xs
xsm
sm
md
lg

“นกแล” ตำนานวงเด็กดอยเลื่องชื่อ...“หนุ่มดอยเต่า-อย่างลืมน้องสาว” เพลงดังสุดฮอตแห่งยุคแฟนฉัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คอลัมน์ เพลงวาน : โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ปกอัลบั้มหนุ่มดอยเต่า(ซ้าย) อุ๊ย(ขวา)
“นกแลก็คือนกแก้ว เสียงแจ้วแจ้ว เป็นหยังใดจา แต่จ๊าวกิ๋นข้าวแล้วกา ไปไหนกันมาบินถลาลอยลม
เช้าเย็นเมื่อได้เห็นหน้า นกแลจ๋า ข้าหวังเชยชม ปากแดงแกมเหลืองส้ม ตัวเขียวปนกม น่าชมนกแล...”

เพลง นกแล : วงนกแล

เด็กวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า

แต่เพลงเด็กของวง“นกแล”ในวันนั้น เวลาฟังทีไรมันทำให้ผู้ใหญ่ในวันนี้อย่างผม อดหวนรำลึกนึกถึงสมัยเมื่อครั้งเป็นเด็กไม่ได้ และเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ผมจึงขอหยิบยกเรื่องราวและบทเพลงของวงนกแลมานำเสนอ เพื่อหวนรำลึกถึงความโดดเด่นโด่งดังของวงดนตรีวงนี้

และเพื่อให้แฟนเพลงในยุคเดียวกับนกแลได้หวนรำลึกถึงบรรยากาศเมื่อครั้งวัยเยาอีกครั้ง

นกแลก็คือนกแก้ว

แม้จะเป็นวงดนตรีเด็ก แต่ “นกแล” ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในวงดนตรีแห่งตำนาน ที่โด่งดังเฟื่องฟูมากในยุค 80’s ตอนกลาง ซึ่งนอกเหนือจากความน่ารักใสซื่อของพี่ๆน้องๆและเพื่อนๆเหล่านี้แล้ว(นกแลเป็นวงดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกับผม) ยังมีภาพอันโดดเด่นของวงดนตรีเด็กมากความสามารถ ร้องเล่นดนตรีเองเทียบเท่ากับวงผู้ใหญ่ และภาพอันติดตาของกลุ่มเด็กๆหญิงชายในชุดชาวไทยภูเขา“เผ่าม้ง” ที่แปลกแหวกแนวมากในสมัยนั้น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของวงนกแลมาจนถึงทุกวันนี้

วงดนตรีวงนี้ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2523-24 โดยสมเกียรติ สุยะราช ครูประชาบาลจากโรงเรียนพุทธิโสภณ จ.เชียงใหม่ ที่ริเริ่มโครงการดนตรีเพื่อเยาวชนขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในรูปแบบของวงดุริยางค์ก่อน จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนหันมาคัดเด็กๆที่มีทักษะ ด้านดนตรีเป็นพิเศษ ฟอร์มวงดนตรีโฟล์คซองเล็กๆขึ้น ตระเวนเล่นเพลงพื้นเมือง เพลงโฟล์คซองในสไตล์จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินแห่งล้านนาที่โด่งดังมากในช่วงนั้น

แรกเริ่มเดิมทีวงนี้ยังไม่ได้ใช้ชื่อว่า “นกแล” จนกระทั่งวันหนึ่ง อ.สมเกียรติ์เห็นกลุ่มเด็กๆชาวม้งหน้าตามอมแมม แก้มสีแดงปลั่งนำนกแก้วมาเร่ขายในตัวเชียงใหม่ เด็กชาวม้งพวกนั้นเรียกนกแก้วว่า “นกแล

นั่นนับเป็นการจุดประกายให้ อ.สมเกียรติ์นำชื่อนกแลมาตั้งเป็นชื่อวง พร้อมๆกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอจุดเด่นจุดขายให้กับทางวงเสียใหม่(จากความประทับใจในความไร้เดียงสาของเด็กๆชาวม้งพวกนี้) ด้วยการในเด็กๆในวงเปลี่ยนมาแต่งกายในชุดชาวเขาเผ่าม้งสีสันสดใส เวลาขึ้นแสดงดนตรี ทำให้วงนกแลเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในเชียงใหม่มากขึ้น
ปกอัลบั้มสิบล้อมาแล้ว(ซ้าย) ช้าง(ขวา)
แต่ อ.สมเกียรติ์ยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างฝันให้ยาวไกล เขาจึงออกเดินหน้าหาทุนให้วงนกแลออกอัลบั้ม(เทป)โฟล์ซองชุดแรกทำเองขายเองในชื่อชุด “ช่วยเด็กยาก

