โค้งสุดท้ายปลายปีแบบนี้ ต้องบอกว่าแวดวงละครคึกคัก และห้ำหั่นกันน่าดู และอาจจะต้องถือว่าเป็นช่วงที่รีโมททีวีต้องทำงานกันอย่างหนัก (ไม่นับพวกที่ดูย้อนหลังตามช่องทางโซเชียลต่างๆ) โดยเฉพาะโปรแกรมวันจันทร์-อังคาร ที่บังเอิญ หรือตั้งใจไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ มีละครฟอร์มสดมาลงโปรแกรมชนกันโครมใหญ่ ถึง 4 เรื่อง ใน 3 ช่อง
และสิ่งที่เหมือนกันของละครทั้ง 3 ช่อง ก็คือประการแรก นำแสดงโดยนางเอกฟรีแลนซ์ตัวท็อปๆ ของวงการ และประการที่สอง ก็คือล้วนแล้วแต่เป็นการนำละคร หรือภาพยนตร์เก่า กลับมารีเมกด้วยกันทั้งสิ้น
เริ่มกันที่ช่อง 3 กับละคร “ระเริงไฟ” ผลงานของผู้จัด “หน่อย-บุษกร วงศ์พัวพัน” ที่ปัดฝุ่นละครที่ตัวเองเคยแสดงไว้เมื่อปี 2543 คู่กับพระเอกฮอตในยุคนั้นอย่าง “จอนนี่ แอนโฟเน่” ซึ่งเป็นบทแรงอีกเรื่องหนึ่งของหน่อย ถัดจากบท “ใจเริง” ในเรื่อง “เพลิงบุญ”
ในฐานะผู้จัด ถือเป็นครั้งแรกที่หยิบละครที่ตัวเองเคยแสดงไว้กลับมารีเมกใหม่ ซึ่งถือเป็นทางเดียวกับที่ “แอน ทองประสม” เคยทำไว้ในละคร “ปัญญาชนก้นครัว” และ “สามีตีตรา”
เดิมทีบท “ญาดา” นางเอกของเรื่อง ที่หน่อยเคยเล่นไว้นั้น วางตัวไว้ที่ “ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต” แต่บังเอิญเป็นช่วงจังหวะที่ชมพู่เตรียมตัวที่จะมีน้องพอดี ก็เลยขอถอนตัวไป สรุปสุดท้ายบทนี้ก็เลยมาตกอยู่ในมือของ “นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี” ที่เป็นอดีตลูกหม้อของช่อง 7 มาเหมือนๆ กัน แต่ต่างกันตรงที่ชมพู่ข้ามมาแบบเป็นนักแสดงในสังกัด แต่นุ่นมาในลักษณะนักแสดงฟรีแลนซ์
แต่ถ้าถามว่าระหว่างชมพู่ กับนุ่น ความน่าสนใจของหน้าละครนั้น ต้องบอกว่าฝ่ายหลังดูน่าสนใจกว่า เพราะถ้าบทนี้เป็นชมพู่ ก็อาจจะไม่เห็นความแตกต่าง หรือสีสันการแสดงใหม่ๆ เพราะผ่านการรับบทในลักษณะคล้ายๆ กันมาแล้ว ทั้งจากบท “เรยา” ใน “ดอกส้มสีทอง” และบท “ทราย” ใน “ทรายสีเพลิง” ซึ่งโดนวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู ว่าสีหน้า แววตา ท่าทางไม่ต่างอะไรกัน แต่กับนุ่น ปกติมักจะจะได้ละครที่โชว์ของแบบดราม่า ควีน แทบจะไม่เคยเห็นบทแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันอย่างในเรื่องนี้ และที่สำคัญพอเป็นนุ่น จึงถือเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างเธอกับ “เคน-ธีระเดช” ที่จะต้องปะทะอารมณ์ และเชือดเฉือนกันตลอดทั้งเรื่อง ส่วนตัวมองว่าเป็นแคสต์ที่ลงตัวกว่าถ้าเทียบกับเคน-ชมพู่ ซึ่งเคยเล่นกันมาหลายเรื่องแล้ว
ไม่แน่ว่า “ระเริงไฟ” อาจจะเป็นละครที่พีคที่สุดในฐานะการเป็นผู้จัดของหน่อย-บุษกร หลังจากที่บาดเจ็บมาหลายเรื่องแล้ว เพราะสไตล์ละครแนวนี้ ยังไงเสีย คอละครก็ชอบกันอยู่แล้ว
