ผู้ประกาศข่าวสาวสวยมากความสามารถจากช่อง PPTV "ตูน ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ" อดีตแอร์โฮสเตสสายการบินไทยที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกาศข่าวที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง และต้องบอกว่าเธอเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่หลายๆ คนที่อยากทำในอาชีพที่ใฝ่ฝันแม้ว่าจะไม่ได้เรียนจบมาตรงสายก็ตาม
"ตูน ปรินดา" เล่าว่า เธอเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ เอกภาคการประชาสัมพันธ์ โทภาพโฆษณาและวาทวิทยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นแอร์โฮสเตสหรือผู้ประกาศข่าวแต่อย่างใด แต่มีความชอบและใฝ่ฝัน พร้อมทั้งอยากพิสูจน์ให้ทางบ้านได้เห็นว่านี่แหละคือสิ่งที่ใช่ที่สุดสำหรับเธอ
ซึ่งหากใครที่เป็นแฟน PPTV ก็ต้องคุ้นหน้าคุ้นเสียง "ตูน" ได้ดี เพราะ "ตูน" เป็นผู้ประกาศข่าวในช่วง "โชว์ข่าวเช้านี้" ตั้งแต่เวลา 05.30 - 08.00 น. และรอชม "ตูน" ให้เต็มตาเต็มอิ่มในช่วง "โชว์ข่าว 36" ข่าวรูปแบบใหม่ จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-09.00 น.
"จากเมื่อก่อนอ่านช่วงค่ำ ตอนนี้ก็มาอ่านข่าวเช้าเป็นหลัก จะมีสองรายการ รายการแรก คือโชว์ข่าวเช้านี้ ตั้งแต่ 05.30 - 08.00 น. ก็จะเป็นรายการเล่าข่าวฟังเข้าใจง่าย และต่อกันเลยคือรายการ โชว์ข่าว 36 รายการนี้จะเข้มข้นมากขึ้น ก็จะเลือกประเด็นหนักๆ อาจจะสองประเด็นสามประเด็นเอามาขยี้เพื่อต่อยอดประเด็น"
"ท้าทายมั้ย ต้องบอกว่าท้าทายมาก เพราะเราก็รับรู้ถึงความคาดหวังของผู้บริหาร (หัวเราะ) ก็ท้าทายและก็กดดันดี"
ดึง "ตูน ปรินดา" นั่งข่าวเช้า หวังดึงเรตติ้งผู้ชม
"อย่างที่รู้กันว่าข่าวเช้ามันเป็นอะไรที่มีความแข็งขันสูง ซึ่งถ้าเราสังเกตุผังรายการของแต่ละช่องในช่วงเย็นหรือค่ำ แต่ละช่องจะมีข่าวเย็นที่สลับเวลากัน บางช่องมาเร็วเพื่อหลีกทางให้ละคร บางช่องข่าวมาดึกเลย เพราะฉะนั้นข่าวเย็นมันจะมีความหลากหลายมาก"
"แต่ข่าวเช้าทุกคนเริ่มเวลาใกล้เคียงกันหมด ทำให้ความแข่งขันสูง แล้วจริตของข่าวเช้า คือข่าวอาชญากรรม เป็นข่าวที่ขายดีมาก แต่เนื่องจากทาง PPTV เลือกที่จะทำข่าวแบบไม่อยากทำร้ายสังคม ก็ทำให้ภาพข่าวอาชญากรรมที่คนอื่นเล่น แบบรถชนคนกระเด็นตายขาขาด คนดูก็ได้เห็นภาพชัดเจน แต่ของเราไม่เล่นแบบนั้นเราเบลอภาพรุนแรงหมด ตรงนี้ก็เป็นโจทย์หนักเหมือนกันว่าเราจะดึงเรตติ้งยังไง"
"เรตติ้งเขาตั้งไว้เท่าไหร่ อันนี้ไม่ทราบเลย อาจจะไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เรารู้ถึงความคาดหวังของผู้ใหญ่ (หัวเราะ) ถามว่าเราจะไปถึงเรตติ้งที่เขาตั้งไว้มั้ย คือเราทำรายการมาก็เห็นเรตติ้งพอสมควรโดยธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ ถ้าถามเรื่องเรตติ้งตัวเราเองไม่ได้รีบ คือธรรมชาติรายการเราต้องปรับจูนกว่าจะได้จุดที่ลงตัวต้องใช้เวลา อย่าง เข้มข่าวค่ำ ใช้เวลา 5 ปี กว่าจะปรับให้คนดูหันมาติดเมื่อ 2 ปีหลัง เพราะฉะนั้นรายการนี้ยังไม่ถึงเดือนเลย ก็ค่อยๆ ดูค่อยๆ จับทางไปดีกว่า"
