จากละครดังทางจอแก้ว สู่ภาพยนตร์บนจอเงิน ที่เพียงแค่เปิดตัวฉายวันสองวัน ก็ทำเงินไปกว่า 50 ล้านบาท และทำนายล่วงหน้าได้เลยว่า ณ เวลานี้ “นาคี ๒” ในแง่ของรายได้ น่าจะทะยานไปไกลถึง 100 ล้านบาทได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ถ้าจะวิเคราะห์กันถึงปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้หนัง “ปัง” ได้ถึงเพียงนี้ ก็ต้องบอกว่า ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะอานิสงส์ของต้นฉบับอย่างละครโดยแท้ และแฟนพันธุ์แท้ของละครนั้นก็หนาแน่นมากๆ และแน่นอนว่าความรักในฉบับละคร ก็กวาดต้อนแฟนๆ ให้เข้ามาอุดหนุนต่อบนจอเงิน และอีกส่วนหนึ่งซึ่งผมมองว่า มีความหมายไม่แพ้กันก็คือเรื่องของดารานักแสดง ทั้ง “ณเดชน์ คูกิมิยะ” ทั้ง “ญาญ่า อุรัสยา” ต่างก็เป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีแฟนคลับหนาแน่น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตัดสินใจไปดูหนังเรื่องของใครหลายคน ก็ด้วยเหตุผลเพราะความนิยมในคู่พระคู่นางคู่นี้ รวมถึงพลังแรงส่งจากพระนางในละคร ทั้ง “เคน-ภูภูมิ” และ “แต้ว-ณฐพร” ที่ยังไงก็ต้องออกแรงหนุนแฟนคลับซึ่งมีอยู่มากมายให้เข้าไปดูชมหนังเรื่องนี้
พลังของดาราซูเปอร์สตาร์ ยังสะท้อนผ่านออกมาผ่านดาราอีกหลายๆ คน ที่ผมเห็นว่าไม่ควรมองข้ามเด็ดขาดครับ เพราะคนเหล่านี้ต่างก็มีแฟนคลับจำนวนมหาศาลที่ติดตามเหนียวแน่นและพร้อมจะสนับสนุนพวกเขาในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็น “อี๊ด โปงลาง”, “แซ็ค ชุมแพ”, “ปอยฝ้าย มาลัยพร” ฯ ทั้งหมดนี้นับว่าเป็น “พลังดารา” ที่เกื้อหนุนต่อหนังเป็นอย่างดี นี่ยังไม่นับรวมแฟนๆ ของ “ก้อง ห้วยไร่” ที่ตามมาร้องเพลงประกอบให้กับหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
กระนั้นก็ตาม พอพูดว่า หนังได้ดีเพราะดารา ก็ดูจะเป็นอะไรที่สุดโต่งจนเกินไป เพราะยังไงก็ตาม ในความเป็นหนัง “นาคี ๒” ก็มีมุมมองอื่นๆ ที่น่าพูดถึงเช่นกัน
ผลงานชิ้นนี้กำกับโดย “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” ซึ่งกำกับเวอร์ชั่นละครที่ฮิตฮอตยอดนิยมมาแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ทีมเขียนบทก็นำโดย “ก้องเกียรติ โขมสิริ” (ผู้กำกับ “ขุนพันธ์” ทั้ง 2 ภาค และกำกับหนังดีๆ อีกหลายเรื่อง) ส่วนงานด้านภาพนั้นกำกับดูแลโดย “สยมภู มุกดีพร้อม” คนนี้ไม่ธรรมดานะครับ เพราะเคยกำกับภาพให้กับหนังต่างประเทศมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้ง Call Me by Your Name ที่เข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
และ...ที่มากกว่านั้น คือการได้ “ลี ชาตะเมธีกุล” มาทำหน้าที่ตัดต่อลำดับภาพ เรื่องความต่อเนื่องของหนังจึงรื่นไหลหายห่วง “ลี” ผ่านงานตัดต่อมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะหนังในกระแสที่ดังมากๆ เช่น ชัดเตอร์ กดติดวิญญาณ หรือหนังนอกกระแสอย่างเช่น “ดาวคะนอง” (ที่เป็นตัวแทนหนังไทยส่งเข้าไปแคนดิเดตชิงออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศเมื่อปีสองปีก่อน) นอกจากนี้เขายังเป็นผู้กำกับหนังเรื่อง “ภวังค์รัก” ที่คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ทั้งสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
