เห็นเรตติ้งละครหลังข่าวล่าสุดแล้ว ต้องบอกว่าตอนนี้อาการช่อง 3 อาการน่าเป็นห่วงสุด
โดยเฉพาะละคร 2-3 ล็อตหลังที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้าเป้าเท่าใดนัก ขนาดหน้าละครที่มีเบอร์ใหญ่ๆ อย่าง “เคน-ธีระเดช” ประกบกับ “นุ่น-วรนุช” แต่เรตติ้งเฉลี่ยของ “ระเริงไฟ” ก็ทำไปได้เพียง 2.8 เท่านั้น โดยเรตติ้งสูงสุดคือตอนจบ อยู่ที่ 3.7
ขณะที่ “เสน่ห์นางงิ้ว” แม้จะขายชื่อชั้นของ “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” ในฐานะผู้จัด ที่กวาดรางวัลและโกยเรตติ้งถล่มทลายจากเรื่อง “นาคี” แต่หลังจากออกอากาศไปได้ 5 ตอน กลับมีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่แค่ 1.74 ถือว่าผิดฟอร์มจากผลงานทุกเรื่องของพงษ์พัฒน์ ทั้งยังต่ำกว่ามาตรฐานของละครช่อง 3 เป็นอย่างมาก เพราะพ่ายแพ้แม้กระทั่งละครคอเมดีฟอร์มเล็กๆ อย่าง “คุณชายไก่โต้ง” ของช่อง 7 ที่เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 5.03 ไม่ต้องถามถึงละครดรามาเข้มข้นอย่าง “แม่อายสะอื้น” ที่ออกอากาศไปได้เพียง 2 ตอน แต่เรตติ้งเฉลี่ยไปใกล้จะแตะ 5 อยู่แล้ว
แม้ว่าเรตติ้งละครของช่อง 7 ยังไม่จัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะอย่างน้อยก็ยังเหนือกว่าทุกช่อง แต่ก็ใช่ว่าจะหายใจได้คล่องเหมือนก่อน ถ้าเทียบกับที่เคยแตะถึง 8 จาก “นายฮ้อยทมิฬ”
นอกจากแต่ละช่องจะต้องห้ำหั่นกันด้วยเรื่องของละครแล้ว ตอนนี้ยังมีคู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวเอามากๆ เพราะเรตติ้งไล่บี้จนสามารถเบียดละครขึ้นมาแล้ว
นั่นก็คือซีรีส์จากแดนภารตะ!
ที่ตอนนี้เข้ามาตีตลาดละครไทย แม้กระทั่งซีรีส์เกาหลี ที่ครั้งหนึ่งเคยฮิตกันทุกครัวเรือนจนแตกพ่าย กระจัดกระเจิงไปตามๆ กัน
ต้องบอกว่าการเข้ามาของซีรีส์อินเดียนั้นถือว่าถูกที่ถูกเวลามาก เพราะผู้คนกำลังเบื่อกับละครไทยที่วนเวียนกับรูปแบบเดิมๆ รีเมกซ้ำไปซ้ำมาจนนิยายแทบจะเปื่อย ส่วนซีรีส์เกาหลี ก็ไม่จำเป็นต้องดูจากทีวีแล้ว เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ทำให้สามารถรับชมจากช่องทางออนไลน์ไปพร้อมๆ กับเจ้าบ้านได้เลย
งานนี้ต้องยกเครดิตให้คนที่จุดกระแสซีรีส์อินเดียจนประสบความสำเร็จ นั่นก็คือช่อง 8 โดยการนำของ “ดร. องอาจ สิงห์ลำพอง” ที่นำร่องด้วยซีรีส์ “สีดาราม ศึกมหาลงกา” มหากาพย์ซีรีส์ที่เป็นตำนานต้นตำรับรามายณะ และนำมาสร้างใหม่ด้วยงบลงทุนกว่า 1500 ล้านบาท ด้วยโปรดักชันที่ยิ่งใหญ่อลังการ รวมถึงฉาก สถานที่ที่ใช้ถ่ายทำต่างๆ ฉากรบที่สมจริง ออกอากาศกันตั้งแต่เดือนมกราคม ยาวถึงเดือนสิงหาคม 2560 และเรตติ้งก็ดีวันดีคืนถึงขนาดต้องเพิ่มเวลาจากเดิมออนแอร์วันละ 1 ชั่วโมง เป็น 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยช่วงที่พีคสุดๆ นั้น โกยเรตติ้งไปได้ถึง 5.14 แม้ว่ายังเป็นรองละครฮิตของช่อง 7 หลายๆ เรื่อง แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดตัวได้อย่างสง่างาม กลายเป็นกระแสใหม่ที่ถูกจับตามอง
