xs
xsm
sm
md
lg

12 บทเพลงแด่แม่ผู้ยิ่งใหญ่ สุดไพเราะ ซาบซึ้ง กินใจ...ฟังแล้วร้องไห้หนักมาก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พระคุณแม่ที่มีต่อลูก
12 สิงหาคม เป็น“วันแม่แห่งชาติ” โดยถือตามวันเสด็จพระราชสมภพของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นประจำของทุกปีในระยะหลังๆ พอถึงช่วงเดือนวันแม่แห่งชาติ เราจะได้ยินบทเพลงอันไพเราะบอกกล่าวสดุดีแด่พระคุณแม่ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งยอมเสียสละทำเพื่อลูกๆของตัวเองที่เป็นดังแก้วตาดวงใจ

และนี่ก็คือ 12 เพลงแด่แม่ผู้ยิ่งใหญ่ กับเนื้อหาอันไพเราะกินใจ บางเพลงฟังแล้วสุดซาบซึ้งจนผู้ฟังถึงกับน้ำตาคลอหรือไม่ก็ร้องไห้น้ำตกแตกอย่างไม่อายใคร

สำหรับ 12 บทเพลงไพเราะซาบซึ้งแด่คุณแม่ในบทความนี้ ผมขอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเพลง 1-6 เป็น 6 เพลงที่พูดถึงแม่แต่ไม่มีคำว่าแม่อยู่ในบทเพลง กับส่วนหลังเพลง 7-12 เป็น 6 เพลงแด่แม่ที่มีคำว่าแม่อยู่ในบทเพลง ซึ่งขอเปิดประเดิมกันด้วย
ค่าน้ำนม


1.“ค่าน้ำนม”...บทเพลงที่พูดถึงพระคุณแม่อันสุดคลาสสิกเป็นที่รู้จักคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพลงนี้มีอายุกว่า 60 ปีแล้ว แต่งโดยครู“ไพบูลย์ บุตรขัน” หนึ่งในสุดยอดนักแต่งเพลงอัจฉริยะของเมืองไทย

เพลงค่าน้ำนมบันทึกเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 โดยมี“ชาญ เย็นแข” เป็นผู้ขับข้องถ่ายทอดออกมาได้อย่างลึกซึ้งกินใจ และได้รับคำชมมากมาย หลังจากนั้นเพลงค่าน้ำนมก็ได้กลายเป็นเพลงประจำวันแม่ ที่มีการนำไปขับร้องกันมากมาย รวมถึงเป็นเพลงที่ตามโรงเรียนมักจะให้เด็กๆร้องเมื่อถึงช่วงเทศกาลวันแม่ของทุกปี กับเนื้อหาภาษาอันสวยงามกล่าวถึงค่าน้ำนมและพระคุณของแม่อันสุดซาบซึ้งกินใจที่ใครหลายๆคนฟังแล้วเป็นต้องน้ำตาคลอหน่วย
ใครหนอ


2. “ใครหนอ”...เป็นอีกหนึ่งบทเพลงแด่แม่(และพ่อ)อันสุดคลาสสิก เพลงนี้แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2498โดยครู“สุรพล โทณะวณิก”(ศิลปินแห่งชาติปี 40) ผู้ที่แม้จะกำพร้าพ่อ-แม่ ตั้งแต่เด็ก แต่กับสามารถแต่งเพลงใครหนอออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นภาษากวีอันงดงาม มีท่วงทำนองสวยงาม และสื่อสัญลักษณ์ได้อย่างชัดเจน

สำหรับผู้ที่ขับร้องเพลงใครหนอเป็นคนแรกคือ “สวลี ผกาพันธ์” ยอดนักร้องดังในยุคนั้น กับน้ำเสียงอันหวานซึ้งถึงอารมณ์ และดนตรีฟังกระฉับกระเฉงติดกลิ่นแจ๊ซฟังรื่นหู นับเป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่พูดถึงบุพการีอันอมตะที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน
สู่อ้อมอกดิน


3.“สู่อ้อมอกดิน”...เพลงเก่าของวง“ดิอิมพอสซิเบิ้ล” จากอัลบั้ม“หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม” แต่งคำร้อง/ทำนอง โดย “ประดิษฐ์ อุตตะมัง” ท่วงทำนองเพลงนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงต่างประเทศ(Danny Boy) เพลงสู่อ้อมอกดินขับร้องโดย “อาต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา” ศิลปินแห่งชาติปี 54

เพลงสู่อ้อมอกดินมาในแนวสโลว์โซล ดนตรีละเมียดละไม ใช้ภาษาอันสวยงาม เนื้อหาพูดถึงการกลับคืนสู่บ้านเกิดหลังจากวงดิอิมฯเดินทางไปเล่นดนตรีที่เมืองนอกมาเป็นปี เพลงนี้พูดถึงแม่และแผ่นดินแม่ได้อย่างไพเราะซาบซึ้งใจนัก

