21.4
คือตัวเลยเรตติ้งล่าสุด (เฉพาะกรุงเทพ) ของละคร “บุพเพสันนิวาส” สำรวจ ณ วันที่ 22 มีนาคมเรียกว่าเป็นละครที่มาแรง จนละครเรื่องอื่นๆ ต้องยอมศิโรราบ
แหละ.... ถือเป็นความความสำเร็จครั้งสำคัญของช่อง 3 ที่ไม่เพียงจะพลิกกลับมากอบกู้วิกฤตได้ หากในมุมของการแข่งขัน ยังสามารถกำชัยชนะเหนือคู่แข่งตลอดกาลอย่างช่อง 7 แบบไม่เห็นฝุ่น
ไม่ต้องเทียบกับ “มือปราบเหยี่ยวดำ” ที่ฉายชนในช่วงเวลาเดียวกัน
แม้กระทั่งละครที่คว้าเรตติ้งสูงสุดในปีที่ผ่านมาของช่อง 7 อย่าง “เพลิงพระนาง” ยังโกยได้ไปเพียง 9.0 เท่านั้น
ถือว่าเป็นปรากฏการณ์เหนือปรากฏการณ์ ที่นานครั้งจะเกิดกับละครไทย
ก่อนหน้านี้มีคนพยายามตั้งข้อสังเกตถึงการเข้ามาของซิรี่ส์อินเดีย ว่าจะมาเป็นเจ้าตลาดแทนที่ละครไทย เห็นทีว่าตรรกะดังกล่าว อาจจะต้องนำกลับมาทบทวนกันอีกครั้ง
ช่วงที่ผ่านมา อาจจะเป็นจังหวะเวลาที่ละครไทยกำลังอ่อนปวกเปียกพอดี จึงเปิดโอกาสให้ซิรี่ส์อินเดียเข้ามาได้รับความนิยมแทนที่
แต่หากว่าละครไทยทุกเรื่อง มีกระแสดีงามแม้เพียงครึ่งของบุพเพสันนิวาส ต่อให้หนุมานยกทัพมาทั้งกรุงลงกา เชื่อเหอะว่า อย่างไรเสียก็ไม่สามารถตีทัพละครไทยให้แตกพ่ายได้
นานแล้วที่เราๆ ท่านๆ ไม่เห็นบรรยากาศของถนนหนทางที่โล่ง เพราะทุกคนต่างก็รีบจะต้องกลับไปนั่งหน้าจอรอดูพี่หมื่นกับออเจ้ากันทั่วพระนคร แม้ว่าจะเป็นในยุคที่สามารถรับชมย้อนหลังผ่านช่องทางอื่นๆ ได้แล้วก็ตาม แต่การได้รับชมทางทีวีพร้อมๆ กันทุกเรือนชาน เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลของตัวเองนั้น ย่อมจะมีอรรถรสมากมายกว่านัก
นี่ผ่านมาเพียงครึ่งเรื่องกว่าๆ เท่านั้น คาดว่าถ้าไปต่อจนถึงตอนจบ เรตติ้งอาจจะทะลุไปถึง 30 ก็ย่อมมีทางเป็นได้ เพราะเริ่มต้นจาก 3.4 นับรวมของทั่วประเทศ และ 5.8 เฉพาะกรุงเทพ ยังกระโดดมาได้ถึง 16.0 และ 21.4
ลองมาไล่เรียงกันดูทีว่า ละครบุพเพสันนิวาส สร้างปรากฏการณ์เยี่ยงไรให้บังเกิดขึ้นในบ้านเราเมืองเรานี้บ้าง ?
อย่างแรกที่ไม่พูดถึงไม่ได้แน่นอน ก็คือปรากฏการณ์นักแสดงที่โด่งดังกันแบบยกแผง
ไม่ต้องพูดถึงพระ-นางอย่าง “โป๊ป-ธนวรรธน์” กับ “เบลล่า-ราณี” ที่ฉีกกฎของคู่จิ้น กระโดดขึ้นมาเป็นดาราหัวแถวของวงการอย่างรวดเร็ว
จากที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่มาถึงจุดนี้ ต้องเรียกว่าต่อให้ช้างมาฉุดก็หยุดความแรงของทั้งคู่ไมได้แล้ว
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือพลังความรัก พลังความศรัทธาที่แฟนละครมีต่อพระ-นางขวัญใจของตัวเองนั้น รุนแรงเหลือเกิน
โดยเฉพาะทางฝั่งของพี่หมื่นโป๊ปนั้น เห็นได้ชัดเจน ยิ่งได้ฉายาว่าเป็น “พี่หมื่นเยดุ” ก็ยิ่งทำเอาสาวแท้ สาวเทียมทั่วทั้งพระนครฟินกันหนักขึ้นกว่าเก่า
ส่วนของเบลล่านั้น อาจจะเป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาสโดยแท้ที่จำเพาะเจาะจงให้เธอมารับบทนี้ เพราะเท่าที่สดับตรับฟังมา เห็นว่ามีนางเอกอย่างน้อย 2-3 คนที่เคยถูกทาบทามให้รับบทนี้มาก่อน แต่สุดท้ายก็กลับมาตกอยู่ในมือของเบลล่า ที่ก็ต้องยอมรับว่าเล่นบทนี้ได้ดีเหลือเกิน ทำเอาคนดูทั้งรัก ทั้งเกลียดในคราเดียว ซึ่งถ้าเป็นนางเอกคนอื่น ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถแสดงออกมาได้แบบนี้หรือเปล่า ? และจะได้รับคำชื่นชมเช่นนี้หรือไม่ ? หรือว่านี่จะเป็นเรื่องของบทเลือกคน มิใช่คนเลือกบท
ตามปกติก็จะมีเพียงคู่พระ-นาง หรืออย่างมากก็คู่รองเท่านั้น ที่ถูกกล่าวขวัญถึง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ !!!
