เชื่อว่า นักดูหนังทุกคนน่าจะเคยผ่านหูผ่านตาผลงานภาพยนตร์ที่กล่าวได้ว่า ล้ำหน้าด้านเทคโนโลยี เป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกภาพยนตร์เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเทคนิคด้าน 3 มิติ อย่างเรื่อง “อวตาร์” (Avatar) ซึ่งกำกับโดย “เจมส์ คาเมรอน” อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดถึงความใฝ่ฝันอันดับแรกสุด ก่อนจะถึง “อวตาร์” เจมส์ คาเมรอน นั้นฝันถึง “อลิตา” มาก่อน เพียงแต่ด้วยปัจจัยความพร้อมด้านเทคโนโลยี ณ ตอนนั้น อาจยังไม่ตอบโจทย์ต่อการก่อรูปเกิดร่างของ “อลิตา” ได้ตามที่คิดเท่าไรนัก เขาจึงให้เวลากับ “อวตาร์” ก่อน
พูดง่ายๆ ก็คือ โปรเจคต์ “Alita Battle Angel” นี้ เกิดมีในความคิดของเจมส์ คาเมรอน มาตั้งแต่ปี 2000 ส่วนอวตาร์นั้นเพิ่งจะออกฉายในปี 2009 อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้ว “อลิตา” ก็เกิดเป็นผลสำเร็จได้ใน พ.ศ.นี้ โดยมี “โรเบิร์ต โรดิเกวซ” นั่งเก้าอี้ผู้กำกับ
“Alita: Battle Angel” สร้างมาจากมังงะญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมสูงมากในช่วงยุค 90 เรื่อง “GUNNM” ซึ่งมาจากคำสองคำ คือ “Gun” (กัน : ปืน) และ “M” (มุ : ความฝัน) โดยต้นฉบับของมังงะญี่ปุ่นนั้น ได้รับการพูดถึงว่าเป็นมังงะที่โหดเลือดสาดมากที่สุด(มันส์ที่สุด) เรื่องหนึ่ง เพียงแต่เมื่อเดินทางมาสู่การปรับเปลี่ยนเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ก็ได้มีการดัดแปลงรายละเอียดบางประการ เช่น จากที่เน้นใช้ปืนยิงกันเลือดสาด เจมส์ คาเมรอน ให้หนังใช้ดาบเป็นอาวุธหลัก เลือดที่น่าจะเป็นสีแดงฉาน ก็เปลี่ยนให้เป็นสีน้ำเงิน (เพื่อไม่ให้ดูโหดเกินไป และได้เรตต่ำๆ คนดูวงกว้าง) ขณะที่รายละเอียดของตัวละครหลักอย่าง “อลิตา” ก็มีการปรับแปลงไปเช่นกัน ทั้งในแง่ของชื่อและที่มาบางอย่าง
แต่ถึงกระนั้น ต้องยอมรับครับว่า สิ่งที่เจมส์ คาเมรอน ตั้งใจคงไว้ในแบบสไตล์มังงะ และทำให้มันปรากฏออกมาอย่างมีประสิทธิภาพมากๆ ก็คือ “ดวงตาโตๆ” ของตัวละคร ที่อาจจะดูเหมือนประหลาดนิดๆ ในความคิดของใครหลายคน แต่ถ้าได้ดูจะพบว่า มันคือดวงตาที่สื่อสารความรู้สึกได้อย่างทรงพลัง ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ โกรธ เศร้า ซึ้ง ทุกความรู้สึกถูกส่งผ่านดวงตากลมโตคู่นั้นอย่างสัมผัสได้ ดูมีชีวิตและจิตวิญญาณราวกับเป็นมนุษย์คนหนึ่งจริงๆ ส่วนการเคลื่อนไหวก็ดูเป็นธรรมชาติและมีความสมจริง โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นอานุภาพของเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่นำเอา Motion Capture เข้ามาใช้ โดยใช้คนจริงๆ (โรซา ซาลาซาร์) มาเป็นตัวแบบจัดวางท่วงท่าการเคลื่อนไหวการแสดงออกของตัวละคร