เพลงนี้เด็กสมัยนี้คงไม่รู้จัก แต่นี่เป็นเพลงดังในอดีตที่ในช่วงวันแม่มักถูกหยิบขึ้นมาเปิดอยู่บ่อยครั้ง
อิ่มอุ่น


4.“อิ่มอุ่น”...บทเพลงกลางเก่าที่ยังคงมีความร่วมสมัยอยู่ เพราะถูกเปิดบ่อยครั้งในช่วงวันแม่หรือเกี่ยวกับกิจกรรมที่พูดถึงแม่ในยุคนี้ พ.ศ.นี้อยู่เสมอ

เพลงอิ่มอุ่นแต่งโดย“พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง” ซึ่งตามบันทึกระบุว่า พี่จุ้ยแต่งขึ้นตามคำขอของอาจารย์หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยพยาบาลหัวหน้าของพี่สาวพี่จุ้ยได้ทำโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงขอให้พี่จุ้ยช่วยแต่งเพลงให้ เนื่องจากเห็นว่าเมื่อแม่ให้นมลูกจะต้องตระกองกอดแล้วช้อนตัวลูกขึ้นมาให้นม ซึ่งไม่ได้เพียงทำให้ “อิ่ม” อย่างเดียว แต่ยังทำให้ “อุ่น” อีกด้วย

เพลงอิ่มอุ่นอยู่ในอัลบั้ม“รับแขก”(ปี 2537) อัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 5 ของพี่จุ้ยที่ทำร่วมกับ“คณะศิษย์สะดือ” อัลบั้มชุดรับแขกมีเพลงเด่นๆ อย่าง “ดอกไม้”, “รักงอมแงม”, “อนึ่งให้คิดถึงพอสังเขป” และ อิ่มอุ่นที่ตอนหลังกลายมาเป็นหนึ่งในเพลงคลาสสิกของพี่จุ้ย

อิ่มอุ่นเวอร์ชั่นต้นฉบับ เป็นเสียงร้องของผู้หญิงขับร้องโดย “กาเหว่า ไทละเมอ” หรือ “ชลลดา เตียวสุวรรณ” (เจ้าของนามปากกา“เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย”) ต่อมาพี่จุ้ยได้นำมาทำใหม่ ร้องใหม่ในเวอร์ชั่นต่างๆจนกลายเป็นเพลงประจำตัวของพี่จุ้ย นอกจากนี้พี่จุ้ยยังนำชื่อเพลงไปตั้งเป็นชื่อร้านอาหารซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
กราบดิน


5.“กราบดิน”...อยู่ในอัลบั้มชุดสุดท้ายของวงแคลช(Nine Miss U2)ก่อนที่สมาชิกแต่ละคนจะแยกทางกันไป เพลงกราบดินแต่งโดย“ฟองเบียร์”(ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม)หนึ่งในยอดนักแต่งเพลงแห่งยุคสมัย ขับร้องโดย“พี่แบงค์ วงแคลช- ปรีติ บารมีอนันต์”

เพลงกราบดินมีท่วงทำนองที่ไพเราะเศร้าซึ้ง มีเสียงไวโอลินเศร้าๆสีคลอเดินเรื่องเคียงตลอดกับเนื้อหา การรำลึกถึงพระคุณแม่ผู้จากโลกนี้ไป ซึ่งตรงกับชีวิตจริงของพี่แบงค์ที่ต้องสูญเสียแม่ไปเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เขาผู้เคยได้รับรางวัลลูกกตัญญูในปี 49 ร้องเพลงถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้อย่างเศร้าสร้อยถึงอารมณ์
ผู้หญิงที่ดีที่สุด



6.“ผู้หญิงที่ดีที่สุด” บทเพลงซาบซึ้ง สรรเสริญพระคุณแม่จาก “ใบมินท์ แตรตุลาการ” ซึ่งเธอได้เขียนบอกเล่าเอาไว้ว่า

...เพลงพิเศษสำหรับผู้หญิงหนึ่งคนที่ถูกรักมากที่สุด สำหรับผู้หญิงทุกคนที่ถูกเรียกว่าแม่ สำหรับวันแม่ที่กำลังจะมาถึง และสำหรับลูกๆทุกคนที่รักแม่

แรงบันดาลใจและความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดออกมาในเพลงนี้ ออกมาจากความรักและความอบอุ่นที่ได้รับมาตลอดภายใต้ลมหายใจที่มีอยู่ของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่คอยดูแล สร้างสรรค์ให้คนเป็นคน ให้โอกาส และสิ่งดีๆทุกๆอย่างกับชีวิต เพลงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่น้อยที่สุดที่ลูกคนหนึ่งพอจะทำได้ แค่อยากให้เพลงนี้แทนคำหนึ่งคำที่อยากจะบอกแม่ว่า "รักแม่"

