xs
xsm
sm
md
lg

อาร์เอส กงสีแตก พี่-น้องขัดกันเอง ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผมลาออกสิ้นเดือนนี้ อายุ 50 จะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่เกี่ยวกับการถูกบีบให้ออก แต่คุยกันมานานแล้ว ที่บ้านที่ชลบุรีเป็นแพทย์แผนโบราณ อยากมาทำสมุนไพร ดิจิตอลอาจจะเปลี่ยนอะไรในวงการเพลงได้ แต่ด้านสุขภาพร่างกาย ดิจิตอลไม่สามารถเข้ามาเปลี่ยนได้

ยืนยันว่าไม่ได้ออกไปทำเพลง วงการบันเทิงตอนนี้ยังฝุ่นตลบอยู่ ออกมาแล้วมองเข้าไปอาจจะเห็นอะไรมันชัดขึ้น วันหลังมาทำจะได้มีไอเดียใหม่ๆ เราอาจจะเข้ามาในฐานะเจ้าของกิจการ การออกของผมไม่มีผลกับทางอาร์สยาม สัดส่วนรายได้เพลงไม่ใช่รายได้หลักของอาร์เอสแล้ว ตอนนี้การทำงานไม่ได้เบ็ดเสร็จตรงมาจากที่ผมทำเหมือนก่อนหน้านี้ โครงสร้างต่างๆ ก็ถูกเปลี่ยนใหม่”

ข้างต้นคือคำเปิดใจของ “เณร-ศุภชัย นิลวรรณ " ที่ตัดสินใจ “ยื่นใบลาออก” จากตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการดูแลงานเพลงลูกทุ่ง/ธุรกิจเพลง และกรรมการผู้จัดการค่ายเพลงอาร์สยาม บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)" ซึ่งเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงสัปดาห์ก่อน
เณร-ศุภชัย นิลวรรณ ผู้สร้างความสำเร็จให้กับค่ายเพลง อาร์สยาม
ทั้งที่ย้อนหลังไปเพียงปีเดียว เขาคนเดียวกันนี้เพิ่งออกมายืนยันว่าไม่มีความคิดที่จะลาออก ตามที่มีข่าวลือแพร่สะพัดว่ามีผู้บริหารค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ที่ไม่ใช่ย่านอโศกถูกทาบทามให้ย้ายค่าย

“ผมยังไม่เคยไปพูดคุยกับผู้บริหารค่ายเพลงไหนเลย ทุกวันนี้ก็ยังมีความสุขและสนุกกับงานเพลงที่ปลุกปั้นมากับมือ ที่สำคัญตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ทำงานที่นี่ มี “เฮียฮ้อ”(คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท) เป็นจ้านายที่ให้โอกาสก้าวหน้าและเติบโต เลยไม่คิดจะทิ้งที่นี่ไปอยู่ที่ไหนเลย”

เป็นไปได้ว่าช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังมานี่ เขาอาจจะไม่ได้ “มีความสุขและสนุกกับงานเพลงที่ปลุกปั้นมากับมือ” เหมือนเดิมอีกแล้ว ซึ่งถ้าถอดรหัสอยากคำสัมภาษณ์เกี่ยวกับสาเหตุในการลาออกกันแบบคำต่อคำ ก็พอจะเข้าใจนัยของเรื่องทั้งหมดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประโยคท้ายๆ ซึ่งสามารถจับใจความได้ว่า

หนึ่ง... ธุรกิจหลักของของอาร์เอส ไม่ใช่เพลงเหมือนเมื่อก่อน

และสอง...สถานะของเณร-ศุภชัย คือมีแต่ตำแหน่ง แต่ไม่ได้มีอำนาจ

ไม่บีบก็เหมือนบีบ !!!

