เพลงวาน : โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
อนุสาวรีย์ สืบ นาคะเสถียร ห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
"...เช้าวันที่ 1 กันยา ในราวป่าเสียงปืนกึกก้อง ญาติมิตรล้วนน้ำตานอง จากข่าวร้ายกลางป่าอุทัย วิญญาณเจ้าจงรับรู้ คนที่ยังอยู่ยังยืนหยัดต่อไป สืบเอยหลับให้สบาย เจ้าจากโลกไปมิให้สูญเปล่า...

สืบ...เอย เจ้าจากไปไม่สูญเปล่า..."

ส่วนหนึ่งจากบทเพลง "สืบทอดเจตนา" โดย : แอ๊ด คาราบาว

เสียงปืนที่ดังขึ้นในผืนป่าห้วยขาแข้ง จากการทำอัตวินิบาตกรรมของ “สืบ นาคะเสถียร” ในเช้าตรู่วันที่ 1 กันยายน 2533 สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ที่รับรู้เรื่องราวไปทั่วโลก

การเสียสละชีวิตของหัวหน้าสืบ นอกจากจะสร้างแรงสั่นสะเทือนใหญ่หลวงต่องานด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบ้านเราแล้ว ยังเป็นการ “ตายหนึ่งเกิดล้าน” ที่ได้ปลุกให้คนไทยหันมาสนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า รวมถึงเป็นแรงผลักดันให้ออกมาร่วมต่อต้านการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ

นั่นจึงทำให้ในวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันรำลึก “สืบ นาคะเสถียร” ที่ตั้งขึ้นเพื่อสดุดีแด่วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษนักอนุรักษ์ท่านนี้ ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจต่อสู้เพื่องานด้านนี้จนตัวท่านต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าสะเทือนใจ

อย่างไรก็ดี พูดถึงเรื่องราวด้านการอนุรักษ์นั้นบ้านเราถือว่าตื่นตัวเป็นพัก ๆ อีกทั้งยังเกิดกระแสฟีเวอร์เป็นพัก ๆ อย่างล่าสุดน้อง “มาเรียม” พะยูนน้องผู้น่ารักก็ได้มาปลุกกระแสด้านการอนุรักษ์สัตว์ตามธรรมชาติและการลดการใช้ขยะพลาสติกในบ้านเรา

นอกจากนี้ยามใดที่ภาครัฐ นักการเมือง นายทุน ได้ออกมาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันอย่างโจ่งครึ่ม เมื่อนั้นกระแสอนุรักษ์ก็ถูกปลุกขึ้นมาพร้อม ๆ กับกระแสต่อต้านต่อการทำร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องรู้เท่าทันและร่วมต่อต้านการกระทำเลว ๆ เหล่านั้นกันต่อไป

สำหรับในวงการเพลงบ้านเราที่ผ่านมา มีบทเพลงเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ สัตว์ป่า รวมถึงบทเพลงต่อต้านการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมออกมาอยู่เรื่อย ๆ ตามกระแสสังคมในช่วงนั้น ๆ (ในอดีตสายเพื่อชีวิตจะมีเพลงแนวนี้มากเป็นพิเศษ)

และนี่ก็คือ 10+3 บทเพลงอนุรักษ์คัดสรรด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีเนื้อหาน่าสนใจ ทั้งในสายทั่วไป (5 เพลง) สายเพื่อชีวิต (5 เพลง) กับ 1 บทเพลงที่พูดถึงหัวหน้าสืบ เพื่อสดุดีแด่การจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” วีรบุรุษนักอนุรักษ์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ของคนไทย
1.ป่าลั่น - สุเทพ ประยูรพิทักษ์



ป่าลั่น” เป็นบทเพลงดังประจำตัวของ “สุเทพ ประยูรพิทักษ์” นักร้อง-นักแสดงอารมณ์ดี ในอัลบั้มชาวแพ สมัยที่ยังเป็น “สุเทพ แอนด์ เดอะแซคส์” เพลงนี้มีจังหวะสนุกๆ ฮึกเหิมในอารมณ์เพลงมาร์ช เนื้อร้องภาษาสวยงาม สื่อถึงการรักป่าได้อย่างน่าฟัง
2.ต้นไม้ - สุรสีห์ อิทธิกุล