ขอมอบเพลงนี้ให้กับ "ผู้หญิงที่ดีที่สุด" ทุกคน...
แม่


7. “แม่” - พี่ปู : พงษ์สิทธิ์ คำภีร์...เพลง“แม่”ของพี่ปูมีชื่อเพลงซ้ำกันใน 2 อัลบั้ม คือ“แม่” ในอัลบั้ม “บันทึกการเดินทาง” และ“แม่” ในอัลบั้ม“สมชายดี”

สำหรับเพลงแม่ที่ผมจะพูดถึงนี้เป็นเพลงแม่ในอัลบั้มบันทึกการเดินทาง(2534)อัลบั้มชุดที่ 3 ของพี่ปู ที่มีเพลงดังอย่าง “คิดถึง”,“โรงเรียนของหนู”, “ผีโรงเย็น” และเพลง“แม่” ที่เนื้อเพลงถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาง่ายๆตรงไปตรงมาตามสไตล์ถนัดของพี่ปู พูดถึงความเศร้ารันทดของแม่ที่ถูกลูกทอดทิ้งให้แม่อยู่อย่างเหงาๆโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่แม่ก็ยังเฝ้าคอย เฝ้ารอลูกกลับมา และที่สำคัญคือแม่ยังคงรักลูกอยู่เสมอ

เพลงนี้เศร้าไม่น้อยแต่หากใครได้ดู MV เวอร์ชั่นหนึ่งจะยิ่งพลอยเศร้าหนักเข้าไปอีกชนิดต่อมน้ำตาแตกเอาได้ง่ายๆ
แม่


8. “แม่”-โลโซ...เป็นเพลงในยุคแรกๆของพี่เสก โลโซ ที่ตอนนั้นแกยังไม่ได้หลุดโลกไปไกลอย่างทุกวันนี้

เพลงแม่อยู่ในอัลบั้ม “Entertainment”(2541) อัลบั้มที่ดังมากของวงโลโซและสร้างชื่อเต็มๆให้กับวงโลโซและพี่เสก กับบทเพลงดังๆ อย่าง “อะไรก็ยอม”, “ซมซาน” รวมถึงเพลงแม่ที่เป็นอีกหนึ่งเพลงเด่น

เพลงนี้เป็นเพลงเศร้าซึ้ง รำพึงรำพันถึงความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างของลูกที่จากบ้านมาไกล ทั้งคิดถึงบ้าน คิดถึงแม่คราใด โดยเฉพาะเวลาคิดถึงแม่คราใดเป็นต้องน้ำตาไหล ก่อนที่เพลงในท่อนสุดท้ายจะโยงความคิดถึงแม่ไปผูกโยงกับการความรักที่ถูกบางคนทอดทิ้ง
หนึ่งเดียวคือแม่


9. “หนึ่งเดียวคือแม่”...บทเพลงเก่าถูกแต่งมานานเป็นสิบปีแล้ว ก่อนที่เพลงนี้จะถูกนำมาขับร้องใหม่ใช้ประกอบละคร “ทองเนื้อเก้า” ที่ออกอากาศทางช่อง 3 มีนุ่น-วรนุช เป็นดารานำ(ลำยอง)

เพลงหนึ่งเดียวคือแม่ ประพันธ์เนื้อร้องโดย “อ.ดวงใจ สุริยา” ส่วนทำนองนำมาจากทำนองเพลงไทยเดิมคือ“ลาวเสี่ยงเทียน” บทเพลงต้นฉบับแรกเริ่มขับร้องโดย“พลอย พรรณนาราย”ในแบบดนตรีลูกทุ่ง ขณะที่ในเวอร์ชั่นประกอบละครทองเนื้อเก้านั้นขับร้องโดย “นันทนา พงษ์ปฐม

หนึ่งเดียวคือแม่ เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่กล่าวถึงพระคุณแม่ได้อย่างซาบซึ้งกินใจนัก เนื้อเพลงบอกเล่าบุญคุณแม่ตั้งแต่เริ่มอุ้มท้อง คลอดลูกมา อดทนลำบากเลี้ยงดูลูก ก่อนที่ท่อนหลังของเพลงจะจบด้วยเนื้อหาเตือนใจ เราต้องไม่ทอดทิ้งท่านยามแก่ชรา และต้องตอบแทนบุญคุณของท่าน เพราะพระคุณแม่นั้นมีล้นเหลืออนันต์

เพลงนี้หลังถูกใช้ประกอบละครทองเนื้อเก้าก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีการเปิดบ่อยครั้งในช่วงวันแม่รวมถึงมีเด็กๆเยาวชนนำไปขับร้องประกวดในวันแม่และในโอกาสอื่นๆอีกหลากหลายด้วยกัน
เรารักแม่


