xs
xsm
sm
md
lg

หนังผีที่ดีที่สุดของ “จิม – โสภณ” : เพื่อน..ที่ระลึก

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


อาจกล่าวได้ว่า “จิม – โสภณ ศักดาพิศิษฏ์” เป็นผู้กำกับสายหนังสยองขวัญ หรือหนังผี ที่อยู่คู่กับจีทีเอชมาแต่อ้อนแต่ออก แม้เมื่อ “จีทีเอช” เป็นน้ำแยกสายไผ่แยกกอ และฝั่งหนึ่งมาก่อร่างสร้าง “จีดีเอช” จิม – โสภณ ก็ตามมาด้วย โดยงานชิ้นล่าสุดของเขา ก็คือหนังเรื่องท้ายๆ ก่อนการแตกสลายของค่ายจีทีเอช คือเรื่อง “ฝากไว้.. ในกายเธอ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น จิม – โสภณ เคยพิสูจน์ฝีมือของตนมาแล้ว ทั้งจากการกำกับหนังอีกสองเรื่อง คือ “โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต” รวมถึงหนังผีที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม เรื่อง “ลัดดาแลนด์” และเป็นหนังผีที่ทำเงินไปเกินร้อยล้านบาท นอกจากนั้น ยังเป็นผู้มีส่วนในการร่วมเขียนบทให้กับหนังผีระดับมาสเตอร์พีซอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ”, “แฝด” หรือแม้กระทั่งหนังผีหลากรสหลายอารมณ์ อย่าง “สี่แพร่ง” และ “ห้าแพร่ง”

มาถึงจุดนี้ ณ วันที่ผมได้ดู “เพื่อน.. ที่ระลึก” ผมรู้สึกว่า ไวยากรณ์และทักษะในการทำหนังผีของจิม – โสภณ ได้เดินทางมาถึงจุดที่เรียกว่า “ตกผลึก” ไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งเดี๋ยวผมจะบอกว่าเพราะอะไรในตอนหลัง

หนังเรื่องนี้มีโครงเรื่องหลักอยู่ที่ “บุ๋ม” กับ “อิ๊บ” นักเรียนหญิงวัยมัธยม 2 คนซึ่งเป็นเพื่อนสนิท และจากชีวิตที่ดูสบายๆ ก็พังทลายลงทันตา เมื่อเกิดปัญหากับครอบครัวของทั้งสอง ส่งผลกระทบไปหมดจนชีวิตไม่มีความสุขและไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตายบนตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จ อย่างไรก็ดี ขณะที่ “อิ๊บ” ใจแข็งพอจะลั่นไกปืนส่งตัวเองไปสู่ความตาย แต่ “บุ๋ม” กลับตกใจกลัวและหลบหนีออกมา...วันเวลาผ่านไปอีกหลายปี “บุ๋ม” ที่ยังมีชีวิตอยู่และมีลูกสาวหนึ่งคน ก็เริ่มได้พบกับเหตุการณ์ประหลาดๆ ที่เขย่าขวัญสั่นประสาทอย่างถึงที่สุด

ยังไม่ต้องพูดไปถึงผีหรือสิ่งที่มองไม่เห็น แต่พูดถึงสิ่งน่าสนใจที่มองเห็นได้เด่นชัดในหนังเรื่องนี้ ซึ่งถูกนำเสนอตั้งแต่แรกๆ ก็คือ การเซ็ตเหตุการณ์ต้นเรื่องให้เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2540 หลายคนเคยผ่านช่วงนั้นมา หลายคนเคยอ่านและศึกษาสถานการณ์ช่วงนั้นมา นั่นคือช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ในนามของ “ต้มยำกุ้ง” ... “เพื่อน..ที่ระลึก” ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีตอนเริ่มเรื่องในการบอกเล่าถึงสถานการณ์ช่วงนั้นได้อย่างน่าสะเทือนใจ

ภาพของผู้คนที่อยู่ดีๆ ก็เหมือนมีพายุซัดกระหน่ำชีวิตให้พังครืนไปแบบไม่ทันตั้งตัว รัฐบาลสมัยนั้นปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ส่งผลให้ธุรกิจทุกแขนงได้รับผลกระทบบางแห่งโละคนงาน หลายแห่งปิดกิจการ ล้มระเนระนาด และที่น่าสะเทือนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ขณะที่หลายคนเลือกทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย อีกหลายๆ คนก็มีชีวิตอยู่แทบไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายไปแล้ว หรือไม่ก็เสียศูนย์อย่างน่าสงสาร ในหนังมีฉากที่ “บุ๋ม” ไปหาพ่อที่ร้านอาหาร ผมคิดว่านั่นคือฉากหนึ่งซึ่งหนังทำออกมาได้สะเทือนอารมณ์มาก และเป็นฉากที่บอกเล่า “ภาวะทางใจ” ของหลายๆ คนในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี

“วิกฤติเศรษฐกิจ” นั้นน่าสะพรึงกลัวไม่น้อยไปกว่าการเห็นผี และจริงๆ มันน่ากลัวกว่าการได้เห็นผีหลายร้อยหลายพันเท่า เพราะแม้ผีจะหลอกเรา แต่เราก็ยังมีชีวิตต่อไปได้ แต่หากได้ประสบพบกับวิกฤติเศรษฐกิจ เรานี่แหละที่อาจจะกลายไปเป็นผีเสียเอง

พูดถึงการเห็นผีหรือไม่ได้เห็นผี ในหนัง ผมเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่หลายคน “ติดใจ” และเป็นกระแสที่พอจะเห็นได้หลังจากการไปรับชมมาแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะต้องยอมรับว่า การเข้าไปดูหนังผี ก็เหมือนดูหนังแนวอื่นๆ เช่น ดูหนังตลก ก็ได้หัวเราะไปกับมุกตลก เช่นกัน ไปดูหนังผี ก็ควรจะมีผีโผล่หน้ามาหลอกให้สะดุ้งให้ตกใจ แต่กลับตรงกันข้าม “เพื่อน..ที่ระลึก” ไม่เป็นเช่นนั้น และนี่ก็คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกตั้งแต่ตอนต้นเกี่ยวกับไวยากรณ์และทักษะในการทำหนังผีที่เข้าขั้น “เจ๋งที่สุด” ของผู้กำกับ “จิม – โสภณ”

ผลงานชิ้นนี้ เล่นกับเล่นกับความกลัวในจิตใจ ไม่ใช่สายตา (แม้ว่าสายตาของตัวละคร จะชวนให้เราหลอนไปด้วย เพราะการสอดส่ายมองหาก็ตามที) “ผี” ในหนังเรื่องนี้ มันขยับเข้าใกล้กับความจริงมากที่สุด เพราะเอาเข้าจริง ในชีวิตจริงๆ เราก็คงไม่ได้เห็นผีกันพร่ำเพรื่ออะไร แต่สิ่งที่มันแน่นอนที่สุดก็คือ ความหวาดกลัวที่เต้นระทึกอยู่ในใจของเรานั้นต่างหากที่เป็นของจริง

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา การไม่ปรากฏตัวของผี กลับส่งผลในทางที่ดี ในเชิงของความลุ้นระทึก ผ่านท่าทางการแสดงของตัวละครที่เป็นคน ผ่านซาวด์ที่โหมเร้าความหลอน ผมเห็นว่า นี่คือชั้นเชิงของ(คนทำ)หนังที่มืออาชีพจริงๆ ก็มืออาชีพถึงขนาดที่กล้าปฏิเสธการใช้ผีหน้าตาแหวะๆ แบบเดียวกับที่หนังผีแทบทั้งหมดเลือกใช้ ความน่ากลัวของความเป็นผีในหนังเรื่องนี้ ได้เดินทางมาถึงจุดที่..แค่ได้เห็นเงาแว้บๆ บนกำแพง ก็ชวนสะพรึง หรือเพียงแค่ลูกแก้วกลิ้งไปข้างหน้าหรือนิ่งอยู่กับที่ ก็ชวนขนลุกได้แล้ว นั่นยังไม่นับรวม “เงื่อนไข” ทางร่างกายบางประการของ “เบล” ลูกสาวของ “บุ๋ม” ที่ดูแล้วหลอนๆ อย่างไรบอกไม่ถูก

