ในที่สุด ก็เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในรอบ 15 ปี ของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้”
ภายหลังที่ผ่านพ้นยุคทอง เมื่อโลโก้ของรายการอย่าง “สรยุทธ สุทัศนจินดา” ที่เป็นทั้งผู้อยู่เบื้องหลัง และกำลังสำคัญในการดึงเรตติ้ง มีเหตุให้จำต้องยุติบทบาทผู้ประกาศทางหน้าจอทีวี อันเนื่องมาจากคดียักยอกค่าโฆษณาของ อสมท. ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2559 ก็ต้องถือว่าเป็นช่วงดำดิ่งของรายการ จากที่เคยเป็นแชมป์ข่าวเช้า ก็กลับถูกคู่แข่งแซงหน้าไปแบบไม่เห็นฝุ่น
แม้จะมีการเพียรพยายามในการเปลี่ยนตัวผู้ประกาศข่าวที่มานั่งเก้าอี้แทนคนแล้วคนเล่า แต่ก็ดูเสมือนว่าสถานการณ์ของรายการ ไม่สามารถที่จะกลับมาผงาดอยู่ในอันดับเดิมได้
ผลกระทบที่ตามมา ก็คือการที่ช่อง 3 ประกาศปรับผังรายการครั้งใหญ่ประจำไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 โดยลดเวลาการออกอากาศของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ลงไป 45 นาที จากเดิมที่เคยออกอากาศ จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06.00-09.30 น เหลือเวลาออกอากาศ ตั้งแต่ 06.00-8.45 น.
โดยในครานั้น “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” สมัยที่ยังรั้งตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ระบุถึงสาเหตุในการปรับผังดังกล่าวว่า เนื่องจากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ขาด ผู้ประกาศข่าวหลักอย่างสรยุทธ ทำให้ต่อเรตติ้งของรายการที่หายวับไปถึง 25% จากเดิมเคยได้ 2 กว่า ร่วงลงมาอยู่ประมาณ 1.5-1.7 เป็นผลกระทบที่กระเทือนไปถึงรายได้จากค่าโฆษณา ที่ลดลงถึง 30%
นั่นคือลางบอกเหตุคำรบแรก ถึงชะตากรรมของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ในยุคที่ไร้สรยุทธ
จวบกระทั่งผ่านมาถึงวันนี้ ยักษ์ใหญ่ของรายการเล่าข่าวเช้า ก็ยังไม่อาจกลับมาผงาดอยู่แถวหน้าได้เหมือนเดิม
แหละ....นั่นจึงเป็นปฐมบทแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่อย่างที่เกริ่นไว้เมื่อตอนต้น
โดยรูปแบบของรายการที่เคยคงที่มายาวนาน จะถูกปรับเปลี่ยน ด้วยการ “ผ่า” รายการออกเป็น 2 ส่วน
เริ่มต้นที่เวลา 05.30 – 06.00 น. จะเป็นรายการ “เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง”
และ 06.00-08.00 น. จะเป็นรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ในฟอร์แมตเดิม ซึ่งเริ่มต้นใช้ผังรายการนี้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับที่มาที่ไปของการปรับเปลี่ยนครานี้นั้น แกนนำหลักอย่างสรยุทธได้มีการชี้แจงผ่านการไลฟ์สดในเพจ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 30 กรกฏาคม หลังจากที่จบการออกอากาศรายการรูปแบบใหม่ครั้งแรก โดยจับใจความได้ว่า
รูปแบบนี้เจ้าตัวเป็นคนนำเสนอไอเดีย และผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารของช่อง คือ “ไบรอัน มาร์คาร์”
แต่ก็ไม่ลืมที่จะออกตัวว่าเป็นเพียงคนเสนอไอเดียเท่านั้น หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเบื้องหลัง หรือการเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการแต่อย่างใด
จริง-เท็จอย่างไรขออนุญาตไม่ออกความเห็น !!