งานเพลงชุดนี้แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ถือเป็นการเพาะต้นกล้าสำคัญให้กับวงนกแล เพราะหลังจากนั้นวงดนตรีวงนี้ได้เดินหน้าปรับเปลี่ยนจากวงโฟล์คซองมาเป็นวงสตริง เพิ่มเครื่องดนตรีไฟฟ้าเข้ามา พร้อมกับนำผลงานชุดช่วยเด็กยากมาบันทึกเสียงใหม่อีกครั้งในชื่อชุด“นกแลกับดอกทานตะวัน” เป็นดนตรีแนวสตริงโดยมีจรัล มโนเพ็ชร มาช่วยเหลือ ซึ่งก็ทำให้วงนกแลเริ่มมีชื่อเป็นที่รู้จักขึ้นมา โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นนกแลถือว่าโด่งดังพอตัว

จากนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อวงนกแลได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯเพื่อมาขึ้นเวทีใหญ่ครั้งแรกที่ลานโลกดนตรี เวทีคอนเสิร์ตระดับแห่งยุค 80’s ของโฆษกคนยาก “เสกสรร ภู่ประดิษฐ์”(ผู้ล่วงลับ) ที่เป็นการเปิดตัววงนกแลให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักมากยิ่งขึ้น

การขึ้นเวทีลานโลกดนตรีครั้งแรก นกแลมีโอกาสโชว์ฝีมือแค่ 3 เพลงเท่านั้น เนื่องมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา

แต่ด้วยความแปลกแหวกแนวของการแต่งกาย ความน่ารักของเด็กๆ และความสามารถทัดเทียมผู้ใหญ่ ทำให้เป็นที่ชื่นชมของของแฟนเพลงจำนวนมาก ทำให้หลังจากนั้นอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์วงนกแลถูกเรียกให้ไปเล่นที่เวทีโลกดนตรีอีกครั้ง

ในครั้งนี้ผลงานของวงนกแลไปเข้าตาของ “น้าเต๋อ -เรวัติ พุทธินันท์” ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่ ที่ไปชมการแสดงสดของพวกเขา น้าเต๋อจึงได้ชักชวนให้วงนกแลไปร่วมงานกับทางบริษัท ซึ่ง อ.สมเกียรติ์ก็ไม่ขัดข้อง เพียงแต่มีข้อแม้ว่า ทางแกรมมี่ต้องไม่เปลี่ยนซาวน์ดนตรีและทางเพลงของนกแล และต้องให้เด็กๆลงมือบันทึกเสียงในห้องอัดกันเอง

แกรมมี่ในยุคนั้นไม่ใช่ยุคนี้ที่เน้นในเรื่องการทำธุรกิจจ๋า ข้อเสนอของนกแลจึงผ่าน นำไปสู่การออกอัลบั้มแรกและสร้างชื่อถล่มทลายให้กับวงนกแล
ปกเทปอัลบั้มรวมฮิต
หนุ่มดอยเต่า เปิดโลกนกแล

เมืองไทยยุคนี้ท่าทางแดดลมคงจะแรงมาก วงดนตรีเด็กๆหลายวงจึงออกมาในแนวแก่แดด แก่ลม โดยเฉพาะกับวงเกิร์ลแบนด์สาววัยรุ่นลอกเกาหลีญี่ปุ่นหลายๆวง ทั้งตัวเพลงทั้ง MV ล้วนทำออกมาในแนวหมกมุ่นต่อการจับผู้ชายมาเป็นแฟน ชนิดที่ไม่เป็นอันร่ำอันเรียน ผิดเพลงของวงนกแลที่เน้นในความน่ารัก บริสุทธิ์ ซื่อใส ไร้เดียงสา ปราศจากมารยา ดังคอนเซ็ปต์ของวงที่ว่า “ดนตรีปฐมวัยคือความบริสุทธิ์

นั่นจึงทำให้เพียงอัลบั้มแรก(ที่ออกกับแกรมมี่)ในชื่อชุด“หนุ่มดอยเต่า” ที่ออกมาในปี 2528 ก็โด่งดังเปรี้ยงปร้างปานระเบิดถล่มทลาย โดยเฉพาะกับเพลง“หนุ่มดอยเต่า”ที่ให้ความสนุกสนาน สดใส ไม่เพียงมีเด็กๆนำไปร้องและเต้นเลียนแบบเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็ยังนำเพลงนี้ไปร้อง เล่น เต้นเลียนแบบกันเต็มบ้านเต็มเมือง