เพราะแม้แต่ตัวละครสมทบอื่นๆ ก็โด่งดังแบบพลิกชีวิตขึ้นมาเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็น “โมสต์-วิศรุต หิมรัตน์” ที่รับบทเป็น “ไอ้จ้อย” บ่าวคนสนิทที่ตามติดพี่หมื่นไปไหนมาไหนตลอดเวลา
เจ้าของฉายา “อยุธยาคิวต์บอย” ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย เพราะใช้เวลาเดินทางอยู่บนเส้นทางนี้กว่า 6 ปี ผ่านช่วงชีวิตที่เคยตกอับถึงขนาดมีเงินติดกระเป๋าแต่เดือนละ 3,000 บาท ต้องใช้ชีวิตแบบอดๆ อยากๆ เพื่อตามหาความฝัน และเมื่อแรกที่ถูกทาบให้รับบทเป็นไอ้จ้อย ก็รู้สึกเหมือนตัวเองได้รับบทที่ด้อยมากๆ จนแทบอยากจะออกจากวงการ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าบทไอ้จ้อย กลายเป็นชูรสชั้นเยี่ยมที่ทำให้ละครเรื่องนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น
“จรรยา ธนาสว่างกุล” หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า “ครูหยา” เจ้าของบท “อีผิน” มือล่มเรืออันดับ 1 แห่งพระนคร บ่าวคนสนิทของแม่หญิงการะเกด ก็ถือว่าได้แจ้งเกิดอย่างดงาม ถูกโจษจันทั้งแผ่นดิน ทั้งที่เล่นละครมาแล้วกว่าค่อนชีวิต แต่ก็ไม่เคยมีเรื่องไหนที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงเท่ากับเรื่องนี้ ยิ่งเมื่อมาจับคู่กับ “นุ่น-รมิดา" ในบท “อีแย้ม” ด้วยแล้ว ความที่แสดงได้อย่างเข้าขากัน ทำให้คนดูแอบหลงรักตัวละครคู่นี้กันทั่วบ้านทั่วเมือง
และที่คนดูส่วนใหญ่ยกให้เป็นการแสดงระดับครูที่ควรค่าแก่การเอาเป็นต้นแบบทางการแสดง ก็คือการรับ-ส่งอารมณ์กันระหว่าง “ปราปต์ปฏล” ในบทของพระนารายณ์ กับ “บิ๊ก-ศรุต” ในบทของพระเพทราชา ในฉากที่เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุแห่งความร้าวลึกในประวัติศาสตร์ของอโยธยา ซึ่งก็ต้องกราบงามๆ สำหรับฝีมือการแสดงของทั้งคู่ ที่เล่นกันแบบปล่อยของ เก็บทุกรายละเอียดของอารมณ์ เป็นการแสดงที่เต็มไปด้วยพลัง มีความเรียล เป็นฉากสั้นๆ ที่ทุกคนจดจำ ถึงขนาดยกให้เป็นซีนที่ดีที่สุดในละครเลยทีเดียว
ปรากฏการณ์ต่อมา ก็คือทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคของสมเด็จพระนารายณ์กันมากขึ้น เพราะตัวละครในเรื่อง ล้วนแล้วแต่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลานี้ เว็บ , แฟนเพจ หรือแม้แต่สำนักข่าวต่างๆ ก็พากันไปเจาะลึกถึงชีวประวัติของบุคคลต่างๆ ว่าเป็นใครมาจากไหน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ แม้จะมีบ้าง ที่ถูกเพ่งเล็งว่าผิดเพี้ยนจากประวัติศาสตร์จริง
และยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปรากฏการณ์ในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว เพราะในเพลานี้ กลายเป็นว่าบรรดาออเจ้าทั้งหลาย พยายามที่จะตามรอยสถานที่สำคัญๆ ที่ถูกเอ่ยถึงในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม หรือแม้กระทั่งสถานที่พำนักพักอาศัยของบุคคลสำคัญๆ ซึ่งแน่นอนว่าสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจจะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังพอมองเห็นถึงความงดงามเมื่อครั้งอดีตได้อย่างชัดเจน
