xs
xsm
sm
md
lg

แง่งามแห่งละครเวที “สี่แผ่นดิน” กับอีก 70 ปีในแผ่นดินต่อมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


13 ตุลาคม 2559
วันสุดท้ายแห่งแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย
วันที่ทั้งแผ่นดินร่ำระงมดังด้วยเสียงสะอื้นไห้
วันที่น้ำตาของคนไทยไหลนองแทบจะเป็นสายเลือด
วันที่ทุกคนประจักษ์ชัดถึงความรู้สึกว่าอาการของคนเจียนใจสลายเป็นเยี่ยงไร ?

วันนั้นที่มีคำถามหนึ่งที่ถูกนำมาแชร์ต่ออย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์

“แม่พลอย....เธอทนได้อย่างไรถึงสี่แผ่นดิน ฉันแค่แผ่นดินเดียวก็แทบจะทนไม่ไหวแล้ว”

ยอมรับว่าที่ผ่านมา ทุกครั้งคราที่ได้ดู “สี่แผ่นดิน” ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ก็ได้เฝ้าแต่ถามตัวเองด้วยความอ่อนด้อยในประสบการณ์ ว่าทำไม "แม่พลอย" ถึงได้เศร้าเสียใจในทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย เพิ่งมาตระหนักรู้เมื่อวันที่ประสบด้วยตัวเอง

และนี่คือการกลับมาอีกครั้งของ “สี่แผ่นดิน” ในรูปแบบของละครเวทีเดอะ มิวสิคัล ที่ผลิตโดยบริษัท ซิเนริโอ จำกัด โดย “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ซึ่งนำกลับมาแสดงเป็นคำรบที่ 3

โดยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นส่วนหนึ่งของผลงานเทิดพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เปิดแสดงมากถึง 101 รอบ มากที่สุดในประวัติศาสตร์การผลิตละครเวทีของค่ายนี้

ครั้งต่อมา ในปี พ.ศ. 2557 เปิดการแสดงทั้งสิ้น 50 รอบ โดยมีการเปลี่ยนแปลงนักแสดงบางส่วน

“สี่แผ่นดิน” ในปี พ.ศ. 2560 เปิดเรื่องด้วยฉากผู้คนในชุดเครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ ที่ต่างก็ก้มลงกราบหน้าประตูพระบรมมหาราชวัง ด้วยสภาพน้ำตานองหน้า ซึ่งเป็นการจำลองภาพเหตุการณ์จริง ที่ประชาชนคนไทยพบกับความวิปโยคโศกศัลย์ ณ วันสิ้นแผ่นดินของรัชกาลที่ 9