สรุปรวมก็คือว่า มวลสารเรื่องทีมงานนั้นเป็นที่วางใจได้ และผลลัพธ์ออกมา สำหรับผมก็ถือว่าเป็นที่น่าพึงพอใจ บอกก่อนครับว่า หนังเรื่องนี้แม้จะเป็นภาคต่อจากละคร แต่ตัวเรื่องก็เป็นการเขียนขึ้นใหม่ โดยเริ่มจาก ร.ต.อ.ป้องปราบ (ณเดชน์) ซึ่งโยกย้ายเข้าไปประจำการยังโรงพักในชนบทแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อในเรื่องพญานาคอย่างหนักแน่น หลังจากเกิดคดีสะเทือนขวัญ มีชาวบ้านถูกฆ่าตายอย่างเหี้ยมโหดคนแล้วคนเล่า คนในหมู่บ้านก็เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของเจ้าแม่นาคี และเหนืออื่นใด ยังปักใจเชื่อว่า “สร้อย” (ญาญ่า) คือร่างประทับของเจ้าแม่นาคีที่ออกอาละวาดฆ่าคน
หนังดำเนินเรื่องในแนวหนังฆาตกรรมเขย่าขวัญและสืบสวนสอบสวน เชิญชวนให้คนดูใคร่รู้และติดตามว่าเหตุการณ์ฆาตกรรมต่างๆ เหล่านั้นเป็นฝีมือของพญานาคอย่างที่ชาวบ้านเชื่อกันจริงหรือเปล่า อันที่จริง บทหนังนั้นไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนมากครับ เพราะส่วนใหญ่จะเล่นกับความตายของชาวบ้านไปทีละคนสองคน ซึ่งความตายอันน่าสยดสยองนั้นก็ไปปั่นความสงสัยของชาวบ้านที่ยังมีชีวิตอยู่ให้เชื่ออย่างหนักแน่นยิ่งขึ้นๆ ว่าเป็นฝีมือของเจ้าแม่นาคี ขณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งจะคลี่คลายปมฆาตกรรมอย่าง ร.ต.อ.ป้องปราบ ก็ไม่มีทีท่าจะเชื่อว่าเป็นฝีมือของพญานาคแต่อย่างใด...
โดยรวม ถือว่าเป็นหนังที่ดูได้เพลินๆ ครับ หนังจับความสนใจเราไว้ที่ปมปริศนาว่าใครคือฆาตกรตัวจริงแล้วเล่าไปเรื่อยๆ จนถึงจุดเฉลย มีการซ่อนบางอย่างอำพรางบางจุดให้เราสงสัยและเดากันไปว่าจะใช่อย่างที่คิดไว้หรือเปล่า จนกระทั่งถึงจุดพีคสุดในช่วงท้ายเรื่องที่มีฉากแอ็คชั่นการต่อสู้แบบอลังการงานใหญ่ ... ใหญ่จริงๆ ครับ ด้วยเทคนิคด้านซีจีที่ทำให้คนดูตื่นตาตื่นใจได้พอสมควร โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ซีจีที่ทำออกมา ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียวครับ ดูเนียนตาและน่าตื่นตา
จากข้อมูลนั้นบอกว่าเป็นฝีมือของทีม FatCat VFX (ทีมเดิมที่ทำซีจีให้เวอร์ชั่นละคร) ก็ต้องยอมรับว่าเทคนิคด้านนี้ของไทยเราไม่น้อยหน้าชาวโลกแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ถ้าจะมีอะไรสักอย่างในฉากใหญ่ๆ ฉากนี้ที่ผมอยากจะบอกบ้างก็คือ ผมว่ามันไวเกินไป และยิ่งเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงกลางค่ำกลางคืน ความไวบวกกับความมืดสลัว ทำให้ดูมึนๆ หรือดูไม่ทัน ถ้าปรับให้ช้าลงกว่านี้อีกนิด จะทำให้รู้สึกถึงความอลังการได้มากกว่านี้หรือเปล่า อันนี้พูดตามประสาคนที่อยากเห็นชัดๆ แจ่มๆ น่ะครับ
แต่เอาล่ะ ถ้านับเฉพาะเรื่องความระทึกช่วงท้ายเรื่อง ก็พอผ่าน แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ความชุลมุนชุลเกในช่วงท้ายของหนังที่จำเป็นต้องเฉลยอะไรๆ หลายอย่างที่ค้างคาใจ กลับทำให้เกิดประเด็นถกเถียงอื่นตามมา ผมเชื่อว่าต้องมีคนสงสัยเหมือนกับผมว่า เจ้าสัตว์ใหญ่ตัวนั้นบินมาจากไหน และมันใช่อีกร่างหนึ่งของตัวละครในเรื่องหรือเปล่า? ก็คงต้อง “จับจุดสังเกต” ที่หนังแพลมๆ ไว้แล้วเดากันไป หรือถ้าจะให้ดี รอมี “นาคี ๓” คิดว่า ปมปริศนาข้อนี้น่าจะถูกนำมาเฉลยให้กระจ่าง
ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงแม้หนังอาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่เคลียร์หรือดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลอยู่บ้าง แต่รวมๆ แล้วก็ถือว่ายกยอดให้ได้ ในความเป็นหนังแฟนตาซีที่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นหรือเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่นับว่าแปลก และยิ่งสำหรับหนังอย่างนาคีที่เล่นกันถึงระดับข้ามภพข้ามชาติด้วยแล้ว นอกจากนั้นอะไรก็เป็นไปได้หมด