จากความสำเร็จของ “สีดาราม ศึกมหาลงกา” ช่อง 8 ก็เดินเกมต่อด้วย “หนุมาน สงครามมหาเทพ” ซึ่งเรตติ้งสูงสุดแตะไปถึง 5.9 สูงกว่าเรตติ้งเฉลี่ยของละครช่อง 7 บางเรื่องที่ออกอากาศในปีที่ผ่านมา ถ้าชนะช่อง 7 ได้ ช่องอื่นก็ไม่ใช่ปัญหา
กระแสความนิยมของซีรีส์อินเดีย จากการปักธงของช่อง 8 ทำให้ช่อง 3 เริ่มขยับตัวตาม ด้วยซีรีส์ “นาคิน” ซึ่งน่าจะหวังต่อยอดจากความสำเร็จของละคร “นาคี” ที่พูดถึงความรักระหว่างมนุษย์กับเจ้าแม่งูเหมือนๆ กัน
นั่นเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าสงครามแห่งซีรีส์จากแดนภารตะกำลังจะเริ่มต้นขึ้น
แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิกพระราม 4 ไม่สามารถปลุกกระแส “นาคิน” มาช่วงชิงความเป็นหนึ่งจาก “หนุมาน สงครามมหาเทพ” ของฝั่งลาดพร้าวได้
ขณะที่ช่องพี่ช่องน้อง อย่าง 3 Family ช่อง 13 ก็รับไม้ต่อด้วยการนำซีรีส์ “อโศกมหาราช” ที่ใช้ทุนสร้างกว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นซีรีส์ที่โด่งดังมากในอินเดีย เรตติ้งขึ้นอันดับ 1 หลังจากออกอากาศไปได้เพียง 1 เดือน และติดหนึ่งในซีรีส์ที่ได้รับความนิยมตลอดกาลของอินเดีย ซึ่งในช่อง 3 Family เอง “อโศกมหาราช” ก็ถือว่ามีเรตติ้งสูงสุด และยังมีที่เตรียมจะบรรจุเพิ่มในผัง ก็คือ ”มหาภารตะ”
ส่วนช่อง 8 ในฐานะเป็นคนทำเทรนด์ ก็ยังมีซีรีส์อินเดียในล็อตต่อไปอีกเพียบ อาทิ...พิฆเนศ มหาเทพไอยรา, วัลลัภ มหาราชรักสุดแผ่นดิน, อภินิหารเจ้าหญิงจันตระการตา, ลิขิตแค้นแสนรัก, บาจิราวมหาเสนายอดนักรบ, มหาราชรานจิตซิงห์, ตระกูลแค้นแผนรัก, อสรพิษรักข้ามภพ และ วิชกัญญา ลางรักอวตาร ที่จะมีมาให้ได้ชมกันอย่างเต็มอิ่มจุใจ ตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่ชี้วัดความสำเร็จของซีรีส์อินเดีย เริ่มชัดเจนมากขึ้นๆ จากที่แข่งขันกันเพียงช่อง 8 และช่อง 3 กลายเป็นว่าตอนนี้ในผังช่องดิจิตอลหลายๆ ช่อง เริ่มมีการบรรจุโปรแกรมของซีรีส์อินเดียลงมาสู้
ไม่ว่าจะเป็นช่องไบรท์ทีวี มี “ศิวะ พระมหาเทพ” ออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ 3 ทุ่ม และอีก 4 เรื่องออนแอร์กันทั้งวัน