ผมเห็นว่า ในขณะที่หนังสามารถทำให้เราค่อยๆ รักตัวละครอย่างอลิตา เนื้อหาเรื่องราวก็ค่อยๆ บอกเล่ากับเราว่า “อลิตา” นี่คือเครื่องจักรสังหารดีๆ นี่เอง แต่ก็ติดอยู่ที่ว่า เธอไม่สามารถจดจำที่มาของตนเองได้ว่าเป็นใครมาจากไหน ซึ่งจุดนี้ก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปเรื่อยๆ พร้อมกับเรื่องราวที่ก้าวไปข้างหน้า โดยมีหลากหลายตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้อง และกลายเป็นจิ๊กซอว์ที่มาช่วยให้อลิตาต่อติดกับชีวิตในอดีตของเธอ แต่ถึงอย่างนั้น ก่อนจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ต้องผจญเผชิญกับภัยและความร้ายกาจของตัวละครอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยว และนั่นก็เป็นที่มาของการต่อสู้ที่ดุเดือดเลือดพล่าน
ดังนั้นแล้ว ในความเป็นหนังแอ็คชั่น สำหรับคนชอบหนังแนวนี้ไม่มีผิดหวังอย่างแน่นอน หนังออกแบบฉากการต่อสู้ รวมทั้งฉากการแข่งขัน “มอเตอร์บอล” (ที่มีการต่อสู้รวมอยู่ในนั้น) ออกมาได้สนุกสนานบันเทิงมากๆ เรียกว่าเป็นฉากที่น่าจดจำอีกฉากเลยก็ว่าได้ ขณะที่ในภาคส่วนของความดราม่าก็มาพร้อมกับความเข้มข้นชนิดที่ดูแล้วต้องรู้สึกตาม โดยเฉพาะแง่มุมของความรักที่ชวนสะเทือนใจ หรืออย่างการปูข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับดินแดนที่มีชื่อว่า “ซาเล็ม” ซึ่งเป็นสถานที่ในฝันของแทบทุกๆ คน ก็กลายเป็นที่มาของเรื่องราวบีบคั้นหัวใจและกระตุกต่อมน้ำตา
สรุปโดยภาพรวมแล้วก็ต้องบอกแบบนี้ครับว่า “อลิตา” เป็นหนังที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง คือไม่ใช่ดีแค่ในเชิงเนื้อหาเรื่องราว การผูกเรื่องสร้างปมที่ส่งผลรุนแรงต่อความรู้สึก แต่ยังรวมถึงด้านการมอบความบันเทิงให้กับคนดูผู้ชม สำหรับแฟนมังงะ อาจจะรู้สึกว่ามีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นต้นฉบับพอสมควร เพราะหนังเก็บรวบรายละเอียดแต่ละจุดแล้วเล่าใหม่ให้เรื่องดำเนินไปพร้อมกัน ไม่ได้แบ่งเล่าทีละส่วนๆ ไป เช่นเดียวกับการปรับแปลงคาแร็คเตอร์บางอย่างของตัวละครบางตัว เช่น ปรับลดความโหดของหมออิโดะ (คริสต๊อฟ วอลซ์) ที่แฟนมังงะอาจจะรู้สึกสะใจมากกว่าในความถึงลูกถึงคนของเขา
อย่างไรก็ตาม ก็ยังจะบอกด้วยคำเดิมครับว่า นี่คือหนังที่ทำออกมาได้ดีมากๆ อีกเรื่อง และที่สำคัญ ดูทรงแล้ว หนังมีการปูทางไว้เพื่อไปสู่ภาคต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้กระแสรายรับจะไม่เป็นไปตามเป้าเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการใช้ดารานักแสดงที่ต้องยอมรับตามจริงว่า “ไม่ปัง” เท่าที่ควร คือคนดูหนังวงกว้างอาจไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่นัก แต่ถึงกระนั้น ใครก็ตามที่ได้ดูงานเรื่องนี้แล้ว เชื่อแน่ครับว่า จะมีความรู้สึกแบบเดียวกัน คือ อยากให้มีภาคต่อไป...