กระนั้นก็ดี ในความเป็นแฟนตาซีและบทเบาๆ เรียบง่าย ผมพบว่า ในแง่เนื้อหา หนังเรื่องนี้ได้สะท้อนอะไรหลายอย่างออกมาแบบไม่พยายามที่จะพูดสอนตรงๆ แต่ให้เหตุการณ์เรื่องราวเป็นตัวสื่อ ซึ่งผมอยากจะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนไว้ ณ ตรงนี้ แต่ด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องแตะต้องตัว “เนื้อหาของหนัง” บ้างเป็นบางจุด ดังนั้น สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูและกลัวจะเสียอรรถรสในการชมภาพยนตร์ บรรทัดถัดจากนี้จะมีการสปอยล์นะครับ...
.....................................................................
การเมืองเรื่อง “ความเชื่อ” Vs “วิทยาศาสตร์”
อันที่จริง แง่มุมแบบนี้เคยถูกนำเสนอมาอย่างเข้มข้นจริงจังแล้ว ในหนังที่พูดถึงพญานาคเช่นเดียวกัน เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 แต่ทว่า “นาคี ๒” ก็นับว่าสื่อออกมาได้ดีไม่น้อย เริ่มตั้งแต่ต้นเรื่อง เราจะเห็นการปะทะกัน ระหว่าง “ความเชื่อ” กับ “ความไม่เชื่อ” (ซึ่งอย่างหลังนี้ พูดอีกแบบก็คือ เป็นวิทยาศาสตร์ ทุกสิ่งต้องพิสูจน์ได้ด้วยวิทย์ฯ)
ตัวละครอย่าง “ร.ต.อ.ป้องปราบ” จึงไม่ได้แค่จะป้องปราบอาชญากรรม แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็พยายามจะ “ป้องปรามความเชื่อ” ของคนในพื้นที่ด้วย ... ตัวละครที่ณเดชน์แสดงนี้ แรกเริ่มเดิมทีก็มาพร้อมกับความเป็นวิทยาศาสตร์เต็มสมอง ความคิดของเขาคัดค้านเรื่องพญานาคอย่างถึงที่สุด เขาจะยิ้มหรือหัวเราะแบบเห็นเป็นเรื่องตลกทุกครั้งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาพูดเรื่องพญานาค และเขาก็ยิ่งกระหยิ่มยิ้มย่องมากขึ้นไปอีกเมื่อจับผู้ต้องสงสัยได้ ถึงขั้นที่ล้อหนักๆ “จับพญานาคได้แล้ว”
มีอยู่ฉากหนึ่งซึ่งผมคิดว่า สามารถสะท้อน “คู่ตรงข้าม” นี้ได้เป็นอย่างดี คือตอนที่ “ร.ต.อ.ป้องปราบ” นั่งคุยกับ “สร้อย” บนแคร่ใต้ถุนเรือน ทั้งสองนั่งกันคนละด้าน และต่างหันหลังให้กัน แถมมุมกล้องที่ถ่ายเข้าไป มีเสาเรือนต้นหนึ่งเป็นตัวกั้นแบ่งข้างคนทั้งสองออกจากกันอย่างจงใจ ดังนั้น ถึงแม้จะนั่งแคร่เดียวกัน แต่ก็เหมือนกับถูกกั้นให้อยู่กันคนละโลก เทคนิคภาพแบบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการแยกห่างทางความเชื่อของแต่ละคน “สร้อย” นั้นคือหญิงสาวที่เชื่อในพญานาคและเจ้าแม่นาคีอย่างที่สุด ส่วนตำรวจหนุ่มก็ไม่เชื่ออย่างที่สุดเช่นกัน
“สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีอยู่จริง”
คำนี้เหมือนตอกย้ำแนวความคิดของหนังได้อย่างชัดเจนที่สุด และให้อนุสติในการดึงจิตของตัวละคร (หรือแม้แต่คนดูผู้ชม) ให้หวนคิดถึงสิ่งที่เป็นศรัทธาหรือความเชื่อที่ควรได้รับความเคารพ และหนังก็โหดพอที่จะยกตัวอย่างผลลัพธ์ของ “ความไม่เคารพ” ดังเช่นกรณีของนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวที่ไม่สุภาพกับรูปปั้นเจ้าแม่นาคี และต้องมีอันเป็นไปอย่างน่าสยดสยอง
การเมืองเรื่อง “คนหมู่มาก” Vs “คนส่วนน้อย”
บอกตามตรงว่า ขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ได้สักพัก ใจผมคิดไปถึงนวนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “คำพิพากษา” (เขียนโดย ชาติ กอบจิตติ) ที่ตัวละครหลักในเรื่องอย่าง “ไอ้ฟัก” ถูกชาวบ้านรุมพิพากษาและประณาม อันเนื่องมาจากความเชื่อว่าเขาคือคนเลวของสังคม
ในกรณีของ “สร้อย” ก็ดูไม่ต่างจากนั้น...