จากช่อง 3 ข้ามมาช่องวัน ซึ่งหมายมั่นปั้นมือกับละครเรื่อง “ชายไม่จริงหญิงแท้” มาก ถึงขนาดรื้อผังละครของช่องใหม่ จากเดิมที่ใช้ผังแบบเดียวกับช่องอื่น คือผังวันจันทร์-อังคารเรื่องหนึ่ง วันพุธ-พฤหัส อีกเรื่องหนึ่ง (ช่องวันไม่มีผังละครศุกร์-เสาร์-อาทิตย์) แต่เพื่อเป็นการต้อนรับการมาเยือนของ “ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่” ถึงกับจัดผังให้ลงโปรแกรมรวดเดียว 4 วัน คือดูกันยาวตั้งแต่วันจันทร์-พฤหัส ซึ่งถ้าไม่มั่นใจจริงๆ เชื่อว่าคงไม่กล้าลงทุนจัดผังใหม่ เพราะการจัดผังแบบนี้ ต้องบอกว่าเสี่ยงมาก คือถ้าปัง ก็เท่ากับว่าสามารถตัดกำลังคู่แข่งไปได้ทีเดียว 4 วันรวด แต่ถ้าฉวยเกิดแป๊กขึ้นมา ก็กู้กลับมาลำบากเหมือนกัน
และดูเหมือนว่าช่องวัน จะเดาเกมถูก เพราะกระแสละคร “ชายไม่จริง หญิงแท้” น่าจะถือเป็นงานแก้มือของใหม่ที่ล้มเหลวจากละครช่อง 3 มาแล้วทั้ง 2 เรื่อง แม้กระทั่งละครฟอร์มใหญ่อย่าง “บ่วงบรรจถรณ์” ก็ยังแทบไม่ถูกพูดถึง ใหม่อาจจะถูกทางกับสไตล์ละครแบบ “ชายไม่จริงหญิงแท้” มากกว่า เพราะในเรื่องนี้มีอะไรให้โชว์เยอะมาก ทั้งต้องแสดงแบบใส่จริตเป็นสาวประเภทสอง แล้วไหนยังจะต้องโชว์ลิปซิงค์สไตล์นางโชว์อีก ซึ่งต้องบอกว่า ใหม่มีฝีมือในเรื่องของการโชว์ การเต้นไม่น้อยเลยทีเดียว ดังจะเห็นจากการไปเป็นแขกรับเชิญให้กับคอนเสิร์ตของ “พี่เบิร์ด-ธงไชย” และการร่วมรายการ “ลิปซิงค์ แบทเทิล ไทยแลนด์” มาแล้ว
ที่สำคัญต้องบอกว่าตัวละครแวดล้อมใน “ชายไม่จริงหญิงแท้” มีส่วนช่วยส่งและเสริมให้เรื่องนี้ดูสนุก และก็เพิ่มรสชาติให้กับละครจัดจ้านมากยิ่งขึ้น เพราะระดมนักแสดงเก้ง กวาง ฝีมือฉกาจฉกรรจ์มาเล่นกันแบบแน่นจอ ไล่มาตั้งแต่รุ่นเดอะ อย่าง “ดร. เสรี วงษ์มณฑา” , “ม้า-อรนภา กฤษฎี” , “ซันนี่ ยูโฟร์” มาจนรุ่นหลังๆ อย่าง “เบน ชลาทิศ” , “ดีเจ นุ้ย” , “ดีเจ บุ๊กโกะ” , “ดีเจ. มะตูม” ฯลฯ
“ชายไม่จริงหญิงแท้” เป็นอีกครั้งที่ค่ายเอ็กแซ็กท์รีเมกละครของตัวเอง ที่เคยสร้างไว้เมื่อปี 2541 ซึ่งครั้งนั้น ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ (อดีต) เจ้าหญิงของวงการบันเทิงอย่าง “แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช” ที่มาเล่นคอมเมดี้แบบเต็มตัว ประกบกับ “ดู๋-สัญญา คุณากร” ออกอากาศทางช่อง 3
และในผังของวันจันทร์-อังคาร นอกจากจะมีละคร “ชายไม่จริงหญิงแท้” ยังต่อด้วยละครรีเมก เรื่อง “ล่า” ที่สร้างจาก นวนิยายของ “ทมยันตี” และผ่านการสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2520 นำแสดงโดย “อรัญญา นามวงศ์” และ “ลลนา สุลาวัลย์”
แต่ครั้งที่ผู้คนจดจำมาถึงทุกวันนี้ ก็คือเวอร์ชั่นละคร ที่ค่ายเอ็กแซ็กท์สร้างตั้งแต่สมัยยังเป็นผู้ผลิตละครเจ้าประจำของช่อง 5 ในปี 2537 นำแสดงโดยนางเอกสุดยอดฝีมืออย่าง “สินจัย เปล่งพานิช” ในบท “มธุสร” และ “ทราย เจริญปุระ” ในบท “มธุกร” หรือ “ผึ้ง” 2 แม่-ลูกที่โชคชะตาพลิกผันทำให้ต้องไปมีส่วนเป็นพยานปากสำคัญในคดียาเสพติด จนเป็นเหตุให้ถูก 7 ทรชนขืนใจอย่างเหี้ยมโหดในคืนวันฝนพรำทั้งแม่และลูก แต่สุดท้าย เมื่อกฎหมายเอาผิดพวกมันไม่ได้ เธอจึงต้องลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับตัวเองและลูก ด้วยการ “ล่า” พวกมันด้วยมือของเธอเอง โดยมีคติประจำใจ ก็คือ “ความพยาบาทคือของหวาน” ซึ่งในการ “ล่า” แต่ละครั้ง จะต้องมีการปลอมตัวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในยุคนั้น ต้องบอกว่าเป็นบทที่ท้าทายที่สุดในชีวิตการแสดงของสินจัย และส่งผลให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีโทรทัศน์ทองคำ ในปี 2537 ในขณะที่รางวัลสาขาเดียวกันบนเวทีเมขลา ตกเป็นของ “สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์” ในละคร “ทวิภพ” ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ของรางวัลดังกล่าวถูกลดทอนลงไปทันที
ว่ากันว่าบทประพันธ์เรื่อง “ล่า” มีโครงการจะถูกนำกลับมารีเมกใหม่อยู่หลายรอบ แต่ติดปัญหาที่ว่า จะหานักแสดงที่มีฝีไม้ลายมือที่เฉียบขาด มีวัยวุฒิ และคุณวุฒิที่เหมาะสม มารับบทนำในละครได้ยาก เพราะถือว่าเป็นบทที่แรง และต้องใช้ทักษะในการแสดงที่สูงมาก กับการที่จะต้องเปลี่ยนตัวเองไปถึง 7 คาแรกเตอร์ และที่สำคัญเมื่อมีตัวเปรียบเทียบอย่างนก-สินจัย ซึ่งต้องบอกว่าจะหาคนมาเทียบเคียงได้ยากเต็มที ไม่ว่าจะในมุมของฝีมือ หรือบารมีในฐานะนักแสดงระดับขึ้นหิ้ง
แม้กระทั่งเมื่อค่ายเอ็กแซ็กท์ และช่องวัน ตัดสินใจเลือก “หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส” มารับบทนี้ ก็ได้ยินมาว่าเจ้าตัวก็แอบกังวลใจอยู่ไม่น้อยว่าจะสามารถเข้าถึงบทบาทของมธุสรได้อย่างที่ทุกคนคาดหวังหรือไม่ ? อย่างไร ? ถึงขนาดต้องแอบไปขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่อย่างนก-สินจัยกันเลยทีเดียว
แต่เมื่อละครออกอากาศไปได้เพียง 3 ตอน ต้องบอกว่าช่องวันและเอ็กแซ็กท์ ตัดสินใจไม่ผิดเลยจริงๆ ที่เลือกหมิวมารับบทนี้ เพราะใน 2-3 ตอนแรกที่จะต้องถ่ายทอดอารมณ์ในฐานะแม่ที่รักลูกยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจ และพร้อมจะยอมทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูก แม้กระทั่งยอมที่จะยกทรัพย์สินและมรดกทุกอย่างให้กับ (อดีต) สามีที่เป็นพ่อของลูก เพื่อแลกกับการเซ็นใบหย่า เพราะไม่อาจทนเห็นการที่ลูกจะต้องมาให้ปากคำในชั้นศาลเกี่ยวกับคดีพ่อ-แม่ฟ้องหย่ากันได้ หมิวเหมาะกับบทของมธุสรทั้งในแง่ของความเป็นแม่ ทั้งในประสบการณ์การแสดง ที่บ่มเพาะมาตั้งแต่การรับบทนางเอกสวยใส จนพัฒนาเป็นบทที่เข้มข้นขึ้นตามวัย และชั่วโมงบิน
ขณะเดียวกัน บทบาทของมธุสร จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของหมิวในช่วงที่จะต้องไล่ล่าทรชนที่ทำร้ายเธอกับลูกจนเสมือนตายทั้งเป็น การที่จะต้องรับบทที่แตกต่างกันออกไปถึง 7 คาแรกเตอร์นั้น ไม่ใช่แค่การแต่งหน้าเอฟเฟ็กท์แล้วจบกัน แต่ยังจะต้องอาศัยการเข้าถึงบทบาทตามคาแรกเตอร์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโสเภณี , บทหญิงแก่ , บทผู้ชาย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ต้องเล่นโดยมีวิญญาณของความเป็นนักล่าอยู่ข้างในด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องเล่นหลายชั้นมาก ต้องเล่นให้คนดูสงสาร เอาใจช่วย ไปจนถึงสาสมใจ เป็นฆาตกรที่ต้องฆ่าคนตายถึง 7 คน แต่คนดูเกลียดไม่ลง