หลังจากนั้นนกแลก็ออกอัลบั้มภายใต้สังกัดแกรมมี่ออกมาอีก 4 ชุดคือ “อุ๊ย” (2529), “สิบล้อมาแล้ว” (2530), “ช้าง” (2531) และ “ทิงนองนอย” (2532) โดยมีสมาชิกในช่วงระยะเวลานี้ที่ถือเป็นยุคไลน์อัพ ประกอบด้วย

อ.สมเกียรติ์ สุยะราช : ควบคุมวง-กีตาร์,นพดล สุยะราช (แจ๊ด): กีตาร์,สุวิทย์ ไชยช่วย (หนึ่ง): กลอง-ร้องนำ,ปรัชญา ปัญจปัญญา (หนุ่ม): คีย์บอร์ด-ร้องนำ,โสฬส สุขเจริญ : กีตาร์,ทิพย์พร นามปวน (นก): เบส

ทินกร ศรีวิชัย (ยัน): บองโก้-ร้องนำ,อุดร ตาสุรินทร์ (ดร): กลอง-ทอมบ้า,ศิริลักษณ์ จุมปามณีวร (น้อย): ร้องนำ-จังหวะ,ดาราภรณ์ ศรีวิชัย (หนึ่ง): ร้องนำ, จังหวะ,แพรวพราว ไชยทิพย์ (ตุ๊กตา): โฆษก-จังหวะ,อภิชาติ ขันแข็ง (เอ): ร้องนำ,ศรัญญา อุปพันธ์ (ตุ๊ดตู่): ร้องนำ และ สุพรรณิการ์ เขธาปริญญา (กุ๊กไก่): ร้องนำ

ในปี 2533 นกแลมีงานเพลงรวมฮิตกับแกรมมี่ออกมาอีก 1 ชุด ก่อนที่เหล่าสมาชิกจะเติบโตเป็นหนุ่มสาว มีงานการ มีภาระร่ำเรียนที่เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือซุ่มเสียงได้แตกหนุ่มสาว ไม่เหมาะต่อการร้องเพลงแบบเด็กๆในสไตล์สดใสน่ารักเหมือนแต่ก่อน ขณะที่เหล่าสมาชิกเด็กรุ่นหลังที่เปลี่ยนเวียนเข้ามาก็ไม่สามารถดึงดูดแฟนเพลงได้เท่าสมาชิกในยุครุ่งโรจน์ ทำให้วงนกแลเดินถึงจุดอิ่มตัว เลิกผลิตงานสตูดิโออัลบั้มออกมา และค่อยๆหายหน้าหายตาเฟรดชื่อเสียงไป ทิ้งผลงานเด่นๆดังๆของพวกเขาไว้เป็นตำนาน
ไอ้หนุ่มดอยเต่า มันเศร้าหัวใจ กึ๊ดมากึ๊ดไป มันน้อยใจแต่เล่า(ภาพ จาก ยูทูบ)
เพลงดังนกแล

นอกจากฝีมือทางดนตรีของเด็กๆที่สามารถเล่นออกมาสู้ผู้ใหญ่ได้ ความใสซื่อน่ารักของเด็กๆ และความแปลกแหวกแนวจากชุดการแสดงแล้ว ในด้านส่วนของภาคเนื้อเพลงของวงนกแล ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามผ่าน เนื่องเพราะในบทเพลงที่ถูกร้องผ่านเสียงร้องอันน่ารักใสซื่อของเด็กๆควบคู่ไปกับภาคดนตรีที่มีสีสันนั้น บทเพลงส่วนหนึ่งมุ่งนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมชนบท ชาวเขา ชาวดอย ชาวเหนือ ได้อย่างน่าฟัง บทเพลงส่วนหนึ่งนำภาษาถิ่นล้านนามาผสมกับภาษากลางได้อย่างกลมกลืน บทเพลงส่วนหนึ่งนำเสนอปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว เยาวชน สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด ได้อย่างคมคายไม่ต่างไปจากบทเพลงเพื่อชีวิต(ยุคนั้น) บทเพลงส่วนหนึ่งนำเสนอเรื่องราวของเด็กๆได้อย่างน่ารักน่าฟัง