แม้กระทั่งช่องเวิร์คพอยท์ ซึ่งถ้าจะเท้าความกันไปแล้ว ถือเป็นเจ้าแรกที่นำซีรีส์อินเดียมาออกอากาศก่อนใคร ในเรื่อง “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ในปี 2558 แต่ก็เว้นช่วงไปนาน เพราะไม่มุ่งผลิตรายการประเภทวาไรตี้ตามแนวถนัด กระทั่งกระแสซีรีส์อินเดียบูมขึ้นมา ก็เลยขอลงมามีเอี่ยว ด้วยการนำ “ศึกสองราชันย์ โปรุส และอเล็กซานเดอร์” เรื่องจริงจากมหากาพย์แห่งสงครามครั้งสำคัญ ซึ่งถือเป็นซีรีส์ฟอร์มยักษ์ที่ทุ่มทุนสร้างแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย มาบรรจุลงในผัง ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 21.30 น. เริ่มออกอากาศวันที่ 5 ก.พ.นี้
นั่นหมายถึงว่าตอนนี้สมรภูมิของซีรีส์อินเดีย ถือว่าดุเดือดมาก เพราะมีถึง 5 ช่องทีวีดิจิตอลลงมาต่อสู้กัน แทนที่จะขับเคี่ยวกันด้วยละครไทยเหมือนก่อน
อย่างหนึ่งก็คือซีรีส์อินเดียแม้จะต้องนำเข้าด้วยต้นทุนที่สูง เพราะทุนสร้างแต่ละเรื่องว่ากันไปถึงหลักร้อยล้าน พันล้าน แต่ถ้าหารจากจำนวนตอน ที่บางเรื่องมีถึง 500-600 ตอนแล้ว ถือว่าถูกกว่าการลงทุนผลิตละครเองประมาณ 2-3 เท่าเลยทีเดียว ไม่ต้องเหนื่อยแรงในทำโปรดักชันเอง ผลิตเอง บริหารต้นทุนเอง แถมเผลอๆ เรตติ้งก็ดีกว่าละครด้วยซ้ำ และเมื่อเรตติ้งดี ก็ย่อมส่งผลไปถึงค่าโฆษณาที่สามารถปรับให้สูงตามขึ้นไปได้อีกด้วย
ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ช่องโมโน 29 ที่ก็ใช้โมเดลเดียวกันนี้มาตลอด ด้วยการทุ่มทุนกว้านซื้อซีรีส์ต่างประเทศมาฉาย จนเรตติ้งของช่องสามารถเบียดแซงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะหันมาจับตลาดซีรีส์อินเดีย เพราะไม่สามารถทานกระแสได้
แหละถ้าจะถามถึงเหตุที่ทำให้ซีรีส์อินเดียฮิตในบ้านเรานั้น ก็อาจจะเป็นด้วยเพราะนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน มีศิลปวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน มีความเชื่อ และศรัทธาในเรื่องคล้ายๆ กัน และที่สำคัญตัวละครส่วนใหญ่ในซีรีส์อินเดีย ไม่ว่าจะเป็น นางสีดา พระราม หนุมาน หรือกระทั่งมหาเทพต่างๆ พวกเราก็คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว บวกกับมีการพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่วิ่งไล่จับกันข้ามวันข้ามคืนเหมือนหนังอินเดียสมัยก่อน ผสมผสานเทคนิคอลังการ ตระการตา ในรูปแบบแฟนตาซี ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ ตามที่ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ในนามของผู้บริหารช่อง 8 กล่าวไว้
