xs
xsm
sm
md
lg

9 เต็ม 10! : “แอปชนแอป” หนังไทยดีๆ ที่ควรสนับสนุน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


... ในโลกของสตาร์ทอัพ มีคนจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ที่ล้มเหลว
อีก 8 เปอร์เซ็นต์กำลังดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด
มีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ร่ำรวย
แต่ถึงอย่างนั้น คนจำนวนมากก็พร้อมที่จะเสี่ยง
... และจริงๆ สตาร์ทอัพมันก็เสี่ยงตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว...


อาจไม่ครบถ้วนทุกต้องทั้งหมด แต่ประโยคข้างต้นเหล่านั้น ก็เป็นถ้อยคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด ในหนังไทยเรื่องล่าสุดที่เพิ่งเข้าฉายอย่าง “App War” หรือ “แอปชนแอป” โดยมีเรื่องราวและตัวละครที่เกี่ยวข้องกับ “สตาร์ทอัพ” เป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง

เชื่อว่า หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินหรือรู้จักคำๆ นี้เป็นอย่างดีแล้ว เพราะในช่วงหลายปีมานี้ “สตาร์ทอัพ” กล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากไปให้ถึง เพราะหากสำเร็จ มันไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การได้เป็นเจ้านายตัวเอง มีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ยังรวมถึงความร่ำรวยที่อาจจะทำให้คนๆ หนึ่งก้าวกระโดดจากการมีตัวเลขในบัญชีระดับ 3-4 หลัก ไปสู่ระดับ 7 หลักหรือมากกว่านั้น

ที่สำคัญ โมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพมักจะมีรูปแบบวิธีการแตกต่างไปจากการทำธุรกิจแบบเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยี (IT) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งที่เราเห็นกันค่อนข้างเยอะก็คือพวกแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหรือช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของผู้คน (แอปฯ สั่งอาหาร, แอปฯ บริการขนส่ง ฯลฯ) ซึ่งถ้าแอปฯ นั้นๆ ได้รับการตอบรับมาก มันอาจจะไม่ใช่แค่ “เปลี่ยนแปลง” วิถีชีวิตของผู้คน แต่ยังอาจจะทำให้ธุรกิจเก่าๆ ล่มสลายลงไป (Industry Disruption) ในระดับที่กล่าวได้ว่าเป็นการ Change the World หรือ “เปลี่ยนโลก” โดยในหนังเรื่องแอปชนแอป ก็มีการนำคำว่า Change the World มาใช้และล้อกับเป้าหมายของสตาร์ทอัพได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หมุดหมายหนึ่งของสตาร์ทอัพ คือการเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของโลก แต่โลกของสตาร์ทอัพก็ใช่ว่าจะไร้ปัญหา เพราะในการเริ่มต้นทำธุรกิจ มันคือการที่ชีวิตจะต้องแบกรับอะไรต่อมิอะไรมากมายหลายอย่าง ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ตนเองมีที่อยู่ที่ยืนในโลกธุรกิจ และนั่นก็เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งซึ่งหนัง App War ถ่ายทอดออกมา แม้ว่าจะมีการปรุงแต่งสีสันเพื่อความบันเทิงตามรูปแบบภาพยนตร์ แต่เราก็พอจับใจความได้ว่า โลกของสตาร์ทอัพนั้น มันไม่ได้ง่ายเลย เพราะมันยากถึงขั้นที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอาจไม่ได้อยู่ที่นั่น...

เหมือนกับชื่อของหนังที่ชวนให้คิดถึงสงครามการแข่งขัน “แอปชนแอป” มีตัวละครหลักอยู่สองฝ่าย ซึ่งทำแอปพลิเคชั่นออกมาคล้ายๆ กัน และพูดได้ว่าเป็นคู่แข่งทางการตลาดแบบไม่มีใครยอมใคร ฝั่งหนึ่งเป็นชายหนุ่ม อีกฝั่งเป็นหญิงสาว โจทย์ใหญ่ของหนังคือการให้คนทั้งสองโคจรมาเจอกัน สานสัมพันธ์ เรื่องมันก็เลยกลายเป็นว่า ขณะที่ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนหรือคนรักกำลังดำเนินไปในฉากหน้า แต่แบ็กกราวน์ฉากหลังนั้นก็แอบเปิดวอร์กันอย่างดุเดือด เพื่อชิงความเป็นที่หนึ่งในสนามรบแห่งแอปพลิเคชั่น ถึงขั้นต้องส่ง “สายลับ” เข้าไปล้วงข้อมูลของอีกฝ่าย

ฟังดูคล้ายๆ จะซีเรียส แต่อันที่จริง “แอปชนแอป” เป็นหนังที่ดูได้ไม่หนักหัว หนังมีความตลกเป็นอีกหนึ่งฐานที่แน่นพอสมควร เรียกว่าตลอดรายทางของเรื่องราวตั้งแต่ต้นไปจนจุดพีค มีการแทรกมุกตลกไว้เป็นสีสันอยู่เรื่อยๆ ส่วนอีกหนึ่งแกนเกี่ยวกับเรื่องความรัก หนังก็ใช้สอยความขัดแย้งในฐานะคู่แข่งทางการตลาด (การอยากเอาชนะ) ให้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางความรักได้สะเทือนใจ มีฉากอยู่ฉากหนึ่งซึ่งผมเห็นว่า มีความหมายมากและหนังก็ใช้ฉากนี้เป็นการจัดองค์ประกอบภาพที่สื่อความได้อย่างเหมาะเจาะ (Mise En Scene) นั่นคือฉากที่ทั้งพระเอกนางเอกเดินคุยกันผ่านสะพานที่ชื่อว่า “มิตรสัมพันธ์” ในช่วงเวลาที่ทั้งคู่กำลังจะตกลงว่าจะเลิกเป็นอริต่อกันนับตั้งแต่นี้ แต่ “มิตรสัมพันธ์” จะเป็นไปได้จริงไหมในโลกของการแข่งขันที่มีการแพ้ชนะเป็นเดิมพัน?

