ชื่อของ "ดาซุ-โอะ" (DAZU-O) แรปเปอร์ร่างใหญ่จากแดนปลาดิบอาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักสำหรับคนฟังเพลงบ้านเรา ทว่าเรื่องราวชีวิตของเขานั้นต้องบอกว่าน่าสนใจไม่น้อย
หลังผิดหวังกับการเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลตัวแทนจังหวัด Fukushima (ฟูกูชิมา) บ้านเกิด สองมือของ "ดาซุ-โอะ" ก็ตัดสินใจทิ้งลูกบาสฯ แล้วหันไปจับแฮนด์มอเตอร์ไซค์ในฐานะหนึ่งชาวแก๊งกวนเมืองที่ชาวญี่ปุ่นเรียกขานกันว่า bosozoku (ไบโสะโซคุ)
เส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยการต่อยตีและท้าทายกฏหมายบนท้องถนนดูเหมือนมันจะถูกชะตากับเด็กหนุ่มคนนี้ไม่น้อย ถึงขนาดที่นำพาให้เขาก้าวขึ้นไปเป็นระดับหัวหน้าแก๊งดูแลสมาชิกที่มีร่วมกว่า 200 คน
เมื่อแก๊งปิดตัวลง ในตอนนั้นใครๆ ก็คาดเดากันว่าเส้นทางต่อไปของหัวหน้าพวกเค้าเขาคงไม่ต่างจาก "ลูกพี่" คนอื่นๆ ที่ออกจากแก๊งไปโดยมีจุดหมายที่ใหญ่กว่านั่นคือการเป็น "ยากูซ่า" ทว่า "ดาซุ-โอะ" กลับตัดสินใจที่เดินทางจากภาคอีสานไปที่โตเกียวเพื่อสานอีกหนึ่งความฝันของตนเอง นั่นก็คือการเป็น "นักร้อง"
อาจจะเป็นทางเลือกที่ต่างกันสุดขั้ว แต่ถ้าพิจารณาจากพื้นฐานของเขาที่ซึมซับการร้องเพลงและเสียงดนตรี มาตั้งแต่เด็กๆ จากมารดาซึ่งเป็นครูสอนคาราโอเกะชื่อดังชื่อ Matsubara Yoko (มัตสุบาร่า โยโกะ) แล้วเรื่องนี้ก็คงไม่แปลกใจเท่าใดนัก
ใช้ความพยายามกับการโชว์ความสามารถอยู่ในย่าน Shibuya Street (ชิบุย่า สตรีท) ที่เปรียบได้กับเวทีสร้างฝันของเด็กๆ ที่อยากจะเข้าสู่ถนนสายบันเทิง ไม่นาน ดาซุ-โอะ ก็ถูกค่ายเพลงชักชวนให้ไปร่วมงานด้วยพร้อมตระเวนแสดงทั่วญี่ปุ่นนานกว่า 5 ปี ก่อมีโอกาสได้ร่วมงานกับ AK2 นักแสดงตลกชื่อดังและนั่นเองที่ทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แรปเปอร์เจ้าของน้ำหนักร่วม 100 กิโลฯ ปล่อยอัลบั้มที่มีชื่อว่า UNCHAIN (อัน เชน) ออกมาก่อนจะเดินทางมาถ่ายทำมิวสิควิดีโอเพลงที่มีชื่อว่า Way i (เวย์ไอ) ที่ประเทศไทยโดยเขาระบุว่าที่เลือกที่นี่ก็เพราะชอบในบรรยากาศนั่นเอง
"ชื่อเพลงเวย์ไอ ความหมายของมันก็หมายถึงเส้นทางของผม แบบว่าได้ไปเที่ยว มีเหล้า ได้เที่ยวกับสาวสวยๆ ดีกว่าไปนั่งเบื่อ แต่ได้ไปเที่ยวสนุกๆ ด้วยกัน...ผมมีโอกาสมาเที่ยวที่ประเทศไทยนับ 10 ครั้ง แล้วรู้สึกชอบมากๆ เพื่อนก็เลยชักชวนว่าถ้าชอบประเทศไทยลองมาถ่ายทำที่เมืองไทยไหม ก็เลยมาถ่ายทำที่ประเทศไทยครับ"