ว่ากันว่า อาร์เอส มีแผนการจะปิดสายงานเพลงอยู่แล้ว เพราะรู้ดีว่าวงการเพลงหมดยุครุ่งเรืองไปนานแล้ว ไม่ต้องพูดถึงตลาดเพลงสตริง ที่ระยะหลังแทบไม่มีการปั้นศิลปินใหม่ ขณะที่ศิลปินเก่าก็ทยอยหมดสัญญา และ/หรือไม่ต่อสัญญาไปทีละคน สองคน กระทั่งตลาดเพลงลูกทุ่ง ที่ถือว่า อาร์สยาม เคยเฟื่องสุด ก็ยังเดินทางมาถึงจุดที่ตกต่ำ “ใบเตย อาร์สยาม” ที่เคยเป็นลูกทุ่งตัวแม่ มีงานเดินสายโชว์ตัวไม่เว้นแต่ละวัน ยังต้องพ่ายแพ้ให้แก่นักร้องจากค่ายเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีกระทั่งสื่อโปรโมทอย่าง “ลำไย ไหทองคำ”

ต้องยอมรับว่าความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นในค่ายเพลงอาร์เอส เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากการออกนโยบายปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานระหว่างนักร้องกับต้นสังกัด ในลักษณะ”ร่วมทุน” การผลิตเพลง โดยนักร้องจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการผลิต ขณะที่ลิขสิทธิ์เป็นของค่ายเพลง

มองในมุมนักธุรกิจก็ไม่ผิด ที่ อาร์เอส มีดำริจะยุบสายงานเพลง เพราะมองไม่เห็นโอกาสในการไปต่อ เพราะนักธุรกิจ ก็ย่อมต้องเลือกทำงานเพื่อแสวงหาผลกำไร มากกว่าที่จะมาซาบซึ้งกับอนาคตของวงการเพลง ว่าจะอยู่หรือไ จะรอดหรือร่วง !!

ถ้าเณร-ศุภชัยไม่ได้ยื่นใบลาออกเอง แต่เป็นการปลดออก เพราะบริษัทมีการปรับโครงสร้าง อาร์เอส จะต้องเสียเงินก้อนใหญ่ เพื่อเป็นค่าชดเชยในการเลิกจ้างตามกฏหมายแรงงาน ซึ่งกำหนดไว้ว่า.....ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

ลองเอา 10 เดือนคูณจำนวนเงินเดือนดู สมมติเงินเดือนของเณร-ศุภชัย 2 แสน เท่ากับ อาร์เอส ต้องจ่าย 2 ล้าน !!

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น “ทำอะไรก็ได้” ให้ลาออกเอง ก็เท่ากับเซฟเงินไปได้โขเลยทีเดียว แต่จะด้วยวิธีการอย่างไรนั้น คงไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้

จริงๆ อำนาจที่ไม่ได้ “เบ็ดเสร็จ” อยู่ที่ผู้บริหารตามแต่ละสายงาน ไม่ใช่มีเพียงส่วนเพลงเท่านั้น ว่ากันว่ากระทั่งส่วนของช่องทีวีเอง “เบื้องบน” ก็ลงมาดูเกือบจะทุกขั้นตอน กระทั่งการวางผังรายการ ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะอยู่ในดุลยพินิจที่สิ้นสุดอยู่เพียงผู้บริหารช่อง ด้วยซ้ำ

การตัดสินใจหันหลังเดินออกจากบ้านหลังเก่าของเณร-ศุภชัย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ทำให้ ณ วันนี้ ระดับผู้บริหารของ อาร์เอส แทบไม่หลงเหลือคนที่เป็น “ลูกหม้อ” แต่ก่อนเก่า ซึ่งจุดนี้คือความแตกต่างที่ อาร์เอส ไม่เหมือนจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตรงที่ฝ่ายหลัง ยังมีเรื่องของการ “เลี้ยงคน” มากกว่า ขณะที่ฝ่ายแรก พอหมดความหมายก็พร้อมจะเชือดทิ้งทันที ไม่สนใจในเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่จะต้องเริ่มต้นปลูกฝังกันใหม่ กับคนใหม่ๆ
ดร. โด่ง-องอาจ สิงห์ลำพอง ผู้บริหารช่อง 8 หนึ่งในลูกหม้อที่เหลือเพียงไม่กี่คนของ อาร์เอส
เสมือนว่านโยบายของบริษัท ไมได้วัดคนที่ผลงาน แต่วัดกันที่ผลประโยชน์ !!

