xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้ว “กิมย้ง” เจ้าของนิยายกำลังภายใน “มังกรหยก” เสียชีวิตด้วยวัย 94 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สื่อจีนเปิดเผยว่า ยอดนักเขียนนิยายกำลังภายในเจ้าของผลงานระดับตำนานอย่าง มังกรหยก ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 94 ปี

สื่อจีนได้ให้ข่าวยืนยันว่า กิมย้ง หรือ จา เลี้ยงย้ง เจ้าของผลงานนิยายกำลังภายในระดับตำนานมากมาย ได้เสียชีวิตลงในช่วงบ่ายของวันนี้ (30 ต.ค.) ด้วยวัย 94 ปี

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ กิมย้ง ก็คือ ไตรภาคชุดมังกรหยก ที่ประกอบไปด้วย มังกรหยก, ลูกมังกรหยก และ ดาบมังกรหยก ทั้งหมดเป็นนิยายกำลังภายในที่ผูกเรื่องเข้ากับประวัติศาสตร์ของจีนได้อย่างแนบเนียน และเต็มไปด้วยตัวละครที่มีสีสันมากมาย ตัวละครอย่าง ก๊วยเจ๋ง, อึ้งย้ง, เอี้ยก้วย หรือ เซียวเหล่งนึ่ง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะสำหรับคนที่อ่านนิยายเท่านั้น

เขายังมีผลงานเด่นอย่าง กระบี่เย้ยยุทธจักร, อุ้ยเสี่ยวป้อ และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ที่ก็ได้รับการยกย่องมากเช่นเดียวกัน

กิมย้ง เขียนนิยายกำลังภายในแค่ 15 เรื่องในระยะเวลา 17 ปี ระหว่างช่วง 1955-1972 เท่านั้น และหลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีผลงานใหม่อีก นอกจากกลับไปแก้ไขงานเดิมให้สมบูรณ์แบบขึ้นเท่านั้น แต่นิยายของกิมย้ง กลับยิ่งใหญ่ และส่งอิทธิพลไปสู่นักเขียนรุ่นหลังๆ และครองใจผู้อ่านมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เกาหลี, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, พม่า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และรวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ติดตามอ่านผลงานของ กิมย้ง มากมาย

นอกจากนั้น ผลงานของเขายังถูกดัดแปลงเป็นทั้งซีรีส์ และหนังมาแล้วเรื่องละหลายๆ รอบ จนนักแสดงเชื้อสายจีนแทบจะทุกคนต้องเคยผ่านการแสดงเป็นตัวละครในนิยายของ กิมย้ง กันมาบ้างไม่มากก็น้อย



ประวัติกิมย้ง : จอมยุทธดาบปากกา

ข้อมูลส่วนตัว :
นามปากกา : จินยง (กิมย้ง)
ชื่อเดิม : จาเหลียงยง
ชื่อภาษาอังกฤษ : Louis Cha
วันเดือนปีเกิด : 6 มิถุนายน ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467), ปีจอ, ราศีลัคนาปลาคู่*
ศาสนา : พุทธ
บ้านเกิด : เขตไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียง แห่งภาคตะวันออกของจีน
ครอบครัว : เป็นบุตรคนที่สองของตระกูลที่มีฐานะ และมีการศึกษา

กิมย้ง ซึ่งมีเสียงในภาษาจีนกลางว่า จินยง (金庸) เป็นนามปากกาจาเหลียงยง (查良鏞) นักเขียนแดนฮ่องกง ที่เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่ม 31 ปี และได้แขวนปากกาล้างมือในอ่างทองคำไปแล้วเมื่ออายุ 48 ปี แต่นิยายของท่านก็ยังเป็นดาวเด่นเหนือบรรณพิภพและโลกบันเทิงมาถึงครึ่งศตวรรษ นิยายของกิมย้ง ได้รับการแปลเป็นฉบับพากษ์ภาษาเกาหลี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และไทย นอกจากนี้ ยังมีการนำไปดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์จอเงิน และภาพยนตร์จอแก้วอย่างนับไม่ถ้วน