แรปเปอร์ร่างใหญ่ยังบอกด้วยว่ารูปแบบการทำงานระหว่างที่ไทยกับญี่ปุ่นเองไม่ได้ต่างกันมากนัก และโดยส่วนตัวแล้วเขาชอบที่ไทยมากกว่าเพราะทีมงานคนไทยนิสัยดี บรรยากาศก็ดี มีความหรูหรา จนทำให้เขาอยากจะกลับมาทำงานที่เมืองไทยอีกครั้ง
ส่วนความคาดหวังของเขากับคนฟังเพลงในบ้านเรานั้น "ดาซุ-โอะ" บอกว่าอยากให้คนรู้จักเขาในฐานะนักร้องเวลาที่ไปที่ไหนแล้วมีคนเข้ามาทักทาย ก่อนที่เจ้าตัวจะขอบคุณเสียงดนตรีที่ทำให้เขามีวันนี้
"พูดตรงๆ ถ้าไม่มีเสียงเพลงผมคงไม่ได้มาร้องเพลง แล้วก็อาจจะกลับตัวไม่ได้ อาจจะเป็นแก๊งยากูซ่าไปแล้วครับ ต้องขอบคุณเสียงเพลงครับ"
bosozoku ตำนานแว้นแดนปลาดิบ
bosozoku (ไบโสะโซคุ) ที่มีความหมายว่า "แก๊งที่อยู่เหนือการควบคุม" คือคำเรียกโดยรวมถึงบรรดาแก๊งมอเตอร์ไซค์ต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นที่กระจายกันเป็นกลุ่ม เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง
สันนิษฐานกันว่า bosozoku น่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงราวๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปีค.ศ.1950 จากรวมตัวกันของเด็กวัยรุ่นทั้งหญิงและชายที่ต้องการจะท้าทายกฏระเบียบของสังคม คล้ายๆ กับกลุ่มนักบิดที่เรียกตัวเองว่า Rocker ในอังกฤษที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวนั่นเอง
เอกลักษณ์ที่เหมือนๆ กันของบรรดาแก๊งเหล่านี้ก็คือการแต่งกายด้วยยูนิฟอร์มเฉพาะตัว ที่มีทั้งแจ็คเก็ตหนัง ชุดนักบิน เครื่องแบบพนักงานต่างๆ ฯ โดยมีตัวอักษรคันจิแสดงสัญลักษณ์ของแก๊งปักบนชุด ผ้าโพกหัว รวมถึงธง
ขณะที่รถส่วนใหญ่ที่ใช้ขี่จะเป็นรถที่มีขนาด 400 ซีซีขึ้นไปและถูกตกแต่งในแนวรถซิ่งที่เรียกกันว่า Kaido Racer ไม่ว่าจะแฮนด์ที่ถูกสูงเหนือถังน้ำมัน เบาะที่โด่ชี้ฟ้า ท่อแต่งที่ให้เสียงดังมากๆ
สำหรับกิจกรรมของเหล่าชาว bosozoku ก็คือการจับกลุ่มกันขี่รถในตอนกลางคืน ไม่ใส่หมวกกันน็อค ผ่าไฟแดง เบิ้ลเครื่องเสียงดัง ซึ่งแน่นอนว่าภาพลักษณ์ของ bosozoku ในสายตาของคนญี่ปุ่นทั่วไปก็คือแก๊งมอเตอร์ไซค์กวนเมืองที่สร้างความรำคาญไม่ต่างอะไรไปจากเด็กแว้นบ้านเรา
แต่ที่หนักกว่าก็คือแก๊งพวกนี้มีการเชื่อมโยงไปแก๊งยากูซ่านั่นเอง
"โดยส่วนใหญ่ชาวแก็งจะมีอายุประมาณ15-18 ปีครับ คือ 18 ก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว และถ้าเกิน 18 เขาก็จะปลดออกไป เพื่อไปทำงาน หรือเรียกว่าจบการศึกษา" คำบอกเล่าจาก "ดาซุ-โอะ" อดีตแก๊งเตอร์ที่ผันตัวเองมาเป็นแรปเปอร์ให้คำบอกเล่า
