อสมท. ยอมรับสั่งปลดซีรีส์ “บังเอิญรัก” ฟ้าแล่บ เพื่อทบทวนบทบาท - หาจุดยืนให้องค์กร ชูสโลแกนใหม่หุ้นส่วนสังคมไทย อยากได้ละครวัยรุ่นที่สะท้อนสังคมมากกว่า เมินดรามากีดกันเพศที่สาม ลั่นดังในโลกออนไลน์แต่ไม่ได้เงิน เหนื่อยหาผู้ผลิตที่มีความสามารถ เผยกรณีประกาศตัดสัญญาสปริงนิวส์ หลังค้างค่าเช่าโครงข่าว 104 ล้าน ล่าสุดเจรจาแล้ว ยืดเวลาให้อีก 30 วันผ่อนชำระหนี้ มองว่าเป็นทางออกที่ดี
ยังถูกวิจารณ์แรง สำหรับกรณีที่ อสมท. สั่งถอดซีรีส์ “บังเอิญรัก” ซึ่งเป็นซีรีส์แนวชายรักชายกะทันหัน จนทำให้เกิดกระแสดรามา จวกเละใจคอคับแคบกีดกันละครเกี่ยวกับเพศที่สาม ทั้งที่ยุคนี้เป็นยุคสมัยไหนกันแล้ว ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสอบถาม “ใหญ่ เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ระหว่างร่วมงานแถลงข่าวงานนาฏราช ณ ห้อง auditorium ชั้น 6 อาคารปฏิบัตรการ อสมท ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นการปลดเพื่อทบทวนบทบาทองค์กร แต่ยังมีสิทธิ์ออนแอร์ ถ้าแก้บทซะใหม่
“เรื่องซีรีส์ จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ที่จะไปปิดกั้น เพียงแต่ว่าอันดับแรก คือมันกระชั้นไปนิดหนึ่ง อันที่ 2 ทางฝ่ายบริหารเองไม่ใช่บอร์ดหรอก ฝ่ายบริหารเองมองว่า เราทบทวนบทบาทและองค์ประกอบของเราให้มันชัดเจนยังไงบ้าง ถ้าหากในตัวคอนเซ็ปต์ของตัวแพลตฟอร์มของ MCOT.net หรือตัวออนไลน์ต้องแข็งแรง ก็สามารถดำเนินการได้”
“สิ่งที่ผ่านมาเราเคยทำละครวัยรุ่นแต่ปรากฏว่าจะมีคนที่ดูอยู่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วไปดังในออนไลน์ ถ้าหากเราจะซ้ำในรอยเดิมเราก็ดังแค่ในออนไลน์แต่จะดังในหน้าจอหรือเปล่าอันนี้เราก็ไม่ทราบ ในทุกปีที่ผ่านมาในขนาดนี้ ในส่วนของผู้ชมเราเป็นคนที่มีอายุ ซึ่งก็จะทำให้เห็นว่าเราเน้นในเรื่องของข่าวเรื่องของรายการวาไรตี้รายการท่องเที่ยว เรื่องของความคิดเชิงบวกมากกว่า”
“จริงๆ ใน 1 ปีที่ผ่านมาเราเองก็กำลังจูนตัวเองอยู่เหมือนกัน เราก็มาทบทวนตัวเองอยู่เหมือนกันว่าเราเป็นยังไงบ้าง ซึ่งมันก็จะคล้ายๆ กับหลายๆ สถานีที่พยายามหาจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจน เพราะหากเรายังคิดถึงรายการที่มันหลากหลายโดยมีแค่ 4 ช่องตรงนั้นประชาชนก็มีทางเลือกแค่ 4 ช่อง แต่ตอนนี้ประชาชนมีทางเลือกถึง 20 กว่าช่องและก็มีทางเลือกในออนไลน์อีกมากมาย เพราะฉะนั้นเราต้องมาทบทวน”
แจ้งผู้จัดละครไปแล้ว ลั่นหากซีรีสด์ดังหรือทำเงินในส่วนที่เป็นออนไลน์ จะอยู่ช่องไหนก็ได้
