xs
xsm
sm
md
lg

ข้อสงสัยกรณีหนัง “ถ้ำหลวง” : หนัง Based on a True Story ใครเป็นเจ้าของเรื่อง, ใครควรได้รับเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร่วมทำความเข้าใจกับการสร้างหนังประเภท “มาจากเหตุการณ์จริง” ว่าสุดท้ายแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของเรื่อง? และผู้สร้างจำเป็นต้องจ่ายเงินให้ใคร? หรือไม่?

เกิดคำถามขึ้นทันที เมื่อมีข่าวว่าผู้สร้างหนังจากฮอลลีวูดกำลังจะสร้างหนังจากเหตุการณ์กู้ชีวิตในถ้ำหลวงที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ว่าสุดท้ายแล้วใครคือ เจ้าของเรื่องกันแน่, บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถหาผลประโยชน์จากการสร้างหนังเหล่านี้ได้หรือไม่ และผู้สร้างหนังจำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับใครในการสร้างหนังจากเรื่องจริงแบบนี้

เหตุการณ์จริงคือ “สมบัติของสาธารณะ”

จริงแล้วโดยทั่วไปตามกฎหมายของประเทศต่าง ๆ “เหตุการณ์จริง” คือสมบัติของสาธารณะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้ใด นอกเสียจากว่าจะมีใครนำเหตุการณ์ดังกล่าวไป “เขียนเล่าเรื่องราว” ในมุมมองที่แตกต่างก็จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็น ลิขสิทธิ์ผลงานส่วนบุคคล

ซึ่งหากใครต้องการนำ “งานเขียน” ถึงเหตุการณ์จริงดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินให้กับผู้เขียนในฐานะเจ้าของผลงาน เหมือนกับหนังคลาสสิกของฮอลลีวูดอย่าง All the President's Men ที่แม้จะสร้างมาจากเหตุการณ์จริง แต่หนังก็ถือว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากหนังสือของสองนักข่าวคนดัง คาร์ล เบิร์นสตีน และ บ็อบ วูดเวิร์ด โดยตรง หรือหนังเกี่ยวกับชีวิตของอดีตผู้จัดการทีมฟุตบอล น็อตติงแฮม ฟอร์เรสต์ ไบรอัน คลัฟ ที่ไม่ได้อ้างอิงจากชีวิตของ คลัฟ โดยตรง แต่มีเนื้อหามาจากหนังสือ The Damned United ของ เดวิด เพียซ ต่างหาก

แต่แน่นอนว่างานเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์จริงที่จะอ้างลิขสิทธิ์ได้จะต้องมีแง่มุม หรือข้อมูลที่แตกต่างจากที่สาธารณะชนรับรู้กันอยู่โดยทั่วไปอย่างชัดเจนอยู่ด้วย

ทุกคนทีสิทธิ์สร้างหนังจากเหตุการณ์จริงโดยไม่ต้องไปขออนุญาต (และจ่ายเงิน) ให้ใคร

สุดท้ายแล้วผู้สร้างหนังจึงมีสิทธิ์ที่จะหยิบเหตุการณ์จริงใด ๆ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ได้ โดยไม่ต้องไปขออนุญาตใครเลย เหมือนกับหนังเกี่ยวกับชีวิตของคนดังอย่าง The Social Network ที่สร้างจากหนังสือเล่มหนึ่ง โดยที่บุคคลจริงในหนังอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เองก็ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่นัก

หนังเกี่ยวกับชีวิตของเทพกีตาร์ระดับตำนาน จิมมี เฮนดริกซ์ ที่ชื่อว่า Jimi: All Is by My Side ก็ไม่ได้ไปขออนุญาตใครเช่นเดียวกัน และยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพลงของ เฮนดริกซ์ ในหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป

หนังจากชีวิตของคนดัง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่ก็สร้างขึ้นโดยไม่ได้ถามเจ้าตัวแต่อย่างใด หลายครั้งที่แม้เจ้าตัวจะไม่พอใจ แต่เลือกที่จะ “ปล่อยผ่าน” และบางครั้งก็เกิดการฟ้องร้องตามมาว่าหนังมีเนื้อหาบิดเบือนความเป็นจริง

ทำไมผู้สร้างหนังยอมต้องจ่ายเงินให้กับบุคคลเจ้าของเรื่อง ?

อย่างไรก็ตามแม้เหตุการณ์จริงจะเป็น “สมบัติสาธารณะ” แต่ผู้สร้างหนังจำนวนไม่น้อยก็ยังยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อขอใช้สิทธิ์ในการสร้างหนังจากเหตุการณ์เกี่ยวกับบุคคลนั้น ๆ “อย่างเป็นทางการ” แม้กฎหมายของหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาสหรัฐฯ ดินแดนแห่งหนังฮอลลีวูดจะไม่ได้บังคับเอาไว้ก็ตาม

เหตุผลก็คือ ผู้สร้างหนังหลายรายเลือกที่จะจ่ายเพื่อ “ความสะดวก” ในการสร้างหนังเรื่องนั้น ๆ นั่นเอง

โดยผู้สร้างที่จ่ายเงินให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงมักจะได้รับข้อมูล “พิเศษ และลับเฉพาะ” ที่เป็นรายละเอียดที่ไม่เคยเปิดเผย หรือถูกบันทึกในสื่อใด ๆ จากบุคคลดังกล่าว เพื่อเสริมให้หนังมีเนื้อหาที่แตกต่าง และมีรายละเอียดที่ชัดเจนที่สุด

