xs
xsm
sm
md
lg

“นาโนเทคโนโลยี” ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เดินหน้าผลิต “สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รับเทรนด์รักษ์โลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย นับเป็นอีกหนึ่งภาคอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศที่ไม่เพียงจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง แต่ยังเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งอีกด้วย

“ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ” ซึ่งมีภารกิจในการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยมีความมุ่งมั่นในการนำนาโนเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังมุ่งหวังที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทยกลายเป็น “สิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ตอบรับกระแสโลกที่กำลังให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ “นาโนเทค” ได้สร้างสรรค์งานวิจัยมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งทอและกระบวนการขึ้นรูปเส้นใย ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และร่วมแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งไม่เพียงจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการไทยเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นความรู้ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์นาโนของไทยที่ไม่แพ้ชาติใดเช่นกัน

หนึ่งในผลงานด้านการพัฒนาสิ่งทอของ “นาโนเทค” ที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ “การพัฒนาสารเคลือบสำหรับสิ่งทอ” ซึ่งได้มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิตสูตรน้ำยาเคลือบและตกแต่ง ผ้าทอและผ้าผืน ทำให้เกิดคุณสมบัติพิเศษ ได้แก่ ผิวสัมผัสนุ่มลื่นไม่ยับง่าย มีกลิ่นหอม สะท้อนยูวีช่วยลดสีซีดจาง ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของกลิ่น และสะท้อนน้ำจึงเปื้อนยากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาให้สารเคลือบมีคุณสมบัติมัลติฟังก์ชั่น สามารถเคลือบได้ภายในขั้นตอนเดียว

นอกจากนี้ นาโนเทคโนโลยียังถูกนำมาใช้ในการวิจัยเพื่อพัฒนาเส้นใยและเทคโนโลยีการขึ้นรูปสำหรับสิ่งทอที่เรียกว่า “n-Breeze” หรือ แผ่นกรองนาโนสมบัติพิเศษ ต้านแบคทีเรีย ทนทาน ทำความสะอาดได้ โดยเส้นใยและแผ่นกรองจากเส้นใยนาโนมัลติฟังชัน ผลิตจากการขึ้นรูปเส้นใยนาโนด้วยองค์ประกอบเฉพาะ ที่ต่างจากเส้นใยและแผ่นกรองเส้นใยนาโนทั่วไป มีสมบัติต้านแบคทีเรีย สะท้อนน้ำ ป้องกันรังสียูวี ทั้งยังมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ทนต่อแรงดึง สามารถกรองละเอียดได้ทั้งในระบบน้ำและอากาศ แผ่นกรองนี้สามารถทำความสะอาดได้และทนต่อแสงแดด ผ่านการทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล จึงสามารถนำไปใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ หรือใช้ทดแทนแผ่นกรองอากาศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้

นักวิจัยจาก “นาโนเทค” ไม่เพียงมุ่งแก้ปัญหา แต่ยังให้ความสำคัญกับทิศทางในอนาคตของการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนด้วย โดยล่าสุดมีแนวคิดด้านการวิจัยพัฒนาเส้นใยที่ย่อยสลายได้ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ก่อนหน้านี้อาจจะถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่สร้างมลพิษให้กับโลกจากที่มาของเส้นใยสังเคราะห์ต่าง ๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามกระแสเทรนด์โลกที่กำลังมาแรงในขณะนี้
ปัจจุบัน นาโนเทคกำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีนาโนเข้ากับเทคโนโลยีเดิม โดยนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่บริษัท PTT MCC Biochem บริษัท ในกลุ่ม ปตท. ในการพัฒนา Polybutylene Succinate หรือ PBS เพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นใย Multifilament ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นสิ่งทอที่ย่อยสลายได้ และสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หีบห่อบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เช่น ถุงชา หรือถุงหุ้มเครื่องนอนใช้แล้วทิ้ง (Disposable Product) ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ นับว่าเป็นทิศทางการแข่งขันใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เป็นตามกระแสของการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่กำลังเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และน่าจะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวัสดุนาโนเฉพาะทางและนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการนำนาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านสิ่งทอว่า “ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันภายในตลาดสิ่งทอ เมื่อย้อนกลับไปสมัยก่อนผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่างๆจะมีความคล้ายกันในท้องตลาด แต่ถ้าเราสามารถผลิตสิ่งทอที่สามารถย่อยสลายได้ ก็จะเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกและจะเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น เมื่อก่อนเรารู้จักเรื่องของผ้าไหม ผ้าฝ้าย แต่ตอนนี้เราสามารถนำปลายโปรดักซ์ของปิโตรเคมี หรือว่าสารตั้งต้นที่มาจากธรรมชาติมาแปรรูปตรงนี้เพื่อนำกลับไปใช้เหมือนสิ่งทอทั่วไป เหมือนไปเปิดตลาดใหม่ เปิดการใช้งานใหม่ ๆ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาเดิมๆ ในเรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

การเดินหน้าวิจัยอย่างไม่หยุดนิ่งตลอด 15 ปีของ “ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ” ไม่เพียงมุ่งหวังที่จะพัฒนาสิ่งทอให้มีคุณสมบัติที่โดดเด่น แต่เป้าหมายสำคัญคือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งทอของไทย และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะส่งผลโดยรวมต่อความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปนั่นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น