กางเรตติ้งเฉลี่ยของช่องทีวีตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แล้วนึกย้อนเปรียบเทียบไปถึงเรตติ้งเฉลี่ยแต่ละเดือน ก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้
ที่เห็นชัดๆ เลยก็คืออันอับ1 กับ 2 แทบจะคงที่อยู่ในอันดับเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ส่วนอันดับ 3-6 นั้น มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้น-ลงกันอยู่ระหว่างโมโน , เวิร์คพอยท์ , ช่อง 8 และช่อง One แล้วแต่ว่าโปรแกรมของแต่ละช่วงนั้น มีอะไรที่จะสามารถกระตุ้นยอดคนดูขึ้นมามากน้อยขนาดไหน
และถ้าโฟกัสลงไปอีก ก็จะเห็นว่า 3 ใน 6 อันดับ ชูคอนเทนต์ละครเป็นหัวใจหลัก ขณะที่ช่องโมโนนั้น ขายจุดแข็งในเรื่องของภาพยนตร์ต่างประเทศฟอร์มยักษ์ ส่วนเวิร์คพอยท์นั้น แน่นอนว่า ชูในเรื่องของรายการวาไรตี้ เกมโชว์ หรือกระทั่งช่อง 8 แม้จะมีละครออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป้าประสงค์หลักจริงๆ ก็เป็นที่รู้กันว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะชูเรื่องละครเป็นจุดขาย เพราะตั้งใจใช้ช่องเป็นสื่อในการโฆษณาจากผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง และอาหารเสริมของตัวเองมากกว่า
นั่นก็เท่ากับว่าทั้ง 3 ช่องนั้น ไม่มีคู่แข่งที่จะต้องปะทะโดยตรง จะมีก็เพียงต้องแข่งกับตัวเองเท่านั้น ในการจะรักษาอันดับเดิมไว้ หรือแม้แต่ถ้าตั้งเป้าไว้ว่าจะขยับตำแหน่งขึ้นมา
ฉะนั้นจึงเหลือเพียงช่อง 7 ช่อง 3 และช่อง One ที่ถือว่าจะต้องห้ำหั่นกันเอง อาจจะต่างกันเพียงจุดประสงค์ อย่างช่อง 7 นั้น คงไม่สามารถไต่ขึ้นไปไหนได้อีก ทำได้ก็เพียงรักษาบัลลังก์ของตัวเองไว้ให้มั่น ไม่ให้สั่นคลอน เพราะถ้าฉวยว่าตำแหน่งรองอย่างช่อง 3 เกิดมีปาฎิหาริย์อย่าง “บุพเพสันนิวาส” ขึ้นมาอีก ก็มีสิทธิที่จะขยับขึ้นมาเป็นที่หนึ่งได้ หรือแม้แต่ช่อง One เอง ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ก็ไม่สามารถประมาทได้เช่นเดียวกัน เพราะถ้าไม่ยึดติดกับเรื่องเรตติ้งคนดูผ่านทีวีแบบไม่ลืมหูลืมตาจริงๆ ละครของช่อง One หลายเรื่องที่สามารถสร้างกระแสถล่มทลายจนกลบช่องแชมป์ และรองแชมป์ได้เสียสนิท อย่างเช่น “เมีย 2018” กับ “เลือดข้นคนจาง”
อย่างไรก็ตาม ความจริงข้อหนึ่งที่เห็นกันชัดๆ ก็คือในอันดับ Top 5 หรืออาจจะไล่มาถึง Top 6 ก็ตาม ต่อให้มีการขึ้น-ลง หรือสลับอันดับกันขนาดไหน ก็ยังคงล้วนเป็นช่องเหล่านี้ ที่ยืนหนึ่งว่าเป็นช่องบันเทิงอย่างชัดเจน ซึ่งก็สามารถสะท้อนให้เห็นว่าช่องประเภทบันเทิงนั้น มีโอกาสที่จะสามารถเอาตัวรอดในสมรภูมิของทีวีดิจิทัลได้มากกว่าช่องรายการประเภทอื่น