วัฒนธรรม bosozoku เบ่งบานมากๆ ในช่วงยุค 80 โดยจังหวัดที่มี bosozokuมากที่สุดก็คือ "ไอจิ" ขณะที่แก๊ง "โกกู ราคุ-จู" ที่มี "ดาซุ-โอะ" เป็นหัวหน้านั้นมีสมาชิกกว่า 200 คนและจัดได้ว่าเป็นแก๊งมอเตอร์ไซค์ใหญ่สุดในจังหวัด "ฟูกูชิมา" เลยทีเดียว
"โกกู ราคุ-จู เป็นการเอาคำมารวมกันครับ ไม่มีความหมาย แต่ถ้าแปลตรงๆ ก็คือว่า สวรรค์-เฮง เอาคำว่าเฮง (จู) กับสวรรค์ (โกกู ราคุ) มารวมกันแค่นั้นเอง"
อาจจะทำผิดกฏหมาย ทว่าแต่ละแก๊งก็จะมีกฏระเบียบที่เข้มงวดที่ชาวแก๊งต้องปฎิบัติตาม เช่นไม่ขับรถแซงหน้ารุ่นพี่, ไม่ทำร้ายไม่รังแกคนที่ไม่ได้เป็นชาวแก๊ง, บางแก๊งชุดที่ใส่จะเป็นการตกทอดกันรุ่นสู่รุ่นโดยไม่มีการซัก ฯ ส่วนกฎที่เข้มงวดของแก๊ง "โกกู ราคุ-จู" ภายใต้การดูแลของ "ดาซุ-โอะ" ก็คือเรื่องของสิ่งเสพติดและเวลาต่อยตีกับแก๊งอื่นต้องห้ามแพ้
"ในแก็งมีกฎระเบียบห้ามยุ่งกับยาเสพติด ใครทำผิดกฏก็จะถูกซ้อม แล้วก็ตีกันห้ามแพ้ ส่วนทุกวันเสาร์จะมาขับรถเสียงดัง คือแก็งมอเตอร์ไซค์ในญี่ปุ่นจะขับเครื่องประมาณ 400 ซีซี แต่ขับช้าประมาณ 50 กว่ากิโล เน้นเร่งเครื่องบึ้มๆๆ"
"ก็คือทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนด้วยแหละ ข้างหลังรถก็ติด เพราะตั้ง 200 กว่าคันและวิ่งช้า แต่ถ้าตำรวจวิ่งไล่มาถึงจะขับเร็วเพื่อหนีตำรวจ (เคยถูกจับมั้ย?) ไม่ครับ เพราะผมขับเก่ง (หัวเราะ)"
จากความพยายามในการปราบปรามอย่างหนักของตำรวจประกอบกับยุคสมัยและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันแม้จะแทบไม่มี bosozoku เหลืออยู่แล้วแต่กระนั้นแก๊งมอเตอร์ไซค์เหล่านี้ก็ยังทิ้งร่องรอยความมีอิทธิพล ตลอดจนภาพจำอันเป็นเอกลักษณ์ที่คนรุ่นหลังสามารถเห็นได้จากงานเขียนการ์ตูน รวมถึงภาพยนตร์ประเภทแก๊งเตอร์ นักเลงต่อยตีกันทั้งหลาย
ขณะที่ทางด้านของ "ดาซุ-โอะ" เองในฐานะหัวหน้าแก๊งรุ่นที่ 26 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายก็บอกอย่างไม่ลังเลเลยว่าต่อให้มีชีวิตที่สุ่มเสี่ยงกับการเป็น bosozoku และอาจจะเลยเถิดไปถึงการเป็นยากูซ่าที่ไม่รู้ว่าจุดจบจะเป็นอนย่างไร แต่ถ้าให้เลือกเขาก็จะเลือกทางเดินแห่งวิถี bosozoku เหมือนเดิมอย่างแน่นอน
"ใช่ ผมไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีเลย แต่ถ้าเลือกได้ก็จะเข้าแก๊งเหมือนเดิมครับ เพราะว่าแก็งสอนให้มีวินัย มีความอดทน รู้สึกผิดมั้ย ไม่ได้รู้สึกผิดครับ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดมาก อาจจะรู้สึกอยากขอโทษคุณพ่อคุณแม่ แต่นอกจากนั้นเราไม่ได้เกเรหรือรังแกใคร แต่ที่ต่อสู้ก็เพื่อปกป้องเพื่อนเท่านั้น..."