และนอกจากบทบาทที่ท้าทายของหมิว รวมถึงนักแสดงเลือดใหม่อย่าง “เซียงเซียง – พรสรวง รวยรื่น” ในบทลูกสาวผู้เคราะห์ร้ายแล้ว ต้องบอกว่าอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ละครเรื่องนี้เข้มข้น ก็คือบทโทรทัศน์ ที่มีการปรับให้ร่วมสมัยขึ้น มีการหยิบยกเหตุการณ์ปัจจุบัน อย่างเรื่องข้อถกเถียงเกี่ยวกับคดีข่มขืนเท่ากับประหารชีวิต !!?? หรือการหยิบยกเรื่องราวการระบาดของกระแส โซเชียล ที่มีทั้งคุณและให้ทั้งโทษในเวลาเดียวกัน มาเรียงร้อยเป็นบทได้อย่างกลมกลืน ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ทำให้เนื้อหาเดิมเสีย ไป หรือถูกแต่งเติม , บิดเบือนจนแทบจะจำเค้าโครงไม่ได้
เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงบท จนเสียเค้าโครงเดิม ก็ต้องพูดถึง “ความรักครั้งสุดท้าย” ละครเรื่องที่ 3 ในโปรเจ็กต์ “The Writers” ของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ที่นำบทประพันธ์ชั้นครูของนักเขียนมือรางวัลอย่าง “สุวรรณี สุคนธา” มาสร้างเป็นละครครั้งแรก หลังจากเคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 2 ครั้ง ด้วยฝีมือของ “ท่านมุ้ย - มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล” โดยครั้งแรกในปี 2518 และครั้งที่ 2 ห่างไปถึง 28 เพราะถูกสร้างในปี 2546 และอีก 14 ปีต่อมา ถึงถูกปัดฝุ่นกลับมารีเมกเป็นละคร
“ความรักครั้งสุดท้าย” ถือเป็นการทำงานในฐานะนักแสดงฟรีแลนซ์เต็มตัวครั้งแรกของ “พลอย-เฌอมาลย์ บุญยะศักดิ์” หลังจากหมดสัญญากับช่อง 3 ซึ่งถ้าเทียบกับละครรีเมกอีก 3 เรื่อง คือระเริงไฟ, ชายไม่จริงหญิงแท้ , ล่า ต้องบอกว่าพลอยกดดันน้อยที่สุด โดยเฉพาะในแง่ของการถูกเปรียบเทียบ เพราะถึงจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 ครั้ง ก็ถือเป็นหนังนอกกระแส ที่ไม่ได้โด่งดังมากมาย อีกทั้งยังทอดระยะเวลาไปนาน จนคนอาจจะไม่ได้นึกถึงภาพของ 2 นักแสดงที่เคยรับบทเดียวกันในเวอร์ชันก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ภัทราวดี มีชูธน” ในการสร้างหนแรก และ “ศิริประภา ชุมสาย” ในการสร้างครั้งที่สอง แต่ถ้าใครที่เป็นหนอนหนังสือ และจดจำเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ได้ขึ้นใจ จะรู้ว่าคาแรกเตอร์ของพลอย แทบจะไม่มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับ “รส” ตัวละครหลักในเรื่อง ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีความเป็นติสท์ มีอารมณ์ศิลปิน ขอบวาดรูป และพยายามไขว่คว้าหาความรักครั้งสุดท้ายให้กับตัวเอง โดยเฉพาะถ้าคนที่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังว่าสุวรรณี สุคนธาเขียนเรื่องนี้ โดยมีเค้าโครงเรื่องจากชีวิตจริงของตัวเอง