ไม่ได้แค่สวย เพราะมีดีที่ความสามารถ
หลายคนอาจจะคิดเองเออเอง ว่าผู้ประกาศข่าวแค่มานั่งๆ อ่านๆ ข่าวก็จบกันไป แต่กว่าจะได้มาเป็นผู้ประกาศข่าวเพื่อถ่ายทอดข่าวน่ารู้ ที่อยากรู้และต้องรู้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน "ตูน" ผู้ประกาศข่าวมหาเสน่ห์แห่ง PPTV กว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าวได้ เธอบอกว่าต้องมีความมุ่งมั่นขยันเกินร้อย และยอมเสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่อเต็มที่กับงาน
"เริ่มอ่านข่าวครั้งแรกอายุ 26 ปี ผ่านไป 7 ปี กับวงการผู้ประกาศข่าว บอกเลยว่าชีวิตเราแลกอะไรมาเยอะเหมือนกัน จริงๆ วันนี้ถ้าเกิดจะแนะนำคนที่จะเข้ามาในวงการนี้ ก็จะบอกว่าให้คิดให้ดีๆ เพราะมันมีอะไรที่เราต้องแลกเยอะมาก เราพร้อมมั้ยที่จะแลก ชีวิตส่วนตัวหาย เวลาการทำงานเราไม่เหมือนคนอื่น หลายคนมองว่าอ่านข่าวเสร็จแล้วก็ว่าง แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เลย เวลาที่เราว่างเราทำงานอยู่ตลอดเวลา คือถ้าเป็นคนที่ติดตามข่าวจริงๆ จะหนีไปจากข่าวไม่ได้เลย เพราะรู้สึกว่าเราต้องตื่นตัวอยู่ตลอด ทำให้ชีวิตส่วนตัวเราหายไปพอสมควร ถึงบอกว่ามันมีอะไรที่ต้องแลก"
"ทุกวันนี้คนดูข่าวเป็นคนเก่งฉลาดกว่าเราเยอะ บางคนที่รู้ข้อมูลเยอะมาก ดังนั้นการจะมาถึงสถานีแต่งตัวสวย หยิบสคริปขึ้นมาอ่าน มันทำไม่ได้อีกต่อไป คนดูเดี๋ยวนี้เก่งกว่าเราเยอะ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยเราต้องรู้ให้เท่าเขา ซึ่งการจะทำได้แบบนั้นอย่างที่บอกไปว่ามันไม่ง่ายเราต้องติดตามข่าวสารเยอะมาก แล้วแต่ละเรื่องที่คุยต้องลงประเด็นลึกๆ ให้ได้ เรารูสึกว่าต้องแลกกับเวลา แลกกับชีวิตส่วนตัวบ้างด้านที่เราต้องยอมเสียสละ เพื่อมาทำงานตรงนี้ให้มันดี ถามว่าไม่ทำแบบนี้ได้มั้ย ก็ได้แต่มันไม่ยั่งยืนเพราะสุดท้ายแล้ว งานผู้ประกาศข่าวต้องเป็นคนที่รู้จริงเท่านั้น"
"จะบอกว่าอาชีพนี้ไม่มีคนเก่งหรอก มีแต่คนตั้งใจ มีแต่คนทำการบ้านทุกวัน คนที่เราเห็นเขาเก่งๆ พี่ๆ ผู้ประกาศข่าวรุ่นใหญ่เขาทำการบ้านหนักมาก การที่ไปยืนอ่านสคลิปที่คนทำไว้ให้มันไม่ได้ มันคนละโลกกับสิ่งที่เราเห็นเลย"
ความประทับใจแรกที่นั่งแท่นผู้ประกาศข่าว