ต้นไม้” งานเพลงเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นดีของ “สุรสีห์ อิทธิกุล” ศิลปินมากฝีมือ หนึ่งในผู้บุกเบิกดนตรีแนวโพรเกรสซีฟร็อกยุคแรก ๆ ของเมืองไทยในนาม “บัตเตอร์ฟลาย” (Butterfly)

เพลงนี้อยู่ในผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 2 ของเขา “คนดนตรี” (2533) ที่มีเพลงดังอย่างปราสาททราย ตะเกียง และต้นไม้

เพลงต้นไม้เป็นแนวบัลลาดร็อกเพราะ ๆ บอกเรื่องราวการกำเนิดเกิดก่อเติบโตของต้นไม้จนเป็นต้นโตใหญ่ให้ร่มเงา ให้ที่พักพิงแก่สัตว์ แต่สุดท้ายต้องจบชีวิตลงเพราะถูกโค่นตัดทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์
3.รุ้งกินน้ำ - อัสนี-วสันต์ โชติกุล



รุ้งกินน้ำ” บทเพลงนำในอัลบั้ม “รุ้งกินน้ำ” (2536) ของ “อัสนี-วสันต์ โชติกุล” หรือ “พี่ป้อม-พี่โต๊ะ” ที่สร้างสรรค์เพลงนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

รุ้งกินน้ำเป็นบทเพลงที่ยาวที่สุดของอัสนี-วสันต์ ด้วยเวลากว่า 6 นาทีครึ่ง แต่ว่าฟังเพลิน (ดู MV เพลิน) กับดนตรีซาวนด์+คอรัส อลังการ เนื้อหาคมคายว่าด้วยการหายไปของรุ้งกินน้ำ เพราะถูกหมอกควันจากมลพิษปกคลุม ซึ่งมันช่างเข้ากับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในยุคนี้ของเราได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่เด็ดอีกอย่างของเพลงนี้ก็คือ MV ว่าด้วยเรื่องของเด็ก 2 คน ในดินแดนที่สวยงาม กับบทสนทนาที่ฟังแล้วสะทกสะท้อนใจไม่น้อย

เพลงรุ้งกินน้ำถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัลบั้มชุดรุ้งกินน้ำคว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม “สีสันอะวอร์ดส” ปี 2536 ไปครอง
4.โลกาโคม่า - เฉลียง



โลกาโคม่า” บทเพลงของวง “เฉลียง” ศิลปินอารมณ์ดี ในอัลบั้มชุดสุดท้ายของพวกเขา “ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า” (2534) ก่อนที่สมาชิกยุคสามจะแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง

เพลงโลกาโคม่าแต่งโดย “ประภาส ชลศรานนท์” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2561 ที่เห็นชื่อก็การันตีในคุณภาพ ทั้งเนื้อหา ความลึกซึ้ง แยบคาย

โลกาโคม่า เป็นร็อกสนุก ๆ ได้ อ.นพ โสตถิพันธุ์ มาโซโลไวโอลินสร้างสีสัน กับเนื้อหาที่ยิงตรงชัดเจน ที่แค่เพียงขึ้นท่อนแรกมาก็ตรงกับโลกของเราวันนี้ อย่างกับว่าผู้แต่งมีตาทิพย์มองเห็นโลกอนาคตยังไงยังงั้น

ด้วยความยอดเยี่ยมของเพลงโลกาโคม่า และอัลบั้มชุดตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้างานคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่พูดเรื่องการอนุรักษ์อย่างเด่นชัด ทำให้เพลงโลกาโคม่าคว้ารางวัลสีสันอวอร์ดสาขาเพลงยอดเยี่ยม และวงเฉลียงคว้ารางวัลสีสันอวอร์ดสาขาศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยมในการประกาศของปีถัดมาไปครอง
5.โลกสวยด้วยมือเรา - รวมศิลปิน



โลกสวยด้วยมือเรา” บทเพลงมหากาพย์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของศิลปินชื่อดังจากค่ายแกรมมี่ (ในยุครุ่งโรจน์) อาทิ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์, พี่ป้อม,พี่โต๊ะ- อัสนี,วสันต์ โชติกุล, ฐิติมา สุตสุนทร, คริสติน่า อากีล่าร์, บิลลี่ โอแกน, เจ-เจตริน วรรธนะสิน, มาช่า วัฒนพานิช, ใหม่ เจริญปุระ และ วงไมโคร นูโว อินคา XYZ ฯลฯ

