xs
xsm
sm
md
lg

“รักเอย” นำทัพ 5 บทเพลงอมตะ รำลึก “อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ร.ต. ศ.พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการดนตรีบ้านเราต่อการจากไปของ “อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” ศิลปินแห่งชาติ สมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ ผู้ถวายงานใกล้ชิดในหลวง รัชกาลที่ ๙

โดย เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันที่ 5 กันยายน ณ บ้านเลขที่ 51 ถนนลาดพร้าว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 90 ปี ทั้งนี้ ทางครอบครัวกำหนดตั้งศพสวดอธิษฐาน ระหว่างวันที่ 7 - 10 กันยายน เวลา 19.00 น. ณ โบสถ์วัดพระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน กรุงเทพ และจัดพิธีฝังส่งวิญญาณ ในวันที่ 11 กันยายน 2561 ณ สุสานศานติคาม อ.สามพราน จ.นครปฐม

สำหรับประวัติของ ร.ต. ศ.พิเศษ ดร.แมนรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2471 ชื่อเดิม เรมอนด์ ซีเกร่า (Reimondo Amato de Sequeira) เป็นนักดนตรีลูกครึ่งชาวไทย-โปรตุเกส เป็นสมาชิก วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ได้รับพระราชทานนามเป็นภาษาไทยจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ว่า "แมนรัตน์ ศรีกรานนท์" ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ ส่งไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานที่ โรงเรียนการดนตรีเบิร์กลี (Berkley School of Music) ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี - Berkley College of Music)

อ.แมนรัตน์ ถือเป็นหนึ่งปูชนียบุคคลของวงการเพลงบ้านเรา ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินผู้มีความเชี่ยวชาญชั้นสูงด้านดนตรีสากลโดยเฉพาะเปียโน ได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฏยกย่องของบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ อ.แมนรัตน์ ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีแจ๊ซชนิดหาตัวจับยากของเมืองไทย

สำหรับผลงานของ อ.แทนรัตน์ นั้น ท่านได้ประพันธ์เพลงไว้กว่า 100 เพลง เพลงที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น รักเอย ชั่วฟ้าดินสลาย จับปูดำขยำปูนา รักลวง จากยอดดอย ฯลฯ และร่วมประพันธ์เพลง “ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา” อันทรงคุณค่า รวมถึงเป็นศิลปินคนแรกที่นำหลักสูตรการเรียบเรียงเสียงประสานเข้ามาเปิดสอนในประเทศไทย นักเรียบเรียงเสียงประสานปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ที่เคยศึกษากับท่านมาก่อน

นอกจากนี้ท่านยังอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อวงการดนตรีสากลของไทย โดยการเขียนตำราการเรียบเรียงเสียงประสาน เป็นผู้ก่อตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้บริหารโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เป็นกรรมการและที่ปรึกษาเพื่อประโยชน์ต่อวงการดนตรีมากหลายคณะ และช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะด้านวิชาการ การเรียน การสอนโดยได้สร้างสรรค์งานเป็นผู้ให้ความรู้ต่าง ๆ ให้กับทุกสถาบัน ทุกหน่วยงาน
ด้วยผลงานด้านดนตรีอันโดดเด่นและคุณูปการที่มีต่อวงการเพลงบ้านเรา ทำให้ อ.แมนรัตน์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ในปี พ.ศ. 2535

และเพื่อเป็นการรำลึกต่อการจากไปของ ร.ต. ศ.พิเศษ ดร.แมนรัตน์ เราจึงขอ(ย้อน)นำ 5 บทเพลงอมตะของท่านที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดีมาให้ฟังกันอีกครั้ง
รักเอย


เพลง“รักเอย” แต่งคำร้องโดย : เกษม ชื่นประดิษฐ์, ทำนองโดย : อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ บันทึกเสียงครั้งแรก เมื่อ ปี พ.ศ. 2506 โดยมี 2 ต้นฉบับด้วยกัน เวอร์ชั่น ธานินทร์ อินทรเทพ และ คุณ ศรีไศล สุชาตวุฒิ