นั่นจึงทำให้ช่วงปี 2528-2532 วงนกแลที่มีผลงานออก 5 ชุด จาก 5 ปี (ไม่รวมชุดรวมฮิต) ประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับทั้งชื่อเสียง ยอดขาย กล่อง และรับรางวัลทางดนตรีต่างๆมากมาย รวมถึงยังได้รับเชิญให้ไปแสดงดนตรีที่เมืองนอกเมืองนาทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา

ในขณะที่บทเพลงฮอตฮิตติดหูของวงนี้(ในยุคนั้น)ก็จัดว่ามีอยู่พอมากสมควรร่วม 20 เพลง แถมบางเพลงยังดังเป็นอมตะข้ามยุคสมัยมาจนถึงทุกวันนี้ และนี่ก็คือ 10 บทเพลงดังคัดสรรของวงนกแลที่ผมขอหยิบยกมารำลึกอดีต

เริ่มกันด้วย “ติดอ่าง” (อัลบั้ม-ทิงนองนอย) เมื่อคาราบาวมีน้าอ๊อด-กระถางดอกไม้ให้คุณ นกแลก็มีน้องหนุ่ม-ติดอ่าง ที่อยากร้องเพลงบ้าง แต่ร้องทีไรติดอ่างทุกที เพลงนี้เป็นเพลงสนุก มีลูกเล่นด้วยการร้องรับส่งกัน พร้อมด้วยท่อนแร๊พ กับท่อนฮุคโดนๆ “เพลงเพลงนี้ ให้เธอจริงใจ ฝากฝากไว้ ให้เธอผู้เดียว” ให้น้องหนุ่มร้องตามในแบบติดอ่าง

ติดอ่างเป็นเพลงที่ฟังแล้วชวนให้อมยิ้มตามไปด้วยไม่ได้ ยิ่งนึกถึงสมัยละอ่อนที่เพื่อนๆหลายคนมันพยายามร้องเพลงติดอ่างเลียนแบบเพลงนี้ ครั้นเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นมา พวกมันหลายๆคนก็ยังเป็นพวกติดอ่างกันอยู่ หากแต่เป็นอ่างสยิวแถวๆรัชดานะ

ต่อกันที่ “พี่สาว” (อัลบั้ม-ทิงนองนอย) ว่าด้วยเรื่องราวของพี่สาวที่จากบ้านไปแต่งงาน แต่อยู่กินกับพี่เขยได้ไม่นานก็ต้องแยกทางกัน ฟังเพลงนี้แล้ว เศร้า น่าสงสารทั้งพี่สาวและแม่ เพราะต่างก็ร้องไห้กันทั้งคู่ “...อีกแล้วแม่เฮาร้องไห้ พี่เฮาก็ร้องไห้ตาม...”

อุ๊ย” (อัลบั้ม-อุ๊ย) มาในจังหวะสนุกๆ คารวะแด่ผู้เฒ่าผู้แก่และยกย่องในภูมิปัญญา

“...เมตตา กรุณา ปรานี สิ่งนี้มากมีอยู่ที่ ตัวอุ๊ย
จะยืน จะเดิน จะนอน น้ำคำพร่ำสอน ไม่จางจากอุ๊ย
หากหนู โตเป็น ผู้ใหญ่ หาก หนูโต เป็นผู้ใหญ่
ขอน้อมดวงใจ ทดแทนพระคุณ แด่ อุ๊ย...”

เพลงอุ๊ยนำเสนอความรู้สึกผูกพันของหลานสาวกับอุ๊ยผู้ใจดี ฟังอบอุ่นซาบซึ้งใจดีแท้ พร้อมๆกับชวนฉุกให้คิดถึงสังคมยุคนี้ที่ใครหลายๆคนใจร้ายทิ้งพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยให้อยู่โดดเดี่ยวเดียวดายอย่างน่าสงสาร โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาเราได้เห็นพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยถูกทิ้งให้ต่อสู้ผจญกับป้าน้ำตามลำพังอยู่เป็นจำนวนมาก