เพลงโลกสวยด้วยมือเรา แต่งโดย พี่ดี้-นิติพงศ์ ห่อนาค (คำร้อง) และ อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ (ทำนอง) เพลงนี้ถือเป็นเพลงเอกในคอนเสิร์ต Earth Day ในปี 2534 และถูกใช้ในคอนเสิร์ต Earth Day ครั้งต่อ ๆ มา รวมถึงเป็นเพลงเอกในอัลบั้มโลกสวยด้วยมือเรา

โลกสวยด้วยมือเราเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนคนไทยให้มีจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ ร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาโลกใบนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทเพลงมหากาพย์ด้านการอนุรักษ์เคียงคู่กับ “ชีวิตสัมพันธ์” ของสายเพลงเพื่อชีวิต
6.เขาใหญ่ - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ



เขาใหญ่” บทเพลงอนุรักษ์ของ “น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” ในอัลบั้ม “คนจนรุ่นใหม่” (2533) ที่มีเพลงดัง “ตังเก”

เขาใหญ่เป็นบทเพลงที่พุ่งตรงไปที่การอนุรักษ์เขาใหญ่ ถิ่นที่น้าหมู คนโคราชคุ้นเคย กับดนตรีเนิบช้า และภาษาสวยงามตามสไตล์กวีศรีชาวไร่ที่เชิญชวนให้คนมาร่วมกันอนุรักษ์ปกป้องเขาใหญ่ หนึ่งในมรดกโลกทางธรรมชาติอันทรงคุณค่าของไทย ซึ่งในชุดถัดไป จ.ป.ล. (จีนปนลาว-2534) น้าหมูยังได้แต่งเพลง “เขาใหญ่ 2” ออกมาด้วยเนื้อหาที่ดุดันขึ้นอีกด้วย
7.อยู่บนดิน - พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์



อยู่บนดิน” บทเพลงในอัลบั้มเสือ 11 ตัว ของ “พี่ปู : พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์” (2533)

เพลงนี้เป็นบทเพลงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีการร่วมร้องเพลงของศิลปินมากหน้าหลายตา ในระดับน้อง ๆ ของเพลงชีวิตสัมพันธ์ โดยมีศิลปินที่ร่วมขับร้อง ได้แก่ น้าหงา คาราวาน,น้าหว่อง คาราวาน, น้าเล็ก คาราบาว,ฤทธิพร อินสว่าง, พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง และพี่ปู พงษ์สิทธิ์

เนื้อหาของเพลงพูดถึงธรรมชาติ ต้นไม้ สรรพสัตว์ ที่ต่างผูกพันกับผืนแผ่นดิน ถือเป็นอีกหนึ่งบทเพลงด้านสิ่งแวดล้อมชั้นดีของพี่ปู
8.หาดไม้ขาว - หงา คาราวาน



หาดไม้ขาว” บทเพลงในอัลบั้มคู่ (2535) “ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง” และ “รักและหวัง” (ร่วมกับ สุนทรี เวชานนท์) ของ “น้าหงา คาราวาน” หรือ “สุรชัย จันทิมาธร” ศิลปินแห่งชาติ พี่ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต

เพลงนี้หลายคนมักเรียกว่าขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง ซึ่งน้าหงาแต่งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ช่วยกันอนุรักษ์หาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต แหล่งวางไข่เต่ามะเฟืองที่สำคัญของไทย ที่ถูกคุกคามนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน (พบการวางไข่ของเต่ามะเฟืองบนหาดไม้ขาวครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556)

หาดไม้ขาววันนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ถภุกพัฒนามีสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เพื่อการท่องเที่ยวแล้วก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง โดยเฉพาะเรื่องการชมเครื่องบิน บินขึ้น-ลง ที่สนามบินภูเก็ต ส่วนเรื่องการเป็นแหล่งวางไข่เต่ามะเฟืองที่สำคัญของบ้านเรา หลาย ๆ คนได้หลงลืมกันไปแล้ว
9.World - แอ๊ด คาราบาว



World” (เวิลด์) เพลงนำในอัลบั้ม “World Folk Zen” (2534) งานเดี่ยวของ “น้าแอ๊ด คาราบาว” หรือ “ยืนยง โอภากุล” ศิลปินแห่งชาติ ผู้นำวงคาราบาว ผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการเพลงเพื่อชีวิตบ้านเรา

