xs
xsm
sm
md
lg

ยิ้มร่า น้ำตาริน : Girls Don’t Cry เสียงร้องไห้ที่ไม่มีใคร(อยาก)ได้ยินของ BNK48

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


แม้จะรู้สึกเคอะๆ เขินๆ อยู่สักนิด กับการเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ที่ผู้ชมซึ่งดูในรอบเดียวกัน ล้วนๆ เป็นวัยรุ่น หรือไม่ก็สูงวัยหน่อยแต่สมาทานตนเป็นโอตะ และตัวผมเองก็ไม่ใช่ทั้งวัยรุ่น (แม้จะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะบอกตัวเองว่าหัวใจยังวัยรุ่น) อีกทั้งไม่ใช่โอตะผู้ติดตาม แต่ด้วยเครดิตของผู้กำกับภาพยนตร์ “เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ก็พอจะช่วยสะกดจิตตัวเองให้ตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ได้

เพราะอะไรยังไง? คำตอบที่ได้ก็คงเป็นเพราะเห็นว่า ผลงานที่ผ่านๆ มาของเต๋อ นวพล มักจะมมาพร้อมกับความน่าสนใจ ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหาที่นำเสนอ พูดได้ว่าเขามี “มุมมองที่พิเศษ” มีความครีเอทหรือสร้างสรรค์และทำการบ้านมาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นหนังเล็กๆ ฉายโรงจำกัด อย่างพวก Mary is happy, Mary is happy (ปี 2556), เดอะมาสเตอร์ (ปี 2557), Die Tomorrow (ปี 2560) หรือหนังใหญ่ๆ ออกฉายวงกว้าง อย่าง “ฟรีแลนซ์.. ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” ก็ล้วนแต่กล่าวได้ว่าเรียกความสนใจจากคนดูผู้ชมได้ตลอด จะกลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มแมสก็ตามที

ดังนั้น ออกตัวไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรกแล้วนะครับว่า นี่คือความคิดเห็นของคนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับของวงแต่อย่างใด แต่พูดตามเนื้อผ้าและเนื้อหนังจริงๆ

พูดตามจริง สิ่งแรกๆ ที่ผมสนใจและคิดว่าจะมาไหมหรือมามากมาน้อยแค่ไหนในหนังของเต๋อ นวพล ก็คือเรื่องของอารมณ์ขันหรือความตลก คือเท่าที่ดูผลงานที่ผ่านๆ มา ทำให้ได้รู้ว่า “เต๋อ นวพล” เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน (Sense of Humor) ในระดับที่สูงมาก และบ่อยครั้งบางทีก็ออกไปในแนวตลกร้ายแต่ไม่ถึงกับดาร์ก เพียงชวนรู้สึกขำแบบเจ็บๆ ขื่นๆ คือเจ็บปวด แต่ก็เข้าใจอยู่ในที

กับหนังเรื่องนี้ พูดได้เลยครับว่า อารมณ์ขันนั้นมามากจัดเต็ม เป็นมวลสารส่วนประกอบของงานชิ้นนี้ชนิดที่กล่าวได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของหนังอีกชิ้นหนึ่งก็ว่าได้ อันความน่ารักน่าเอ็นดูตามวัยของบีเอ็นเคทั้งหมดนั้น ชวนให้โลกยิ้มแย้มสดใสแน่นอนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มันเจ๋งยิ่งกว่านั้นคืออารมณ์ขันที่ออกจากมาตัวหนัง ... ยกตัวอย่างเช่น เปิดมาฉากแรกๆ เราก็เห็น BNK สักคน (ถ่ายจากข้างหลังขณะเดิน) เอื้อมมือจับบริเวณก้นของตัวเอง (น้องใส่กางเกงยีนส์ขายาวอยู่นะ) เหมือนต้องการขยับอะไรๆ ให้เข้าที่เข้าทางหรือเกิดความคันแบบยากจะทิ้งไว้จนต้องเกา พูดจริงๆ มันก็ดูฮา เพราะใครจะไปคิดว่า BNK ก็ทำอะไรแบบนั้น

กระนั้นก็ตาม นอกจากอารมณ์ขันในฉากนี้ ผมเดาว่า เต๋อ นวพล กำลังแอบส่งสารอะไรบางอย่างให้กับคนดูผู้ชมด้วย เกี่ยวกับความธรรมดาๆ ของพวกเธอ แน่นอนล่ะ ไม่ว่าใครจะมองว่าพวกเธอเลิศเลอแค่ไหนในความเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่อีกด้านหนึ่ง พวกเธอก็คือคนธรรมดา เป็นเด็กสาวธรรมดาๆ คนหนึ่งๆ เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งออกจากบ้านมาตามหาความฝันของตนเอง