"วันแรกที่เดินทางสายนี้ ตื่นเต้นมาก มีจังหวะหนึ่งที่เรารู้สึกประทับใจมาถึงทุกวันนี้ คือการที่เราเริ่มอ่านข่าว เราเข้าไปที่ช่อง 5 ประมาณเดือนแรก เขาก็ให้เราสังเกตุการทำงานของรุ่นพี่ ไปหมายสภา ตอนนั้นก็ยังไม่รู้สึกเท่าไหร่เพราะเราเป็นคนดู และก่อนจะอ่านข่าวจริงครั้งแรกมันมีงานเลี้ยงที่ช่อง 5 ก็จะมีพี่ๆ ผู้ประกาศข่าวมา แล้วเรารู้สึกเราอยู่ตรงนี้แล้วจริงๆ หรอ เรามาปราตี้กับพี่ๆ ผู้ประกาศข่าว นี่คือจังหวะแรกที่เรารู้สึกว่าเราอยู่ตรงนี้แล้วจริงๆ"
"จังหวะที่สอง คือวันที่อ่านข่าววันแรก จำได้ว่าตื่นเต้นมากๆ โดยปกติเราเป็นคนที่พูดเก่ง จับไมค์เป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนั้นเป็นการจับไมค์ออกทีวีครั้งแรก จำได้ว่ารู้สึกชาไปหมดเหมือนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตไปเลย"
ความรู้สึกตอนยังไม่ได้เป็นผู้ประกาศข่าว กับตอนเป็นผู้ประกาศข่าวแล้ว ต่างกันยังไง
"ก่อนเป็นก็รู้สึกว่าไม่น่ายาก แต่พอได้ไปทำงานตรงนี้รู้สึกยาก คือการเป็นผู้ประกาศข่าวไม่ยากหรอก แต่การเป็นผู้ประกาศข่าวที่ดียาก ใช้ความอดทน ความพยายาม จิตใจก็ต้องเข้มแข็ง"
รางวัลไหนภูมิใจที่สุดสำหรับการเป็นผู้ประกาศข่าว
"อาจจะฟังดูนางเอก แต่รางวัลที่สำคัญที่สุด คือการที่คนดูจดจำเราได้และดูเราทุกวัน มีคนที่ดูข่าวเราเขาส่งข้อความบอกมาเราทางไอจีว่าอยากให้ลูกเขาเป็นแบบเรา อันนี้ถือเป็นรางวัลสูงสุดจริงๆ นะ สูงสุดมากกว่าที่ใครจะมาให้อะไรเรา อันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในงานจริงๆ"
"ส่วนรางวัลแรกที่ได้คือ รางวัลเทพทองพระราชทาน ครั้งที่ 14 และความอลังการเพราะจัดในวัง ต้องรับจากองคมนตรี ตื่นเต้นมากกลัวไปถอนสายบัวแล้วจะไปล้มใส่ท่าน ก็ภูมิใจ มันก็เป็นเกียรติกับชีวิตการทำงาน"
เห็นสนุกสนานกับงานผู้ประกาศข่าว แต่ใครจะรู้ว่าเธอก็มีช่วงที่ท้อจนคิดอยากออกจากงาน
"โอ้ย..หลายรอบ มันมาจากหลายปัจจัย มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ร้องไห้ทุกวันเป็นเดือนๆ ท้อจนถึงขั้นตัดสินใจคิดอยากจะลาออก แต่ก็จะมีรุ่นพี่บ้างคนบอกเราว่าแกอย่าลาออกเพราะเรื่องเพื่อนร่วมงานเลย ก็มีบ้างเนอะอารมณ์อ่อนไหว ก็ต้องขอบคุณครอบครัวเรา ขอบคุณเพื่อนสนิทเรา พี่ๆ เพื่อนร่วมงานหลายๆคนที่ช่วยให้กำลังใจ"
แอร์โฮสเตท สู่ ผู้ประกาศ
นอกจากนี้อดีตแอร์โฮสเตสสาวเล่าถึงการได้มาเป็นผู้ประกาศข่าวว่า ทำงานแอร์โฮสเตสไปได้ประมาณ 2 ปีครึ่ง ก็เป็นช่วงที่ช่อง 5 มีโครงการรับสมัครผู้ประกาศข่าว ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความใฝ่ฝันที่อยากทำและไม่อยากพลาดโอกาส ครั้งนั้นจึงมาสมัครสอบด้วยการผ่านเข้ารอบสุดท้าย แต่ผู้ประกาศไม่ได้ง่ายๆ จาก 1000 คน เหลือ 1 คน
"จุดเริ่มต้นย้อนกลับไปตอนเด็กๆ อยู่โรงเรียนไหน มหาวิทยาลัยไหนก็ตาม จะเป็นนักพูดของที่นั้นเสมอ เป็นคนช่างพูดช่างเจรจาตั้งแต่เด็กไม่รู้ทำไม พอมาอยู่มหาลัยก็เป็นพิธีกรตลอด มีช่วงหนึ่งที่ไปอยู่การบินไทยก็เป็นพิธีกรให้กับการบินไทย ก็ไม่รู้เหมือนกันคนอื่นเขาเห็นอะไรในตัวเรา"