“ซึ่งเราก็ได้เรียนทางผู้จัดละครไปแล้วว่าเราต้องดูอีกทีหนึ่ง ถามว่าเสียดายมั้ยก็ส่วนหนึ่ง ถ้าหากเราเอามาออกอากาศแล้ว จริงๆ แล้วส่วนที่ออกมาเป็นส่วนของการประชาสัมพันธ์มากกว่า ซึ่งการจะไปดังหรือทำเงินเป็นส่วนของออนไลน์ เพราะฉะนั้นก็อยู่ช่องไหนก็ได้ เราก็เลยต้องมานั่งดู เราเองก็ไม่ได้อยากให้ช่อง 9 MCOT หรือช่อง MCOT Family เป็นช่องของคนมีอายุ มันก็คงไม่ใช่ แต่ด้วยสังคมบ้านเราคนมีอายุเป็นคนกลุ่มใหญ่ ส่วนคนอายุน้อยน้อยๆ ไปอยู่ในแพลตฟอร์มส่วนอื่นตรงนี้เราต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของตัวดิจิตอลหรือเทคโนโลยี”
ปัดเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ แค่รายการวัยรุ่น ไม่ต้องเป็นเรื่องข้ามเพศ อยากให้เน้นการสะท้อนสังคม
“ไม่ สมมติว่าบางรายการที่เกี่ยวกับวัยรุ่น มันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของการข้ามเพศก็ได้ มันอาจจะเป็นเรื่องของการสะท้อนสังคมเรื่องของยาเสพติด แต่ต้องไม่ได้มีเรื่องเฉพาะวัยรุ่นตัวแสดงสมทบควรที่จะมีครอบครัวเป็นแฟมิลี่เข้ามาด้วย ต้องมีคนหลากหลายอายุเข้ามา เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของสังคมเราจึงไม่ได้ปิดกั้น”
“แต่เนื้อเรื่องต้องมานั่งดู ซึ่งละครแบบนี้ค่อนข้างที่จะหายาก นอกจากตัวแสดงเราเองก็อยากจะส่งเสริมนักแสดงหน้าใหม่นะ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรจะมีนักแสดงที่มีฝีมือ หรือคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนในสังคมเพื่อเป็นตัวเสริมได้ด้วยในละครบางเรื่อง จะไม่มีเรื่องของพ่อแม่มันเป็นไปไม่ได้เลย เราไม่ใช่ทีวีดิจิตอลที่เกิดใหม่ที่สามารถมีส่วนนั้นแค่ส่วนเดียวได้ เรายังมีภารกิจเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นของรัฐ และอีกส่วนหนึ่งตัววิสัยทัศน์”
“เราก็ 10 กว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถไปดิ้นได้ว่าเราจะเป็นนิวเทคโนโลยี เพราะจากสังคมอุดมปัญญา เราก็ปรับเปลี่ยนมาว่าเราเป็นหุ้นส่วนของสังคม ความเป็นหุ้นส่วนทำให้เราต้องมองหลายมิติมากขึ้นเราต้องมอง คอนเทนต์ทุกอันเช่นการทำรายการข่าวก็ไม่ใช่แค่การรายงานข่าวหรือเปิดหน้าพิธีกรแล้วจบมันต้องมีมากกว่านั้น มุมของมิติต่างๆ มากกว่านั้นยกตัวอย่างเช่น ลองมาดูข้อมูลที่เป็นข้อมูลเพื่อให้คนไทยได้เข้าใจตัวดิจิตอลของ MCOT เริ่มปล่อยวันนี้เป็นวันแรก เรานำเสนอเรื่องของถ้ำที่ลึกที่สุดในประเทศไทยมีกี่ถ้ำ ถ้ำที่ยาวที่สุดในเชียงรายมีกี่ถ้ำ ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลอีกมิติหนึ่ง”
