เปิดใจ "ยิ่งยศ ปัญญา" มือเขียนบทละครโทรทัศน์ "กรงกรรม" ยอมรับคิดเอาไว้ตั้งแต่ตอนเขียนบทละครว่ากรงกรรมต้องประสบความสำเร็จ บอกองค์ประกอบทุกอย่างลงตัว เชื่อละครประสบความสำเร็จ เพราะพลิกภาพอาชีพโสเภณี ภูมิใจไม่สุดฟีดแบ็กดี เชื่อปีหน้าคนก็ลืม ทุกงานคือความท้าทาย ลั่นมีงานชิ้นใหม่รออยู่ ไม่ยึดติด เผยตอนจบพีกซ้อนพีก ขอให้ดูอย่างสนุก เป็นบทพิสูจน์ ละครดี สนุก คนดูไม่ทิ้ง อย่าย่ำอยู่กับที่
เรียกว่าเป็นละครที่กระแสแรงตั้งแต่ยังไม่เริ่มออกอากาศ จนตอนนี้ละครเรื่อง กรงกรรม กลายเป็นละครที่มีกระแสอย่างมาก ทั้งการพูดถึง ทั้งเรตติ้งที่พุ่งกระฉูด เป็นกระแสที่คนพูดถึงมากที่สุดในโลกโซเชียลเลยก็ว่าได้ และคนที่ถือว่ามีส่วนที่สำคัญอีกคนหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จก็คือมือเขียนบทละครอย่าง “ยุ่น ยิ่งยศ ปัญญา” ที่บรรจงรังสรรค์จากบทประพันธ์ มาเป็นบทละครที่มีสีสัน ซึ่งเจ้าตัวเผยถึงความรู้สึกกับกระแสต่างๆ ในงานแถลงข่าวการก่อตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ณ ห้องประชุมใหญ่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเผยว่า ตนเชื่อว่าละครเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มเขียนบทละครแล้ว
“กระแสก็ดีครับ คือส่วนใหญ่ผมก็ไม่ค่อยได้เข้าไปดูกระแสในอินเตอร์เน็ตเท่าไหร่ แต่จะเป็นพวกเพื่อนๆ มาพูดให้ฟัง และที่สัมผัสได้เองก็จะมาจากเฟซบุ๊กซะมากกว่า แล้วก็จะมีเด็กๆ ทีมงานเวลามีกระแสอะไรเด็ดๆ ฮาๆ ก็จะส่งมาให้ดู แต่ถามว่าคาดมั้ยว่าฟีดแบ็กจะดีขนาดนี้ ก็พูดกันตามตรงว่าพอเราเริ่มทำงานเราก็รู้แล้วล่ะว่าละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จแน่นอน ด้วยโครงสร้าง ด้วยเนื้อเรื่องของมัน ด้วยตัวตนของละครเรื่องนี้ที่เราแอบออกแบบอยู่ในใจเรา เราเห็นว่าที่สุดของมันผลออกมาจะเป็นยังไง ก็เชื่อมั่นตั้งแต่เริ่มต้นทำงานว่าต้องอยู่มือ ต้องประสบความสำเร็จ เพราะว่าโจทย์ของมันก็คล้ายๆ เรื่องสุดแค้นแสนรัก ดังนั้นก็มีความรู้สึกเดียวกันนั่นแหละว่าโดนแน่นอน มันก็อยู่ตรงที่เมื่อทำงานไปแล้ว ส่งงานไปสู่กระบวนการผลิต คนที่จะปั้นตัวหนังสือให้มันออกเป็นตัวละครจริงๆ ออกมาเป็นเหตุการณ์ต่างๆ เขาจะจับไปในทิศทางไหน”
“ถ้าบอกว่ากระแสคนจะมองว่าแรงตั้งแต่ก่อนออกอากาศ ผมคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกะxรี่อะไรพวกนั้นล่ะมั้ง เพราะพอมันจ่าหัวมาว่านางเอกของเราเป็นกะxรี่ มันก็น่ากลัว แต่จริงๆ แล้วมันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างในสังคมไทยนะ คือตีตราไว้เลยว่าคนที่มีอาชีพอย่างนี้หรือลักษณะอย่างนี้มันคือคนเลว มันคือสิ่งสกปรกของสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วการนำเสนอเริ่มจากนวนิยายมาคือชาญฉลาดมากในแง่ที่ดูแล้วเราไม่ได้ส่งเสริมให้คนมาเป็นกะxรี่กันเมื่อไหร่ล่ะ หรือกะxรี่ดีที่สุดในโลกก็ไม่ใช่ แต่เรานำเสนอในด้านที่ผู้หญิงที่จำเป็นจะต้องเป็นโสเภณีเนี่ยเขาคิดยังไง และชีวิตหลังจากนั้นที่ดิ้นรนมาเป็นคนปกติที่สังคมยังตราหน้าว่าเป็นคนชั่วนี่มันเป็นยังไงกันแน่ เพราะฉะนั้นมันก็คงเซอร์ไพรส์คนดูในแง่ที่ว่าพอออกอากาศมาแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
บอกความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือว่าสมเหตุสมผล และยอมรับมีการเพิ่มและลดบทบาทจากบทประพันธ์เดิม
“ซึ่งในแง่ของความรุนแรงต่างๆ ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องกะxรี่ ผมมีความรู้สึกว่าการนำเสนอไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ หรือตัวละครใดๆ ก็แล้วแต่ ถึงมันจะตบตีกัน มันจะด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่ถ้ามันสมเหตุสมผลที่จะเกิดการปะทะตบตีหรือว่าด่าทอกันลักษณะนั้น คนดูก็จะกระโดดข้ามความรุนแรงนั้นไป ถ้าทำถึงนะ ถ้าการแสดงถึง เหตุผลถึง ทุกอย่างไม่ใช่ความรุนแรง หรืออย่างน้อยถ้ามันจะเป็นความรุนแรงในแง่การทำงานของผู้กำกับ ซึ่งกำกับภาพให้ลดความรุนแรงได้ยังรักษาความรุนแรงได้ในความรู้สึกของคนดู”
“แต่ศิลปะในการนำเสนอภาพก็จะช่วยเกื้อหนุนกัน เพราะละครมันเป็นงานบูรณาการณ์ หมายความว่ามันไม่ใช่ว่าพอบทดีมาแล้วละครจะต้องดี ไม่ใช่ บทดีแทบตาย แต่กระบวนการผลิต แอ็กติ้งนักแสดง วิธีการกำกับการแสดงไม่ถูกทาง มันก็ไม่ประสบความสำเร็จได้ก็มีนะ”
“ถามว่าในการเขียนบทละครเรื่องนี้มีการเพิ่มหรือลดจากบทประพันธ์เดิมขนาดไหน มันก็มีทั้งสองส่วน คือบางส่วนพอเริ่มทำงานเราก็พบว่าบางส่วนจะต้องขลิบออกบ้าง เพราะว่าพอเรากำหนดให้แม่ย้อยเป็นเฟิร์สคาแรคเตอร์ เป็นเซ็นเตอร์คาแรคเตอร์ เพราะฉะนั้นเขาต้องเป็นหลัก เป็นกระดูกสันหลังของเรื่อง อย่างตัวละครของก้านกับเพียงเพ็ญ จริงๆ แล้วตามนิยายมีการแตกแขนงออกไปอีก เพียงเพ็ญถูกจับไปอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งอีก พ่อแม่พาหนีไปกว่าก้านจะไปเจอ กว่าจะหาบทสรุปลงเอยกันได้ อันนี้ก็ดูต่างไป ผมดูแล้วมันทำให้พล็อตของเราหนีหายไปจากตัวละครที่เป็นตัวหลักของเรื่อง ผมก็เลยดึงให้อาซามีอิทธิพล มีบทบาทเข้ามาใกล้วงจร ดึงตัวละครก้านและเพียงเพ็ญเข้ามาใกล้รัศมีของตัวเองมากขึ้น อันนี้คือการปรับ บางส่วนก็เติมแทรกเข้าไป”
“หลายส่วนเหมือนกันในส่วนที่เป็นรายละเอียดที่จะทำให้องค์ประกอบต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงมันชัดเจนขึ้นว่ามันจะมุ่งไปสู่ไคลแม็กซ์ตอนไหน เช่น พิไลขโมยสร้อยคอแม่ย้อยในจังหวะที่แม่ย้อยเป็นลมไม่มีสติ แล้วยังจะเอาแหวนด้วย อันนี้คือสิ่งที่เติมเข้ามา เพราะว่าจะต้องทำให้กรรมของพิไลมันเข้มข้นด้วย หรือว่าการได้รับบทเรียน หรือค้นพบอะไรบางอย่าง มันก็เป็นเรื่องรายละเอียดที่เพิ่มเข้าไปอีกให้สีสันมันชัดเจนขึ้น แม้แต่การเล่นกับเสื้อฮาวายของอาสี่ก็ตาม ผมก็เติมเข้าไปให้อารมณ์สะเทือนใจมันมากขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ว่าแฟนของวรรณณาคืออาสี่ เขาก็รู้กันอยู่ที่แค่สองคนระหว่างวรรณณากับพี่สาว”
“ถามว่ามีฉากไหนมั้ยที่มีฟีดแบ็กกลับมาว่ารุนแรงเกินไป เท่าที่ออกมาอากาศมาก็ไม่มีนะ ผมว่าบางซีนอาจจะไม่ถึงด้วยซ้ำ (หัวเราะ) ผมยังคิดเลยว่าได้อีกสักนิดนึงน่าในแง่ของการนำเสนอภาพนะ ความรุนแรงในช่วงการปะทะกันระหว่างพี่สาวของปลัดทินกรในงานแต่งงาน ตรงนั้นเหมือนว่าไปได้อีกในแง่ถ้าเราจะทำให้จันตาเผชิญชะตากรรมและน่าสงสาร ผมว่ามันไปได้มากกว่านี้ มันพัฒนาขึ้นไปได้อีกถ้าถามเรื่องความรุนแรงนะ แม้แต่ความรุนแรงภายในตัวละครเองก็มีเป็นจุดๆ ช่วงๆ ที่มันน่าจะพัฒนาขึ้นไปได้อีกหน่อย”