ในแง่ของการสื่อสารความน่ากลัวหรือความหลอนนั้น ส่วนหนึ่งคงต้องยกให้การแสดงของคุณบี – น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ กับบทของ “บุ๋ม” (วัยผู้ใหญ่) เพื่อนหญิงที่ทิ้งเพื่อน นอกจากเงื่อนไขตราบาปในวันเก่าก่อนจะเป็นอัตราเร่งความหลอนได้แล้ว การแสดงความกลัวผีของคุณบีนั้นถือว่าผ่าน ความกดดัน บีบคั้น น่าอึดอัด เธอเป็นสารตั้งต้นที่ช่วยนำพาอารมณ์นั้นให้เกิดขึ้นกับคนดูได้อย่างสมบูรณ์ มีคนถามผมเหมือนกันว่าตอนที่เธอดราม่านั้น ดูละค้อนนน...ละคร เกินไปไหม? ผมอยากจะบอกว่า นี่ล่ะครับคือสุดยอดการแสดง เพราะหลังจากที่โดนสถานการณ์ทั้งหมดบีบอัดมารอบทิศ แอ็คติ้งดราม่าน้ำตาท่วมแบบนั้นมันต้องออก ยังไงก็ต้องปล่อย ผมมองว่าไม่ล้น และไม่ได้เล่นใหญ่เกินกว่าตัวบทที่ส่งมา ผมเห็นการแสดงที่ล้นๆ มาเยอะ แต่นี่ไม่ล้นไม่เกินครับ และเหมาะสมตามเนื้อผ้าอย่างมาก และผมเองก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า งานประกาศผลรางวัลประกวดอะไรๆ ในปีหน้า ต้องมีชื่อของคุณบีติดอยู่ด้วยในฐานะแคนดิเดท ไปจนถึงอาจจะเข้าป้ายคว้าก็ได้ในบางสถาบันรางวัล

หนังเรื่องนี้มีดาราใหม่ที่ผมไม่ค่อยคุ้นหน้าอยู่ 2 – 3 คน แต่ถ้าจะไม่พูดถึงคนนี้ คงไม่ได้เด็ดขาด คือคุณอภิชญา ทองคำ หรือ “ลิลลี่ เดอะ เฟส 2” กับการแสดงเป็น “เบล” ลูกสาวของบุ๋ม เธอคือเงื่อนไข เธอคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ร่วมผลักดันให้หนังเดินไปข้างหน้า และเสริมบทของบุ๋มให้แข็งแรง เหนืออื่นใดคือเป็นพลังเรี่ยวแรงที่ทำให้แม่คนหนึ่งลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมแพ้

ผมมานั่งคิดดู “เพื่อน.. ที่ระลึก” นี้โดยแก่นหลัก มันว่าด้วยเรื่องคำสัญญา เหมือนกับชื่อหนังภาษาอังกฤษ “เดอะ พรอมิส” (The Promise) เราจะเห็นว่า ทุกๆ ส่วนองค์ประกอบของหนัง มีคำว่า “คำสัญญา” เป็นศูนย์กลาง ทั้งคำสัญญาระหว่างเพื่อนกับเพื่อน และสัญญาระหว่างแม่กับลูก

สัญญอะไรกับใครไว้ ขอให้ทำได้ตามสัญญา...
น่าแปลกใจว่า หนังเรื่องนี้เซ็ตเวลาตัวเองได้อย่างมีความหมาย คือช่วงเวลาแรก เกิดเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งอย่างที่บอก และช่วงเวลาที่สอง คือปี 2560 คือปีนี้ ที่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา มาตรแม้นไม่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่เราก็จะได้ยินเสียงผู้คนบ่นรำพึงเรื่องเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ดังมาจากทั่วทุกสารทิศ ... ผมคิดว่า “สาร” ที่สำคัญที่สุดที่หนังเรื่องนี้พยายามสื่อสารกับคนดู โดยใช้เรื่องราวระหว่างแม่ลูกเป็นตัวตั้ง แล้วส่งเป็นแรงพลังให้กับทางคนดูผู้ชม

เราทุกคนต่างก็ยากลำบาก มีปัญหาร้อยแปดพันเก้า ไม่ต่างอะไรกับช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในเวลาแบบนี้นั้น ผมได้ยินเสียงของ “เบล” แว่วๆ มา เป็นถ้อยสนทนาที่เธอคุยกับแม่ “แม่สัญญานะว่าแม่จะไม่ยอมแพ้ และจะไม่ฆ่าตัวตาย”

ใช่แล้วครับ หมัดฮุกที่หนังเรื่องนี้ทิ้งไว้ให้กับคนดูในภาพรวมทั้งหมด ผมคิดอย่างนี้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะยากเย็นเพียงใด อย่าลืม “คำสัญญา” (The Promise) ที่ให้ไว้ต่อกัน เราจะฝ่าฟันผ่านพ้นมันไปด้วยกัน ...






กำลังโหลดความคิดเห็น