xs
xsm
sm
md
lg

จาก “เกมพันหน้า” ถึง “กิ๊กดู๋” และอื่นๆ สถานการณ์ช่อง 7 ในยุคคอนเทนต์ไหลออก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ข่าวการย้ายช่องของรายการ “กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง” ที่ถือเป็นโปรแกรมเด็ดภาคดึกของช่อง 7 สี ออกอากาศ มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2553 ตัดสินใจอำลาวิกหมอชิต เพื่อไปปักหลักอยู่ที่ช่องน้องใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง PPTV ในต้นปีหน้านั้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือด เข้มข้น บนสมรภูมิดิจิทัลทีวีแล้ว ยังอาจจะนำพามาซึ่งคำถามที่ช่อง 7 ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า .....

ถึงเวลาที่จะทบทวนโมเดลธุรกิจของตัวเอง ก่อนที่คอนเทนต์ดีๆ จะไหลออกจนหมดผังหรือยัง !!???

จริงอยู่ที่ ณ เวลานี้ ช่อง 7 ยังคงเป็นช่องใหญ่ที่ยืนหนึ่งในเรื่องของเรตติ้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า เวลานี้เรตติ้งอันดับหนึ่งก็ไม่อาจทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลมาเทมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนเมื่อก่อน ในเมื่อมีตัวหารมีมากขึ้น ในขณะที่ก้อนเค้กมีเท่าเดิม

ตอนนี้ทุกช่องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมด คือค่าโฆษณาร่วงหล่นจนน่าใจหาย ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อรายได้ของสถานีเท่านั้น แต่ยังกระเทือนไปถึงบรรดาผู้ผลิตรายการทีวี ทั้งหลายด้วย ที่บวกลบคูณหารแล้ว รายได้ไม่เพียงต่อกับรายจ่าย

ตราบใดที่ช่อง 7 ยังคงยืนโมเดลเดิมด้วยการให้เช่าเวลาเพื่อผลิตรายการทีวี ในราคาที่สูงลิบ ก็เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีอีกหลายรายการ ที่ไม่อาจแบกรับต้นทุนค่าเช่าเวลานี้ได้ จะทยอยยกรายการออกจากช่องไปจนเกลี้ยง

ดังที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ก็คือ “เกมพันหน้า” ของทริปเปิ้ล ทู โดย “ซูโม่กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ” มาจน “กิ๊กดู๋สงครามเพลงเงาเสียง” ของเจเอสแอล และแว่วมาว่ากันตนา ก็เตรียมอพยพรายการออกไปทั้งยวง ไม่ว่าจะเป็น “เรื่องจริงผ่านจอ” แม้กระทั่ง “คดีเด็ด”

การเสียคอนเทนต์ดีๆ ที่ต้องนับว่าเป็นโปรแกรมรายการภาคดึกที่มีเรตติ้งสูง อย่าง “กิ๊กดู๋” ในวันอังคาร รวมไปถึง “เรื่องจริงผ่านจอ” ในวันพฤหัส ย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมของช่องอย่างแน่นอน

อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดของช่องก็คือคอนเทนต์ !!!

แม้ช่อง 7 จะอหังการว่าเป็นช่องอันดับ 1 ที่ไม่จำเป็นต้องง้อรายการเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าคงมีผู้ผลิตอีกหลายรายที่พร้อมจะยื่นความจำนงเข้ามาเสียบแทนช่วงเวลาทองอยู่ตลอดเวลา

เข้าทำนอง....คนในอยากออก คนนอกอย่างเข้า.....

แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็จะวนกลับมาจุดเดิม

ขนาดรายการที่เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ ยืนยงอยู่ในผังรายการมานานนับสิบๆ ปี ยังขายโฆษณายาก รายได้ไม่คุ้มกับรายจ่าย ประสาอะไรกับรายการใหม่ ที่จะเข้ามาเสียบแทนในผัง เพราะกว่ารายการเหล่านั้นจะเข้าตาสปอนเซอร์ ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อย ในขณะที่ต้องจ่ายค่าเช่าเวลาตั้งแต่เทปแรกที่ออกอากาศ และถ้าสายป่านไม่ยาวจริง จะทนแบกไปได้อีกเท่าไรกันเชียว สุดท้ายก็ต้องคืนเวลา แล้วก็ต้องหาเจ้าใหม่มาเสียบแทนอีก

ถ้าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างเจเอสแอล , กันตนา ยังถอดใจ ผู้ผลิตรายย่อยก็ไม่ต้องพูดถึง