“อย่างเช่นถ้าจะฝึกดำน้ำจะต้องทำอะไรมันเป็นเรื่องที่สวนกระแสได้ เราไม่จำเป็นที่จะทำแค่เรื่องของเด็ก 13 คนแต่เราให้อีกมิติหนึ่งกับคนไทยว่าถ้าคุณจะดำน้ำคุณจะต้องเรียนกี่วันซึ่งเป็นการนำเสนอที่ให้รอบด้านมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกวิชั่นหนึ่งที่ทำให้เราคงอยู่ในคอนเซ็ปต์หุ้นส่วนของสังคมไทย”
เมินกระแสวิจารณ์แรง กีดกันเพศที่สาม ยันโอเพ่นมากๆ
“ฟีดแบ็กกลับมาแรงก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้กีดกันนะ คนทำงานของเราใน อสมท ตอนนี้หลายเปอร์เซ็นต์มากเป็นคนข้ามเพศ ไม่ได้กีดกันเลยจริงๆ เราคิดเราโอเพ่นมาก พิธีกรรายการเราก็เป็นแบบนี้ โปรดิวเซอร์รายการเราก็เป็นแบบนี้ ไม่ได้กีดกัน บางทีกระแสเด็กวัยรุ่นมันแรง พอแรงก็โพสต์เลย แต่สุดท้ายเราคุยก็ไม่มีปัญหา”
“ถามว่าถอดฟ้าแล่บมั้ยก็ไม่ จริงๆ ส่วนหนึ่งก็ต้องมาโทษเราด้วย เพราะว่าเนื้อหา เราบอกว่าเนื้อหาน่าสนใจ แต่ในเนื้อความ หมายถึงว่าองค์ประกอบมันไม่มี องค์ประกอบมันมีเรื่องของครอบครัว พ่อแม่อะไรอื่นๆ มั้ย หรือมีเฉพาะเพื่อน มันก็อาจจะมองในมุมหนึ่งว่าก็ฉันเป็นละครเฉพาะเพื่อน ก็ทำได้ แต่อย่าลืมว่าฟรีทีวี มันเป็นแมส มันดูได้ทุกคน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูมิติว่าถ้าออกอากาศไปแล้ว กลุ่มคนที่เป็นวัยรุ่นดูกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเม็ดเงินโฆษณาจะเข้ามาซัปพอร์ตมั้ย เพราะส่วนใหญ่เวลาดูปุ๊บ เขาก็จะบอกว่าฟรีทีวีแค่ช่วยพีอาร์ แต่คนดูเยอะๆ ไปอยู่ออนไลน์ แล้วก็ได้เงินจากออนไลน์ ซึ่งอันนี้บางทีเราก็ต้องมานั่งดูด้วยนะ ว่ามันมีผลกระทบกับเราหรือเปล่าเพราะว่าเราเป็นบริษัทผลิตทีวีตลาดหลักทรัพย์ด้วย”
บอกที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ ดังแต่ไม่ได้เงิน เหนื่อยต้องนำเงินไปหาผู้ผลิต ซึ่งไม่แน่ใจความสามารถ
“ดัง แต่ไม่ได้เงิน เพราะว่าส่วนใหญ่ถ้าสังเกตดูบางสถานีเขาทำเพื่อที่เขาจะไปต่อยอด หรือขายตลาดต่างประเทศ แต่ของเรา เราก็ต้องมานั่งดูว่าแผนของเราไปถึงขนาดนั้นหรือเปล่า ยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเราไม่มีผู้ผลิตรายการที่คอนเทนต์เป็นของเรา เดิมเป็นไทม์แชร์ริ่ง ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ 4-5 ราย ทำพื้นที่ให้เราเกือบครึ่งหนึ่งของผังทั้งหมด”
