xs
xsm
sm
md
lg

The Post ยอดเยี่ยมสมศักดิ์ศรี! 1 ใน 9 ชิงหนังยอดเยี่ยมออสการ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“ลุ้น” “ตื่นเต้น” “ระทึกใจ” ไม่แพ้การดูหนังแอ็กชั่นหรือหนังสงครามดีๆ นี่คงจะเป็นนิยามที่เหมาะสมมากสำหรับภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่กำลังเข้าฉายในบ้านเราตอนนี้ และที่สำคัญ ประเด็นของหนังนั้น ต้องบอกว่า “ระห่ำ” มากๆ

“เดอะ โพสต์” (The Post) หรือในชื่อภาษาไทย “เอกสารลับเพนตากอน” พาเราย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960 ยุคที่สงครามเวียดนามกำลังฆ่าลูกหลานชาวอเมริกันตายไปทีละสิบทีละร้อย โดยไม่มีใครรู้ความจริงว่า อเมริกาจะชนะสงครามครั้งนี้หรือไม่... หนังเริ่มต้นที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของหน่วยงานรัฐซึ่งมีโอกาสได้เข้าติดตามสำรวจผลเกี่ยวกับความเป็นไปของคราม ได้ทำการขโมยเอกสารลับของรัฐบาลออกไป โดยเอกสารลับฉบับนี้มีชื่อเรียกว่า “เอกสารลับเพนตากอน” (Top Secrets of Pentgon)

หลายปีต่อมา ... เอกสารฉบับดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส สร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งสหรัฐฯ ประชาชนลุกฮือขึ้นทวงถามความชอบธรรมของรัฐบาลที่ปิดหูปิดตาประชาชนเกี่ยวกับความจริงในสงครามเวียดนามมานาน แน่นอนว่า งานนี้ รัฐบาลไม่ปล่อยแน่นอน เพราะอย่างไรก็ต้องฟ้องร้อง ซึ่งนิวยอร์กไทม์สก็โดนไปตามระเบียบ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นิวยอร์ก ไทม์ส กำลังเผชิญศึกหนักจากรัฐบาล... อีกฝั่งฟากผู้ร่วมวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างสำนัก “วอร์ชิงตัน โพสต์” (หรือเรียกชื่อสั้นๆ ว่า “เดอะ โพสต์”) ก็กำลังเผชิญวิกฤตไม่แพ้กัน โดยที่สถานการณ์เฉพาะหน้าก็คือ การที่ถูกทำเนียบขาวสั่งห้ามไม่ให้นักข่าวของเดอะ โพสต์ เข้าไปทำข่าวงานแต่งของลูกสาวประธานาธิบดีนิกสัน เพราะก็อย่างที่รู้กันในตอนนั้นว่า นักข่าวสายสังคมของเดอะ โพสต์ ถือว่าเป็นพวกปากตะไกรขั้นสุด เป็นที่หวั่นเกรงในหมู่พวกสังคมคนชั้นสูง

แต่วิกฤตอีกหนึ่งด้านที่ถือเป็นภาระหนักของเดอะ โพสต์ ก็คือสถานการณ์ที่กำลังขาดทุน จนมีความจำเป็นจะต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ประคองหนังสือพิมพ์ให้ไปต่อได้ “เคย์ เกรแฮม” แม่หม้ายที่สืบทอดดูแลกิจการของเดอะ โพสต์ แต่เพียงผู้เดียว แม้ไม่อยากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะถูกบีบรอบด้าน จากบรรดาคณะกรรมการบอร์ดที่หวังดีอยากเห็นการอยู่รอดขององค์กร

สถานการณ์ของเดอะ โพสต์ มาถึงขั้นวิกฤติสูงสุด ก็ตอนที่ “เบน แบรดลี่” บรรณาธิการบริหารของเดอะ โพสต์ ได้รับเอกสารลับเพนตากอน หลังจากวันที่นิวยอร์ก ไทม์ส โดนสอยร่วงไปแล้ว คำถามก็คือว่า เดอะ โพสต์ จะตีพิมพ์หรือไม่? “เคย์ เกรแฮม” ที่เริ่มจะเห็นแสงสว่างวอมแวมที่ปลายทาง เกี่ยวกับอนาคตด้านการเงินที่ดีขึ้น จะตัดสินใจอย่างไร เพราะถ้าพิมพ์เอกสารลับดังกล่าวลงไปบนหน้ากระดาษ ก็แทบไม่ต่างกันกับจุดไฟเผาบ้านตัวเอง...