“จริงๆ แล้วคนไทยเคยนิยมดูซีรีส์อินเดียมาตั้งแต่เมื่อ 30-40 ปีก่อน แต่ห่างหายไปเพราะมีซีรีส์ชาติอื่นๆ อย่างจีน ฮอลลีวูด ญี่ปุ่น เกาหลีมาแทน แต่พอช่อง 8 เป็นผู้ริเริ่มนำคนเทรนด์อินเดียเข้ามาออกอากาศเป็นเจ้าแรก ด้วยเรื่องราวที่คนไทยคุ้นเคย อย่างศาสนา ประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมที่ให้คุณภาพการผลิตที่ได้มาตรฐาน ตื่นตา ตื่นใจ แต่คงไว้ด้วยรสชาติที่สนุกถูกใจคนไทย ทำให้คนไทยเปิดใจและให้ความสนใจคอนเทนต์อินเดียจนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งได้ไม่ยาก ยิ่งช่วงนี้เรตติ้ง ซีรีส์อินเดียของเราทุกเรื่องทำเรตติ้งแซงละครไทย และวาไรตี้หลายช่องไปขึ้นแท่นอันดับ 1 ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ตามความคาดหมาย”
สำหรับผู้ที่นำเข้าซีรีส์อินเดียต่างๆ เหล่านี้ จนกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ในบ้านเรา ก็คือบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ภายใต้แกนนำของ “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์”
“ด้วยวัฒนธรรมอินเดียกับเรามีความใกล้กันมาก ซีรีส์พวกนี้คือ International Contents จึงมีงบประมาณด้าน โปรดักชันเป็นพันล้านต่อเรื่อง มันเป็นเรื่องจริงนะ มีความยาวต่อเนื่องคือประมาณ 300 ชั่วโมง ยกตัวอย่างสีดาราม ประมาณ 130 ชั่วโมง พระพิฆเนศราว 300 ชั่วโมง เนื่องจากแต่ละเรื่องจะมีความยาว จึงต้องใช้เงินในการลงทุนเยอะ และผู้ผลิตก็จะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั้งโลก เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาเปิดที่อินเดียเป็นซูเปอร์สตาร์แบรนด์ ทุกวันนี้ฮอลลีวูด กับ บอลลีวูด มันไม่ไกลกันแล้ว”
โดยหลังจากที่นำเข้ามาจนประสบความสำเร็จ ก็เตรียมแผนที่จะส่งออก โดยการผลักดันนักแสดงไทยไปโลดแล่นในตลาดบอลลีวูด เป็นความร่วมมือกันระหว่างไทยกับอินเดีย รวมไปถึงยังมีเป้าหมายที่จะนำคอนเทนต์ทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียออกสู่สายตาคนทั่วโลกอีกด้วย
ข้ามเพศเพื่อข้ามโลก “แอน-จักรพงษ์” CEO หมื่นล้านแห่งเจเคเอ็น
บุคคลที่ต้องบอกว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซีรีส์อินเดียที่เข้ามาตีตลาดละครไทยในตอนนี้ ก็คือ “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ผู้บริหาร “ข้ามเพศ” บริษัท เจเคเอ็น โกบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ตัวแม่แห่งวงการคอนเทนต์ ผู้ได้รับลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวจากผู้ผลิตรายการทั้งประเภทภาพยนตร์สารคดี รวมถึงภาพยนตร์บันเทิงรายใหญ่ระดับโลกในการจัดจำหน่ายในประเทศไทย
ก่อนจะกลายเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ประสบความสำเร็จระดับหมื่นล้าน และมีคอนเนกชันอยู่ทั่วโลก แอน-จักรพงษ์ เกิดในครอบครัวคนจีน เจ้าของร้านเช่าวิดีโอ ที่แบกรับความคาดหวังในฐานะ “ลูกชาย” คนโต พร้อมๆ กับต่อสู้กับคำสบประมาทที่ถูกตราหน้าว่า....เป็นตุ๊ดไม่มีวันเจริญ!
ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ “เปอร์-สเปกทีฟ”
“เราไม่ทันพูด แต่พิพากษาเราไปแล้ว คนเราเป็นตุ๊ดที่โรงเรียนจะถูกแกล้ง และมักจะถูกพูดเสมอว่าเป็นตุ๊ดไม่เจริญ เป็นอะไรที่ฝังใจตลอดเวลา สิ่งที่กดดัน เราเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันทันที เราต้องให้แรงบันดาลใจตัวเองด้วยการบอกว่าเปลี่ยนปมด้อยให้เป็นปมเด่น เราแก้ปัญหาด้วยการเรียนให้เก่ง เป็นคนเก่งของสังคม ทั้งต่อหน้าที่บ้าน ทั้งต่อหน้าโรงเรียน มันเป็นความคิดของเด็กคนหนึ่งที่รักดี มีจิตกตัญญู ทำยังไงก็ได้ให้พ่อแม่ภูมิใจ”
จากเด็กปั๊มที่ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนที่ต่างประเทศเพื่อหวังจะได้ในเรื่องของภาษา... จากเงิน 10 ล้านบาทแรกที่หาได้ด้วยตัวเอง กลายเป็นเจ้าแม่คอนเทนต์ระดับโลก เจ้าของบริษัทมหาชนที่มีมูลค่านับหมื่นล้าน เป็น CEO ข้ามเพศที่รวยที่สุดในประเทศ
“ฉายาใหม่ว่า “ข้ามเพศหมื่นล้าน” ก็ไม่ได้รู้สึกดีใจ หรือตื่นเต้น รู้สึกว่ามิบังอาจในการที่จะรับฉายาเหล่านี้ ตัวเลขในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับแอน เพราะเป็นคนมุ่งมั่นสร้างสรรค์ในการทำงาน โฟกัสการทำงานอย่างแท้จริงว่าจะหาสิ่งที่ดีที่สุดจากทั่วโลกเข้ามาสู่เมืองไทย และนำสิ่งที่ดีที่สุดของไทยออกไปสู่ทั่วโลกอย่างไร นั่นก็คือคอนเทนต์รายการโทรทัศน์ต่างๆ ที่จะไปอยู่ตามแพลตฟอร์มต่างๆ ให้กับทุกคนได้ดู และมีความสุขกัน ทำอย่างดีที่สุด และเป็นคนขยัน เป็นคนหมั่นเพียร เป็นคนอดทน ตลอดจนเป็นนักคิด วางแผน
เสียงตอบรับต่างๆ ที่เกิดมาจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ก็ล้วนแล้วเป็นผลจากการทำงานอย่างหนัก ซึ่งตัวเลขจะเป็นอย่างไร จะแตกเป็นพันล้าน หมื่นล้าน หรือกี่หมื่นล้านในอนาคต ก็มิได้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต แรงบันดาลใจหรืออุดมคติในการที่จะทำงานอย่างดีที่สุด ให้เกิดความเจริญขององค์กรต่อไปอย่างยั่งยืน
โดยในปี 2018 นี้ ทางเจเคเอ็น ก็จะมุ่งเน้นในเรื่องของการนำคอนเทนต์ของไทย หรือนำคอนเทนต์ของระดับนานาชาติที่มีลิขสิทธิ์ระดับภูมิภาคเอเชียออกไปขาย ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในและนอกประเทศ โดยจะมุ่งเน้นในเนื่องของความภาคภูมิใจของไทยสู่คนทั่วโลกเหมือนเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้พูดมาก็ล้วนแล้วเป็นการคิดวางแผน เป็นความรอบคอบและเป็นความเชี่ยวชาญทางสายงานที่ตนเองทำมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ฉะนั้น ในวันนี้การที่องค์กรจะเติบโตไปได้ ก็มีบทสรุปอย่างสั้นๆ ว่า ต้องเกิดมาจากแรงบันดาลใจที่จะทำงานที่ตัวเองรัก และพัฒนาอย่างล้ำเลิศให้เกิดความเชี่ยวชาญและกลายเป็นวิชาชีวิตที่ดีที่สุด เพื่อที่เรานั้นจะสามารถพัฒนาองค์กรได้อย่างยั่งยืนค่ะ”
นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 428, 3-9 กุมภาพันธ์ 2561