ว่ากันว่าในช่วงที่แม่นางการะเกด เปิดตัวเครื่องกรองน้ำสุดไฮเทค (ในยุคนั้น) ยังทำเอาพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ซึ่งเป็นที่ตั้งโชว์ “เครื่องกรองน้ำกรุงศรี” แทบแตก ทั้งที่ปกติแทบจะร้าง ทำเอาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของอยุธยา สะพัดไปกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
ก็ต้องถือว่าอานิสงส์ของละครบุพเพสันนิวาส ส่งต่อไปยังระบบของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งถ้าละครเรื่องต่อๆ ไป ทำได้แบบนี้ รับรองว่าสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองไทยจะต้องได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
ทำไมต้องไปตามรอยซิรี่ส์เกาหลี ให้เงินไหลออกนอกประเทศ ในเมื่อบ้านเราเมืองเรา ก็ยังมีสถานที่ที่ควรค่าแก่การตามรอยกันมากมายเยี่ยงนี้
นอกจากนั้น ละครบุพเพสันนิวาส ยังสร้างปรากฏการณ์ดังไกลไปถึงประเทศจีน โดยเพจของจีนมีการนำเรื่องนี้ไปทำซับไตเติ้ลภาษาจีน เพื่อเผยแพร่ โดยตั้งชื่อเป็นภาษาจีนว่า “เทียนเซิงอีตุ้ย” (天生一对) ซึ่งหมายความถึงผู้ที่เกิดมาเพื่อคู่กัน ตรงตามความหมายดั้งเดิมแบบไม่ผิดเพี้ยน นอกจากซับจีนแล้ว ซับเกาหลีก็มีด้วยนะออเจ้า
รวมไปถึงถูกนำไปฉายโชว์ในงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ฮ่องกง ประจำปี 2561 (Hong Kong Filmart 2018) เมื่อวันที่ 19-22 มีนาคมที่ผ่านมา อีกด้วย
ปรากฏการณ์ในเรื่องของการเมือง มีผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า
.... ทุกครั้งที่ชาติสั่นคลอนจากการเมือง สังคมเกิดความโกลาหล ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จะกลับมารุ่งเรืองเสมอ.....
เฉกเช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่ละครบุพเพสันนิวาส ก็ถูกนำมาโยงเข้ากับเรื่องการเมือง โดยเฉพาะในฉากที่พระนารายณ์สั่งลงโทษโกษาเหล็ก ขุนนางคู่บุญฐาน “รับส่วย” จนเสียชีวิตในขณะที่การเมืองในปัจจุบันนั้น ผู้นำรัฐบาล กลับไปกล้าแม้แต่จะแตะต้อง “คนใกล้ตัว” ทั้งที่เรื่องราวฉาวโฉ่เห็นคาตา ทั้งโกงคนยากไร้ - โกงเด็ก - โกงวัคซีนหมา - อมเงินชาวเขา และอีกสารพัดสารพัน
ปรากฏการณ์ในแวดวงวรรณกรรม นวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาส เป็นผลงานจากปลายปากกาของ “รอมแพง” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2553 ก่อนจะถูกซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นละครนั้น พิมพ์มาแล้ว 27 ครั้ง ด้วยยอดพิมพ์ประมาณ 1,000-1,500 เล่ม/ครั้ง แต่ครั้นละครออกอากาศไปเพียง 4..ตอน ยอดพิมพ์ก็พุ่งขึ้นไปถึง 44 ครั้ง กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของออเจ้าที่ตามหานวนิยายเรื่องนี้กันแบบพลิกแผ่นดิน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงนวนิยายเรื่องอื่นๆ ของผู้เขียนคนเดียวกัน ที่มีอยู่มากมายถึง 21 เรื่อง กลายเป็นที่ต้องการของตลาดตามไปด้วย
ไม่รู้ว่าจบจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนี้แล้ว อีกเมื่อไรถึงจะเกิดปรากฏการณ์ทั่วทั้งพระนคร เฉกเช่นเดียวกับละครเรื่องนี้
จะช้า หรือเร็ว ก็สุดแล้วแต่บุพเพสันนิวาสจะบันดาลดลแล้วกัน !!!
นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 435 24-30 มีนาคม 2561