"จุดเปลี่ยนจากแอร์ คือเราคิดว่าการเป็นแอร์เป็นลูกเรือเป็นงานที่เราอยู่ไม่ได้ไปตลอดชีวิต เพราะเราเป็นคนปรับเวลาเรื่องการนอนยาก เรารู้สึกว่าเราทำแบบนี้ในระยะยาวไม่ได้แน่ๆ อายุน้อยเรายังไม่ได้เลย พออายุมากขึ้นเราคงลำบาก ก็เลยตัดสินใจเริ่มมองหาอาชีพอื่น"
"พอดีมีเพื่อนสนิทคนนึงตั้งแต่เด็กเลย เขาบอกเราว่าเขาเห็นเราอยากเป็นผู้ประกาศข่าว ตอนนั้นช่อง 5 เขาเปิดรับสมัครอยู่ เราก็เลยไปลองดู ก็ไม่คิดอะไรเพราะตอนนั้นเตรียมตัวจะเรียนต่อปริญญาโทด้วยซ้ำ ก็ไปสอบดูแล้วกันเป็นสนามแรกเพราะไม่เคยเลย คนมาสอบเป็นพันกว่าคน ก็ยังไม่ทันคิดว่าจะเปลี่ยนจากแอร์เป็นผู้ประกาศข่าว แค่ลองไปสอบดูสนุกๆ"
จากผู้สมัคร 1 พัน คน รับผู้ประกาศข่าวเพียง 1 ตำแหน่ง
"ตอนเป็นแอร์ก็เหมือนกัน ตอนนั้นก็ไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นแอร์ แต่เราเป็นคนที่ทำงานมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน ตอนนั้นเรียนนิเทศศาสตร์ ก็ทำงาน มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น ทำงานมาตลอด จนมาถึงจุดหนึ่งเพื่อนเราที่นิเทศจุฬาทั้งกลุ่มไปลองสอบเป็นแอร์ แล้วเราคิดในใจว่าเราคงต้องไปแล้วแหละ (หัวเราะ) ถ้าไม่ไปคงผิดปกติมาก ปรากฏที่ไปสอบแอร์ทั้งกลุ่มมีเราคนเดียวที่สอบติด ก็เลยคิดว่าลองทำก็ได้ เพราะเราทำมาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น มาพักหนึ่ง และรู้สึกว่ามันถึงจุดอิ่มตัว พอติดแอร์เราก็ลองดู"
"พอไปลองเป็นแอร์ดูช่วงนั้นสนุกบินไปหลายที่ ก็ทำอยู่ประมาณ 2 ปีครึ่ง รู้สึกว่ายังสนุกอยู่แต่เราทำอาชีพนี้ระยะยาวไม่ได้ ก็เลยมาเจอเพื่อนบอกให้ลองไปสมัครดูเขาเปิดสอบอยู่ สมัยนั้นช่อง 5 จะเข้าไปทำงานทีต้องสอบ แล้วสอบมีหลายด่านมาก แล้วคนสมัครเป็นพันคน"
"เชื่อมั้ยเราไปวันแรก เราไม่ได้มีช่างแต่งหน้าทำผมไปด้วย เราก็แต่งหน้าและทำผมชิวๆ เหมือนตอนไปทำงานแอร์ ในขณะที่ทุกคนมีช่างแต่งหน้าทำผมมาพร้อม ซึ่งจำได้เลยตอนนั้น พี่มิลค์ เขมสรณ์ เป็นรุ่นพี่ที่ช่อง 5 พี่มิลค์ก็ไม่รู้เห็นอะไร เขาเห็นเรากับน้องอีกคนหนึ่ง เขาก็พยายามเชียร์เต็มที่ เชียร์ให้ บก. เขาบอกเนี่ยน้องตูนๆ แต่น้องตูนทำผมแบบไม่ดีเลย (หัวเราะ) ทำไมทำผมแบบนี้ก็ไม่รู้ เราก็เลยบอกคราวหน้าจะจ้างช่างแต่งหน้าแล้วค่ะ นี้คือจุดเริ่มต้น แล้วก็ผ่านกระบวนการสอบหลายด่านมากๆ จาก 1000 คน ตอนแรกเขาจะรับคนเดียว แต่ปรากฏว่าตอนนั้นเขาไปเพิ่มอีกหนึ่งอัตราเพื่อที่จะรับเรา ก็เลยได้น้องคนนั้นกับเรา"
ออกจากแอร์โฮสเตลที่บ้านไม่เห็นด้วย