อย่างที่บอกครับว่า อารมณ์ขันคือกระดูกสันหลังชิ้นหนึ่งของหนัง เราจึงจะได้หัวเราะกับหนังอยู่เรื่อยๆ ตลอดทั้งเรื่อง แต่ถ้าถามถึงพาร์ทที่ชอบมากๆ เกี่ยวกับความตลก และเชื่อว่าหลายคนคงจะชอบเหมือนกัน คือพาร์ทของปูเป้ (จิรดาภา อินทจักร – บอสแห่งฝูงเป็ด, ไอดอลสายเกรี้ยวกราด) เธอเป็นทั้งความตลก เป็นทั้งความซีเรียสน่าเจ็บปวด แต่ก็ตลกและเจ็บปวดแบบเข้าใจ จนกระทั่งยอมรับและปล่อยวางได้

Girls Don’t Cry แบ่งออกเป็น 4 ช่วงหลักๆ โดยช่วงที่ 1 ฉายให้เห็นภาพของบรรดาเด็กสาวที่มาพร้อมกับความฝันซึ่งแบกไว้เต็มบ่า แววตาที่สดใสคล้ายๆ กับความฝันที่แจ่มจรัส หลังผ่านการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิก (Member) 48 คน ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ 2 ซึ่งเริ่มได้พบกับความเป็นจริงที่ว่าชีวิตคือการแข่งขัน ถึงจะไม่อยากแข่งเพราะเป็นเพื่อน แต่ลึกๆ ก็ดูเหมือนแข่ง เพื่อให้ตนเองได้ก้าวไปยืนอยู่แถวหน้า หรือที่เรียกว่า “เซ็มบัตสึ” (Senbatsu) อันหมายถึงการมีที่อยู่ที่ยืนซึ่งโดดเด่น ได้เป็นส่วนหนึ่งของซิงเกิ้ลที่จะนำมาซึ่งโอกาสอีกหลายๆ อย่าง... การเป็น No Name หรือ Nobody คือสิ่งที่น่าปวดร้าว

ก่อนจะก้าวสู่พาร์ทที่ 3 ซึ่งผมคิดว่าเป็นช่วงที่น่าร้าวรานที่สุด คือหลังจากผ่านพบกับความเป็นจริงว่าชีวิตจริงมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แม้ไม่อยากแข่งขันก็ต้องแข่งขัน และแม้จะมุ่งมั่นพยายามอย่างถึงที่สุด แต่ก็ดูเหมือนจะยัง “ไม่ใช่” สักที เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ตัวตนถูกสั่นคลอนให้สั่นไหวมากที่สุด หลายคนถึงกับยอมเปลี่ยนตัวตนเพื่อหวังว่าตนจะได้รับความนิยม (ทางเฟซบุ๊ก, ไอจี) ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินอีกอย่างหนึ่งว่าจะได้เป็นเซ็มบัตสึหรือไม่ ภาพลักษณ์ที่คนอื่นหรือแฟนคลับคาดหวัง กับตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ตีกันวุ่นวาย (ต้องแสดงออกมุ้งมิ้ง ทั้งที่ตัวตนจริง ปากจัดมาก) บางคนเริ่มเหนื่อยล้าและตั้งคำถามถึง “คุณค่า” รวมทั้ง “การดำรงอยู่” ของตนเอง ถึงกับมีคำถามว่า เรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร แสงสปอร์ตไลท์ทำไมส่องสว่างไปแต่ที่คนอื่นๆ แล้วเราต้องพยายามสักแค่ไหน เพื่อจะได้เติบโตไปยืนอยู่จุดนั้น

... มันเหมือนกับวันที่ไม่มีใครอยากได้ยินเสียงร้องไห้คร่ำครวญของคุณ นอกจากความสำเร็จ
... มันคือวันที่ต้องกัดฟันฟาดฟันกับอุปสรรคและเอาชนะความรู้สึกอ่อนแอของตนเองให้ได้ เพื่อจะเปล่งประกายให้คนอื่นมองเห็น

อย่างไรก็ตาม การ “เติบโต” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การได้ไปยืนอยู่ในจุดเซ็นเตอร์ (Center) หรือเป็นเม็มเบอร์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเซ็มบัตสึ ผมคิดว่า สุดท้ายแล้ว พาร์ทที่ 4 เป็นพาร์ทที่พูดได้ว่าแสดงถึงการเติบโตของตัวละครได้อย่างดีที่สุด เพราะหลังจากกระโดดโลดแล่นเพื่อจะเป็นดวงดาวที่เจิดจรัส แม้ไม่ได้เป็นหรือได้เป็นเช่นที่ฝัน แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับกลับมาเหมือนๆ กัน นั่นคือความตระหนักคิด ยอมรับและอยู่ร่วมกับสถานะของตนเองแบบไม่เจ็บปวดจนเกินไป คนที่เป็นดาว ก็เป็นดาวที่เรียนรู้ว่าต้องแบกรับอะไรไว้บ้าง ส่วนคนที่ยังไม่ใช่ตัวเด่น ก็กลับมามองหาจนมองเห็นคุณค่าในตนเองและมองคนที่เด่นๆ กว่าด้วยสายตาที่ขมขื่นน้อยลง จากที่เคยรู้สึกกดทับ ก็ยอมรับและคลี่คลาย การเป็นโนบอดี้อาจดูเหมือนไม่ค่อยมีความหมาย แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะชี้วัดความสุขทุกอย่าง

