xs
xsm
sm
md
lg

8 เต็ม 10! แฟนตาซีแบบ Marvel หนักหน่วงแบบ DC และมีความคาวบอย : ขุนพันธ์ 2

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เห็นพาดหัวบทความ คนที่ยังไม่ได้ดู อาจจะนึกว่า โอ้โห มันขนาดนั้นเลยหรือ? ส่วนสำหรับคนที่ดูแล้ว ก็คงจะพอมองออกครับว่า มันมีความจริงอยู่เพียงใดในถ้อยคำพาดหัวดังกล่าว

ต้องเรียนอย่างนี้ก่อนครับว่า แม้กระทั่งผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ “ก้องเกียรติ โขมศิริ” ก็ให้สัมภาษณ์ไว้กับหลายๆ สื่อ ว่าหนึ่งในความตั้งใจของเขาก็คือ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ก็ดัน “ขุนพันธ์” ให้มีความเป็นแฟนตาซีแบบสุดๆ ไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกับเรื่องคาถาอาคมหรือเครื่องรางของขลัง นี่เอื้อมากต่อการที่จะจัดวางความแฟนตาซีลงไป เปรียบเทียบก็คงคล้ายๆ กับที่เราดูหนังของค่ายมาร์เวลอย่างเรื่อง ดร.สเตรนจ์ (Dr.Strange) ที่กฎเกณฑ์ความเป็นจริงถูกทิ้งไว้นอกโรงหนัง เพราะมันเต็มไปด้วยความเว่อร์วังแฟนตาซีชนิดที่จะเหาะเหินเดินอากาศหรือวาร์ปหายตัวได้ยังไง ก็ใส่กันไปให้สุดติ่ง

อย่างไรก็ดี ขณะที่หนังเล่นกับความแฟนตาซีแบบสุดขั้ว แต่ในตัวเรื่องราวก็แฝงไว้ด้วยประเด็นที่หนักหน่วงและซับซ้อน ถ้าจะพูดก็เหมือนมีส่วนผสมแบบหนังจากค่ายดีซี (DC) ที่มักจะมีความซีเรียสในเชิงเนื้อหาลงไปด้วย แต่อันที่จริง ก็ต้องบอกว่า มันเป็นอัตลักษณ์อีกด้านหนึ่งของหนัง “ก้องเกียรติ โขมศิริ” ซึ่งเท่าที่ติดตามผลงานของผู้กำกับคนนี้มาตลอด ผมพบว่า หนังของเขามักจะมีประเด็นดีๆ และเข้มๆ ข้นๆ มาให้คนดูได้ขบคิดเสมอๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า “ขุนพันธ์” ภาค 2 นำเอาร่องรอยของสไตล์หนังทั้งสองค่ายมาผสมผสานอยู่ในตัวเอง และเหนืออื่นใด ผมคิดว่าผลงานชิ้นนี้มีความเป็นหนังคาวบอยอยู่สูงมากๆ ครับ องค์ประกอบต่างๆ ไล่ตั้งแต่คอสตูม เสื้อผ้า รองเท้า อาวุธ (ปืน) ท่วงท่าลีลาการยิงปืน หรือแม้กระทั่งการนำม้ามาเป็นพาหนะ ทั้งหมดนี้ชวนให้นึกถึงหนังคาวบอยอย่างยากจะปฏิเสธ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงฉากไตเติ้ลที่ตัวละครเอกดึงบังเหียนม้าแล้วหันมาทางคนดูพร้อมเล็งปืน ยิงปืน นี่มันภาพของคาวบอยโดยแท้

หรือถ้านั่นยังไม่พอ ก็ยังมีฉากที่ตัวละครบางตัวพูดออกมาและมีการอ้างอิงถึงคน 3-4 แบบ (ที่มารวมตัวกันในร้านดื่มกิน) ทั้งคนดี คนเลว คนไร้เกียรติ ซึ่งพอขึ้นซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ ก็คือ The Good, The Bad and The Ugly หนังคาวบอยในตำนานซึ่งแสดงนำโดย “คลินต์ อีสต์วูด”, “อีไล วอลเลซ” และ “ลี แวน คลิฟ” แถมมิวสิกสกอร์ที่เหมือนจะเป็นมิวสิกสกอร์ประจำตัว เวลา 3 เสือ (เสือฝ้าย เสือใบ เสือบุตร) ปรากฏตัว ยังมีสุ้มเสียงสำเนียงที่ชวนให้นึกไปถึงมิวสิกสกอร์ในหนังคาวบอยเรื่องดังกล่าวด้วย

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ในความรู้สึกหนึ่งคือกำลังนั่งดูหนังคาวบอยที่มีการขับเคี่ยวกันระหว่างคนดี คนเลว คนลวงโลก ความดี ความชั่ว คุณธรรม ความน่าอัปยศ ฯลฯ ที่มักจะปรากฏเป็นแก่นสารในหนังคาวบอย ต่างแต่ว่า ถ้า “ขุนพันธ์” เป็นหนังคาวบอย ก็เป็นหนังคาวบอยที่สอยเอาความแฟนตาซีแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่ยุคใหม่ลงไปด้วย แล้วคลุกเคล้าเข้ากับประเด็นเนื้อหาที่เข้มข้น มีความน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แม้หนังจะยาวมากๆ ถึง 130 นาที แต่ก็ดึงความสนใจให้เราอยู่กับหนังไปได้ตลอด