ประสาอะไรกับชนชั้นพนักงาน ต่อให้เป็นระดับบริหาร ก็ยังถือเป็น “คนอื่น” กระทั่งพี่น้องแท้ๆ ยังแตกกัน

เรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ เร็วๆ นี้ อาร์เอส จะย้ายที่ทำการของบริษัท หลังจากที่ปักหลักอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 15 มาตั้งแต่ปี 2535 (ตามชื่อบริษัทเดิม ก็คือ บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น 1992 จำกัด) ไปอยู่ที่อาคารแห่งใหม่ แถวถนนประดิษฐ์มนูญกิจ ใกล้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ เพราะพื้นที่เดิมของบริษัทนั้น ถูกพี่ชายคนโต คือ “เฮียจั๊ว-เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์” กับพี่น้องคนอื่นๆ ทวงคืน เพราะเป็นที่ดินจากเงินกงสี
5-7อาคารแห่งใหม่ของ อาร์เอส ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้
เฮียจั๊ว นี่เอง ที่เป็นผู้ก่อตั้ง อาร์เอส ตัวจริงเสียงจริง นับตั้งแต่สมัยยังเป็นบริษัทโรสซาวด์ มีที่ทำการอยู่แถวถนนอุรุพงษ์ ก่อนจะมาสยายปีกใหญ่โตกลายเป็นบริษัทมหาชนในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ก็ช่วยกันดูแลกันแบบครอบครัว แยกหน้าที่รับผิดชอบกันไปตามความถนัด คนหนึ่งดูแลเรื่องบริหาร คนหนึ่งดูแลเรื่องการตลาด คนหนึ่งดูแลเรื่องการเงิน-บัญชี แต่ตอนนี้กงสีแตกกระสานซ่านเซ็น อาร์เอส กลายเป็นธุรกิจของเฮียฮ้อเพียงลำพัง ร่วมกับหุ้นส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนในตระกูล มีเพียง “เชษฐ เชษฐโชติศักดิ์” ลูกชายคนโตของเฮียฮ้อที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น

เฮียจั๊วผู้บุกเบิกค่ายเพลง ผันตัวเองจากวงการบันเทิงไปเปิด "ฮิโนเดะ โค่ย เซ็นเตอร์" ศูนย์จำหน่ายปลาคาร์พ ตามความชอบ โดยมีลูกชายดูแลเรื่องการบริหาร

ส่วน “สุวัฒน์ เชษฐโชติศักดิ์” น้องชายเฮียฮ้อ ที่เคยดูแลเรื่องการตลาด การขายโฆษณา รวมถึงเคยดูแลบริษัทผลิตละครในเครือ ก็ไปช่วยดูแลกิจการโรงแรมโฟร์วิงส์ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวภรรยา
ส่วนหนึ่งของตระกูล “เชษฐโชติศักดิ์”  จากซ้ายไปขวา คมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ (บุตรชายของเฮียจั๊ว) , สุวัฒน์ เชษฐโชติศักดิ์ น้องชายเฮียจั๊ว-เฮียฮ้อ เคยดูแลเรื่องการตลาด, เฮียจั๊ว-เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ผู้เริ่มต้นก่อตั้ง และเฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท อาร์เอส  ในปัจจุบัน
ที่โบราณว่า....มีเงินเขานับเป็นน้อง มีทองเขานับเป็นเป็นพี่ ..... คงใช้กับกรณีนี้ไม่ได้ เพราะนี่มีทั้งเงินทั้งทอง แต่สัมพันธ์ของพี่น้องกับขาดสะบั้น เพราะผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร

ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 407 2-8 กันยายน 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น