“อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ร่วมงานสัมมนากับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ภายใต้หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมเชียงราย การแก้ปัญหาสู่ความยั่งยืน” กระตุ้นคนรุ่นใหม่ ต่อชีวิตให้ลูกหลานในอนาคต
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่กำลังก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ทำลายโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัด งานสัมมนาประจำปี 2562 ของ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมเชียงราย การแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน” ระดมแนวคิดและสร้างความตระหนักรู้ถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกวัน จากวิทยากรหลากหลายอาชีพที่มุ่งมั่นสร้างโครงการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการแก้ไข และกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้หันมาใส่ใจการใช้ชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง โดยภายในงานมีประชาชน ตลอดจนนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาเป็นจำนวนมาก ณ ศาลาแก้ว อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2562
“อาจารย์นคร พงค์น้อย กรรมการ” มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า งานสัมมนาประจำปี 2562 ของ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ต้องการเป็นกระบอกเสียงและระดมความคิดจากวิทยากรในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง อาทิ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย, ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ รักษาการหัวหน้าศูนย์วิจัยและปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในประเทศและภูมิภาค, สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินและช่างปั้นดินเผา, ครูอุทิศ สมบัติ เกษตรกรเจ้าของแม่แจ่มโมเดล มาร่วมแชร์ประสบการณ์และความรู้ในมุมมองที่แตกต่าง โดยมีการยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ให้ทุกคนหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นในทุกๆ วัน
โดยหนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมวงสัมมนา “อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ได้แสดงทัศนะถึงต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากคนไทยส่วนใหญ่ขาดสุนทรียภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างวินัยในการใช้ชีวิตอย่างรุนแรง
“สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ของเมืองเรา ต่อให้งดงามมากแค่ไหนก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมสกปรกก็จบ วัดร่องขุ่นต่อให้งดงามขนาดไหนก็ตาม ถ้าเต็มไปด้วยขยะที่คนมาทิ้งในวัดก็จะทำให้เกิดภาพที่ไม่น่ามอง ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้เกิดสุนทรียภาพที่สะอาดตา เวลาเราเข้าไปสถานที่ใดแล้วสะอาดไม่เห็นขยะ ดังนั้น ความสะอาด คือ สวย คือ สุนทรียภาพหรือการสร้างวินัยที่คนไทยไม่มี เกิดจากความบอดทางสุนทรียภาพ จึงสามารถมองเห็นขยะที่ไม่มีความสวยเป็นเรื่องธรรมดาได้ ดังนั้น ถ้าเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ ต้องปลูกฝังให้มีการเรียนวิชาสุนทรียภาพเพื่อทำให้คนเป็นคนดี มีศีลธรรม ประเทศและธรรมชาติก็จะงดงามตามมา ดังนั้นในแง่ของศิลปะจึงมองว่าเราควรเริ่มจากสุนทรียภาพหรือการสร้างวินัยที่ตัวเราเองก่อน”
“วิทิตนันท์ โรจนพานิช” นักปีนเขาระดับโลกและคนไทยคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ได้เล่าถึงการใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมและได้เห็นธรรมชาติที่เต็มไปด้วย ไมโครพลาสติก หลังจากมีเหล่านักปืนเขาจำนวนมากขึ้นไปบนจุดที่สูงที่สุดของโลกแต่กลับทิ้งเศษขยะไว้ว่า…
“การไปปืนเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย ทำให้เห็นว่าจำนวนคนมากมายที่ขึ้นไปบนนั้นทำให้เกิดกองขยะและไมโครพลาสติกปลิวไปตามลม ไม่ก็ไหลลงมาตามสายน้ำจากบนภูเขาลงมายังแม่น้ำและทะเลที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งความจริงพลาสติกไม่ใช่ต้นเหตุ แต่การไม่เข้าใจในการใช้พลาสติกต่างหากที่เป็นต้นเหตุ จากข้อมูลที่ค้นพบน่าตกใจมากว่าโลกเราเหลือเวลาอีกแค่ 11 ปีครึ่งที่จะกอบกู้วิกฤตขยะในแม่น้ำ ทะเล มลพิษจากการเผาไหม้ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการกระทำของคนในโลก ถ้าไม่ช่วยกันทำให้ทะเลกลับไปเป็นเหมือนเดิม ปี 2050 โลกจะเต็มไปด้วยโรคร้าย การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้นก็สายเกินกว่าที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้”
“ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี” วิศวกรสิ่งแวดล้อมอาวุโส มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเราทุกคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเร่งด่วน
“เพราะพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้โลกร้อน ดังนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงมีเป้าหมายในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทาง ใช้น้อย คือ ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และ ปล่อยน้อย คือลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม จึงเกิดนโยบายการจัดการขยะจากต้นทาง เริ่มจากการลดปริมาณขยะ เพื่อลดปัญหามลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการกำจัดของเสียโดยวิธีการฝังกลบและเผาทิ้ง โดยโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งปริมาณขยะที่ไปสู่บ่อฝังกลบลดลงเรื่อยๆ จนในปี 2561 เราสามารถจัดการจนไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบได้ทั้งหมด หรือเรียกว่า Zero Waste to Land Fill (ซีโร่ เวสต์ ทู แลนด์ฟิล) วิธีการจัดการกับขยะ 6 ประเภท ได้แก่ ขยะย่อยสลาย, ขยะขายได้, ขยะเปื้อน, ขยะพลังงาน, ขยะอันตราย และขยะห้องน้ำ โดยยึดหลัก 4R : Reduce(รีดิว), Reuse(รียูส), Repair(รีแพร์), Recycle(รีไซเคิล) ลด งด ใช้ ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและเน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เราแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างศูนย์แยกขยะและพยายามทำอย่างต่อเนื่องทุกปี อบรมพนักงานและคนในพื้นที่ให้มาดูงานของเราเพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่าทำไมต้องแยกขยะ และพยายามขยายผลไปยังที่ต่างๆ ให้เข้าใจเข้าถึงได้มากขึ้น”
“พญ.วรรัตน อิ่มสงวน” อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้พูดถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับมนุษย์เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกวันและภัยที่มองไม่เห็นด้วยตาแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเรา
“ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กลายเป็นปัญหาระดับประเทศที่ผ่านมาและยังคงน่ากลัว แม้กระแสจะเริ่มหายไป แต่ฝุ่นเหล่านี้ยังคงเป็นภัยร้ายแรง ส่งผลให้ในระยะสั้นคือ มีอาการแสบและอักเสบตามอวัยวะต่างๆ แต่ภัยระยะยาวคือ ฝุ่นจะผ่านผิวหนังและเข้าไปในหลอดเลือดส่งผลกระทบไปทั่วร่างกายและจะคงอยู่ในร่างกายของเราไปตลอดอายุขัย ดังนั้น เราต้องเริ่มช่วยกันอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้”