ขณะที่ถ้าถัดจากอันดับที่ 6 ลงมาถึงอันดับที่ 10 นั้น จะเห็นว่าเราๆ ท่านๆ แทบจะไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง หรือเป้าหมายอะไรใหม่ๆ ที่จะนำพาช่องขยับอันดับขึ้นมาได้สูงกว่านี้ สังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าถ้าลองตัดช่อง 3 SD ออกไป ช่องที่เหลือต่างก็ไม่ได้วางตำแหน่งของตัวเองว่าเป็นช่องบันเทิง เพราะฉะนั้น เมื่อมองจากเกมแล้ว โอกาสที่จะเบียดขึ้นไปถึง Top 5 นั้น แทบจะแทงเป็นศูนย์ได้เลย
แต่ช่องที่ถัดลงจากอันดับ Top 10 อีก 3 ช่องนั่นต่างหาก ที่เรียกได้ว่าต้องสู้กันแบบยิบตา ต้องงัดกลยุทธ์ทุกวิถีทางเพราะล้วนแล้วแต่วางเป้าว่าจะต้องก้าวผ่านขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรกให้จงได้ และที่สำคัญล้วนแต่เป็นช่องที่กำหนดสถานะของตัวเองว่าเป็นช่องบันเทิงเหมือนกัน
3 ช่องดังกล่าว ก็คือ PPTV , True 4 U และ Gmm 25 ซึ่งอันดับในปีที่ผ่านมา รั้งอยู่ที่ 12-14
ก่อนหน้านี้ ในยุคที่ PPTV ไม่ได้กำหนดบทบาทของตัวเองว่าเป็นช่องบันเทิงนั้น อันดับแทบจะอยู่รั้งท้าย จนเมื่อมีการเปลี่ยนจุดยืนใหม่นั่นแหละ ถึงได้สามารถมายืนผงาดได้แบบนี้
ส่วนช่อง Gmm 25 เมื่อครั้งยังอยู่ใต้ปีกของ “เจ๊ฉอด-สายทิพย์” ก็ประสบปัญหาทั้งเรื่องเรตติ้ง ทั้งเรื่องตัวเลขขาดทุน กระทั่งเปลี่ยนมือผู้บริหารมาเป็น “สถาพร พานิชรักษาพงศ์” เรตติ้งก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมา และส่งผลถึงรายได้ก็เข้ามามากขึ้น จนสามารถทำกำไรให้กับช่องขึ้นมาบ้างแล้ว จากที่เคยขาดทุนสะสมร่วม 2,000 ล้านบาท
ถ้ามองในเรื่องของเงินลงทุน ต้องบอกว่าทั้ง 3 ช่องที่ว่านั้น ล้วนแล้วแต่กระเป๋าหนักไม่แพ้กัน ช่อง PPTV นั้น มีนายทุนใหญ่เป็นกลุ่ม “ปราสาททองโอสถ” เจ้าของธุรกิจระดับหมื่นล้าน ส่วนช่อง Gmm 25 นั้น ก็เป็นที่รู้กันว่า หุ้นใหญ่ก็คือกลุ่ม ไทยเบฟฯ และแน่นอนว่าช่อง True 4 U นั้น ก็เป็นเครือข่ายของตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องต่อสู้กัน ก็คือในเรื่องของคอนเทนต์ล้วนๆ
และจะบอกว่าโอกาส ที่ช่องหนึ่งช่องใด หรืออาจจะทั้ง 3 ช่อง จะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ Top 10 ในปีนี้นั้น เป็นไปได้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เพราะเข้ามาในจังหวะที่ดาราหลายคน พร้อมใจกันพาเหรดออกมาเป็นนักแสดงอิสระ โดยไม่ยึดติดกับช่องใหญ่ๆ พอดี จึงเป็นโอกาสที่ช่องเล็กๆ จะได้นักแสดงระดับท็อปฟอร์มมาร่วมงาน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า อาจจะผันแปรมาสู่เรื่องของรายได้จากการขายโฆษณา รวมไปถึงตัวเลขของเรตติ้ง ที่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะขยับขึ้นมาเพราะพลังความนิยมของนักแสดงเหล่านี้ จริงอยู่ที่อาจจะต้องแลกมาด้วยการจ่ายค่าตัว หรือเปอร์เซ็นต์นักแสดงสูงกว่าช่องใหญ่ เพื่อดึงดูดใจ แต่ถ้าเทียบกับการที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงปั้นนักแสดงหน้าใหม่ ซึ่งนอกจากจะต้องเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา แถมไม่สามารถการันตีได้ด้วยว่าแฟนละครจะอ้าแขนรับหรือเปล่า ก็ถือว่าคุ้ม