จากเพลงครอบครัวอบอุ่น สลับมาฟังเพลงปัญหาครอบครัวกันใน “ร้องไห้หาแม่”(คำร้อง-สมเกียรติ์ สุยะราช,ทำนอง-วิชัย อึ้งอัมพร,อัลบั้ม-หนุ่มดอยเต่า) เนื้อร้องเล่าถึงชีวิตของเด็กสาวที่ถูกพ่อใจร้ายทอดทิ้ง ส่วนแม่ก็ดันมาทิ้งลูกไปอีก ปล่อยให้ลูกอยู่กับตายายที่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะตายายก็มาจากไปอีกจนเด็กน้อยต้องไปอาศัยอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้า
เพลงคอนเสิร์ตคนจนกลับมาฮิตอีกครั้งในหนังเรื่อง แฟนฉัน(ภาพ จาก ยูทูบ)
คนเดียวโดเด่”(อัลบั้ม-ช้าง) นี่เป็นอีกหนึ่งเพลงที่เดินตามรอยร้องไห้หาแม่ ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กร่อนเร่ที่ต้องต่อสู้เผชิญชีวิตโดยลำพังแบบคนเดี่ยวโดดๆ หัวดำโด่เด่ เพลงนี้เล่นคำได้ดีมาก

“...หิวก็อด หมดก็หา ขาก็เดินไปตามกรรม
มีก็เก็บ เจ็บก็จำ ทำคนเดียวไม่เกี่ยวใคร
พ่อไม่มี แม่ไม่มา ย่าไม่อยู่ ญาติไม่เยอะ
ตีนก็เลอะ เหงื่อก็เละ เพราะเดินลุยไปดุ่ยๆ...”

ทั้งร้องไห้หาแม่และคนเดียวโดเด่ ภาคดนตรีมีจังหวะและท่วงทำนองที่ฟังสนุก แต่ภาคเนื้อร้องนั้นกลับฟังแล้วเศร้าชะมัด นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสังคมที่ร่วม 30 ปีที่ผ่านมาสภาพการณ์นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังแย่ลงอีกต่างหาก

ต่อกันด้วยอีกหนึ่งเพลงสนุกอย่าง “สิบล้อมาแล้ว” (อัลบั้ม-สิบล้อมาแล้ว) 3 ช่า โจ๊ะ โจ๊ะ มันๆ มาแนวลูกทุ่งเพื่อชีวิต เสียงร้องแม้จะเป็นเด็ก แต่ว่าก็สามารถสะท้อนวิถีคนขับ 10 ล้อ ออกมาได้อย่างน่าฟัง ซึ่งในวันนี้วิถี 10 ล้อดูๆแล้วก็ไม่ต่างจากอดีตมากนัก จะมีต่างกันบ้างก็ตรงเรื่องที่นอกจากจะต้องจ่ายส่วยแล้ว ยังต้องคอยประท้วงยามเมื่อรัฐบาลคอยจะขึ้นราคาก๊าซ NGV อีกด้วย

“...สิบล้อมาแล้วสองแถวหลบหน่อย เฮาเกิดมาเป็นผู้น้อย บ่จอยเพราะมันเหนื่อยใจ
วิงวอนหลวงตา คุ้มครองบ้านนาพ้นภัย พ่อแม่ลูกเมียเป็นใหญ่ รักสุดหัวใจสิบล้อ...”

คอนเสิร์ตคนจน” (อัลบั้ม-ช้าง) มีโหมโรงขึ้นมาในอารมณ์เซิ้งอีสาน พร้อมจับยอดนักร้องชายแห่งยุคในสมัยนั้นคือ พี่เบิร์ด-ธงไชย กับพรศักดิ์ ส่องแสง มาปะทะกัน เพลงนี้เนื้อหา ทำนอง จังหวะ สนุกๆมาก แถมไอเดียดีอีกต่างหาก ฝังผ่านๆอาจมีเนื้อหาของความน้อยใจ แต่ถ้าฟังให้ลึก นี่แหละคือการไม่ยอมจำนน คนเราถ้าไม่ท้อถอย รู้จักใช้สติปัญญาก็จะสามารถหาความสิ่งต่างๆเข้ามาเติมเต็มความสุนทรีในชีวิตได้อย่างไม่ยากเย็น

เพลงคอนเสิร์ตคนจนกลับมาโด่งดังอีกครั้งในไม่กี่ปีมานี้ เมื่อหนังเรื่อง“แฟนฉัน”หยิบเพลงนี้มาเป็นหนึ่งในเพลงประกอบ

สลับอารมณ์มาฟังเพลงเศร้าอันโด่งดังกับ “อย่าลืมน้องสาว” (อัลบั้ม-สิบล้อมาแล้ว) มาในกลิ่นลูกทุ่ง ฉายภาพให้เห็นถึงวิถีชนบท ที่พี่สาวจากบ้านเงียบหายต๋อมไป จนน้องสาวต้องร่ำร้องถวิลหา

“...ไปเป็นด็อกเตอร์ หรือเป็นนักศึกษาที่ไหน เป็นคุณนายบ้านใด บ้านใด
ส่งเงินมามากพอแล้ว อยากให้ส่งตัวพี่ไป หรือรวยแล้วมีน้องใหม่ หลงลืมน้องสาว
บัดนี้ เจ้านาไก่น้อย มีลูกน้อยกลอยใจ กลอยใจ อยากให้มาชม
พี่สาว เจ้าไปสุขสม ไปกับสายลม สายลม ที่พัดหายไป...”