เพราะความที่เธอมีความผูกพันและเคารพศรัทธาเจ้าแม่นาคี ชาวบ้านจึงรุมป้ายสีให้ร้ายว่าเธอนี่แหละคือฆาตกร โดยมีเจ้าแม่นาคีเข้าสิงร่างทุกครั้งที่ออกไปฆ่าคน แม้เธอจะอธิบายอย่างไร หรือแม้แต่ ร.ต.อ.ป้องปราบ จะห้ามปรามอย่างไร แต่เมื่อคนทั้งชุมชนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันแล้ว ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ชะตากรรมของสร้อยซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยก็คงหนีไม่พ้นต้องโดนย่างสด
จริงๆ แล้ว ปัญหาในลักษณะนี้ ก็มีให้เห็นอยู่เยอะแยะมากมาย ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศหรือระดับโลก เราต่างก็ “พิพากษา” กันและกันอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด จริงหรือเท็จ ก็ตามที...
..............................
การเมืองเรื่อง “หัวใจ”
ผมคิดว่า แง่มุมนี้น่าจะเป็นที่มาหลักๆ ของเรื่องราวทั้งหมดในหนังด้วยซ้ำ เพราะความรักเป็นพิษ จึงทำให้ตามติดสร้างเวรสร้างกรรมแบบข้ามภพข้ามชาติ
เมื่อดูหนังไปจนจบ เราจะพบว่า ต้นตอของปัญหานั้นมาจากความรักที่ไม่สมหวัง แล้วจิตไม่ปล่องวาง สะสมทั้งแรงรักแรงแค้นไว้ในดวงวิญญาณ แม้เมื่อตายไปจากโลก ก็ยังผูกจิตเจ็บแค้น และพร้อมจะทวงคืน
เรื่องราวความรักอันเป็นที่มาหลักๆ ของเหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความน่าเศร้า หรือทั้งน่าเศร้าและน่าสงสารไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะความรักที่ยึดมั่นถือมั่นจนเป็นอันตรายต่อหัวใจ
คือถ้าตัวละครที่ไม่สมหวังในรักในเรื่องนี้ ฟังเพลง “คู่คอง” ของก้อง ห้วยไร่ บ่อยๆ ซ้ำๆ ก็อาจจะไม่เกิดความย้ำรักย้ำหลงทั้งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าฟังบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ เห็นภาพว่าคนที่ตนมองหมายนั้น เขา “คอง” กับคนอื่นเหนียวแน่นเพียงใด ฟังแล้วเข้าใจก็จะได้มีใจที่ปล่อยวาง ไม่สร้างปัญหาก่อกรรมทำเข็ญอันใดเพิ่ม
“... ให้คองถ่าอีกกี่พันปี
ให้อยู่ตรงนี้อีกนานเท่าไหร่
ขอเพียงแค่เธอจำฉันได้ ชาติไหนก็รอเธอ
... บ่มีอีหยังมาพังทลาย
ความฮักเฮาสองลงได้
แม้ดินสลายยังมั่นคงคือจั่งตอนเริ่ม ...”
กำกับภาพยนตร์ : พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
นักแสดง : ณเดชน์ คูกิมิยะ, อุรัสยา เสปอร์บันด์, ณฐพร เตมีรักษ์, ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค, ลักขณา อมิตรสูญ