xs
xsm
sm
md
lg

“ราโชมอน” แห่งวงการสเก็ตลีลา ชีวิตบัดซบของ “ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เชื่อว่า คนดูหนังหลายท่าน น่าจะเคยผ่านการรับชมภาพยนตร์ซึ่งเป็นผลงานของปรมาจารย์ผู้กำกับระดับตำนานอย่าง “อากิระ คุโรซาว่า” เรื่อง “ราโชมอน” ซึ่งดัดแปลงมาจาก 2 เรื่องสั้นของนักเขียน “ริวโนสุเกะ อาคุตะงะวะ”

เหตุที่เกริ่นขึ้นมาอย่างนี้ ก็เพราะมีความเห็นว่า เนื้อหาสำคัญบางส่วนของหนังเข้าใหม่ในสัปดาห์นี้อย่าง “I, Tonya” (บ้าให้โลกคลั่ง) มีความเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ “ข้อมูลข้อเท็จจริง” ของตัวละครแต่ละตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน จนทำให้เรารู้สึกคล้ายๆ กับตอนที่ได้ดู “ราโชมอน” ว่าสุดท้ายแล้ว ใครกันแน่ที่พูดความจริง หรือความเท็จ

สำหรับคนที่รักชอบกีฬา โดยเฉพาะสายที่สนใจกีฬาสเก็ต หรือเรียกให้ถูกก็คือ “ฟิกเกอร์ สเก็ต” (Figure Skating) หรือ “สเก็ตลีลา” โชว์ท่าการสเก็ตที่สวยงาม.. น่าจะคงเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ “ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง” (Tonya Harding) อดีตนักสเก็ตสาวชาวอเมริกันที่โด่งดังมากเมื่อราวๆ 30 ปีที่แล้ว อย่างน้อยที่สุด ความสามารถในการเล่นท่า Triple Axel ซึ่งถือเป็นท่าที่ยากมากๆ ของกีฬาชนิดนี้ ซึ่งทอนย่าเล่นได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ก็เป็นสถิติที่ทำให้เธอได้รับการจดจำและกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความโด่งดังได้รับการยอมรับ ชีวิตของทอนย่าก็มาถึงจุดอับทางตันถึงขั้นถูกศาลสั่งบังคับไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับกีฬาสเก็ตอีกเป็นเด็ดขาด เมื่อได้พิสูจน์แล้วว่า เธอมีส่วนพัวพันกับคดีทำร้ายร่างกายของ “แนนซี่ เคอร์ริแกน” สาวนักกีฬาสเก็ตชาติเดียวกัน ทีมเดียวกัน ซึ่งที่มาเป็นอย่างไร หนังเรื่องนี้ก็ได้เล่าไว้ค่อนข้างละเอียด

แต่จุดที่น่าสนใจมากๆ จุดแรกซึ่งเราจะได้เห็นตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง ก็คือ “วิธีการเล่าเรื่อง” ของหนังเรื่องนี้ ที่จับเอาตัวละครที่เกี่ยวข้องกับทอนย่า รวมทั้งตัวของทอนย่าเอง มานั่งเล่าเหตุการณ์ในอดีตทีละคน (ตัดสลับกันไปมา แต่ไม่ใช่หนังคนนั่งคุยนั่งสัมภาษณ์ เพราะการเล่า จะสลับกับการดำเนินเรื่องไปด้วยในขณะเดียวกัน) ซึ่งตรงนี้ ผมเห็นว่าน่าสนใจ ก็เพราะว่า แม้กระทั่งในสถานการณ์เดียวกันนั้น แต่ละคนก็จะเล่ากันไปคนละแบบ เหมือนเป็นการช่วงชิงความรักความเข้าใจเห็นใจจากคนดูอยู่กลายๆ ซึ่งนั่นก็ไม่แตกต่างอย่างใดกับหนังอย่าง “ราโชมอน” ที่ผมกล่าวไว้ในข้างต้น

โดยบุคคลที่มานั่งเล่านั่งให้สัมภาษณ์ ก็มีตั้งแต่ “ลาโวน่า” แม่สุดแสบของทอนย่า, “เจฟฟ์” ผัวตัวร้ายของทอนย่า, “ไดแอน” คุณครูผู้สอนของทอนย่า รวมไปจนถึง “ชอว์น” เพื่อนผัวของทอนย่า ซึ่งถ้ายกเว้นคุณครูไดแอนที่ค่อนข้างวางตัวได้เหมาะสมแล้ว นอกจากนั้นก็สามารถจะเรียกได้ว่าเป็น “บ่อเกิดแห่งหายนะ” ในชีวิตของทอนย่าแทบทั้งสิ้น

