กำลังจะรูดม่านลาจอกันไปในสัปดาห์นี้แล้ว !!!สำหรับมหากาพย์แห่งละครพื้นบ้าน เรื่อง “สังข์ทอง” ทางช่อง 7 HDด้วยจำนวนออกอากาศที่สูงสุดถึง 110 ตอนลากยาวมาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ที่แล้ว ข้ามปีมาจนถึงวันนี้จำนวนตอนออกอากาศ 110 ตอนที่ว่า ถ้าเป็นละครหลังข่าว ก็เกือบ 10 เรื่องเลยทีเดียว
ถือว่าเป็นสถิติใหม่ของละครพื้นบ้าน หลังจากที่เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ในปี 2550 ทำไว้ที่ 106 ตอน แม้กระทั่ง “แก้วหน้าม้า” ในปี 2558 ที่ทำไว้ 102 ตอน
แม้จะมีบางกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์การเจตนา “ยืดบท” ที่ออกน้ำออกทะเลไปไกล แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระแสความนิยมของ “สังข์ทอง” ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะถ้าเอาเรตติ้งมาเป็นมาตรวัด ด้วยตัวเลขที่ไม่เคยร่วงจาก 6 แถมเคยวิ่งไปแตะที่ 8 มาแล้ว ต้องบอกว่าเป็นเรตติ้งที่พีคสุดๆ ซึ่งแม้แต่ละครหลังข่าวของช่อง 7 เองยังทำได้ไม่ถึง
นับตั้งแต่ปี 2530 ที่มีการปรังผังละครพื้นบ้าน หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ บ้าง , หนังเจ้าบ้างจากที่เคยออกอากาศหลังข่าวภาคค่ำทุกวันจันทร์-อังคาร มาประจำอยู่ในผังของเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องบอกว่าเป็นผังรายการที่ยืนยงมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และโยกย้าย
ที่สำคัญยังคงเป็นช่วงเวลาที่ครองแชมป์ยืนหนึ่งชนิดที่ช่องอื่นไม่สามารถเบียดขึ้นมาได้
ถ้าลองกดรีโมทไปดูต่างช่องในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นผังของรายการประเภทการ์ตูนที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ เจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กเป็นหลัก ไฉนเลยจะสามารถล้มแชมป์ละครพื้นบ้านที่กวาดกลุ่มเป้าหมายระดับที่ครอบคลุมทั้งครอบครัวได้ ไล่มาตั้งแต่รุ่นย่า รุ่นยาย จนมาถึงลูกเล็กเด็กแดง ที่มานั่งเรียงกันหน้าสลอนอยู่หน้าจอทีวี
โดยเฉพาะ “สังข์ทอง” ที่ถ้าคนไม่ติดหนึบจริงๆ คงไม่สามารถลากยาวมาถึง 110 ตอน เรียกว่าด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระสังข์ ไม่เพียงแต่จะร่ายมนต์เรียกเนื้อเรียกปลา แต่ยังสามารถเรียกเรตติ้งไปในคราเดียวกัน
แหละ....ถ้าแฟนๆ ที่ติดตามละคร “สังข์ทอง” มาโดยตลอด จะเห็นว่าเวอร์ชันนี้มีการเพิ่มเติม และปรับเปลี่ยนบทค่อนข้างเยอะ ซึ่งข้อได้เปรียบของละครพื้นบ้าน ที่ต่างจากละครทั่วไป ก็คือสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้แบบไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องสนใจความสมจริงสมจัง ไม่ต้องถามหาเหตุผล เพราะโดยโทนของละคร ส่วนใหญ่จะออกแนวแฟนตาซี เน้นในเรื่องของศักดาภินิหารเหนือมนุษย์ เหนือธรรมชาติอยู่แล้วสิ่งที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มเข้ามาใน “สังข์ทอง” เวอร์ชันนี้ ต้องให้เครดิตกับคนเขียนบทที่สามารถเกาะเกี่ยวประเด็นต่างๆ ที่คนดูละครในยุคนี้กำลังสนใจ มารวมไว้ด้วยกันอย่างเนียนๆ
อย่างเช่นบทของ “พี่เงาะ” ที่ในเวอร์ชันก่อนหน้านี้ จะใช้ตัวแสดงประเภทอ้วน ดำ ขำ ตลก แต่ในเวอร์ชันนี้ กลายเป็นเงาะหุ่นล่ำ กล้ามใหญ่ ซิกแพกเป็นลอนๆ เรียกว่ารูปร่างชวนมองมากกว่าพระสังข์ด้วยซ้ำ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่เข้ากับยุคสมัยที่ละครส่วนใหญ่มักจะเน้นให้ทั้งพระเอก พระรอง ต้องมีฉากโชว์ของ พูดง่ายๆ ว่าเอะอะถอดเสื้อๆ เพื่อเป็นจุดขายให้ละครแต่ละเรื่องเป็นที่พูดถึงในกลุ่มของสาวน้อย สาวใหญ่ หรือ บรรดาเก้ง กวาง บ่าง ชะนี