กล่าวโดยภาพรวม “แอปชนแอป” ก็เป็นหนังรักวัยรุ่นที่แม้ว่า อาจจะไม่ถึงขั้น “ว้าว” ตาโตขนาดนั้น แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดี มีการผูกปมสร้างเรื่องและเชื่อมโยงตัวหนังเข้ากับวิถีของคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ได้ตรงจุด นั่นก็คือการพูดถึงความต้องการของพวกเขาในโลกร่วมสมัยที่จำนวนไม่น้อยถวิลหาและอยากมีอยากเป็น ทั้งนี้ หนังก็ได้แนบ “บทเรียน” บางอย่างผ่านหนังมาด้วยแบบไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสั่งสอน แต่มันผุดงอกออกมาจากตัวเรื่องที่บอกเล่า

หรือถ้าจะมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่พอจะรู้สึก “ว้าว” ได้อยู่บ้าง ก็คงเป็นเหล่าดารานักแสดงครับ... ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่า? ขณะที่หนังเล่าเรื่องของ “สตาร์ทอัพ” ซึ่งเข้าใจง่ายๆ ตรงกันว่าเป็นผู้เริ่มต้น ... บรรดานักแสดงในเรื่องนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นนักแสดง “สตาร์ทอัพ” ด้วยกันทั้งนั้น

คือถึงแม้ว่าบางคนจะเคยผ่านการแสดงพวกมิวสิกวิดีโอหรือละครกันมาแล้ว แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้ขึ้นจอเงินหรือภาพยนตร์ (ยกเว้นอยู่คน คือ สิราษฎร์ อินทรโชติ ที่เคยเล่น Die Tomorrow หนังกึ่งสารคดี-ชีวิต ของเต๋อ นวพล) ... แต่ถึงแม้จะเป็นนักแสดงสตาร์ทอัพ ก็เป็นสตาร์ทอัพที่แสดงบทบาทได้น่าพอใจทุกคน และแน่นอนว่า สำหรับแฟนๆ ชาวโอตะของ BNK48 ก็คงจะแฮปปี้ไปตามๆ กันกับผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ “อร BNK48” หรือ “อรอุ๋ง” (พัศชนันท์ เจียจิรโชติ) ที่นอกจากความน่ารัก คือออร่าของนักแสดง ถ้าคิดจะไปในทางนี้ก็มีแววรุ่งได้

สุดท้าย บางคนอาจนึกสงสัยว่าถ้าไปดูหนังเรื่องนี้แล้ว จะทำให้ได้ฮาวทูการเป็นสตาร์ทอัพบ้างไหม? ตอบว่า ถ้าจะได้ ก็น่าจะได้สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการจะทำสตาร์ทอัพนะครับ ส่วนวิธีการรายละเอียด ก็ต้องไปศึกษาเอา แต่เท่านี้ที่หนังสื่อออกมา ผมคิดว่าก็ดีมากแล้วครับ เพราะมันจับไปที่ขั้วหัวใจของการเป็นสตาร์ทอัพเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโยนคำถามให้ชวนคิดอย่างพิจารณาว่า การที่คุณอยากเป็นสตาร์ทอัพนั้น คุณเริ่มต้นมาจากอะไร?

... “เสือ-ยรรยง คุรุอังกูร” ออกสตาร์ทการกำกับหนังใหญ่เรื่องแรก “2538 อัลเทอร์มาจีบ” เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นหนังที่อวลด้วยกลิ่นอายเรโทรย้อนวันวาน เป็นหนังที่ได้รับคำชื่นชมเยอะพอสมควร คือต้องยอมรับล่ะครับว่า การทำหนังไทยยุคนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ไม่ต่างไปจากการทำสตาร์ทอัพ แต่พูดกันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะลงทุนทำอะไร มันก็เสี่ยงตั้งแต่เริ่มอยู่แล้ว หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราตอบตัวเองได้ชัดหรือเปล่าว่าสิ่งที่เราทำนั้นๆ เราเริ่มต้นมาจากอะไร ซึ่งจากผลลัพธ์ที่ออกมา ผมเห็นว่า “แอปชนแอป” เริ่มต้นมาจากความใส่ใจในระดับที่ต้องชม

ถ้า “แอปชนแอป” เปรียบเสมือนแอปสักแอป ก็เป็นแอปที่น่าค้นหาและน่าโหลดมาใช้ แต่ไม่ใช่ไปรอโหลดดูนะครับ อย่างน้อยก็ซื้อแผ่นแท้ ... แต่ไปดูในโรงได้ยิ่งดี ให้คนทำหนังที่มีความตั้งใจทำหนังดีๆ มีกำลังใจที่จะทำต่อไป...

App War แอปชนแอป
ผู้กำกับ: ยรรยง คุรุอังกูร
นักแสดง: จิงจิง วริศรา ยู, ณัฏฐ์ กิจจริต, ทู สิราษฎ์ อินทรโชติ, ธิชา วงศ์ทิพย์กานนท์, หรั่ง อภิวิชญ์ เธียร์ดอน, อร BNK48, เติร์ด ธนาภพ อยู่วิชิต








กำลังโหลดความคิดเห็น