ถึงปัจจุบัน นิยายกำลังภายในของกิมย้ง ได้พิชิตยอดขายถึง 300 ล้านเล่มจากทั่วโลก (อาจถึง 1,000 ล้านเล่มด้วยซ้ำ หากนับรวมฉบับที่อยู่ในกองหนังสือเถื่อน หรือละเมิดลิขสิทธิ์)

แม้กิมย้งเองได้จัดให้งานเขียนของตนอยู่ในประเภทนิยายบันเทิงประโลมโลกธรรมดาๆ อย่างไรก็ตาม หลายคนในวงการก็ยกย่องงานประพันธ์ของกิมย้ง มีคุณค่าเชิงวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์ และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับสามก๊ก, ซ้องกั๋ง, ไซอิ๋ว ด้วยเนื้อเรื่องดี แต่งดี เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างยาวนาน

นอกจากได้รับการยกย่องเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในมือหนึ่งของโลก กิมย้ง ยังได้ชื่อว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนบทบรรณาธิการ บทวิพากษ์วิจารณ์สังคมมือหนึ่งแห่งฮ่องกงอีกด้วย ชาวฮ่องกงชอบอ่านบทวิพากษ์วิจารณ์สังคม การเมืองของเขา กระทั่งผู้นำในกรุงวอชิงตัน ก็ติดตามบทวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเก็บไว้ในแฟ้มข้อมูล เพื่อวิเคราะห์มองสังคมจีน

...กิมย้ง เล่าเรื่องชีวิตตัว...

กิมย้ง เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติชีวิตของท่านว่าเริ่มอ่านหนังสืออย่างดุเดือดตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อตอนอายุ 9 ขวบ ก็อ่านทั้งนิยายของจีนทั้งหมด และนิยายแปลของต่างประเทศ ในวัยเยาว์ได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกทั้ง 4 เรื่องของจีน ได้แก่ สามก๊ก (三国演义) ซ้องกั๋ง(水许传) ไซอิ๋ว(西游记) และความฝันในหอแดง (红楼梦)

กิมย้ง เล่าถึงวิธีอ่านหนังสือของตนว่า อ่านแบบละเอียดยิบทุกตัวอักษร โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษ เมื่อเจอตัวที่ไม่รู้ความหมายก็จะเปิดพจนานุกรมทันที ถ้ายังไม่เจอ ก็จะรีบหาพจนานุกรมเล่มใหญ่มาค้นดู...ให้ถึงที่สุด ซึ่งเปลืองเวลา และเรี่ยวแรงมาก “มันดูเป็นวิธีอ่านหนังสือที่โง่ แต่นานเข้าๆ การอ่านหนังสือก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายหมูๆ”

กิมย้ง แจงประโยชน์จากการอ่านหนังสือมีมากมาย ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ยามที่รู้สึกโดดเดี่ยวเหงา ทุกข์ยากกลัดกลุ้มใจ และไม่มีใครเลย เมื่ออ่านหนังสือก็จะรู้สึกดีขึ้น การอ่านหนังสือทำให้จิตใจดีงาม “ผมหวังว่า นิยายของผมจะให้เยาวชนมีสำนึกช่วยเหลือผู้อื่น และสังคม มีความคิดความอ่านรู้จักผิดชอบชั่วดี”

เนื่องจากมีผู้อ่านจำนวนมากชอบเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ กิมย้ง ได้เตือนว่า “อย่าเอาอย่างอุ้ยเซี่ยวป้อ ผมสร้างตัวละครนี้ขึ้นมาเพื่อสะท้อนยุคสมัย ไม่ได้สะท้อนความชอบคนบุคลิกแบบนี้” และยังได้กล่าวขอโทษ เกี่ยวกับข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนในบางจุด โดยเฉพาะเรื่องของ อิ่นจื้อผิง (尹志平)ที่ให้ภาพลักษณ์ไม่ดี และส่งผลด้านลบแก่สำนึกคิดเต๋า ในฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ได้ตัดตัวอิ่นจื้อผิง ออกไป