พูดง่ายๆ ครับว่า 130 นาทีนี่ค่อนข้างยาวมากๆ หากทำได้ไม่น่าสนใจ เชื่อว่าต้องมีลุกหนีออกไปจากโรงบ้างล่ะ

แม้จะดูเป็นหนังย้อนยุค แต่ก็ย้อนยุคแบบร่วมสมัยด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทำให้หนังพีเรียดย้อนยุค “ไม่ตกยุค” และที่สำคัญคือเรื่องของเนื้อหา ซึ่งย้ายจากปี 2488 มาอยู่ปี 2561 ได้อย่างสบายๆ นั่นก็เพราะว่า ประเด็นที่ “ขุนพันธ์ 2” พูดออกมาดังไม่แพ้เสียงปืน ก็คือสิ่งที่เราพบเห็นอยู่ในเมืองไทยยุคปัจจุบัน หรือเอาเข้าจริง มันก็เป็นอยู่เช่นนี้แต่ไหนแต่ไร และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ตราบเท่าที่ยังมีคนแบบในหนังเรื่องนี้อยู่

... หลังจากขุนพันธ์ ปราบ “อัลฮาวียะลู” มหาโจรเลื่องชื่อทางภาคใต้ได้สำเร็จ ท่านขุนก็ถูกเรียกตัวมาประจำการในพื้นที่ภาคกลาง แต่ด้วยวิถีที่เขาเลือกเป็น กลับทำให้ต้องเผชิญกับอุปสรรคและความจริงที่ว่าผู้คนไม่ศรัทธาตำรวจ เลือกกฎหมู่แทนกฎหมาย ชาวบ้านลุกขึ้นมาเป็นโจร ส่วนข้าราชการก็หาผลประโยชน์ใส่ตัว เมื่อลูกน้องและเพื่อนตำรวจถูกโจรฆ่าในปฏิบัติการครั้งนั้น ตัวขุนพันธ์ทำอะไรไม่ได้ แถมถูกพักราชการ ขุนพันธ์จึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มกับเสือฝ้าย หัวหน้าชุมโจรเชิ้ตดำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคกลาง ผู้มีอาคมสะกดให้ทุกสิ่งหยุดนิ่ง มีพละกำลังมหาศาล รวมทั้งอำนาจและไพร่พลชนิดที่ว่าตำรวจยังต้องหวั่นเกรง โดยมีมือขวาคนสนิท คือ “เสือใบ” ผู้มีวิชากระสุนคต และตะกรุดแคล้วคลาด

การเดินทางสู่ถ้ำเสือชุมโจรของขุนพันธ์ นอกจากจะนำมาซึ่งฉายาใหม่ว่า “เสือบุตร์” ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้นายตำรวจผู้มีคาถาอาคมขลังได้ค้นพบเรื่องราวหลากหลายที่ไม่ใช่แค่ “ขาว” กับ “ดำ” หรือ “คุณธรรม” กับ “ไร้คุณธรรม” โดยในการค้นพบนั้นๆ มีพาร์ทหนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ ก็คือ พาร์ทของ “เสือใบ” (อารักษ์ อมรศุภศิริ) ตัวละครตัวนี้มีมิติมากกว่าหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่มีวิชาในทางไสยศาสตร์ หากแต่รวมถึงประวัติความเป็นมาที่เป็นเหตุเป็นผลแห่งพฤติการณ์ของตัวละคร

ตรงจุดนี้ ต้องยอมรับครับว่า ผู้กำกับหรือคนเขียนบททำการบ้านมาดีเกี่ยวกับการให้เหตุผลของตัวละคร หรือการกระทำของตัวละคร ผลเกิดแต่เหตุ และ “เหตุ” ที่ว่านั้นก็สมเหตุสมผล มีความน่าเชื่อถือ ... ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมคิดว่าหนังหาเหตุผลให้กับตนเองได้ดีมาก และเป็นการออกตัวได้ดีมากๆ คือนอกจากจะขึ้นไตเติ้ลตอนต้นเรื่องว่า หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเค้าโครงเรื่องจริง (ไม่ใช่เรื่องจริง) หนังยังให้ข้อมูลที่มาแห่งการมีคาถาอาคมขลังของขุนพันธ์อย่างรวบรัดเห็นภาพ ซึ่งก็คือการได้มีโอกาสศึกษาและฝากตัวเป็นศิษย์กับเกจิอาจารย์จนได้วิชาอาคมขลังมาประจำกาย และหลังจากนี้ไป หนังก็ไม่ต้องพะวงกับคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นว่าขุนพันธ์ทำไมคงกระพันขนาดนั้น แล้วใส่ความแฟนตาซีเข้าไปได้แบบเต็มแม็กซ์