10. “เรารักแม่”-เป็นเพลงรวมศิลปินจากค่ายอาร์เอสในปี 2549 นำโดยพี่โป่ง หินเหล็กไฟ,ปาน ธนพร ร่วมด้วย ดัง พันกร,วิด ไฮเปอร์,แคลีน,อั้ม,มด,หวิว,เบน แต่งเนื้อร้อง สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา ทำนอง วุฒิชัย สมบัติจินดา และเรียบเรียงโดย อนุชา อรรจนาวัฒน์

เรารักแม่เป็นบทเพลงที่ลูกพูดถึงบุญคุณของแม่และความรักที่ลูกมีต่อแม่ ซึ่งเป็นบทเพลงร่วมสมัย ใช้ภาษาในแบบสมัยใหม่ แต่ก็ฟังไพเราะกินใจ นอกจากนี้ยังมี MV ที่นำแสดงโดย “ใบเฟิร์น - พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์” ที่ดูแล้วทำให้ใครหลายๆคนต่อมน้ำตาแตกเอาได้ง่ายๆ
ก่อนไม่มีแม่ให้กอด


11. “ก่อนไม่มีแม่ให้กอด”-อีกหนึ่งบทเพลงไพเราะจาก “ปาน-ธนพร แวกประยูร”(มีเวอร์ชั่นที่โบวี่นำมาร้องด้วย) ที่อยู่ในอัลบั้ม “เพราะเราคู่กัน” ในปี 2548 ปีเดียวกับที่ออกอัลบั้มหนุ่มบาว-สาวปานอันโด่งดังสุดๆ

เพลงก่อนไม่มีแม่ให้กอด พูดถึงบุญคุณของแม่ก่อนชวนกอดคุณแม่แบบไม่ต้องอาย ก่อนที่จะไม่มีแม่ให้กอด เพลงนี้ไม่เศร้าแต่ฟังแล้วกินใจและอิ่มใจ
ผู้หญิงคนนี้ชื่อแม่



12. “ผู้หญิงคนนี้ชื่อแม่”- บทเพลงและ MV สุดเศร้าจาก “ปาล ประกาศิต อาร์ สยาม” แต่งขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริง เล่าเรื่องแม่ผู้ยากไร้แต่ยอมทำได้ทุกอย่างเพื่อลูก แต่สุดท้ายลูก(เลว)ก็ทิ้งแม่ไป ทำให้แม่ตรอมใจจนกลายเป็นคนวิกลจริต แล้วหันไปเลี้ยงลูกหมาแทนด้วยความรักทะนุถนอมด้วยความที่คิดว่าเป็นลูกในไส้ ซึ่ง ปาลได้เขียนบอกเล่าเอาไว้ว่า

“ผมเขียนเพลงนี้จากเรื่องจริง คือผมชอบไปนั่งเขียนเพลงอยู่ที่ร้านกาแฟแห่งหนึงเป็นประจำ แล้วมักจะเห็นหญิงชราคนนึงเดินคุ้ยถังขยะอยู่แถวๆนั้น ชาวบ้านมักเรียกแกว่า “ยายบ้า” ไม่มีใครรู้ว่าแกเป็นใครมาจากไหน รู้แค่แกมาตามหาลูก และภาพที่ผมสะท้อนใจที่สุด คือเห็นแกเดินไปอุ้มลูกหมามาไว้แนบอก แล้วให้ลูกหมาดูดนมของแก ทำให้ผมคิดว่าแกคงมีเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับลูกที่กระทบกระเทือนจิตใจแกมากๆ ทำให้แกมีสภาพเป็นแบบนี้ ผมจึงลงมือเขียนเพลงนี้ ณ ตรงนั้นทันที พร้อมกับน้ำตาที่หยดลงไปบนกระดาษที่ผมใช้เขียนเพลง และทุกครั้งที่ผมร้องเพลงนี้ผมก็จะน้ำตาซึมทุกครั้ง”

ครับและนั่นก็เป็น 12 บทเพลงแด่แม่ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ล้วนต่างมีความไพเราะ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวพระคุณแม่ ความรักที่แม่มีต่อลูก ได้อย่างซาบซึ้งกินใจ ไล่มาตั้งแต่ยุคอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งถึงยังไงแม่ก็ยังเป็นแม่ยังคงรักลูกดังแก้วตาดวงใจอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นลูกก็ต้องรักและตอบแทนพระคุณของแม่ ซึ่งไม่เฉพาะแค่ช่วงวันแม่เท่านั้น

หากแต่เป็นทุกวัน ทุกเวลา

...และตลอดไป


กำลังโหลดความคิดเห็น