ขณะที่กัปตันเฌอปรางพยายามมองโลกอย่างกลางๆ และอย่างเข้าใจในวิถีของโลกว่ามันก็เป็นเช่นนั้นของมันเอง เธอตอบไม่ได้หรอก ว่าเพราะอะไร เธอถึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นกัปตัน เป็นเซ็นเตอร์ แต่เมื่อได้รับบทบาทนั้นมา เธอก็บอกตัวเองได้เพียงว่าต้องทำให้ดีที่สุด ... ณ จุดนี้ อีกคนที่ผมรู้สึกว่าชอบในเชิงมุมมองก็คือ “เจน” (กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์) เจ้าของฉายา “สล็อต” หรือ “สล็อตน้อย” ผู้ไว้ใจได้ในเรื่องการยิงมุกแป้ก คือหลังจากวิ่งไล่ไขว่คว้าและพยายามเพื่อจะได้เป็นเซ็มบัตสึซึ่งนับเป็นเป้าหมายและความสุขที่ยิ่งใหญ่ ผมคิดว่าอีกด้านหนึ่ง เธอเริ่มมีการพลิกมุมมอง...มองความสุขและความหมายจากสิ่งอื่นๆ อย่างที่เธอเล่าถึงถ้อยคำของแฟนคลับคนหนึ่งซึ่งทำให้หัวใจเธอพองโตทุกครั้งที่นึกถึง ก็จริงที่ว่า ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเป็นที่รักของคนทั้งหมดได้ แต่เพียงหนึ่งกำลังใจก็มีความหมายเพียงพอแล้วสำหรับโลกที่ต้องดิ้นรนใบนี้...

“พบพาน” และ “เปลี่ยนผ่าน”...

“เรียนรู้” และ “เติบโต” ... เหล่านี้เป็นคำนิยามที่ดูเหมาะสมสำหรับเรื่องราวของเหล่าตัวละครในหนังสารคดีเรื่องนี้ เป็นความจริงของ BNK48 ที่อยู่เบื้องหลังจากสายตาที่คนอื่นๆ จะมองเห็น


โดยภาพรวม แม้ Girls Don’t Cry จะเป็นหนังสารคดี แต่ก็เป็นหนังสารคดีที่ไม่แห้งแล้งแต่อย่างใด หนังเปล่งประกายสีสัน ชีวิตชีวา และนำพาอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายสู่คนดูผู้ชมให้สนใจติดตามได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบตัดสลับ ระหว่างภาพฟุตเทจเก่าๆ ของวงตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงวันที่มีชื่อเสียง กับการไล่เรียงให้ตัวละครมานั่งสัมภาษณ์ทีละคน (ราวกับผู้ต้องสงสัยกำลังนั่งให้ปากคำ) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ก็ล้วนทำให้เราได้มองเห็นถึงวิถีของชีวิตการเป็นไอดอลอย่างเข้าถึงและเข้าใจ

มองย้อนกลับไปอีกรอบ... ผมก็อดจะขำกับชื่อหนังไม่ได้ และนี่ก็คืออีกหนึ่งความแยบคายแบบแฝงอารมณ์ขันของเต๋อ นวพล อีกนั่นแหละ ชื่อหนัง “Girls Don’t Cry” มุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งอย่างถึงที่สุด มุมหนึ่งเหมือนว่าเราจะได้เห็นโลกของเด็กสาวที่ร่าเริงสดใส แบบ... “โลกใบนี้เป็นสีชมพู ...” แต่พอได้ดูจริงๆ แล้ว “Girls” เหล่านั้น น้ำตาร่วงกันเป็นแถบ (ฮา)

แต่ความจริงก็เป็นเช่นนี้แหละครับ ถ้าไม่บรรลุธรรมแล้วจริงๆ ก็ยากยิ่งที่จะปฏิเสธการร้องไห้ โดยเฉพาะห้วงยามที่ต้องเผชิญกับความกดดันบีบคั้นอย่างถึงที่สุด แต่ร้องไห้แล้วอย่างไร จะหยุดนิ่งหรือก้าวต่อไป ณ จุดนี้ เรื่องเล่าของกัปตันเฌอปรางน่าจะบอกอะไรบางอย่างแก่เราได้

... ในวัยเด็ก เธอปั่นจักรยานขึ้นไปบนภูเขาซึ่งอยู่ไม่ไกลบ้านนัก ปั่นไปคนเดียวและเกิดอุบัติเหตุจักรยานล้ม เธอนั่งร้องไห้ตรงจุดเกิดเหตุนั้นอยู่พักใหญ่ ด้วยหวังว่าจะมีใครได้ยินตามประสาเด็ก แต่ก็ไม่มีใครได้ยิน สุดท้ายร้องไห้จนพอแล้ว เธอก็ลุกขึ้นจูงจักรยานกลับบ้าน แม้ว่าจริงๆ แล้ว เสียงสะอื้นเล็กๆ ในลำคอจะยังมีอยู่ หรือไม่บางที เสียงร้องไห้อาจไม่เคยหายไปจริงๆ มันเพียงแค่ดังอยู่ในจุดที่ไม่มีเสียงให้ใครได้ยิน ขณะที่ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป...












กำลังโหลดความคิดเห็น