มาว่ากันถึงเมนไอเดียของการผ่าตัดรูปแบบออกมาเป็น 2 รายการนั้น เพราะมองในเรื่อง “กลุ่มเป้าหมายเป็น” เป็นหลัก
อธิบายขยายความว่า คนดูช่วงตีห้าครึ่ง กับคนดูในช่วงหลัง 6 โมงนั้น ถือเป็นคนละกลุ่ม
คนดูตีห้าครึ่งจะเป็นกลุ่มคนดูที่ตื่นเช้ามากๆ และอาจจะออกจากบ้านประมาณหกโมง ส่วนอีกกลุ่มก็จะตื่นสายหน่อย ประมาณ 6 โมงถึง 8 โมง ก็จะเป็นอีกกลุ่ม อาจจะมีซ้อนกันบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดแน่นอน
ทีนี้เมื่อเป็นคนดูต่างกลุ่มกัน แน่นอนว่าการนำเสนอคอนเทนต์ก็จะต้องแตกต่างกันไปด้วย
นั่นคือแนวคิดที่สรยุทธมอง !!
จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจผ่าตัดรายการครั้งสำคัญดังกล่าว
แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ความสำเร็จของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” นั้น เกิดจากการการยึดติดกับตัวบุคคล ซึ่งนั่นก็คือตัวของสรยุทธเอง ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเล่าข่าวมือหนึ่งที่หาใครเทียบเคียงได้ยาก หาได้ประสบความสำเร็จเพราะรูปแบบรายการไม่
เพราะข้อพิสูจน์ก็เห็นกันมาแล้ว หลังจากที่ไม่มีสรยุทธทางหน้าจอ เรตติ้งของรายการก็ร่วงดิ่งลงเรื่อยๆ ความพยายามที่จะสลับสับเปลี่ยนตัวพิธีกร ก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์กระเตื้องขึ้นมาได้
ฉะนั้นแล้ว อาจจะเป็นไปได้ บางทีการผ่าตัดครั้งนี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน
เผลอๆ อาจจะสายเกินไปแล้วด้วยซ้ำ. กับการที่จะกอบกู้เรตติ้งให้กับรายการที่มีแต่ทรงกับทรุด
หรือสุดท้าย ก็เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้
เพราะเมื่อเหลียวมองไปที่รายการข่าวเช้าช่องต่างๆ ก็พบว่า ส่วนใหญ่ก็นำร่องด้วยการใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้มาก่อนแล้วทั้งสิ้น
อย่างเช่นช่อง 8 ก็หั่นเวลา "คุยข่าวเช้าช่อง 8" ในช่วงเวลา 05.00 - 06.00 น. เป็น “คุยข่าวเช้ารุ่งอรุณช่อง 8 " ซึ่งก็ส่งผลให้เรตติ้งช่วงคุยข่าวเช้าในเวลา 06.00 - 09.00 น. เขยิบขึ้นมาทันตาเห็น
เช่นเดียวกับช่องวัน ที่ผ่ารายการข่าวเช้าออกเป็น 2 รายการ เริ่มจาก "ข่าวเช้าตรู่ช่องวัน" 05.00 - 06.00 น. และ "ข่าวเช้าช่องวัน" 06.00 - 08.00 น. แม้จะใช้ผู้ประกาศข่าวคู่เดียวกัน โดยมี “จั๊ด-ภีมะ กาญจนไพริน” เป็นตัวชูโรง แต่การสำรวจตรวจสอบเรตติ้งนั้น ถูกจับแยกกันอย่างเด็ดขาด โดยในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.28 และ 0.36 ตามลำดับ จากที่รูปแบบเดิมที่ยิงยาว 3 ชม. ได้เรตติ้งเฉลี่ยประมาณ 0.29
รวมไปถึงช่องเวิร์คพอยท์เอง ก็ใช้หมากเกมเดียวกัน โดยมีรายการ "ตลาดข่าว" ที่ออกอากาศในช่วงเวลา 05.00 - 06.00 น. จากนั้นก็จะต่อด้วยข่าว Workpoint เวลา 06.00 - 09.00 น. แม้กระทั่งช่อง PPTV กับ True4U ก็ใช้สูตรนี้เช่นเดียวกัน
ก็ต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่ากลยุทธ์ที่สรยุทธงัดมาใช้กับรายการ “เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง” และ “เรื่องเล่าเช้านี้” ซึ่งว่าไปแล้วก็ถือเป็นการเดิมตามเกมเดียวกับช่องอื่นๆ นั้น จะทำให้เรตติ้งของรายการกระเตื้องขึ้นมามากน้อยขนาดไหน !!!???
ถึงเวลาที่ยักษ์ใหญ่ต้องพิสูจน์ตัวเองแล้ว !!
นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 454 4-10 สิงหาคม 2561