อย่างไรก็ตามสาเหตุสำคัญที่ผู้สร้างหนังบางรายยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิ์ดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการป้องการฟ้องร้องนั่นเอง โดยเฉพาะหากบุคคลจริงรู้สึกว่าหนังอาจจะมีเนื้อหาที่ “บิดเบือนความจริง” และอาจจะทำลายชื่อเสียงของของพวกเขา หากหนังได้ออกฉายไปในวงกว้าง ก็อาจจะยื่นฟ้องร้องเพื่อขอค่าเสียหายได้

จึงเป็นเรื่องที่ผู้สร้างหนังต้องตัดสินใจเองว่าสุดท้ายแล้วจะยอมจ่ายเงินเพื่อป้องกันการฟ้องร้อง หรือหากมั่นใจในข้อมูลสาธารณะ และเชื่อว่าหนังของตนเองจะมีความถูกต้องตรงตามเหตุการณ์จริง ก็ไม่จำเป็นต้องไปจ่ายเงินให้กับบุคคลในเรื่องแต่อย่างใด

สร้างได้ตามสบาย ... แต่อาจโดนฟ้องถ้าบิดเบือนความเป็นจริง

แต่ถึงจะจ่ายเงินไปแล้ว หนังหลาย ๆ เรื่องก็ยังมีปัญหาเรื่อง ข้อเท็จจริง จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องอยู่ดี บางครั้งเจ้าตัวเองก็ไม่พอใจที่ผู้สร้างหนังเลือก ตีความ ชีวิตของพวกเขาออกมาในมุมมองของตัวเองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหมือนหนัง Foxcatcher (2014) ที่เล่าเรื่องคดีฆาตกรรมนักกีฬาโอลิมปิก ซึ่ง มาร์ค ชูลซ์ นักมวยปล้ำเหรียญทองโอลิมปิกได้ให้ข่าวว่าเขาไม่พอใจเลย ที่หนังใส่เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศลงไปด้วย

หรือบางครั้งแม้หนังจะจ่ายเงินให้กับบุคคลจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไปแล้ว แต่ก็ยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รายอื่น ๆ ที่ไม่พอใจ (และไม่ได้เงิน) จนเรื่องราวอาจจะไปถึงโรงถึงศาลได้ หากบุคคลเหล่านั้นเลือกที่จะฟ้องร้องหนังว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง

อย่างเมื่อ 5 ปีก่อน มีกรณีที่ลูกเรือหลายคนในเรือเดินสมุทร MV Maersk Alabama ได้ตัดสินใจยื่นฟ้องผู้สร้างหนัง Captain Phillips (2013) ว่าหนังบิดเบือนข้อเท็จจริง ด้วยการจงใจนำเสนอภาพของ กัปตัน ฟิลลิปส์ ให้ออกมาเป็นฮีโร่ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรสำคัญเลย อย่างที่ลูกเรือคนหนึ่งบอกว่าตน "อยากให้สาธารณะได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ของทหารเรือ และลูกเรือคนอื่นต่างหากที่เป็นวีรบุรุษที่แท้จริง"

บางกรณีขอสิทธิ์เพื่อ “แต่งเติม” เรื่องราวนอกเหนือความเป็นจริง

นอกจากนั้นก็ยังมีหนังประเภทที่ “อิง” เหตุการณ์จริง หรือ เป็นเรื่องจริง ผสมเรื่องแต่งอะไรทำนองนั้นด้วย ซึ่งบางครั้งหนังประเภทนี้ยิ่งจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะชัดเจนว่าส่วนที่ “แต่งเพิ่ม” ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และบางครั้งอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้เกี่ยวข้อง แต่หากได้รับอนุญาต จะแต่งเพิ่มยังไงก็ไม่มีปัญหา

หนังที่เล่าเรื่องราวในชีวิตของ สตีฟ จอบส์ เรื่อง Steve Jobs ที่อ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือชีวประวัติอย่างเป็นทางการของผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ก็เคยสร้างความฮือฮามาแล้ว เมื่อนักเขียนคนดัง แอรอน ซอคิน ใช้วิธีแต่งทั้งเรื่อง, เหตุการณ์ และบทสนทนาเอาเองโดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์จริง แต่ยืนยันว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตของ จอบส์ ได้ดีที่สุด

ซึ่งหนังสามารถใช้วิธีแบบนี้ได้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ ก็เพราะผลงานเรื่อง Steve Jobs ของ แดนนี บอยล์ เป็นหนังชีวประวัติอย่างเป็นทางการ ที่ได้รับสิทธิ์มาจากผู้ดูแลทรัพย์สินกองมรดกของ จอบส์ นั่นเอง

...................................

การทำหนังจากเหตุการณ์จริง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหา “บิดเบือนความจริง” ไปได้เลย ไม่ว่าจะมีการจ่ายเงินให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ... สำหรับ “หนังถ้ำหลวง” มีข่าวว่าผู้สร้างหนังจากฮอลลีวูดบางราย ก็เลือกที่จะขอซื้อสิทธิ์มาจากผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงบางคนเช่นเดียวกัน

ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าหนัง ถ้ำหลวง (ที่น่าจะมีมากกว่า 1 เรื่อง) จะมีปัญหาเรื่องความถูกต้องของข้อเท็จจริง และความพอใจ หรือไม่พอใจของบุคคลในเหตุการณ์ตามมาเหมือนกับหนังที่สร้างจาก “เหตุการณ์จริง” อีกหลาย ๆ เรื่องหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น