พร้อมด้วยคำพูดเปิดเรื่องของตัวละครเอกอย่างแม่พลอย

“ในชีวิตของอิฉัน ได้เห็นภาพนี้มาหลายครั้งภาพที่คนไทยทั้งแผ่นดินหัวใจสลายทุกข์ของแผ่นดินเป็นเช่นนี้แต่ท่ามกลางความโศกเศร้า เคว้งคว้าง และไร้ที่พึ่งความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็จะผ่านไปได้เสมอเพราะชีวิตของคนเรานั้น เปรียบได้ดั่งสายน้ำที่บางครั้งเอ่อล้นฝั่ง แต่บางคราวกลับลดต่ำแห้งขอดแล้วก็มีหลายครั้งที่ไหลเชี่ยว วกวนเกินคาดเดา และนี่คือเรื่องราวของอิฉันเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้อยู่บนผืนแผ่นดินสยามถึงสี่แผ่นดิน.....”
เรียกว่างานนี้กระชากหัวใจคนดูตั้งแต่ซีนแรกเลยทีเดียว ไม่แปลกที่จะได้ยินเสียงสะอึกสะอื้นดังมาจากทุกที่นั่งในโรงละครรัชดาลัยเธียเตอร์
เพราะเพียงได้เห็นภาพรั้วกำแพงพระบรมมหาราชวัง ที่ซึ่งประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมความรัก ศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน เห็นแสงเทียนวิบไหวอยู่ท่ามกลางความมืดมนอนธกาล น้ำตาก็เอ่อท้นท่วมใจไปเสียไหนต่อไหนแล้ว
ตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมงเศษของการดำเนินเรื่องทั้ง 2 องค์ “สี่แผ่นดิน” ยังคงจับหัวใจของเรื่องที่มุ่งเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแก่นหลักได้อย่างงดงาม
หากความรู้สึกที่เพิ่มเติมเข้ามา ก็คือการเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครในเรื่องมากยิ่งขึ้น เพราะทุกคน ณ ที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้แสดง ผู้ชม ต่างก็เพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่หัวใจแหลกสลายมาเหมือนๆ กัน
“สินจัย เปล่งพานิช” ยังคงเป็นเพชรเม็ดงามแห่งวงการบันเทิง เป็นนักแสดงยอดฝีมือที่หาคนเทียบเคียงได้ยากยิ่ง ครั้งนี้เธอยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรัก หวงแหน ศรัทธา และเทิดทูนพระเจ้าแผ่นดินไว้เหนือเกล้า ผ่านตัวละครอย่างแม่พลอยได้อย่างไม่มีที่ติ ไม่ใช่เพียงคำพูดที่ทุกคนจำได้ฝังใจ
“..... อิฉันชื่อพลอยค่ะอิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน .....”
หากเธอถ่ายทอดด้วยแววตา ท่าทาง และจิตวิญญาณโดยแท้ และเชื่อแน่ว่าครั้งนี้เธอน่าจะเล่นเป็นแม่พลอยได้อินกว่าในการแสดง 2 ครั้งแรกที่ผ่านมาด้วยซ้ำ เพราะเธอถ่ายทอดด้วยความตระหนัก และเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะชีวิตจริง เธอก็จงรักภีกดีต่อ พระเจ้าแผ่นดินไม่ต่างจากแม่พลอย และเจ็บปวดกับการสูญเสียไม่น้อยไปกว่ากัน
สินจัย อาจจะไม่ใช่คนที่ร้องเพลงแบบมิวสิคัลได้ดีเลิศ ถ้าเทียบกับนักแสดงคนอื่นที่มาทางสายนักร้องอาชีพ แต่เธอก็เอาอยู่ด้วยพลังของการแสดง ด้วยเชิงชั้นและประสบการณ์ และนำมาตกผลึกเข้ากับอารมณ์ และความรู้สึกของตัวละคร ที่โดดเด่นจนคนมองข้ามข้อด้อยตรงนี้
ยังนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่ใช่สินจัย แล้วใครจะเป็นแม่พลอยได้ดีเท่านี้

จริงอยู่ที่มีนักแสดงหญิงหลายคนเคยผ่านการสวมบทเป็นแม่พลอยมาแล้วในหลายๆ ยุคสมัย หลายๆ รูปแบบการแสดง แต่ไม่เคยมีใครที่จะสามารถครองบทเดียวกันนี้ได้กว่าครึ่งทศวรรษ นับจากปี 2554 จวบจนปัจจุบัน ผ่านการแสดงสดกว่า 150 รอบการแสดงเท่ากับสินจัย

นอกจากนั้นนักแสดงที่รับบทเดิม ก็ล้วนต่างยังคงทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นกัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ และเกรียงไกร อุณหนันท์ ในบทคุณเปรม (วัยหนุ่มและวัยกลางคน) , รัดเกล้า อามระดิษ ในบทแม่ช้อย เพื่อนสนิทของแม่พลอยรวมถึงอาณัตพล ศิริชุมแสง หรืออาร์ เดอะ สตาร์ ในบทอ้น ลูกชายที่เกิดจากเมียบ่าวของคุณเปรม ที่แม่พลอยนำมาอุ้มชูในฐานะลูกชายคนโต