"วันที่ออกจากการเป็นแอร์มีคนไม่เห็นด้วยกับเราเยอะมาก รวมถึงที่บ้านด้วย เพราะตอนอยู่ที่การบินไทยงานก็มั่นคงรายได้ดี แล้วมาอยู่ช่อง 5 ตอนนั้นเป็นราชการ รายได้อาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าเทียบกันแล้วที่บ้านก็บอกว่าอย่าเลย แต่ด้วยสัญชาตญาณลึกๆ ของเราบอกว่าถ้ามาทางนี้แล้วมันจะดี ไม่รู้ทำไมตอนนั้นคือมั่นมาก เงินเดือนก็น้อยกว่าที่เดิม แต่เรารู้สึกว่ามันต้องดีแน่ๆ ต้องมาทางนี้ แล้วก็มาอยู่จริงๆ"
"จังหวะแรกเงินเดือนไม่พอต้องกลับไปขอเงินแม่ใช้ (หัวเราะ) แต่เรารู้ว่าอาชีพนี้มันดีกับเรา เราก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน ตั้งใจ ปีแรกก็ยังเงินเดือนน้อยอยู่ ปลายเดือนขอเงินแม่อยู่ตลอดเวลา ถามว่าแม่บ่นมั้ย ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าทำไมแม่ถึงเชื่อใจเรามากในทุกเรื่อง แม้ว่าเราจะตัดสินใจแบบนี้แม่ก็ยอม แต่พอผ่านไปปีหนึ่งมันก็เห็นความเปลี่ยนแปลง มันเริ่มมีรายได้มากขึ้น"
"และหลังจากที่เราทำทีวีอนาล็อกมาหลายปี ก็มีการประมูลทีวีดิจิตอล มีคนชวนเราไปทำงานด้วย อาจจะเรียกว่าไม่ได้เยอะมาก แต่มีคนชวนเราไปทำงานด้วยอยู่พอสมควร เราอยู่ในจุดที่เราได้ตัดสินใจด้วยว่าเราจะไปอยู่กับที่ไหน แล้วก็มาตัดสินใจอยู่กับ PPTV จนถึงทุกวันนี้"
ก่อนจากกัน "ตูน ปรินดา" ยังให้มุมมองและข้อคิดของอาชีพสื่อมวลชนที่ดี
"อันดับแรกคือไม่ทำร้ายสังคม เพราะในปัจจุบันมีสื่อที่ทำตัวเหมือนกับเป็นแกนนำทางการเมือง เรารู้สึกใครก็ตามที่เป็นแฟนช่องนี้จะต้องเอียงตามเขาแน่นอนเพราะเขาเลือกพูด 50 คือจริงๆ เรื่องนี้มันก็เป็นโจทย์สองฝ่าย สื่อเองก็ไม่ควรเป็นแบบนั้น ส่วนคนดูก็อยากให้ลองเปิดใจกว้างๆ เหมือนกัน ว่าสิ่งที่เรารับมันข้างเดียวไปหรือเปล่า เพราะเรารู้สึกว่าการรับข้อมูลแบบนี้ด้านเดียวมันทำให้ความขัดแย้งในสังคมเรามันไม่จบ นี่คือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งมันเหมือนไฟที่มันยังไหม้อยู่เรื่อยๆ"
"และตอนนี้สังคมที่สื่อช่วยกันสร้าง สื่อน้ำดีก็ยังดีก็ยังมีอยู่ แต่สื่อที่นำเสนอข้างเดียวก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ยอมรับ ทางออกที่มันจะจบได้คือสังคมต้องเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ก่อนหน้านี้มันมีกฏหมายที่ควบคุมสื่อ ซึ่งมันก็ถูกต่อต้านอีก สื่อบอกคุณออกกฏหมายมาคุมแสดงว่าคุณจะต้องการให้นำเสนอด้านดีๆ ของรัฐบาลใช่มั้ย เพราะคนออกกฏหมายก็ต้องเป็นรัฐบาล กลายเป็นว่าฝังตรงข้ามเขาก็นำเสนอไม่ได้ สื่อไม่ได้คุมง่ายนะ ฉะนั้นสื่อต้องมาตื่นตัวกันเอง แต่เราเชื่อว่ายาก ในเมื่อทุกคนก็ต้องการเรตติ้ง เงินเดือน แล้วนายทุนเจ้าของช่องกดมาอีก"
"ขณะที่ประชาชมเองก็ยากเหมือนกัน เราต้องออกมาตรการชัดเจนมั้ย แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นเรามองว่ามันยากมาก สิ่งที่ดีที่สุดก็คือสื่อกับภาคประชาสังคมที่ต้องร่วมมือ ก็ไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตนี้เราจะได้เห็นหรือเปล่า (ยิ้ม)"