xs
xsm
sm
md
lg

งาน Thai Night ใน American Film Market 2018 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ดึงดูดผู้ประกอบการภาพยนตร์จากทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


งาน Thai Night 2018 – Thailand Where Films Come Alive ใน American Film Market 2018 ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการดึงดูดนักธุรกิจภาพยนตร์หลายร้อยคนจากทั่วโลกให้ได้เรียนรู้ถึงมนต์เสน่ห์ของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางในการถ่ายทำและผลิตภาพยนตร์ รวมทั้งการให้บริการอย่างสร้างสรรค์

เมืองซานตา โมนิก้า, วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 – งาน Thai Night 2018 – Thailand Where Films Come Alive จัดขึ้นที่โรงแรม JW Marriott Santa Monica Le Merigot, California เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AFM 2018 ในโอกาสนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธี โดยมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เฝ้ารับเสด็จ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 461 คน จากประเทศต่างๆ มากกว่า 16 ประเทศ ซึ่งรวมถึงนักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์ชั้นนำมากมาย เช่น Alain Moussi แขกรับเชิญพิเศษเจ้าของผลงานการแสดงนำใน Kickboxer: Retaliation (2018) และ Dimitri Logothetis ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์

งาน Thai Night 2018 นับเป็นเวทีที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้แสดงความสามารถและศักยภาพในการผลิตและขั้นตอนหลังการผลิต พร้อมด้วยกิจกรรมการแสดงผลงานบริษัทภาพยนตร์ของไทย ซึ่งบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์และแอนิเมชั่นชั้นนำของไทยจำนวน 8 บริษัท ได้เข้าร่วมแสดงผลงานล่าสุดและบริการต่างๆ โดยบริษัททั้งแปดประกอบด้วยบริษัท เบนีโทนฟิล์ม จำกัด, บริษัท จีดีเอช 599 จำกัด, บริษัท ฮอลลีวู้ดไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด, บริษัท พี.แอล.เอช. โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ จำกัด

ในส่วนของภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการแนะนำในตลาดภาพยนตร์ประจำปีนี้ และได้รับการนำเสนอภายในงานประกอบด้วยภาพยนตร์เรื่อง ขุนพันธ์ 2 อำนวยการสร้างโดยบริษัท สหมงคลฟิล์ม ภาพยนตร์เรื่อง Homestay อำนวยการสร้างโดย บริษัท จีดีเอช และภาพยนตร์เรื่อง Sad Beauty จัดจำหน่ายโดยบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส

ในการนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้มีพระดำรัสถึงผลงานล่าสุดของบงกช เบญจรงคกุล จากภาพยนตร์เรื่อง Sad Beauty ว่า “นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีนักสร้างภาพยนตร์จำนวนมากที่มีความคิดก้าวหน้า ซึ่งคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และขยายพรมแดนของโลกภาพยนตร์ให้กว้างขวางออกไป” ภาพยนตร์ไทยได้รับความสนใจจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอบคุณผู้สร้างภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ที่สร้างภาพยนตร์คุณภาพออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ผสมผสานหลายแนวทางเข้าด้วยกันอย่าง Sad Beauty หรือภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเกี่ยวกับการโกงข้อสอบที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่าง Bad Genius ผลงานของนัฐวุฒิ พูนพิริยะ ภาพยนตร์ชีวิตสะเทือนอารมณ์อย่าง Malila ผลงานของอนุชา บุญยวรรธนะ ซึ่งได้รับรางวัล Kim Ji-seok Award จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 22 หรือ Monta Ray (กระเบนราหู) ผลงานของพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ซึ่งได้รับรางวัล Orizzonti Award สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Venice International Film Festival ครั้งที่ 75
ความสามารถของคนไทยไม่ได้มีเฉพาะในส่วนของการกำกับเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถระดับโลกในอีกหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เริ่มจากการออกแบบแนวคิด ของกฤษดา สัจจะวัชรพงศ์ ประติมากรและศิลปินผู้ออกแบบแนวคิดในภาพยนตร์อย่าง Star Wars, Spiderwick Chronicles, The Shadow King หรือ The Life Aquatic และการออกแบบอุปกรณ์ประกอบฉากของนครินทร์ คำสีลา นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ผู้ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นเจ้าของผลงานการออกแบบของแบรนด์ Deesawat ซึ่งเคยมีผลงานปรากฏในภาพยนตร์ต่างประเทศอย่าง Her และ The Gift
ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยถูกสั่งสมมานานหลายศตวรรษสืบเนื่องจากวัฒนธรรมของไทยที่มีมาอย่างยาวนานและมีความหลากหลาย ซึ่งมีเอกลักษณ์และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก เมื่อรวมเข้ากับสถานที่อันสวยงาม กระบวนการผลิตที่ทันสมัย ขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ความสามารถในการผลิตแอนิเมชั่น รวมถึงบริการด้านเทคนิคพิเศษ จึงนับได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการในการสร้างภาพยนตร์ระดับโลกได้เป็นอย่างดี

นี่คือเหตุผลว่าเพราะเหตุใดในขณะที่ภาพยนตร์ไทยกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมและเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยเองก็ได้พัฒนาสถานะขึ้นมาเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์
ที่น่าดึงดูดใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในปี 2560 คณะผู้ถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ 1,258 ราย ได้เดินทางเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 145 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวอย่างภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ได้แก่ Jiu Jitsu ภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น Sci - fi ของผู้กำกับ Dimitri Logothetis, นำแสดงโดย Tony Jaa, Alain Moussi และ Randy Couture

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ความสำเร็จเหล่านี้เป็นผลโดยตรงจากจุดแข็งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสี่ด้าน อันประกอบด้วยทักษะความสามารถของบุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทย คุณภาพของทีมงานผู้ผลิต สถานที่อันสวยงามของไทย และความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานขั้นตอนหลังการถ่ายทำ รวมถึงความสามารถในการผลิตแอนิเมชั่น และบริการด้านเทคนิคพิเศษ

ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มแข็งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2560 ที่เริ่มมีการใช้มาตรการในการคืนเงินสูงสุด 20% จากค่าใช้จ่ายในการผลิตของภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย

นับเป็นความพยายามของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และการให้บริการด้านความคิดสร้างสรรค์แก่วงการภาพยนตร์นานาชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่รู้จักในชื่อ Thailand 4.0

เห็นได้จากจำนวนผู้แทนจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศหลายร้อยคนที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ถือได้ว่ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินกลยุทธ์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทย ผลงานภาพยนตร์ไทย และการให้บริการต่างๆ จนประสบผลสำเร็จด้วยดี ในขณะที่จำนวนผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศที่เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายในการถ่ายทำมีเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือระหว่างบริษัทไทยกับผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศก็ได้เกิดขึ้นในงานนี้เช่นกัน และผู้ซื้อภาพยนตร์จากต่างประเทศจำนวนมากต่างให้ความสนใจภาพยนตร์ไทยเรื่องใหม่ๆ ที่นำเสนอภายในงาน ทำให้เกิดการซื้อขายภาพยนตร์ไทยในงานครั้งนี้มากเป็นประวัติการณ์





กำลังโหลดความคิดเห็น