แหละ....ถ้าช่อง 7 เสียเจเอสแอล กับกันตนาไป ก็เท่ากับว่าแทบจะไม่มีผู้ผลิตรายใหญ่หลงเหลือในช่องอีกเลย นับได้ว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงเอามากๆ

ไม่เพียงแต่รายการเท่านั้น ในส่วนของละครที่เช่นกัน ตอนนี้ดูเหมือนจะมีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างดาราวิดีโอ กับพอดีคำ 2 รายเท่านั้น ที่มีผลงานอย่างต่อเนื่อง และฝีไม้ลายมือพอจะสู้กับละครต่างช่องได้ นอกนั้นก็เป็นผู้จัดรายย่อย ที่อาจจะผ่านเข้ามาแล้วก็จากไป

นี่คือสถานการณ์ ณ ปัจจุบันขณะของช่องที่ยืนหนึ่งในเรื่องของเรตติ้งมาโดยตลอด แต่อาจจะแพ้ภัยตัวเอง ถ้ายังคงยืนยันที่จะใช้โมเดลเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับความเป็นจริงในยุคที่การแข่งขันดุเดือดขนาดนี้ โดยเฉพาะการที่ช่องคู่แข่งพยายามที่จะดึงคอนเทนต์ดีๆ เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับช่อง

ช่อง 7 มีคอนเทนต์ดีๆ เป็นต้นทุนอยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้หลุดมือไป ก็มีโอกาสเหลือเกินที่จะเพลี่ยงพล้ำต่อคู่ต่อสู้
โดยเฉพาะช่องที่น่าจับตามองที่สุดอย่าง PPTV

อย่างที่รู้ๆ กันว่า หุ้นใหญ่ของช่อง PPTV คือกลุ่มปราสาททองโอสถ เพราะฉะนั้นหายห่วงในเรื่องของเงินทุน การดึงคอนเทนต์เข้าในช่องโดยการใช้นโยบายจ้างผลิต ซึ่งเป็นดีลเดียวกับที่ใช้กับรายการ “The Face Men” และ “The Voice” ที่ “ดูด” มาจากช่อง 3 จึงไม่สะทกสะเทือนต่อเสถียรภาพทางการเงินของช่อง ทั้งยังเป็นข้อต่อรองที่ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ปฏิเสธไม่ได้

เพราะนั่นเท่ากับว่าไม่ต้องแบกรับค่าเช่าสถานี แถมยังมีรายได้จากส่วนแบ่งการขายโฆษณาจากทางช่องติดปลายนวมกลับมาอีกด้วย เรียกว่าปิดประตูขาดทุนได้เลย เช่นนี้แล้ว จึงเป็นคำตอบว่าทำไมหลายๆ รายการจึงพร้อมที่จะย้ายตัวเองออกจากช่องใหญ่ๆ มาอยู่ช่องใหม่อย่าง PPTV กันมากมาย

นอกจากเรื่องของโมเดลจ้างผลิตแล้ว การดึงดูดบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่จากช่องใหญ่เข้ามาได้มากมายอย่างนี้ ส่วนสำคัญก็มาจากคอนเนกชันของ 2 ผู้บริหาร อย่าง “สุรินทร์ กฤติยาพงศ์พันธุ์” จากช่อง 3 กับ “พลากร สมสุวรรณ” จากช่อง 7 ที่เป็นแม่เหล็กชั้นดี ที่สามารถชักนำผู้ผลิตทั้งจากทั้ง 2 ช่อง เข้ามาอยู่ในช่อง PPTV ได้อย่างไม่ยากเย็น

แม้ในตอนนี้ความนิยมของช่อง PPTV จะยืนพื้นอยู่ที่อันดับ 13 เรตติ้งเฉลี่ยช่องอยู่ที่ 0.149 ขณะที่เรตติ้งรายสัปดาห์ล่าสุด (12-18 พฤศจิกายน) อยู่ในอันดับที่ 12 เรตติ้งเฉลี่ย 0.146 ทว่าหากยังมีคอนเทนต์ดีๆ ทยอยเข้ามาอยู่ในช่องมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นย่อมส่งผลไปถึงเป้าหมายที่จะพา PPTV มุ่งสู่การเป็นช่อง TOP 10 ในปีนี้ และช่อง TOP 3 ในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงไม่ใช่เป็นแค่เรื่องความฝันลมๆ แล้งๆ อย่างแน่นอน !!!

นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 470 24-30 พฤศจิกายน 2561
กำลังโหลดความคิดเห็น