ก็ต้องบอกว่าพลอยดูห่างจากความเป็นสุวรรณีมากที่สุด ถ้าเทียบกับ 2 นักแสดงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเวอร์ชันของภัทราวดี ซึ่งได้รับคำชื่นชมว่าถ่ายทอดคาแรกเตอร์ความเป็นสุวรรณีได้แทบจะถอดมาจากพิมพ์เดียวกัน ซึ่งยังต่อเนื่องมาถึงการรับเป็นแม่ของ “น้ำพุ” ในภาพยนตร์ฉบับที่กำกับโดย “ยุทธนา มุกดาสนิท” ซึ่งสร้างจากนวนิยายเรื่อง “พระจันทร์สีน้ำเงิน” ผนวกกับ “เรื่องของน้ำพุ” ถ่ายทอดเรื่องราวของลูกชายของสุวรรณี ที่เสียชีวิตเพราะยาเสพติด
เอาจริงๆ ตั้งแต่มีข่าวว่าจีเอ็มเอ็ม 25 จะหยิบ “ความรักครั้งสุดท้าย” มาสร้างเป็นละคร ก็แอบนึกหวั่นใจ เพราะโดยเนื้อหาตามบทประพันธ์ไมได้เอื้อต่อจากสร้างเป็นละคร แต่เหมาะจะเป็นหนังสือที่ไว้อ่าน เพื่อเสพกับภาษาสวยๆ ของนักเขียน หรือเป็นภาพยนตร์ที่มีความยาวเพียงแค่ 2 ชม. แต่ถ้านำมาสร้างเป็นละคร แน่นอนว่าจะต้องมีการขยายเรื่องออกไป มีการสร้างปมขัดแย้ง ตลอดจนมีการหาเหตุผลในการกระทำให้กับตัวละครต่างๆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการบิดเบือนเนื้อหา หรือแกนหลักของเรื่อง ถ้าไมได้เข้าใจรายละเอียดของเรื่องอย่างถ่องแท้ เหมือนอย่างที่ช่องนี้เคยประสบมาแล้วกับการทำละครเรื่อง “โอ เนกาทีฟ รักออกแบบไมได้” ที่มีการขยายนื้อหาจนหัวใจของเรื่องที่พูดถึงความดีงามของความรัก ความเสียสละของเพื่อนถูกกลบไปด้วยเรื่องของการชิงรักหักสวาท จนคุณค่าถูกลดทอนไปอย่างน่าเสียดาย
และก็เป็นไปตามที่คาด เพราะ “ความรักครั้งสุดท้าย” เวอร์ชันละคร ก็มาสายเดียวกัน คือขยายเนื้อหาจนดูเหมือนจะกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับคนที่เป็นแฟนประจำของสุวรรณีและชื่นชอบนวนิยายเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นคอละครทั่วไป ก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย โดยเฉพาะถ้าเป็นแฟนคลับของ “เก้า-จิรายุ ละอองมณี” ที่กลายเป็นพระเอกขาประจำของช่องนี้ ที่โผล่มาแบบเรื่องเว้นเรื่อง ก็อาจจะพออกพอใจที่ได้เห็นหน้าหล่อๆ ของพระเอกขวัญใจตัวเองอยู่ตลอดๆ
ถ้าจะนับกันจริงๆ ช่อง 7 ก็อยู่ในเงื่อนไขของการรีเมกละครในโปรแกรมวันจันทร์-อังคารเหมือนกัน เพราะหยิบเรื่อง “หงส์เหนือมังกร” กลับมาทำใหม่ แต่ที่ไม่ได้นำมารวมในประเด็นนี้ เพราะต้องยอมรับว่านางเอกของเรื่อง คือ “เมลดา สุศรี” ยังไม่อยู่ในทำเนียบของนางเอกตัวท็อป และอีกประการก็คือเป็นนางเอกในสังกัดช่อง 7 ไม่ใช่รับงานในลักษณะฟรีแลนซ์เหมือน 4 นางเอกที่พูดถึงก่อนหน้านี้
แต่ถ้านับเรื่องเรตติ้ง ตัวเลขของ “หงส์เหนือมังกร” ก็สูงสุดในบรรดาละครในโปรแกรมเดียวกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33
ขณะที่เรตติ้งต่ำเตี้ยที่สุด ก็คือ “ความรักครั้งสุดท้าย” เฉลี่ยอยู่ที่ 0.4 และอาจจะเป็นสัญญาณบอกเหตุอะไรบางอย่างหรือเปล่า ? เกี่ยวกับสถานะความเป็นนางเอกฟรีแลนซ์ของพลอย-เฌอมาลย์
นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 421 9-15 ธันวาคม 2560