ส่วนไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช กับบทอ้น ลูกชายคนรองของคุณเปรมกับพลอย ที่เป็นผู้นำมาซึ่งขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับระบอบการปกครอง และมีเจตนารมย์มุ่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการกลับมารับบทเดิมเป็นครั้งที่ 2 แทนตูมตาม-ยุทธนา เบื้องกลางที่แสดงไว้ในครั้งแรก

นนท์-ธนนท์ จำเริญ หรือนนท์ เดอะ วอยซ์ ในบทของตาอ๊อดลูกชายที่แม่พลอยรักและเป็นห่วงมากที่สุด ถือเป็นการมารับบทนี้เป็นครั้งแรก และเป็นการแสดงละครเวทีครั้งแรก แต่ก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน แม้จะแอบขัดตาอยู่บ้างกับรูปร่างที่สูงใหญ่ ขัดกับบทลูกชายขี้อ้อน ขี้ประจบไปหน่อย

ขณะที่บทแม่พลอยวัยเด็ก และวัยสาวนั้น มีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งของการผลิตเช่นเดียวกัน โดยในครั้งนี้เป็นหน้าที่ของออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ รับบทแม่พลอยวัยสาว ส่วนบทแม่พลอยวันเด็กนั้น เป็นการสลับรอบกันแสดง ระหว่าง 2 หนูน้อยคนเก่ง คือน้องเฌอแตม-นารารัศมิ์ พุ่มสุโขรักษ์ (ลูกสาวของติ๊ก-กิตติพันธ์ พุ่มสุโข) กับน้องอาย-กัลยวรรธน์ สินรัตนภักดีกุล

จริงๆ แล้วชีวิตที่เดินทางพานพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดระยะที่ยาวนานถึงสี่แผ่นดินของแม่พลอยนั้น สิ้นสุดลงพร้อมๆ กับการสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 8 นั่นหมายถึงเธอมีชีวิตอยู่ไม่ทันเห็นความรุ่งเรืองบนแผ่นดินรัชกาลที่ 9

แต่สำหรับ “สี่แผ่นดิน” กับการกลับมาพร้อมกับการตีความใหม่นั้น มีการเพิ่มเติมบท ด้วยการให้แม่พลอยพูดในฐานะตัวแทนของคนไทยทั้งแผ่นดิน ที่ตระหนักรู้ถึงพระบารมีปกเกล้าของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ด้วยพระเนตรเพียงข้างเดียวมาตลอดระยะเวลา 70 ปี

“คนสี่แผ่นดินอย่างอิฉัน พบเจอกับการเปลี่ยนแปลงมามากมายทุกครั้งมีทั้งการเกิดและดับของสรรพสิ่ง แต่ทุกอย่างก็จะสวยงามอย่างที่มันเป็นเช่นเดียวกับแผ่นดินนี้
ถึงแม้อิฉันจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ แต่ก็รู้ได้ว่าตลอด 70 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองสงบร่มเย็นด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน พ่อหลวงของประชาชนอิฉันแน่ใจว่าแผ่นดินจะร่วมเย็นเป็นสุขตราบเท่าที่คนไทยยังมีเสาหลักนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเสาหลัก...ที่มิใช่หมายถึงเพียงตัวบุคคล
แต่หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์ที่ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของปวงชนชาวไทยไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน.....”

และปิดฉากสุดท้ายของ “สี่แผ่นดิน” ด้วยการที่เหล่าตัวละครก้มลงกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร อันเป็นการเริ่มต้นแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 เป็นการจบเรื่องที่อิ่มเอม งดงาม สมบูรณ์แบบ และจับหัวใจเป็นที่สุด ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยไปอีกนานแสนนาน

พร้อมกับอีกหนึ่งประโยคที่จะยังคงก้องอยู่ในความรู้สึกของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะผ่านเวลาไปอีกสักกี่แผ่นดินก็ตาม
....”อิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน” ....
มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม !!

ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 404 12-18 สิงหาคม 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น