และเมื่อมองทางตัวของนักแสดงแล้ว การมีช่องทางเลือกให้ได้รับงานมากขึ้นกว่าการผูกติดกับสัญญาช่องหนึ่งช่องใดเหมือนยุคก่อนนั้น ก็ถือว่าเป็นการดีไม่น้อยเหมือนกัน อย่างเช่น “นุน-วรนุช” ที่เปิดเผยออกมาว่า ตลอดทั้งปีมีคิวละครที่รับไว้แล้วถึง 5 เรื่อง จาก 4 ช่องทีวี ด้วยกัน คือ ช่อง True 4 U , PPTV, GMM25 และบ้านเก่าอย่างช่อง7 ซึ่งถ้าเทียบกับนักแสดงที่สังกัดช่อง ใน ปีหนึ่งๆ คงจะไม่สามารถรับงานละครได้มากเรื่องขนาดนี้ เพราะต้องถูกแชร์ไปให้นักแสดงในช่องคนอื่นๆ ด้วย
หรืออย่าง “สมาร์ท – กฤษฎา” อดีตนักแสดงช่อง 3 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้นานๆ จะมีผลงานละครโผล่มาสักเรื่อง แต่หลังจากผันตัวเองออกมาเป็นนักแสดงอิสระ ก็มีละครมาป้อนไม่ได้ขาด ทั้งของช่อง 8 , Gmm 25 และ PPTV
นี่อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เหล่านักแสดงเบอร์ต้นๆ เลือกที่จะรับงานแบบฟรีแลนซ์ นอกจาก 2 คนที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีใหม่-ดาวิกา , พลอย-เฌอมาลย์ , ขวัญ-อุษามณี , อั้ม – อธิชาติ , นิว – วงศกร หรือแม้แต่ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ ที่แม้จะเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของช่อง PPTV แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถรับงานละครช่องอื่นๆ ได้อย่างอิสระ
ที่สำคัญ ถือเป็นกำไรของคนดู ที่จะมีโอกาสได้เห็นดาราต่างช่องมาประชันฝีมือกัน อย่างเช่น พลอย – เฌอมาลย์ จากช่อง 3 กับนิว – วงศกร จากช่อง 7 ในละคร “แรงเทียน” ของ Gmm 25 ซึ่งถ้าเป็นในยุคที่นักแสดงยึดติดกับสัญญาของช่องใหญ่ โอกาสแบบนี้ ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน
แต่ถ้าเจาะลึกลงไปอีก ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่าง 3 ช่อง ที่ต่างก็กำลังพยายามจะดันตัวเองก้าวขึ้นสู่ Top 10
เดิมทีนั้นช่อง Gmm 25 เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก สังเกตดูจากบรรดาซิรี่ส์แนววายทั้งหลายที่ผุดขึ้นมามากมายในช่อง รวมถึงรายการประเภทวาไรตี้สไตล์วัยรุ่น ก็ปรับตัวมาเน้นกลุ่มแมสมากยิ่งขึ้น เพราะถือว่าเป็นฐานการตลาดที่กว้างที่สุด และมีโอกาสที่จะดันตัวเองไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