นอกจากนี้ กิมย้ง ยังแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อการนำนิยายของเขาไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ที่หลายๆ ครั้ง มักขาดชีวิตขาดอารมณ์ กลายเป็นเรื่องที่แข็งกระด้างไป กิมย้ง กล่าวว่า งานของเขานั้น แก้ให้น้อยดีกว่า ไม่ปรับเปลี่ยนเลยก็จะดีที่สุด

หันมาพูดถึงโชคความสุขในชีวิต กิมย้ง บอกว่า “โชคดีที่สุดในชีวิตของผม คือ พ่อแม่ไม่ตาย พวกเราได้ฝ่าฟันยุคสงครามกันมา ต้องนอนคว่ำหน้าบนพื้นกันหลายครั้ง รอบๆ ตัวมีแต่ระเบิด ปืนกลตระเวนส่องไปมา ตอนที่ต้องระหกระเหินพเนจร สวมเพียงรองเท้าหญ้าฟาง หนาวมากๆ ทั้งไม่มีข้าวกิน ทุกวันนี้เมื่อคิดถึงชีวิตที่ลำบากเหล่านี้ รู้สึกเป็นการฝึกการต่อสู้ที่ดีมาก ผมไม่กลัวตายเลย”

ความสนใจส่วนตัวทุกวันนี้ก็ยังเป็นการอ่านหนังสือ “หากมีทางเลือก 2 ทาง คือ ให้ติดคุก 10 ปี แต่มีเสรีภาพในการอ่านหนังสือ กับอีกทาง คือ มีเสรีภาพในโลกภายนอก แต่ไม่สามารถอ่านหนังสือ ผมขอเลือกทางแรก คือ ขอติดคุกดีกว่า”



ข้อมูลเพิ่มเติมของจินยง
สิ่งที่ชอบที่สุด
นักเขียน : ในประเทศ เสิ่นฉงเหวิน, ต่างประเทศ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์
กวี : ซูตงปอ
บุคคลในประวัติศาสตร์ : ฟ่านหลี่ และจางเหลียง
อาหาร : ขนมหวาน
ดนตรีที่ชอบ : เพลงอุปรากรจีนหรืองิ้วผิงจี้ว์ (评剧)ซึ่งงิ้วของชาวจีนในฮวาเป่ย ตงเป่ย อยู่บริเวณเหนือปักกิ่งขึ้นไป
ประเภทภาพยนตร์ : ภาพยนตร์เพลงยุคเก่า ภาพยนตร์เพลง-เต้นรำ
ยุคสมัย : ราชวงศ์ถัง
เมืองที่อยากไปอยู่ที่สุด : หังโจว
สิ่งที่อยากทำ : เรียนต่อ, เป็นนักวิชาการ

การศึกษา :
เริ่มการศึกษาปี ค.ศ.1929 ที่โรงเรียนเจียเซียง ไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียง, ปี ค.ศ.1944 เข้าเรียนในภาควิชาภาษาต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งรัฐบาลกลาง (中央政治大学) ต่อมาปี ค.ศ.1946 ได้ย้ายมาเรียนที่ภาควิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยตงอู๋แห่งเซี่ยงไฮ้ เอกกฎหมายระหว่างประเทศ ในปี ค.ศ.2005 ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ต่อมา ในปี ค.ศ.2010 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ในภาควิชาการศึกษาตะวันออก เอกประวัติศาสตร์จีน ที่เซนต์ จอห์น คอลเลจ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์

อาชีพการงาน :
- ปี ค.ศ.1947 เริ่มเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นผู้สื่อข่าวและนักแปลประจำหนังสือพิมพ์ต้ากงเป้า (大公报) ต่อมา ได้ย้ายไปประจำที่ฮ่องกง โดยนั่งตำแหน่งก็อปปี้อีดิเตอร์ และปี ค.ศ.1955 เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ซินหวั่นเป้า (新晚报)ที่นี่เอง จาได้พบกับเฉินเหวินถง? ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน เฉินได้สร้างแรงบันดาลใจแก่จา

- ปี 1955 เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในเรื่องแรกเป็นตอนๆ ลงในซินหวั่นเป้าคือเรื่อง “จอมใจจอมยุทธ” (书剑仇恩录โดยใช้นามปากกาจินยง หรือ กิมย้ง