บอกดีใจ แต่ก็ไม่ถึงกับภูมิใจกับกระแสมาก เพราะตนยังต้องทำงานชิ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ ทุกงานคือความท้าทายหมด
“ความภูมิใจ ความพอใจเหรอ ผมเรียกว่าเป็นความดีใจมากกว่า ซึ่งความภูมิใจยังอยู่ในระดับกลางๆ คงชินแล้วมั้ง คือพอละครจบไป คนดูเขาก็จบ แต่จะจดจำละครเราไปอีกนานแค่ไหนเราก็ไม่รู้ ปีหน้าเขาอาจจะลืมก็ได้ หรือถ้าเขายังจดจำแม่ย้อย จดจำเรณู จดจำละครกรงกรรมได้ก็ถือเป็นเรื่องดีไป แสดงว่าละครเรื่องนี้ไปอยู่ในใจเขา แต่ก็ยังมีงานชิ้นใหม่ ชิ้นหน้าที่เราต้องฝ่าฟัน ที่เราต้องทำงาน ที่เราต้องทุ่มเทยังมีอีกเยอะ สำหรับผมก็ดีใจระดับหนึ่งที่คนดูชอบ ถ้าถามว่าที่สุดมั้ย ก็เฉยๆ นะสำหรับผม เพราะยังมีงานชิ้นต่อไปอีกเยอะ เรายังไม่หยุดทำงาน”
“คือเมื่อเริ่มงานใหม่ก็หมายความว่าเราต้องคิดใหม่ ทำใหม่หมด ก็คืองานใหม่แต่ละชิ้นมันคือของหินทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรง่าย แต่เราก็จะไม่กดดันตัวเองนะว่างานชิ้นนี้ดีแล้ว งานชิ้นต่อไปต้องดีกว่า คือถ้าเรายึดติดกับความสำเร็จนี่เครียดตายเลยว่าทำไมเรตติ้งเราไม่ถึง 50 สักที ก็ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ เพราะละครแต่ละเรื่อง บทประพันธ์ที่ส่งมาก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่เราเขียนจะประสบความสำเร็จพีกสุดทุกเรื่องก็ไม่ใช่ แต่ ณ ตอนนี้ก็ถือว่าพอใจถ้าคนดูชอบ อย่างน้อยก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าวงการละครยังเป็นที่ยอมรับของคนดูคนไทยด้วยกัน คนไทยยังไม่ทิ้งละครน่ะ”
“ก็เหลืออีกสองตอนนะครับสำหรับการออกอากาศ ก็เป็นไปตามสูตร ถ้าจะเรียกว่าพีกซ้อนพีกอะไรก็แล้วแต่ ก็ดูให้สนุกครับ และตัวละครทุกตัวมีจุดจบของตัวเอง มีชีวิตของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น ก็สุดแล้วแต่คนดูจะตัดสินก็แล้วกัน แต่ยืนยันได้ว่าตัวละครทุกตัวถ้าตัวไหนก่อกรรม ก็จะต้องได้รับกรรมสมเหตุสมผลตามที่เขาควรจะได้รับแล้ว ส่วนถ้าจะฝากอะไรถึงคนดูก็คือละครไทยก็คือบริบทของประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็ยังเชื่อมั่นในฐานะคนทำงานว่าคนดูคนไทยไม่ทิ้งละครไทยหรอก”
“แต่ก็อยากฝากบอกไปถึงเพื่อนๆ ที่ทำงานวงการละครด้วยกัน ก็อย่างที่บอกว่าละครคืองานบูรณาการณ์ คือเราไม่อยากเห็นละครไทยย่ำอยู่ที่เดิม ยิ่งในยุคของการแข่งขันแบบดิจิตอลแบบนี้ด้วย การพัฒนาการแข่งขันน่าจะไปสู่ทิศทางการแข่งขันด้วยเนื้อหาสาระ วิธีการคิดงาน วิธีการพัฒนาศักยภาพของนักแสดงต่างๆ นานาอันเป็นองค์ประกอบของก้อนที่จะมาเป็นละคร เพราะว่าถ้าเราจะภาคภูมิใจในละครไทยที่ว่าจะไปสู้กับคนอื่นเขาได้ มันก็ต้องจับมือกัน ร่วมมือกันนี่แหละ แต่สำคัญที่สุดคือคนดูให้การสนับสนุนละครไทยด้วยกันเท่านั้นแหละ เรื่องนี้ก็พิสูจน์ได้ ยืนยันได้ว่าถ้าละครมันดี มันสนุก คนดูเขาไม่ทิ้งเราไปไหนหรอก ในขณะเดียวกันคนทำละครก็ต้องตระหนักด้วยว่า ถ้ามันไม่ดี ถ้ามันไม่ถูกใจเขา มันก็บังคับให้เขามาชอบไม่ได้ เพราะคนดูเป็นผู้ตัดสินทั้งหมดจริง มันอยู่ที่ผลงาน อยู่ที่ความเข้าใจ อยู่ที่คนทำงานละครแล้วล่ะ”