โดยเฉพาะในปีนี้ ว่ากันว่าเตรียมทุ่มเม็ดเงินในการผลิตคอนเทนต์ไว้ที่ 600 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% โดยที่ยังคงให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ในหมวดของละครและซีรีส์มากที่สุดกว่า 320 ล้านบาท รองลงมาเป็นรายการวาไรตี้ 180 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าจะสามารถโกยเรตติ้งเพิ่มขึ้น 100% มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท และก้าวขึ้นมาเป็นช่อง Top 10 ได้ภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่ช่อง True 4 U แม้จะมีอดีตนางเอกเบอร์ใหญ่ของวิกหมอชิต อย่าง “แพนเค้ก – เขมนิจ จามิกรณ์” มาประดับในช่อง แต่ก็ไมได้ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ในหมวดของละครมากไปกว่าการเทน้ำหนักไปที่ซิรี่ส์เอาใจติ่งเกาหลี เพื่อสร้างลายเซ็นที่แตกต่างจากช่องอื่นๆ ถึงขนาดมีการจับมือร่วมทุนกับซีเจ อีเอ็นเอ็ม (CJ E&M) บริษัทบันเทิงครบวงจรยักษ์ใหญ่จากเกาหลี ตั้งเป็นบริษัท “ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์” เพื่อมาผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับช่องโดยเฉพาะ รวมถึงการนำรายการ และซิรี่ส์ต้นฉบับของเกาหลีมารีเมคเป็นเวอร์ชันไทย ซึ่งก็มีกระแสตอบรับที่ดีในระดับหนึ่ง
ต่อเมื่อหันมาทางช่อง PPTV ที่ไม่ได้มองความสำเร็จไว้เพียงแค่ Top 10 แต่หวังไปไกลถึง Top 5 จึงไม่แปลกที่จะต้องทุ่มงบลงทุนในเรื่องของการผลิตคอนเทนต์ของปีนี้ไว้สูงถึง 2,000 ล้านบาท มากกว่าช่อง Gmm 25 ถึง 3 เท่าครึ่ง เฉพาะในภาคละครก็ทุ่มไปถึง 500 ล้านบาท สำหรับละคร 10 เรื่องตอลดทั้งปี นั่นหมายถึงว่าเฉลี่ยแล้วเรื่องละ 50 ล้านบาทขาดตัว
โดยในปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าช่อง PPTV เป็นช่องที่ถูกจับตา และถูกพูดถึงมากที่สุด โดยเฉพาะโมเดลธุรกิจในเฟสแรกที่เน้นการดุดคอนเทนต์ใหญ่ๆ ปังๆ มากจากช่องอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในช่องของตัวเอง ซึ่งประสิทธิภาพแห่งพลังการดูดก็ส่งผลให้เรตติ้งเฉลี่ยของช่องขยับขึ้นมาทันตาเห็นเลยทีเดียว จนสามารถขยับเข้ามาแตะที่ Top 10 ตั้งแต่ต้นปีถึง 2 สัปดาห์ซ้อน เพิ่งจะตกลงมาอยู่ที่อันดับ 11 เพราะโดนช่อง Now 26 เบียดขึ้นไปแทนที่ โดยอาศัยความแข็งแกร่งจากโปรแกรมของรายการมวยทำให้หวนคืนสู่บัลลังก์ Top 10 อีกครั้ง
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ PPTV ก็คือต้องพยายามไฟลท์เพื่อที่จะช่วงชิงอันดับ 10 กลับมาโดยเร็ว และที่หนักไปกว่านั้น ก็คือต้องพยายามรักษาอันดับไม่ให้ร่วงหล่น ตรงกันข้าม จะต้องสปีดตัวให้อันดับขยับขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง
ส่วนของ Gmm 25 และ True 4 U โจทย์แรกก็คือต้องพาตัวเองไปแตะอันดับ 10 ให้ได้ก่อน ส่วนจะขยับต่อไปได้ไกลแค่ไหนนั้น เป็นความท้าทายในลำดับต่อไป
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 480 2-8 กุมภาพันธ์ 2562