ความน่าตื่นตาประการแรกๆ ในการดูหนังขุนพันธ์ภาคนี้ก็คือจุดนี้นี่แหละ เรื่องคาถาอาคมที่งัดมาสู้กันอย่างที่พูดได้ว่าหลุดโลกความจริงกันไปเลย คือมันดูเว่อร์ๆ แต่ก็เวอร์แบบมันส์ๆ นะครับ ทั้งคาถาพรางตัว ทั้งกระสุนคต ทั้งมนต์สะกดให้หยุดนิ่ง ห่างไกลความจริง แต่น่าตื่นตาตื่นใจ นอกเหนือไปจากนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของฉากแอ็คชั่น ซึ่งมีตั้งแต่ดวลกันด้วยมือเปล่า ไปจนถึงอาวุธเบาอาวุธหนัก หรือแม้แต่ฉากใหญ่ๆ สไตล์ระเบิดภูเขาเผากระท่อม ก็มีครบครัน เรียกว่ามีให้มันส์กันเรื่อยๆ ตลอดทั้งเรื่อง

แถมบางฉากก็มีความโหดชวนหวาดเสียว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เรามักจะได้เห็นในหนังของก้องเกียรติ โขมศิริ (อย่างเช่นเรื่อง “เฉือน”) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันมีทั้งความโหดในแบบที่มองเห็นด้วยตา (ฉากทุบหัว, ยิงแสกหน้า) กับความโหดที่ให้จินตนาการต่อว่าเกิดอะไรขึ้น (คนหล่นลงมา โดยมีเหล็กแหลมรออยู่ด้านล่าง) ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีชั้นเชิง และเน้นให้เกิดความรู้สึกน่าเจ็บปวดแสนสาหัสมากกว่าจงใจให้เป็นภาพอุจาด

ชั้นเชิงนั้น ยังรวมไปถึงการเล่นกับลักษณะของตัวละครเพื่อให้เกิดความหมายบางอย่าง เช่น “หนวด” ของขุนพันธ์ การโกนหนวดอาจเป็นการพรางตัวเพื่อไม่ให้คนจำได้ แต่ด้านหนึ่งมันก็หมายถึงการละทิ้งสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วยในขณะเดียวกัน และเมื่อใดก็ตามที่หนวดของขุนพันธ์กลับมาโค้งๆ งอนๆ อีกครั้ง นั่นหมายถึงตัวตนแห่งตำรวจซึ่งเป็นตัวตนจริงของเขาก็กลับมาด้วย ซึ่ง “สัญญะ” ลักษณะนี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดๆ อีกหนึ่งตัวละครก็คือ “หมวดอัศวิน” ที่ลักษณะทางกายภาพของเขาที่เปลี่ยนไป มันเหมือนเป็นกระจกสะท้อนที่สะท้อนได้ตรงเผงถึงบุคลิกภาพทางจิตที่บิดเบี้ยวแปรปรวนด้วย

กล่าวในภาพรวม แม้จะมีบางจุดที่ผมเห็นว่า มันมาได้อย่างไร อย่างเช่น “วัด” ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุตอนท้ายเรื่อง ก็เป็นวัดที่มากมายด้วยเกจิอาจารย์ผู้แก่กล้าอาคมขลังไปอย่างน่าอัศจรรย์ (อะไรมันจะ “มหัศจรรย์” ได้ปานนั้น) .... แต่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อดูภาพรวมทั้งหมด ก็ยังเห็นว่า นี่คือการพยายามก้าวไปข้างหน้าของหนังขุนพันธ์ รวมถึงทีมงานทุกคน ผลลัพธ์ของมันคือการมอบความบันเทิง 130 นาที ให้กับคนดูผู้ชม สรุปก็คือเป็นหนังที่ดูสนุกครับ ถ้ามีภาคต่อไป ก็คงจะติดตามดูเช่นเคย

และอันนี้ลองเสนอดูเล่นๆ นะครับ ไหนๆ ก็แฟนตาซีเว่อร์วังอลังเหลือถึงขั้นนี้แล้ว ขุด “อัลฮาวียะลู” กลับมาอีกรอบ จะเจ๋งไหมครับ ตายแล้วก็ไม่เป็นไร ก็เอากลับมาแบบเป็นผี ... “ขุนพันธ์” สู้กับผี ด้วยคาถาอาคม น่าจะมันส์ไปอีกแบบนะครับบบบ...



ขุนพันธ์ 2
กำกับภาพยนตร์ : ก้องเกียรติ โขมศิริ
บทภาพยนตร์ : ก้องเกียรติ โขมศิริ, สุโกสินทร์ อัครพัฒน์
นักแสดง : อนันดา เอเวอริงแฮม, อารักษ์ อมรศุภศิริ, พันเอกวันชนะ สวัสดี, รัชวิน วงศ์วิริยะ, นันทวุฒิ บุญรับทรัพย์, อาภา ภาวิไล, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ไมเคิล เชาวนาศัย, คมสัน ขจรไพศาลสุข, อิศรา นาดี, จอห์น บราโว่, พวง แก้วประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ศรีบุญนาค, เป้า ปรปักษ์, วงศ์ตะวัน ชีวิน ฯลฯ







กำลังโหลดความคิดเห็น