ครับ, ถึงตอนนี้ หลายคนคงคิดว่าผมเล่าเรื่องราวยืดยาวเกินไปหรือเปล่า? ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ก็เพียงอยากปูพื้นเล่าภูมิหลังของเรื่องราวให้เด่นชัด เพราะสิ่งที่เป็นความสนุกของหนังนั้นยังมีอยู่มาก ซึ่งก็อย่างที่บอกว่า แม้ไม่ใช่หนังสงคราม แต่ เดอะ โพสต์ เป็นหนังระทึกขวัญชั้นดีที่พูดได้เลยว่า “ต้องดู”

องค์ประกอบสำคัญที่นับว่าเป็น “ออร่า” ของภาพยนตร์ คือการแสดงของนักแสดงนำทั้งสองคน “เมอรีล สตรีพ” และ “ทอม แฮงค์” นี่เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของทั้งสองคน

เมอรีล สตรีพ กับบทบาทของ “เคย์ เกรแฮม” เจ้าของกิจการ เดอะ โพสต์ เธอก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรอย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ความคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” ยังแผ่ครอบสังคมอเมริกาอยู่ ความเท่าเทียมยังไม่เทียมเท่าอย่างเต็มที่ เคย์จึงถูกมองด้วยสายตาแบบไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจากเหล่าคณะกรรมการบริหารบอร์ดที่ล้วนแต่เป็นผู้ชายว่า เธอจะสามารถนำพานาวาแห่งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไปรอดได้หรือไม่อย่างไร ความกดดันบีบคั้นคือมวลความรู้สึกที่รายรอบตัวละครของเมอรีล สตรีพ และเธอก็แสดงได้ดีถึงขั้นที่ทำให้เรารู้สึกกดดันบีบคั้น รวมทั้งเห็นใจไปด้วยในขณะเดียวกัน เมอรีล สตรีพ ได้ชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมอีกครั้งจากบทนี้ ก็ถือว่า สมศักดิ์ศรีนักแสดงมืออาชีพ

ขณะที่ทอม แฮงค์ รับบท “เบน แบรดลี่” บรรณาธิการเดอะ โพสต์ ผู้โชกโชนบนเส้นทางคนทำสื่อ และเขี้ยวลากดินชนิดกัดไม่ปล่อย ยืนหยัดในอุดมการณ์ของนักสื่อสารมวลชนอย่างเข้มข้น แบบที่กล่าวได้ว่า บูชาเสรีภาพของการเป็นสื่ออย่างที่ใครก็จะมาแตะต้องไม่ได้ และนั่นก็ทำให้เขาต้องวัดใจ ไม่ใช่แค่กับรัฐบาลที่ถึงยังไงก็ “ฟ้อง” ชัวร์ล้านเปอร์เซ็นต์ ทันทีที่เห็น “เอกสารลับ” ปรากฏบนหน้าหนึ่งของเดอะ โพสต์ แต่... “เบน” ยังต้องวัดกับเจ้าของกิจการอย่างเคย์ เกรแฮม ด้วยว่า สุดท้ายแล้ว เธอจะเห็นดีเห็นงามอย่างไรในเรื่องการตีพิมพ์หรือไม่ตีพิมพ์ดังกล่าว

เดอะ โพสต์ เดินเรื่องสไตล์หนังทริลเลอร์การเมืองที่ให้อารมณ์ระอุคุกรุ่นแทบตลอดทั้งเรื่อง เข้มข้น หนักหน่วง ในการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์และความกังวล ด้านหนึ่งคือสิทธิเสรีภาพ อีกด้านคือความอยู่รอดของธุรกิจ กอดรัดฟัดเหวี่ยงแบบที่ต้องลุ้นผลแพ้ชนะ ซึ่งนี่ก็คือความสนุกระทึกน่าตื่นเต้นติดตามของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งการันตีด้วยการเป็น 1 ใน 9 ผลงานที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีนี้

สตีเว่น สปีลเบิร์ก แม่นยำอย่างมากในการกำกับหนังเรื่องนี้ เขาสามารถทำให้หนัง “คนคุยกัน” มีสถานะเทียบเท่าหนังระทึกขวัญชั้นดีที่บีบคั้นอารมณ์ความรู้สึกหนักหน่วง ... ในแง่ของการเป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสื่อสารมวลชน เดอะ โพสต์ ควรได้รับการจดบันทึกว่าเป็นหนึ่งในหนังชั้นยอดของกลุ่มนี้ เฉกเช่นเดียวกับหนังอย่าง All the President Men, Good Night & Good Luck หรือ Spotlight

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่า ถ้าเราไม่ใช่คนในสำนักงานหนังสือพิมพ์หรือเป็นนักข่าว เราจะดูหนังเรื่องนี้ดีหรือเปล่า? คำตอบง่ายๆ ครับ ดูได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และยิ่งยุคนี้แล้ว แต่ละคนก็ต่างมี “สื่อ” อยู่ในมือเป็นของตัวเองทั้งนั้น ซึ่งหมายถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสิ่งที่เดอะ โพสต์ ยืนยันกล่าวย้ำ มันคือเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร และแน่นอนว่า สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ก็คงไม่ได้มีไว้ให้เพียงแค่นักข่าวเพียงเท่านั้น หากแต่รวมถึงคนทุกหมู่เหล่าที่ก็ควรได้รับการปกป้องสิทธิตรงนี้ อย่างเท่าเทียมกัน...








กำลังโหลดความคิดเห็น