“พอเขายกขบวนไป เราก็เหนื่อยในการที่ต้องเอาเงินงบประมาณไปหาผู้ผลิต ผู้ผลิตรายใหญ่เขามีช่องของเขาแล้ว ผู้ผลิตรายเล็กๆ เนี่ยมีความสามารถเพียงพอมั้ย เราก็อยากจะส่งเสริม แต่ว่าจะทำละครยังสู้ไม่ได้ งั้นผลิตรายย่อยก็ต้องทำเป็นการท่องเที่ยว อาหารการกิน อยู่แค่นี้เอง ซึ่งบางทีคนดูก็เบื่อแล้ว ก็ต้องหาจุดใหม่ๆ สรุปง่ายๆ ว่าละครเราไม่ได้ปิดกั้น ละครวัยรุ่นไมได้กีดกัน แต่ควรจะมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนครับ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาเสนอรายการได้ เป็นละครแบบนี้ก็ได้ แต่ก็ขอให้มีองค์ประกอบมากขึ้น”
“เราให้ทีมงานไปคุยกับผู้ผลิต เราจะดูเองทุกเรื่องทั้งหมดได้ยังไง ถ้าเกิดเราจะมาดู เราต้องสกรีนว่าแบบนี้ๆ ซึ่งเขาอาจจะยังไม่ทันได้ออกทีเซอร์ด้วยซ้ำไป ให้ไปแก้ใหม่ๆ น่าจะอีกเยอะเลย ตอนนี้บางทีเราก็ต้องมอบสิทธิ์ทางทีมงานไปพิจารณาดูเพิ่มเติม”
ลั่นยังมีโอกาสออนแอร์ แต่ต้องแก้บทใหม่
“ถ้าหากว่าไปปรับแก้บทเพิ่ม มีโอกาส เช่นไปเพิ่มถ้าสามารถตัดต่อได้นะ ตรงนี้เป็นเรื่องของพ่อแม่ เวลาเขาเถียงกันระหว่างชายสองคน แล้วมีบุคคลที่สามมาเพิ่ม คนที่อยู่ทางบ้านที่เป็นผู้ชม ก็สามารถที่จะได้รับรู้อีกมิติหนึ่ง ว่าเขาคิดอย่างนี่เหรอ อะไรแบบนี้เป็นต้น คือเราอยากที่จะกลับไปสู่คอนเซ็ปท์ที่ชัดเจนมากขึ้น”
“คอนเซ็ปต์ความเป็นครอบครัว เราเป็นหุ้นส่วนสังคมไทย บางทีในละครบางเรื่อง สะท้อนมาแค่ด้านเดียว ไม่ได้สะท้อนทุกเรื่อง ทำไมซีรีส์ Side by Side ถึงได้ผลตอบรับเยอะมาก ทั้งๆ ที่อยู่ในช่องดิจิตอลช่องใหม่ แต่เนื่องจากว่าคนที่เป็นโบรกเกอร์ ของช่องอื่นเขาดูด้วย เห็นว่ามันมีองค์ประกอบครบ แล้วเนื้อเรื่องมันก็แปลก”
ไม่ปิดกั้นผู้ผลิตละคร แต่พร้อมสกรีนหนัก อนาคตอาจต้องจ้างผลิต
“หลังจากนี้ก็สกรีนให้หนักขึ้น เราต้องดูว่ามาถึงแล้วเราต้องจ้างผลิตมั้ย ถ้าไม่จ้างผลิตก็ต้องมาดูว่าเป็นไทม์แชร์ริ่งมั้ย ก็ต้องมาดูองค์ประกอบละครอีกว่าสามารถไปต่ออะไรบ้างได้ ที่ผ่านมาก่อนที่เราจะเข้ามา เราก็มาวิเคราะห์ว่าละครวัยรุ่นหลายๆ เรื่องที่อยู่ที่นี้ดังแค่ชั่วคราว แต่สุดท้ายไปดังในออนไลน์เยอะ ดูย้อนหลังก็ยังดัง แต่เราเป็นฟรีทีวี ไม่ใช่แพลตฟอร์มของเคเบิ้ล ก็ต้องฝากบอกกับผู้ผลิตละคร แฟนๆ ทั้งหลายว่าเราไม่ได้ปิดกั้นนะ”
“สุดท้ายคือไม่อยากกระทบหน่วยงานที่กำกับดูแล แต่พอเราออกอากาศปุ๊บคือโดนทุกครั้ง แล้วในบทบัญญัติคือค่าปรับมันสูง เผลอๆ จะแพงกว่าค่าผลิตละครอีก แล้วจะเสียเวลาในการไปให้ปากคำ”
กรณีประกาศตัดสัญญาสปริงนิวส์ หลังค้างค่าเช่าโครงข่าว 104 ล้าน ล่าสุดได้เจรจากันแล้ว ยืดเวลาให้อีก 30 วันเพื่อผ่อนชำระหนี้ มองว่าเป็นทางออกที่ดี
