ขวงฉี: ฝันนี้มี “เธอ” งานทดลองสร้างสรรค์ข้ามสาขาข้ามศตวรรษ เมื่อนางเอก “เก๋งโบตั๋น” ฝันถึงนางเอก “ม่านประเพณี” เมื่อเครื่องประกอบจังหวะของงิ้วโบราณประสานท่วงทำนองกับดนตรีตะวันตก ละคร Y จากไต้หวันจะมาแสดงนอกประเทศครั้งแรกที่ “Bangkok International Performing Arts Meeting” (BIPAM)
ในช่วงเทศกาลละครกรุงเทพ (BTF) ปีนี้ เครือข่ายละครกรุงเทพ (BTN) ด้วยความสนับสนุนหลักจากสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จะจัดงาน Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านละครในระดับนานาชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไต้หวัน
ซึ่งมีนโยบาย Southbound Policy สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว จึงร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย และภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นำการแสดงร่วมสมัยในรูปแบบ “music theatre” ซึ่งหาชมได้ยากในประเทศไทย เรื่อง ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” (Kuang Qi) โดยคณะ M.O.V.E. Theatre จากกรุงไทเป มาเปิดการแสดงในส่วนของ BIPAM Showcase ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายนนี้ เพียง 4 รอบเท่านั้น
ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมจีนคลาสสิกสองเรื่อง คือ “เก๋งโบตั๋น” (The Peony Pavilion) และ “ม่านประเพณี” (The Butterfly Lovers) ซึ่งผู้ชมชาวไทยรู้จักดี ในการตีความรูปแบบ “เรื่องเก่าเล่าใหม่” ครั้งนี้ ตู้ ลี่เหนียง (“เก๋งโบตั๋น”) คุณหนูผู้สวยงามและฉลาดเฉลียวในสังคมศักดินาที่เคร่งครัดในระเบียบประเพณี ไม่ได้ฝันถึง หลิ่ว เหมิ้งเหมย หนุ่มหล่อผู้เรียบร้อย แต่ฝันถึง จู้ อิงไถ (“ม่านประเพณี”) ผู้มาปรากฏตัวในเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษ
ในการแสดงรูปแบบ “music theatre” ซึ่งให้ความสำคัญของดนตรีมากเท่า ๆ กับเรื่องราวของละครนี้ ผู้กำกับดนตรีประจำคณะ M.O.V.E. Theatre ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Lin Kuei-ju ภาควิชาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัย Shih-Chien ได้ร่วมงานกับ Wu Cheng-han ทดลองนำดนตรีของงิ้วโบราณแบบ Kunqu มาผสมกับเครื่องประกอบจังหวะของตะวันตกเกิดเป็นท่วงทำนองใหม่ที่สะท้อนแรงปรารถนาของตัวละครซึ่งถูกบรรทัดฐานทางสังคมตีกรอบออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
คณะ M.O.V.E. Theatre ก่อตั้งขึ้นโดย Fu Hong-zheng เมื่อปี 2549 งานส่วนใหญ่ของคณะนี้เน้นการเคลื่อนไหวของร่างกายนักแสดงในรูปแบบ physical theatre สมาชิกหลักของคณะประกอบด้วยศิลปินต่างสาขา ทั้งละครเวที นาฏยศิลป์ และดนตรี นอกจากนั้น M.O.V.E. Theatre ยังร่วมงานกับศิลปินหลายสาขาในการสร้างสรรค์งานแนวทดลองอย่างต่อเนื่อง ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” นับเป็นครั้งแรกที่ M.O.V.E. Theatre ร่วมงานกับศิลปินงิ้วโบราณแบบ Kunqu
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และกรรมการจัดงาน BIPAM ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไต้หวันให้ดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Advisory Committee) ได้ปรึกษาหารือกับศิลปินและคณาจารย์ชาวไต้หวันในการคัดเลือก ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” มาจัดแสดงที่ BIPAM ครั้งนี้ กล่าวว่า
“หลังจากที่เราเคยประทับใจการแสดงร่วมสมัยจากไต้หวันของคณะ Cloud Gate Dance Theatre และ U-Theatre ในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ เมื่อหลายปีก่อน เราก็ไม่ค่อยได้ชมการแสดงจากไต้หวันกันอีกเลย จากที่ผมได้มีโอกาสไปดูงานและไปประชุมมา พบว่าวงการศิลปะร่วมสมัยของไต้หวันปัจจุบันคึกคักมาก มีงานหลากเนื้อหาและหลายรูปแบบ การจะเลือกมา BIPAM เพียงหนึ่งงานจึงเป็นเรื่อยาก สุดท้ายแล้วเราก็เลือกงานแบบ ‘เรื่องเก่าเล่าใหม่’ ที่มีลักษณะการทำงานข้ามสาขา เป็นงานสร้างสรรค์ของคณะละครร่วมสมัย
ซึ่งเนื้อหาสะท้อนบริบททางสังคมปัจจุบันของประเทศแรกในเอเชียที่คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย และรูปแบบของ music theatre ซึ่งคอดนตรีก็ฟังได้ และแฟนละครก็ดูดี ที่เราไม่ค่อยได้ชมกันในประเทศไทย ผมเชื่อมั่นว่า ‘งานหลายเด้ง’ แบบ ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะไหน ๆ เราก็ชอบไปเที่ยวไต้หวัน และเพื่อนไต้หวันก็ชอบมาเที่ยวเมืองไทยกันอยู่แล้ว”
ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” แสดงครั้งแรก (world premiere) ที่ Taiwan Traditional Theatre Centre เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ การมาจัดแสดงนอกประเทศครั้งแรก (exclusive international premiere) ใน BIPAM Showcase ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายนนี้ ได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไต้หวัน สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
โดยการแสดงจะจักขึ้นในวันพุธและพฤหัสบดีที่ 15 และ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลา 19.30 น. และวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เวลา 14.00 น. และ 20.00 น. บัตรราคา 600 บาท (นักเรียน นักศึกษา 300 บาท ศิลปินและผู้ชมอายุไม่เกิน 27 ปี 400 บาท) จองบัตรที่ www.BangkokTheatreFestival.com หรือ 08 1559 7252 และ 0 2218 4802