- ปี ค.ศ.1957 เขาได้ลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ มาเป็นผู้กำกับด้านฉาก และผู้เขียนบท ที่เกรทวอลล์ มูวีฟ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ และบริษัทโฟนิกซ์ ฟิลม์ ระหว่างนี้ก็ยังเขียนนิยายกำลังภายในเป็นตอนๆ

- ปี ค.ศ.1959 หวนกลับสู่วงการน้ำหมึก จา ได้จับมือกับเสิ่นเป่าซิน เพื่อนร่วมชั้นเรียนระดับมัธยม ก่อตั้งหนังสือพิมพ์หมิงเป้าในฮ่องกง โดยที่จา นั่งตำแหน่งบรรณาธิการใหญ่เป็นเวลาหลายปี เขียนบทบรรณาธิการ และนิยายเป็นตอนๆ หมิงเป้า สร้างชื่อเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำยอดนิยมแห่งฮ่องกง

- ปี ค.ศ.1972 จาเขียนนิยายกำลังภายในเรื่องสุดท้าย คือ (鹿鼎纪)อุ้ยเซี่ยวป้อ พร้อมประกาศวางปากกาอย่างเป็นทางการ

จากนั้น ได้ใช้เวลาหลายปีในการทบทวนและแก้ไขปรับปรุงงานเขียนของตน ระหว่างนี้ นิยายกำลังภายในภายใต้นามปากกากิมย้ง ได้รับความนิยมอย่างระเบิดเถิดเทิงในหมู่คนที่พูดภาษาจีนในดินแดนต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการนำไปสร้างภาพยนตร์ ละครทีวีนำเสนอเป็นตอนๆ ตลอดจนละครวิทยุ งิ้วในฮ่องกง ไต้หวัน และแผ่นดินใหญ่



- ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จา ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรมการเมืองในฮ่องกง เป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายแม่บท ซึ่งเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฮ่องกง (เบสิก ลอว์) แม้ว่าภายหลังเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนเหมิน ในปี ค.ศ.1989 จา ได้ลาออกจากสังเวียนการเมือง แต่ก็ยังเข้าร่วมการคณะกรรมาธิการเตรียมการที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1996 เพื่อดูแลการถ่ายโอนอำนาจปกครองดินแดนฮ่องกงสู่รัฐบาลกลางแห่งปักกิ่ง

- ปี ค.ศ.1993 จาอำลางานหนังสือพิมพ์ ขายหุ้นในหมิงเป้า จา มีสินทรัพย์จากการขายหุ้นหมิงเป้า และค่าลิขสิทธิ์ หรือค่าโรยัลตี จากงานของเขา รวมประมาณ 600 ล้านเหรียญฮ่องกง

เกียรติภูมิ :
กิมย้ง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มากมายจากประเทศชั้นนำของโลก มี
รางวัลเกียรติยศจากฝรั่งเศส ได้แก่ Chevalier de la Legion d’Honneur (1992)
Commandeur de l’Ordre des Arts et des Letteres (2004)

และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอังกฤษ OBE - Order of the British Empire ตลอดจนได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2005

เขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์จากกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง, มหาวิทยาลัยหนันคาย, มหาวิทยาลัยซูโจว, มหาวิทยาลัยหัวเฉียว, มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว, มหาวิทยาลัยฮ่องกง, มหาวิทยาลัยบริชติชโคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยเสฉวน มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของเซนต์ แอนโทนี่ คอลเลจ, ออกซ์ฟอร์ด& โรบินสัน คอลเลจ, แคมบริดจ์ และ Wynflete Fellow ของ แมกดาเลน คอลเลจ, ออกซ์ฟอร์ด

มีปัญญาชนท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “จินตนาการไม่ออกเลยว่า หากไม่มีนิยายกำลังภายในของกิมย้ง โลกวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 คงจะจืดชืดไปถนัด คุณจาได้พิสูจน์มุมมองทฤษฎีอย่างหนึ่งของวรรณกรรมบริสุทธิ์ .....ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เขียนอะไร แต่อยู่ที่เขียนอย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น