“เราต่างก็มีความจริงเป็นของตัวเอง” ทอนย่าจะสรุปให้กับตนเองเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น ไม่ว่าใครจะเล่าเรื่องไปมุมไหนอย่างไร แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นในหนังก็คือ ชีวิตของนักสเก็ตสาวตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงวันที่รุ่งเรืองและร่วงลา

ความสนุกของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การได้ตามติดเรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งมีตัวตนอยู่จริงๆ และหนังก็เล่าออกมาได้อรรถรสมาก ทั้งบรรยากาศชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความบีบคั้นกดดันมาตั้งแต่เด็ก เต็มไปด้วยสถานการณ์แบบที่ว่า เราไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ให้กับมันดี จะว่าไป ชีวิตสุดท้ายที่พังๆ ของตัวละคร ก็ไม่ใช่เพราะใครอื่นไกล แต่ส่วนใหญ่ก็มาจากคนใกล้ตัวที่บอกว่ารักแทบทั้งนั้น

อีกส่วนหนึ่ง หนังก็เหน็บความเพอร์เฟคต์แบบอเมริกันได้ลึกซึ้งแสบทรวง คือถ้าใครพอรู้เรื่องราวของทอนย่า จะพบว่า สาเหตุหนึ่งซึ่งเธอไม่ค่อยเป็นที่ถูกตาต้องใจนักของคณะกรรมการกีฬาสเก็ตของอเมริกา ชนิดที่ว่า ไม่ว่าเธอจะสเก็ตได้พลิ้วพรายงดงามเพียงใด วัดจากสายตาแล้วจะโดดเด่นกว่าคนอื่นแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนคณะกรรมการจะไม่ปันใจให้เธอเลย จนกระทั่งมีครั้งหนึ่งซึ่งทอนย่าตัดสินใจเข้าไปถาม จึงได้รู้ความจริงว่าเพราะอะไร? ก็เพราะคณะกรรมการเขามองว่า นักกีฬาจะต้องมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แบบที่คนอื่นมองเข้ามาแล้วสวยงาม ดูดี ไม่ใช่สตรีที่พื้นฐานครอบครัวร้าวฉานล้มเหลว

เรื่อง “ภาพลักษณ์” นั้นสำคัญ!

ชีวิตของทอนย่า จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรจาก “ภาพสะท้อน” ของสังคมอเมริกัน (หรือแม้แต่สังคมอื่นๆ ทั่วไป) ที่เธอสรุปมาอย่างได้ใจความทำนองว่า อเมริกานั้น ต้องการทั้งคนไว้ให้รัก และคนไว้ให้ชัง ... แต่นั่นก็ช่างปะไรสำหรับทอนย่า เพราะเธอได้ผ่านวันเวลาทั้งช่วงที่คนรักและไม่รักมาหมดแล้ว

หลายคนคงรับรู้ครับว่า ตั้งแต่ต้องเลิกร้างห่างลาจากสนามสเก็ต ชีวิตของทอนย่าก็ระหกระเหินไปในเส้นทางการงานหลายอย่างต่างกรรมต่างวาระ แม้กระทั่งไปชกมวย

หลังจากผ่านพ้นอะไรต่อมิอะไรมามาก ผมชอบท่าทีของทอนย่าที่มองเรื่องราวต่างๆ ในอดีตซึ่งมันดูมีความเข้าอกเข้าใจในชีวิตปนอยู่ในนั้น มันอาจจะสุข หรืออาจจะเศร้า มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ แต่นั่นจะมีความหมายอะไร เพราะแต่ละคนต่างก็มี “ความจริง” เป็นของตนเองที่พร้อมจะเชื่ออยู่แล้ว...

ป.ล. นักแสดงสาว “มาร์โก้ รอบบี้” รับบทเป็นทอนย่าได้เลิศเลอมาก สมศักดิ์ศรีที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เพียงแต่ต้องยอมรับครับว่า เวลานี้ “ฟรานเชส แมคเดอร์มานด์” จากเรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri นั้นมาแรงเหลือเกิน)

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งคนที่ถือเป็นตัวเต็งบนเวทีออสการ์ก็คือ “อัลลิสัน เจนนี่” ที่รับบทแม่ของทอนย่าได้แสบสุดๆ เธอมีสิทธิ์ลุ้นมากๆ กับรางวัลตุ๊กตาทองสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม หลังจากที่คว้ารางวัลในสาขาดังกล่าวมาแล้วจากเวทีลูกโลกทองคำ







กำลังโหลดความคิดเห็น