รักเอย เป็นหนึ่งในบทเพลงอมตะที่คุ้นหูคนไทยกันเป็นอย่างดี และมีศิลปินนำไปขับร้องและคัฟเวอร์กันอย่างมากมาย
ชั่วฟ้าดินสลาย


เพลง“ชั่วฟ้าดินสลาย” เดิมเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2498 สร้างจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” บทประพันธ์ของมาลัย ชูพินิจ (เรียมเอง)

เพลงนี้ ประพันธ์คำร้องโดย ทวี ณ บางช้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ ประพันธ์ ทำนองโดย อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ต้นฉบับ ขับร้องโดย พูลศรี เจริญพงษ์ นับเป็นอีกหนึ่งเพลงที่มีความไพเราะมาก จึงได้รับรางวัลแผ่นเสียงเงินพระราชทาน
จับปูดำขยำปูนา


เพลง“จับปูดำขยำปูนา” หรือ เพลง“จับปู” คำร้องโดย อาจารย์ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์, ทำนองโดย อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เวอร์ชั่นนี้

เพลงนี้ อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เดิมเป็นเพลงเด็กๆ ในสมัยก่อน ที่ร้องกันว่า จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้า คว้าปูทะเล แล้วนำเอามาแต่งเนื้อท่อนกลางเติมเข้าไป พอให้ ดารารัตน์ เกียรติเกิดสุข เป็นผู้ขับร้อง ก็ได้รับเสียงฮือฮา ตอบรับ เป็นที่นิยมกันมาก เฉพาะบรรดานักเที่ยวกลางคืน และ นักลีลาศเท้าไฟ ในยุคนั้น เรียกว่า ทุกไนท์คลับ ต้องบรรเลงเพลงนี้ให้ออกไปวาดลวดลายกลางฟลอร์กันทุกคืน
จากยอดดอย


เพลง“จากยอดดอย”ประพันธ์คำร้องโดยพันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ในขณะมียศพันตรี เพื่อทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงให้ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ประพันธ์ทำนอง

ในปี 2522 จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินแห่งชาติ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต นำมาขับร้องในอัลบั้มเพลงโฟล์คซอง "จากยอดดอย" ปัจจุบันเพลงนี้ใช้เป็นเพลงประจำสถาบันมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เพลงจากยอดดอยเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่ออุทิศแด่วีรกรรมของเหล่าทหารกล้า ผู้ยอมเสียสละชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย นับเป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่นอกจากจะมีความไพเราะแล้วยังมีเนื้อหากินใจ ซาบซึ้งในอารมณ์มาก
ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา


เพลง“ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา” เป็นเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พ.ศ. 2542 ขับร้องโดยศิลปินจำนวน 72 คน และบันทึกเสียงเพลงนี้ร่วมกับวงดนตรีเฉลิมราชย์ จากนั้นจีงดำเนินการจัดทำเทปเพลง แผ่นเสียง และวีดิทัศน์ประกอบเพลงเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน

เพลงนี้ ร่วมประพันธ์คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร, อาจินต์ ปัญจพรรค์, สุรพล โทณะวณิก, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

ร่วมประพันธ์ทำนองโดย สง่า อารัมภีร์, นคร ถนอมทรัพย์ ประสิทธิ์ พยอมยงค์ และ เรืออากาศตรี ศ.พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เรียบเรียงเสียงประสานโดย ประสิทธิ์ พะยอมยงค์, กิตติ ศรีเปารยะ

เพลงภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา ถือเป็นอีกหนึ่งบทเพลงเทิดพระเกียรติในหลวง ร.๙ ที่มีความไพเราะซาบซึ้งและคนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดเพลงนี้ให้เป็น 1 ใน 6 เพลงสำคัญของแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546


กำลังโหลดความคิดเห็น