เพลงเวิลด์เป็นงานเพลง 2 ภาษา ไทยอังกฤษ โดยในภาคภาษาอังกฤษได้ “น้าทอดด์ ลาเวลล์” (ทอดด์ ทองดี) มาร่วมขับร้องถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างถึงกึ๋น กับงานในแนวดนตรีอะคูสติกตามคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มชุดนี้ที่เป็นงานเพลงอะคูสติกแนวโฟล์คทั้งหมด ส่วน บทเพลงอนุรักษ์เพลงนี้พูดถึงโลก ป่าเขา ต้นไม้ ไล่เรียงมาจนถึงคน ซึ่ง “หากโลกมีทุกข์ทน คนต้องมีทุกข์สิ้น คนไม่รู้จักกิน คือคน ไม่รู้จักโลก
10.ชีวิตสัมพันธ์ - รวมศิลปิน



ชีวิตสัมพันธ์” แต่งโดย “ยืนยง โอภากุล” หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ร่วมกับ “อัสนี โชติกุล” 2 ผู้ยิ่งยงแห่งวงการเพลงไทย

เพลงนี้ ร่วมขับร้องโดยศิลปินมากหน้าหลายตา นำโดยวงคาราบาว น้าแอ๊ด เล็ก น้าเที่ยรี่ ร่วมด้วย น้าหงา คาราวาน, น้าหมู พงษ์เทพ, น้าสุเทพ โฮป, น้าสีเผือก คนด่านเกวียน

นอกจากนี้ก็ยังมีสายร็อกอย่างพี่ป้อม-อัสนี โชติกุล, น้าแหลม มอริสัน, น้ากิตติ กีตาร์ปืน เป็นต้น นับเป็นงานเพลงที่ได้รวบรวมศิลปินเพลงเพื่อชีวิตมาไว้ในบทเพลงเดียวกัน บนเวทีเดียวกัน มากที่สุดเพลงหนึ่งของเมืองไทย จนชีวิตสัมพันธ์ถูกเปรียบให้เป็น “We are the world” เมืองไทย

ชีวิตสัมพันธ์ เดิมเป็นบทเพลงการกุศล ก่อนที่จะถูกนำมาเล่นเป็นเพลงเอก(เพลงปิด)ในคอนเสิร์ต เวลคัม ทู อีสานเขียว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ต่อจากนั้นก็มีการทำเป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสด คอนเสิร์ต อีสานเขียว บรรจุ 2 ม้วน(เทป)คู่ กับการรวมบทเพลงแสดงสดในคอนเสิร์ตดังกล่าวจากศิลปินเพลงเพื่อชีวิตมากมาย

ชีวิตสัมพันธ์ ถือเป็นดังเพลงชาติของบทเพลงอนุรักษ์ เพื่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า ซึ่งยังคงความอมตะ และเนื้อหายังคงมีความร่วมสมัยมาจนถึงทุกวันนี้
สืบทอดเจตนา - แอ๊ด คาราบาว



สืบทอดเจตนา” แต่งโดย “ยืนยง โอภากุล” หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม “โนพลอมแพลม” (2533) ผลงานเดี่ยวชุดที่ 4 ของน้าแอ๊ดที่มีเนื้อหาเข้มข้นด้านการอนุรักษ์และการเมือง จนเพลงส่วนหนึ่งในชุดนี้ถูกแบนจากภาครัฐ

เพลงสืบทอดเจตนา มีเนื้อหาสดุดี แด่“สืบ นาคะเสถียร” ตำนานนักอนุรักษ์ของเมืองไทย ผู้ที่แม้จะจากโลกนี้ไป 29 ปีแล้ว แต่เรื่องราวของเขายังคงอยู่ ซึ่งน้าแอ๊ดแต่งเพลงสื่อความหมายออกมาด้วยภาษาง่าย ๆ แต่สวยงาม และเห็นภาพ ถือเป็นเพลงที่ใช้เปิดเป็นหลักในงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ของทุกปี

นอกจากเพลงสืบทอดเจตนาของน้าแอ๊ดแล้วก็ยังมีเพลง “สืบ นาคะเสถียร” ของน้าหงา คาราวาน และเพลง “จากป่าแด่สืบ” ของวงทีโบน เป็นอีก 2 บทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อรำลึกแด่วีรบุรุษนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งยงคนนี้

วันนี้แม้หัวหน้าสืบจะจากไปได้ 29 ปีแล้ว แต่เรื่องราวของเขายังคงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยไปตราบนานเท่านาน


กำลังโหลดความคิดเห็น