หรือกระทั่งการที่แฟนละครส่วนใหญ่ในยุคนี้ อยากเห็นฉากจิ้นกันของชาย-ชายตามกระแสของซิรี่ส์วายทั้งหลายแหล่ “สังข์ทอง” เวอร์ชันนี้ก็จัดให้ โดยการผูกเรื่องให้หนึ่งในหกเขย ที่แอบอยากได้ซิกแพกของพี่เงาะมาเชยชมให้สมใจ
แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ก็คือการเพิ่มบทให้ “รจนา” กลายเป็นน้องเงาะออกมาสู้รบปรบมือกับบรรดาตัวร้ายต่างๆ ในเรื่อง ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่ใน “สังข์ทอง” เวอร์ชันอื่นใดมาก่อนเลย
หลายคนอาจมองว่าเป็นการเพิ่มบทเข้ามาเพียงเพื่อยืดเรื่อง ตามประเพณีนิยมของละครที่มีเรตติ้ง แต่ถ้าลองเจาะลึกลงไป อาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นความจงใจของผู้เขียนบทที่อยากจะสอดแทรกนัยสำคัญที่สะท้อนข้อคิดอะไรบางอย่าง !!???
นั่นคือการพยายามต่อสู้เพื่อลดการเหยียดในเรื่องของเพศสภาพ และไม่อยากให้คนยึดติดกับเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ตำแหน่ง และสถานะทางสังคม โดยการให้ตัวละครเอกทั้งสอง ซ่อนตัวอยู่ภายใต้หน้ากากเงาะ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะรูปชั่ว ตัวดำ หรือรูปทองฝังเพชร สิ่งที่จะบ่งบอกความเป็นคนดี หรือเลวนั้น ขึ้นอยู่ที่พฤติกรรม และสิ่งที่กระทำมากกว่า
แหละ ถ้าจะถามว่าเหตุใดละครพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น “สังข์ทอง” หรือเรื่องอื่นใดก่อนหน้า ซึ่งก็วนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น “แก้วหน้าม้า” , “ปลาบู่ทอง” , “สิงหไกรภพ” “นางสิบสอง” หรือแม้แต่ที่กำลังจะจ่อคิวออกอากาศในโปรแกรมหน้า อย่าง “ขวานฟ้าหน้าดำ” ถึงได้อยู่ยงคงกระพันในผังของช่อง 7 แบบยืนหนึ่ง และยาวนานขนาดนี้
เหตุผลแรก ก็คือไม่มีคู่แข่ง แม้ว่าช่อง 3 จะเคยพยายามขอแบ่งเค้กก่อนนี้อยู่หลายครั้งหลายครา ตั้งแต่ยุคของ “เศรษฐา ศิระฉายา” ในนามของ “เมืองละคร” ที่เคยทำได้ในระยะสั้นๆ หรือกระทั่ง “คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์” ที่ปิดกล้อง “อุทัยเทวี” ไปเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลงโปรแกรมฉายเมื่อไหร่ หรือเผลอๆ อาจจะถูกดองยาวไปเลยก็ได้ ฉะนั้นตลาดนี้ จึงยังคงเป็นของช่อง 7 ที่ยึดครองแบบวันแมนโชว์ โดยปราศจากคู่แข่งอย่างสิ้นเชิง และเชื่อว่าน่าจะคงอยู่แบบนี้ไปอีกนานแสนนาน เพราะด้วยความจัดเจนของผู้ผลิตอย่าง “สามเศียร” ที่คร่ำหวอดอยู่ในตลาดนี้มากว่าครึ่งค่อนศตวรรษ ย่อมรู้ความต้องการของคนดูแบบทะลุปรุโปร่ง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ผลิตรายอื่นจะเข้ามาแทรกได้
กลุ่มเป้าหมายครอบคลุม ชัดเจน และเหนียวแน่น ดังที่เกริ่นมาแล้วเมื่อตอนต้น ว่าละครพื้นบ้านนั้น เป็นแหล่งรวมความบันเทิงของคนในครอบครัว ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จนมาถึงรุ่นเด็ก ปริมาณคนดูจึงมากกว่ารายการประเภทอื่น ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ยกตัวอย่างคนรุ่นย่า รุ่นยาย คงไม่มีใครตื่นมานั่งดูการ์ตูนโดเรมอน หรือซิรี่ส์ญี่ปุ่นประเภท 5 มนุษย์ไฟฟ้า ตรงกันข้าม เด็กๆ กลับชื่นชอบที่จะเฝ้าหน้าจอรอดูสังข์ทองร่ายมนต์พร้อมกับญาติผู้ใหญ่ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ เผลอๆ ก็สามารถยกสำรับกับข้าวมากินกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาหน้าทีวีกันไปเลย อันเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา เป็นความคุ้นเคยที่ถูกปลูกผังกันมาเนิ่นนานกว่า 30 ปี ในช่วงเวลา 8 โมงเช้าของวันเสาร์-อาทิตย์
มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะมีเรื่องที่สร้างซ้ำมาซ้ำไปอยู่ไม่กี่เรื่อง แต่ความสำเร็จที่ต่อเนื่องและยาวนาน ก็คือความมี เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น เสื้อผ้า หน้าผม มุกตลก ฉากพระราชวัง ซีจีที่เนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง แต่ก็ไม่มีใครติดใจเอาความ ตลอดจนเสียงขับเสภาที่บรรยายความรู้สึกของตัวละคร ณ ขณะนั้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผสมผสานอยู่ในละครพื้นบ้านของค่าย “สามเศียร” ที่ได้รับการยอมรับว่าไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร แม้จะมีบางช่องที่พยายามจะเดินรอยตาม ทำได้ไม่ดีเท่า แล้วก็ต้องม้วนเสื่อกลับไปในที่สุด
อย่างซิรี่ส์อินเดียที่ครองหน้าจออยู่ในหลายๆ ช่องตอนนี้ ก็เชื่อได้เลยว่าเป็นแต่กระแสวูบวาบๆ เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็จะค่อยๆ ซาความนิยมลงไป ในขณะที่ละครพื้นบ้านกลิ่นไอแบบไทยๆ นี่แหละ ที่จะยังคงอยู่ และอยู่ตลอดไป
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความสำเร็จของละครพื้นบ้าน ที่ยืนหนึ่งในเรื่องของเรตติ้งแบบที่ไม่มีใครสามารถโค่นแชมป์ลงได้นั้น ในอีกมุมหนึ่ง ยังเป็นเวทีที่สามารถผลักดันและแจ้งเกิดให้นักแสดงหลายต่อหลายคนมาทุกยุคทุกสมัย ถ้าจะย้อนกลับไปจริงๆ ก็ตั้งแต่ยุคของมนฤดี ยมาภัย , กบ-สุวนันท์ , เบนซ์-พรชิตา ,พิงกี้-สาวิกา , หยาดทิพย์ ราชปาล , แยม – มทิรา จนกระทั่งถึงมีน-พิชญา ที่โด่งดังจากบท “เอื้อย - อ้าย”จากละครพื้นบ้านเรื่อง “ปลาบู่ทอง” และกลายเป็นหนึ่งในนางเอกหลังข่าวระดับหัวแถวของวิกหมอชิตมาจนถึงทุกวันนี้ หรือแม้แต่ กัน-อรรถพันธ์ นักแสดงจากซิรี่ส์วายขวัญใจคนดู ก็แจ้งเกิดมาจากละครพื้นบ้านเช่นเดียวกัน
ถ้าจะนับผลกำไรเทียบกันระหว่างละครพื้นบ้าน กับละครสมัยใหม่ วัดจากจำนวนตอนที่เท่ากัน และขายโฆษณาได้เท่ากัน ละครพื้นบ้านก็จะสร้างกำไรได้มากกว่า ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตที่น้อยกว่า นักแสดงส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นดาราใหม่ โนเนม สนนค่าตัวก็ไมได้แพงมากมายอะไร โลเกชั่นในการถ่ายทำ ก็วนเวียนอยู่ไม่กี่ฉาก และยิ่งสมัยนี้มีการอาศัยคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาช่วย ก็แทบจะสามารถเนรมิตฉากอันจะวิจิตรตระการตามากขนาดไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างจริงให้เปลืองงบ ค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์ก็ไม่ต้องจ่าย เพราะส่วนใหญ่จะอ้างอิงจากนิยายพื้นบ้าน ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิ์ จะหยิบจับมาสร้างซ้ำกี่หนกี่รอบก็ย่อมได้
เพราะฉะนั้น ลองบวกลบคูณหารดูกันเองก็แล้วกันว่า ละคร “สังข์ทอง” ที่ลากยาวมาจนถึง 110 ตอนนั้น จะผันเป็นม็ดเงินกำไรให้กับค่าย “สามเศียร” ได้มากน้อยขนาดไหน !!??
เหนื่อยครั้งเดียว หากินได้เป็นปี แถมไม่ต้องไปฟาดฟันสู้รบปรบมือกับใครด้วยนาทีนี้จะหาผู้ผลิตเจ้าไหน ที่น่าอิจฉาเท่า “สามเศียร” คงไม่มีแล้ว !!???
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 486 16-22 มีนาคม 2562