เพลงนี้ตุ๊ดตู่ร้องได้อย่างถึงอารมณ์น่าฟัง ในขณะที่มิวสิกวีดีโอก็น่าดูจนได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทมิวสิกวีดีโอรองดีเด่น ในปี 2530

มาถึง 2 ยอดเพลงดังที่เปิดตำนานวงนกแลให้สาธารณะชนรู้จัก เริ่มด้วย“หนุ่มดอยเต่า”(อัลบั้ม-หนุ่มดอยเต่า) เล่าเรื่องราวของดอยเต่า 2 ยุค คือยุคก่อนที่ลำบากกันดาร หน้าแล้งแห้งน้ำ หน้าฝนน้ำท่วม จนไอ้หนุ่มดอยเต่าต้องจากบ้านลงดอยไปหาดินแดนไกล กับดอยเต่ายุคใหม่ที่พัฒนาแล้ว มีถนนหาทางลาดยางสบาย ไฟฟ้าเข้าถึง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ สามารถ ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงปลา หากินได้สบาย

เพลงหนุ่มดอยเต่า ทินกรร้องถ่ายทอดออกมาได้สนุกมาก โดยเฉพาะช่วงท่อนแร๊พ ร้องไปเต้นไปนี่ได้ใจแฟนเพลงมากมาย

“...(แร๊พ) ไอ้หนุ่มดอยเต่า มันเศร้าหัวใจ กึ๊ดมากึ๊ดไป(คิดมาคิดไป) มันน้อยใจแต่เล่า แต่ก่อนบ้านเฮา ดอยเต่าเมินมา ลำบากหนักหนา น้ำตาเฮาไหล พอถึงหน้าฝน เหมือนคนมีกรรม ไร่นาที่ทำ น้ำท่วมทั่วไป อดอยากแต้เล่า ดอยเต่าเฮานี้ เอ็นดูน้องปี้ จะไปพึ่งไผ พอถึงหน้าหนาว ก็หนาวก็เหน็บ เดือนหกเดือนเจ็ด ก็ฮ้อนเหลือใจ หน้าแล้งแห้งน้ำจะทำจะใด จะไปที่ไหนน้ำกิ๋นบ่มี...”

และก็มาถึงเพลงดังชื่อเดียวกับวงคือ “นกแล” (อัลบั้ม-หนุ่มดอยเต่า)

เพลงนี้ต้องถือว่ากลั่นออกมาจากสมองและสองมือของครูสมเกียรติ์ผู้ก่อตั้งวงนกแลอย่างแท้จริง เนื้อหาง่ายๆ ฟังสนุก ที่นอกจากจะเป็นเป็นเพลงเอกลักษณ์ประจำวงมาจนถึงทุกวันนี้แล้ว เพลงนี้ยังทำให้ใครหลายคนรู้ว่านกแลก็คือนกแก้ว

“...นกแลก็คือนกแก้ว เสียงแจ้วแจ้ว บินมาเร็วไว ค่ำแล้วบ่ดีไปไก๋ ระวังงูไซ กิ๋นตับนกแล...”

นอกจาก 10 เพลงดังคัดสรรแล้ว นกแลยังมีเพลงเด่นชวนฟังอีกมากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “เลือกเกิดไม่ได้”, “ลองดู”,“ค.ย.คำย่อ”,“ปุ๊บปั๊บ”, “ช้างชื่อน้อย”,“ทิงนองนอย”, “ดอยเต่าอินเจแปน”(หนุ่มดอยเต่าเวอร์ชั่นบุกเจแปน) ฯลฯ

ครับและนั่นก็คือเพลงดังและเรื่องราวคร่าวๆของวงนกแล วงดนตรีในระดับตำนานที่วันนี้ยังคงบินค้างฟ้าอยู่คู่กับยุทธจักรวงการเพลงไทย ซึ่งเวลาฟังเพลงเก่าๆของวงนกแลทีไร มันมักจะนำพาจินตนาการของผมให้โบกโบยบินไปหวนรำลึกถึงอดีตเมื่อครั้งเยาว์วัยอยู่เสมอ




กำลังโหลดความคิดเห็น