“ก็น่าจะจบด้วยดีครับ เรายืดเอง ขออนุญาตยืดเวลาออกไป 30 วันเพื่อที่จะมีการเจรจา ตอนนี้การเจรจาเริ่มสรุปแล้วประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือทำเรื่องเอกสารให้เร็วที่สุด ข้อสรุปคือเขาจะอยู่กับเรา ยอมจ่ายเงิน ยอมผ่อนชำระ ยอมประนอมหนี้ เราก็มองว่าเป็นทางออกที่ดี ไม่นั้นก็ทะเลาะกันไม่จบสิ้น”
“หลังจากที่มีข่าวว่าไม่มี ไม่จ่าย เราแก้เกมในการเจรจาภายใน 3 วัน ช่วง 2-3 วันแรกต่างคนต่างกระหน่ำ กสทช. ก็เข้ามาแทรก เราก็ต้องเจรจากับ กสทช. หลายคนมาก เสร็จแล้วก็ไปคุยกับทางสปริงนิวส์ และก็มาคุยกับคนภายในของเราว่าเป็นยังไง ทุกสิ่งทุกอย่างคือภายใน 7 วันสรุปหมด เพียงแต่ตอนนี้รอในรูปกระบวนการทางสัญญาที่ถูกต้อง โดยถ้าเวลาที่เรายืดออกไปอีก 30 วัน จะสิ้นกำหนดช่วงกลาง ก.ค. นี้ ซึ่งเราต้องเร่งแล้ว ไม่งั้นต้องไปขอขยายเวลาอีก”
“ในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ถ้าเราในเชิงกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ มันหนักไป และก็จะไม่ยอมซึ่งกันและกัน เลยต้องใช้วิธีการประนีประนอม ก็เป็นทิศทางที่ดี แต่อย่างไรก็ตามในธุรกิจของทีวีดิจิทัลมันยังมีปัญหาอุปสรรคอีกเยอะ และทางรอดคงมีได้ยาก เพราะสภาพเศรษฐกิจ สภาพฝ่ายที่คอยดูแลกำกับ ก็มองในแง่ของจะต้องประมูล จะเก็บเงินอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ ถ้าสมมติสถานีไม่มีเงิน ดาราก็หมดงาน สื่อก็ไม่มีอะไรทำ มันเป็นระบบตามกันไป ฉะนั้นต้องไปแก้ที่ต้นทางเขาบังคับ ถ้าผ่อนคลายได้มันทำให้เงินกับงานมา ธุรกิจกับเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น”
เผยเรตติ้งเป็นแค่อิมเมจ ต้องหาแหล่งรายได้จากตรงอื่นมาทดแทน ลั่นเม็ดเงินจากโฆษณาอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ ถ้าพัฒนาช้าให้ประคองเม็ดเงินดีกว่า
“ส่วนตัวผมนะ เรตติ้งเป็นแค่อิมเมจ เป็นตัววัดในยุคสมัยโน้น แต่ถ้าจะวัดเรื่องตัวเงินตอนนี้มันก็ครึ่งๆ เนื่องจากจำนวนของสถานีมันเยอะขึ้น คุณจะเอาเฉลี่ยเรตติ้งถี่ๆ กับเม็ดเงินเท่าเดิม เป็นไปไม่ได้บรรลุเป้า ฉะนั้นต้องหาแหล่งรายได้จากตรงอื่นมาทดแทน ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ยากมากสำหรับทุกสถานี ถ้าเขาไม่มีสินทรัพย์แต่มีแต่ใบอนุญาตจะทำยังไง แต่ อสมท. มีวิธีการคือว่า คุณมีสินทรัพย์มากมาย เราก็พัฒนาขึ้นมา เพียงแต่มันยังช้า เพื่อเอามาประคองเม็ดเงินตรงนี้ได้ ซึ่งจริงๆ มันเป็นสูตรของทั่วโลกนะ ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ด้วยเม็ดเงินโฆษณาอย่างเดียวตอนนี้อยู่ไม่ได้ ทุกช่องในโลกก็เป็นเหมือนกันครับ”
(ติดตามทุกข่าวสารในแวดวงบันเทิงทั้งหมดได้ที่ https://mgronline.com/entertainment)